Advance search

บ้านแม่สาใหม่ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งกับพื้นที่ตั้งบ้านเรือนท่ามกลางธรรมชาติ และการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการเกษตร 

หมู่ที่ 6
บ้านแม่สาใหม่
โป่งแยง
แม่ริม
เชียงใหม่
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง โทร. 053-879307
วิไลวรรณ เดชดอนบม
17 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 มิ.ย. 2024
บ้านแม่สาใหม่

เดิมเป็นชุมชนเดียวกันกับหมู่บ้านแม่สา เมื่อมีการขยับขยายออกมาตั้งบ้านเรือนเพิ่มเติมจึงได้มีการตั้งชื่อชุมชนใหม่ว่า บ่านแม่สาใหม่”


บ้านแม่สาใหม่ ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้งกับพื้นที่ตั้งบ้านเรือนท่ามกลางธรรมชาติ และการผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและการเกษตร 

บ้านแม่สาใหม่
หมู่ที่ 6
โป่งแยง
แม่ริม
เชียงใหม่
50180
18.8676079397432
98.8553801178932
องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง

บ้านแม่สาใหม่เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยภูเขาเผ้าม้ง ที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากประเทศจีนเพื่อหลีกหนีจากปัญหาความขัดแย้ง และสภาวะสงครามในพื้นที่ในช่วงกว่าหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา โดยชาวม้งบ้านแม่สาใหม่ เดิมทีเข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลแม่นาจอง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และส่วนหนึ่งไปอาศัยอยู่บริเวณดอยปุย โดยทำการแผ้วถางพื้นที่ป่าทำไร่ทำสวน เพาะปลูกทางการเกษตร ต่อมาเมื่อสภาพพื้นดินเริ่มเสื่อมโทรมชาวบ้านจึงได้อพยพแยกย้ายหาพื้นที่ทำกินใหม่ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2509 จึงได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณชุมชนบ้านแม่สา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จนกลายเป็นชุมชนชาติพันธุ์ม้ง และเมื่อเวลาผ่านไปชุมชนก็ได้ขยายจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น มีการขยับขยายออกไปตั้งบ้านเรือนนอกพื้นที่ชุมชนเพิ่มเติม และเกิดเป็นกลุ่มชุมชนใหม่ จึงได้ตั้งชื่อชุมชนว่าบ้านแม่สาใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

บ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะทางกายภาพของภูมิประเทศชุมชนเป็นบริเวณเขตที่ราบสูง อยู่ในระดับความสูงประมาณ 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่ตั้งชุมชนตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขาอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ มีภูเขาสลับซับซ้อนอยู่โดยรอบชุมชน และพื้นที่ป่าตามธรรมชาติโดยทั่วบริเวณสลับกับพื้นที่เกษตรกรรมที่ชาวบ้านจับจองเพื่อเพาะปลูกทางการเกษตร โดยสภาพป่าเป็นป่าที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 13,022 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 87.73 มีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 1,811 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.2 และเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและที่สาธารณะ จำนวน 120 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.8 ดินมีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ดินมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างระหว่าง 5.5-6.5 (pH) และมีลำห้วยที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนด้วย

บ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์ม้ง โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,079 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 567 คน ประชากรหญิง 512 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 184 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ม้ง

ชาวม้งบ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณชุมชนเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ และจับจองแผ้วถางป่าเพื่อทำเกษตรกรรม อาชีพด้านการทำเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพที่ชาวบ้านยึดเป็นอาชีพหลักเพื่อเลี้ยงครอบครัวมาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านจะนิยมปลูกพืชไร่ พืชล้มลุกต่าง ๆ สลับหมุนเวียนกันไปตามแต่ละฤดูกาล เช่น ปลูกยาสูบ ถั่วแดง ข้าวโพด ข้าว มันเทศ

ในปี พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังหมู่บ้านแม่สาใหม่ ทรงมีความห่วงใยในการทำมาหากินและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน รวมไปถึงการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ จึงมีพระราชดำริให้เจ้าหน้าที่เกษตรเข้ามาแนะนำการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ และต่อมาเกิดเป็นโครงการหลวงแม่สาใหม่ขึ้น ซึ่งมีการแนะนำให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ ส่งเสริมและให้ความรู้ในการเพาะปลูก ทำให้ชาวบ้านมีมีความรู้และผลผลิตทางการเกษตรมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่ออาชีพที่มั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเป็นลำดับ การเพาะปลูกของชาวบ้านมีความหลากหลายและเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ข้าวโพด ลิ้นจี่ แคร์รอต กาแฟ ถั่ว ข้าวสาลี ลิ้นจี่ ฟักแม้ว นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการทำปศุสัตว์โดยชาวบ้านจะนิยมเลี้ยง หมู วัว ไก่ ฯลฯ และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนถูกผลักดันให้เป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการทำเกษตรกรรม การเพาะปลูกพืชต่าง ๆ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมชุมชนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และสวยงาม บ้านแม่สาใหม่จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติไปในเวลาเดียวกัน ชาวบ้านบางส่วนจึงปรับพื้นที่ให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาเยี่ยมชมในพื้นที่หมู่บ้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน

