บ้านปางแดงนอก ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอางที่อพยพถิ่นฐานเข้ามาในอำเภอเชียงดาวเพื่อการแสวงหาพื้นที่ทำกิน กับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางสังคมกลายเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม
ใช้ชื่อว่าชุมชนปางแดงนอก เนื่องจากการมาสร้างบ้านนอกพื้นที่บ้านปางแดงในเดิม
บ้านปางแดงนอก ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอางที่อพยพถิ่นฐานเข้ามาในอำเภอเชียงดาวเพื่อการแสวงหาพื้นที่ทำกิน กับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางสังคมกลายเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม
ชุมชนบ้านปางแดงนอกเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอพยพมาจากแถบประเทศพม่าจากปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ โดยเข้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ตั้งรกรากถิ่นฐานในเขตอำเภอเชียงดาว ในระยะแรกมีการเข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่หลายชุมชน เช่น บ้านแม่จอน บ้านห้วยปง บ้านนอแล ต่อมาเมื่อชุมชนขยายชาวบ้านจึงมีการออกหาพื้นที่จับจองสร้างบ้านเรือนแยกออกมาจากชุมชนเดิม โดยเข้าไปแสวงหาพื้นที่ทำไร่ในบริเวณใกล้เคียง โดยเป็นพื้นที่ไร่ของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านจึงได้รวบรวมเงินกันเพื่อซื้อที่ดินและตั้งชุมชนเป็นบ้านปางแดงใน ระยะถัดมาก็มีชาวดาราอางจากชุมชนภายนอกเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นทำให้ชุมชนขยับขยายออกไป พื้นที่บางส่วนมีความหนาแน่นและแออัด ชาวบ้านจึงมีการออกไปตั้งบ้านเรือนในพื้นที่รอบข้างจนกลายเป็นชุมชนขนาดย่อมในบริเวณไม่ไกลกันมากนัก และใช้ชื่อว่าชุมชนปางแดงนอก เนื่องจากการมาสร้างบ้านนอกพื้นที่บ้านปางแดงในเดิม และมีผู้คนหลายกลุ่มที่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในชุมชน ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอาง ลาหู่ (มูเซอแดง) ลีซู และคนพื้นเมือง อาศัยอยู่ร่วมกันมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านปางแดงนอก เป็นหย่อมบ้านที่อยู่ในเขตการปกครองของหมู่บ้านทุ่งหลุก หมู่ที่ 9 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยพื้นที่ตั้งชุมชนจะอยู่ในเขตพื้นที่ราบเชิงเขาซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและถูกปรับให้เป็นพื้นที่ทำการเกษตร มีภูเขาสูงสลับซับซ้อนโดยรอบชุมชน และมีพื้นที่ป่าอยู่โดยทั่วไป ทั้งนี้พื้นที่ของชุมชนบางส่วนจะเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนเชียงดาว รวมไปถึงพื้นที่สวนป่าที่ปลูกอยู่โดยรอบชุมชน บริเวณหมู่บ้านปางแดงนอกยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มบ้านชนเผ่าอีกหลายกลุ่มในบริเวณเดียวกัน ประกอบด้วย บ้านห้วยอีโก๋ บ้านผาลาย บ้านปางแดงใน บ้านห้วยปง บ้านมูเซอหน้าถ้ำ บ้านแม่จอน และบ้านท่าขี้เหล็ก