บ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ซึ่งมีความเชื่อท้องถิ่นที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ คือการเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือการนับถือผี โดยมีความเชื่อว่าทุกเหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีอำนาจบางอย่างที่บันดาลให้เป็นไป ชาวบ้านจะนับถือผีและวิญญาณซึ่งมีอยู่หลายระดับที่ไม่เท่ากัน ประกอบด้วย ผีฟ้า ผีน้ำ ผีเขา ผีไร่ ผีนา ผีบ้านเรือน ผีบรรพบุรุษ ฯลฯ โดยผีฟ้าจะมีอำนาจสูงสุดชาวบ้านเรียกว่า “ตรั้งสู้” เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง รองลงมาเป็นผีหมู่บ้านที่คอยคุ้มครองชาวบ้าน ผีบรรพบุรุษคือญาติพี่น้องที่เสียชีวิตไป นอกจากนี้ยังมีผีตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ผีเสาเรือน เสากลาง ผีประตูบ้าน ผีครัว ผีเตาไฟใหญ่ ผีเตาไฟเล็ก ซึ่งในทุก ๆ ปี ผู้นำทางจิตวิญญาณและชาวบ้านจะต้องทำการเซ่นไหว้ และเลี้ยงผีเหล่านี้เป็นประจำ อีกทั้งตามบ้านเรือนของชาวบ้านจะมีหิ้งบูชาผีไว้ในบ้านของตน และยังมีการรับเอาประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อแบบพุทธศาสนาเข้ามาร่วมด้วย จึงเป็นการยึดถือปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อแบบพุทธผสมผสานกันไป

ชาวม้งบ้านแม่สาใหม่ยังคงมีชีวิตแบบเก่าให้เห็น เช่น การทำข้าวซ้อมมือ การละเล่น เครื่องมือยังชีพ และหัตถกรรมต่าง ๆ และชมอาคารวัฒนธรรมชุมชน ที่บ้านแม่สาใหม่ จัดแสดงภาพประวัติหมู่บ้าน มีเครื่องมือในการทำผ้าใยกัญชง และวิธีการทอ มีเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ ได้แก่ ประเพณีปีใหม่ (เทศกาลกินวอ) จัดในช่วงประมาณเดือนธันวาคม ชาวบ้านจะแต่งตัวประจำเผ่าใส่เครื่องประดับที่สวยงามในงานมีการละเล่นโยน ลูกช่วง (ลูกบอลผ้า) และการเล่นลูกข่าง เป็นที่สนุกสนาน ระหว่างหนุ่มสาวงาน วันเช้งเม้ง พิธีกรรมป่าดงเช้ง (ป่าอนุรักษ์) เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ห้ามไม่ให้ตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ในบริเวณกำหนด เป็นกุศโลบายอย่างหนึ่ง ในการรักษาป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร และสัตว์ป่า

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่

ตั้งอยู่ที่บ้านแม่สาใหม่ หมู่ที่ 6 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 14,843 ไร่ มีพื้นที่ส่งเสริม 5 หมู่บ้าน มีประชากรรวม 1,111 ครัวเรือน จำนวน 4,638 คน เกษตรกรเป็นชาวเขาเผ่าม้ง และคนพื้นเมือง เป็นสถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรที่น่าสนใจ โดยศูนย์ฯ แม่สาใหม่ ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของโครงการหลวงครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยวิถีการทำเกษตรแบบยั่งยืน นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีการสนับสนุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อก่อให้เกิดรายได้แก่ชาวบ้านในหลายภาคส่วน 

1.แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ภายในศูนย์ชมแปลงสาธิตพืชผักเมืองหนาว ผักกาดหอมห่อ เบบี้แคร์รอต และข้าวโพดหวานสองสี ชมแปลงปลูกพริกหวานระบบไร้ดิน (Hydroponics) ที่บ้านศรีม่วงคำ ชมสวนลิ้นจี่ ที่ปลูกลดหลั่นกันตามความลาดชันของไหล่เขา นับพันต้นที่หมู่บ้านม้งแม่สาใหม่

2.แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

  • เส้นทางผาฆ้องผากลอง ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่มีตำนานเล่าขานถึงขบวนแห่ศพขุนหลวงวิลังคะ มาตามสันเขาดอยสุเทพ-ปุย เมื่อขบวนแห่แตกขบวนได้ทิ้งเครื่องดนตรีที่ใช้ในการแห่ศพไว้ ปัจจุบันจึงเห็นก้อนหินมีลักษณะคล้าย กลอง และฉาบ ระหว่างทางจะพบดอกไม้ต่าง ๆ เช่น กล้วยไม้ ลิลลี่ป่า กุหลาบพันปี นอกจากนี้ยังมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น ซาลามานเดอร์
  • เส้นทางธรรมชาติ "ป่าด้งเช้ง" ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ระหว่างทางมีพันธุ์ไม้ป่า เช่น หวาย ไม้สน ป่าไผ่ ลิลลี่ป่า และมีร่องรอยของสัตว์ป่าให้เห็นตลอดทาง
  • ถ้ำธาตุ เป็นถ้ำหินปูนขนาดเล็ก มีตำนานเกี่ยวกับลำแสงประหลาดเชื่อกันว่าเป็น "ธาตุ" (พระธาตุ)

ภาษาพูด : ม้ง ไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง

ภาษาเขียน : ไทย โรมัน 


ดอยสุเทพ-ปุย
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ดวงอุไร เหมะรักษ์. (2519). วัฒนธรรมทางด้านวัตถุของชาวเขาเผ่าแม้ว หมู่บ้านแม่สาใหม่ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สำนักวิจัยและส่งเสริมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้. (2566). ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567, จาก https://royal.mju.ac.th/

My Citi. (ม.ป.ป.). บ้านแม่สาใหม่ แม่ริม เชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567, จาก https://mycity.tataya.net/

องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแยง โทร. 053-879307