บ้านปางแดงนอก เป็นหย่อมบ้านที่อยู่ในเขตการปกครองของหมู่บ้านทุ่งหลุก หมู่ที่ 9 ซึ่งประกอบไปด้วยหลายหย่อมบ้าน และเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันหลายกลุ่ม ประกอบด้วย ดาราอางซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ลาหู่ ลีซู ปกาเกอะญอ และคนพื้นเมือง โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 บ้านทุ่งหลุก ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,253 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,094 คน ประชากรหญิง 1,159 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 835 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ดาราอาง, ปกาเกอะญอ, ลาหู่, ลีซูแต่เดิมวิถีชีวิตของชาวบ้านปางแดงนอก มีการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นวิถีการประกอบอาชีพที่ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องมาตั้งแต่อยู่ในเขตประเทศพม่า เป็นการปลูกข้าวไร่ ฟัก แตง ข้าวฟ่าง เป็นต้น แต่เมื่อมาอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยและมีการขยับขยายโยกย้ายที่อยู่อาศัยหลายครั้งทำให้การจับจองพื้นที่ทำการเกษตรเป็นไปได้ยาก และมีส่วนน้อยที่จะมีที่ดินเป็นของตนเอง จากการทำการเกษตรแบบเพื่อยังชีพในครอบครัว เปลี่ยนแปลงไปทำการเกษตรแบบเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น โดยชาวบ้านจะมีการเช่าที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณชุมชน และพื้นที่โดยรอบเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ และส่งขายให้กับพ่อค้า นายทุน สู่ท้องตลาดที่ต้องการผลผลิตในแต่ละฤดูกาล โดยมีพืชหลายชนิดที่ชาวบ้านปลูกเพื่อส่งขาย ประกอบด้วย ข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วดำ ถั่วแดง ฯลฯ ซึ่งจะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงหมู่บ้าน นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนที่ไม่ได้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อส่งขาย ก็จะไปรับจ้างทำการเกษตรให้กับชาวบ้านคนอื่น ๆ หรือนายทุนในพื้นที่แทน
หย่อมบ้านปางแดงนอก บ้านทุ่งหลุก หมู่ที่ 9 ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะมีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีความหลากหลายทางความเชื่ออีกด้วย ทั้งกลุ่มที่มีความเชื่อดั้งเดิม การนับถือผี การนับถือศาสนาพุทธ และกลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีวิถีชีวิตที่ใกล้เคียง และแตกต่างกันบ้าง แต่ชาวบ้าก็ยังอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข โดยมีสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอยู่สองแห่ง คือ วัดดาวสนธยา และคริสตจักรปางแดงนอก
โบสถ์ หรือคริสตจักรปางแดงนอก เป็นศาสนสถานสำหรับประกอบศาสนกิจของกลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสแตนต์ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่ป๊อกศาสนาคริสต์ อยู่ติดกับถนนใหญ่ โดยดำเนินการสอนศาสนาและกิจกรรมต่าง ๆ โดยผู้นำทางศาสนาที่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง
วัดดาวสนธยา เป็นวัดที่สร้างขึ้นในบริเวณสุสานของหมู่บ้านปางแดงนอก ในปี พ.ศ. 2549 ขึ้นตรงต่อสำนักสงฆ์ในอำเภอเชียงดาว และมีชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์บวชเป็นพระจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้
ชาวดาราอางกลุ่มที่มีวิถีความเชื่อแบบดั้งเดิม และผสมผสานกับความเชื่อแบบพุทธ ยังมีความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับการเพาะปลูกที่ยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ โดยในการแผ้วถางที่ดินเพื่อปรับพื้นที่เตรียมการเพาะปลูก ชาวบ้านจะทำการอธิษฐานต่อผีเจ้าเมืองผ่านผีเจ้าบ้านให้สื่อสารกับผีต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่า ไม่ว่าจะเป็นผีประจำต้นไม่ต่าง ๆ ผีดอย ผีน้ำ เพื่อเป็นการขออนุญาตเข้าไปในพื้นที่เพื่อทำเกษตรกรรม และขอให้ผีเจ้าเมืองช่วยคุ้มครองความปลอดภัย ไม่ให้มีอุปสรรค ซึ่งชาวบ้านจะร่วมกันประกอบพิธีกรรมกันในกลุ่มเครือญาติก่อนเริ่มลงมือทำการเพาะปลูก และจะประกอบพิธีไหว้นายพันข้าว ซึ่งเป็นรูปปั้นลักษณะคล้ายกับคนแบกข้าวที่ทำขึ้นจากทอง หลังจากลงข้าวหรือเพาะปลูกแล้ว ก่อนช่วงเข้าพรรษาประมาณหนึ่งเดือน ชาวบ้านจะทำพิธีปิดประตูผี โดยผีเจ้าเมืองจะส่งผีลูกน้องเข้าไปดูแลไร่ข้าว และอัญเชิญนายพันข้าวไปดูแลข้าวด้วย และมีการจัดกิจกรรมตามวันสำคัญทางศาสนา พิธีกรรมท้องถิ่น เช่น งานบุญสะด้างเค๊ยะ พิธีเปิด-ปิดประตูผี ปีใหม่ดาราอาง เป็นต้น
ส่วนชาวดาราอางที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์จะไม่มีพิธีกรรมใด ๆ เกี่ยวกับการปลูกข้าวหรือการเพาะปลูกต่าง ๆ เหมือนอย่างอดีตความเชื่อดั้งเดิม แต่จะมีการอธิษฐานขอพรจากพระเจ้าเพื่อให้พืชพรรณเจริญงอกงามและมีผลผลิตที่ดี แทนการเซ่นไหว้หรือเลี้ยงผี และชาวบ้านจะมีการเข้าโบสถ์ในทุกวันอาทิตย์ และกิจกรรมที่สำคัญคืองานเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
การแต่งการถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นชาติพันธุ์หรือกลุ่มชน โดยชาวดาราอางจะมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชนเผ่า โดยเฉพาะการแต่งกายของผู้หญิงดาราอาง ซึ่งยังคงรักษารูปแบบการแต่งกายตามลักษณะตั้งแต่ก่อนอพยพเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะแต่งกายด้วยการนุ่งซิ่นสีแดง สวมเสื้อแขนยาวมีพู่ไหมพรมห้อยรอบแขนเสื้อทั้งสองข้าง และมีผ้าคาดศีรษะ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่สำคัญในเครื่องแต่งกายของหญิงดาราอางคือ “หน่อง” การสวมหน่องหรือที่คล้องเอวที่ทำจากเงินและไม้ หรือบางคนจะใช้สังกะสี ชาวดาราอางบางคนเชื่อว่าหน่องเป็นเสมือนวัตถุมงคลของชีวิต การสวมหน่องเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุข เมื่อตายไปจะสามารถไปสวรรค์ได้ และเมื่อถอดหน่องออกจะทำให้สิ่งไม่ดีเข้ามาครอบงำชีวิต ดังนั้นหญิงชาวดาราอางจะสวมหน่องตลอดเวลาแม้กระทั่งตอนนอน
ภาษาของชาวดาราอางบ้านปางแดงนอกเป็นภาษาของปะหล่องเงิน ซึ่งอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร มีความใกล้เคียงกับภาษาว้า ชาวบ้านใช้ติดต่อสื่อสารกันในทุกช่วงวัย นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้ภาษาไทย และภาษาพื้นเมืองเพื่อติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านนอกพื้นที่และประชาชนทั่วไป ชาวบ้านปางแดงนอกสามารถใช้ภาษาไทยในการพูดคุย และสามารถอ่านภาษาไทยได้ แต่จะไม่สามารถเขียนอักษรภาษาไทยได้คล่องมือนัก แต่เด็กรุ่นใหม่ก็มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทยมากยิ่งขึ้นจากการเล่าเรียนในโรงเรียน
ธีรัช สีหะกุลัง. (2551). ผลกระทบของการจัดการทรัพยากรป่าของรัฐไทยต่อการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชาวดาระอั้ง หมู่บ้านปางแดงนอก จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
โรงเรียนบ้านปางแดง. (2555). สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/
โรงเรียนบ้านปางแดง. (2556). สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/