Advance search

บ้านโป่งคำ ชุมชนเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวพวนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมากจากประเทศลาว การเข้ามาของผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

หมู่ที่ 5
บ้านโป่งคำ
ดู่พงษ์
สันติสุข
น่าน
อบต.ดู่พงษ์ โทร. 0-5471-8312
วิไลวรรณ เดชดอนบม
17 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
17 มิ.ย. 2024
บ้านโป่งคำ


บ้านโป่งคำ ชุมชนเก่าแก่ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวพวนที่อพยพย้ายถิ่นฐานมากจากประเทศลาว การเข้ามาของผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

บ้านโป่งคำ
หมู่ที่ 5
ดู่พงษ์
สันติสุข
น่าน
55210
18.9001380123499
100.938521772623
องค์การบริหารส่วนตำบลดู่พงษ์

บรรพบุรุษของชาวบ้านโป่งคำมีเชื้อสายกลุ่มชาติพันธุ์ลาวพวน เช่นเดียวกับชาวบ้านอีกหลายชุมชนในพื้นที่ตำบลดู่พงษ์ จังหวัดน่าน เนื่องจากชาวลาวพวนจากประเทศลาวได้ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ และอพยพเข้ามาในประเทศไทยเพื่อหลีกหนีปัญหาความขัดแย้งและสภาวะสงครามในพื้นที่ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยเข้ามาตั้งถิ่นฐานสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ในหลายหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดู่พงษ์ บ้านน้ำโซ้ง บ้านต้นผึ้ง ต่อมาชาวลาวพวนกลุ่มหนึ่งจึงได้แยกออกมาตั้งบ้านเรือนเพื่อหาที่ทำกินใหม่ โดยแยกตัวออกมาจากบ้านน้ำโซ้งประมาณ 15 ครัวเรือน ตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนใหม่บริเวณริมฝั่งลำน้ำมวบ จนกลายเป็นชุมชนที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านโป่งคำ และต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2440 ได้มีการประกาศจัดตั้งบ้านโป่งคำอย่างเป็นทางการ และมีผู้คนเข้ามาอาศัยในชุมชนเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านโป่งคำมาจนถึงทุกวันนี้

บ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ที่ตั้งชุมชนอยู่บนพื้นที่ราบ ล้อมรอบด้วยภูเขา ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ป่าอยู่ในบริเวณโดยรอบชุมชน ทั้งที่เป็นป่าธรรมชาติ ป่าอนุรักษ์ และป่าที่เกิดจากการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรสลับกันไป อีกทั้งยังมีพื้นที่ทุ่งนาทางด้านทิศตะวันออกของชุมชน และมีลำห้วยธรรมชาติไหลตัดผ่านซึ่งชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค

บ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน เป็นชุมชนชาวลาวพวนที่อพยพมาอยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลายาวนานและมีความกลมกลืนกับคนเมืองโดยทั่วไป บ้านโป่งคำมีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 918 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 478 คน ประชากรหญิง 440 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 271 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ไทยพวน

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการบุกเบิกพื้นที่ แผ้วถางเพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นที่ไร่ ที่นา เพื่อทำการเพาะปลูก โดยมีการเพาะปลูกพืชอยู่หลายชนิดด้วยกัน ได้แก่ ข้าวนาปี ถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สัก ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ ชาวบ้านบางส่วนก็จะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป และนอกจากนี้กลุ่มแม่บ้านชาวบ้านโป่งคำยังมีความสามารถในการทอผ้า ซึ่งมีการจัดทำเป็นสินค้า และผลิตภัณฑ์ฝนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด และขายเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง 

บ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นอกจากจะยึดโยงกับอาชีพด้านเกษตรกรรมตามฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมทางศาสนา วิถีความเชื่อและวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยชาวบ้านมีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกับชาวล้านนาโดยทั่วไป ซึ่งจะเข้าวัดทำบุญ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ ซึ่งบ้านโป่งคำมีวัดประจำชุมชนคือ วัดโป่งคำ ที่เป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในหมู่บ้าน และเป็นศูนย์กลางการทำกิจกรรมร่วมกันภายในชุมชนที่จะจัดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาตามแต่ข้อตกลงของชาวบ้านจะกำหนด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาชุมชนที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในสมัยก่อนชาวบ้านจะทอผ้าเพื่อใช้ในครอบครัวเป็นหลัก และมีการทอตุงเพื่อถวายวัด ชาวบ้านเชื่อว่าจะได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่ การทอผ้าถือเป็นวัฒนธรรมที่เป็นความเชื่ออีกอย่างหนึ่งของชาวบ้านโป่งคำ คือการเตรียมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมในการเริ่มต้นในการมีครอบครัว ฝ่ายหญิงจะต้องจัดหาของใช้ที่จำเป็นสำหรับการแต่งงาน เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า และข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นครอบครัวใหม่

ปัจจุบันการทอผ้าของชาวบ้านจะเป็นไปในลักษณะของสินค้า และการจัดการเศรษฐกิจภายในครอบครัวของตนเอง มีการประยุกต์ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติให้เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป รูปแบบต่าง ๆ เป็นของใช้ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เช่น ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน เสื้อ กางเกง กระเป๋า หมวก ย่าม ผ้าถุง ผ้าเช็ดหน้า กระโปรง ชุดทำงาน ผ้าสไบ ผ้าทอจึงกลายเป็นสินค้าในระบบเศรษฐกิจที่ช่วงสร้างรายได้ให้กับชุมชนและดำรงอัตลักษณ์ทางภูมิปัญญา และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ในเวลาเดียวกัน

ป่าชุมชนบ้านโป่งคำ ในช่วงที่ชุมชนมีการบุกเบิกพื้นที่แผ้วถางป่าเพื่อทำเป็นแหล่งเพาะปลูกทางเกษตรกรรม เมื่อระยะเวลาผ่านไปพื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพที่เสื่อมโทรม ประกอบกับสภาพวะปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีความตระหนักเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการักษาความสมดุลของระบบนิเวศ โดยมีแนวความคิดการอนุรักษ์ป่าจากพระอาจารย์สมคิด ได้ริเริ่มโครงการปลูกป่าชุมชนชักชวนให้ชาวบ้านหันมาอนุรักษ์ป่า ลดการตัดไม้ทำลายป่าและหันมาทำการเกษตรแบบยั่งยืนในช่วงปี พ.ศ. 2549 จนโครงการการอนุรักษ์ป่าชุมชนเริ่มเป็นรูปธรรมและประสบผลสำเร็จ ทำให้ชาวบ้านหลายกลุ่มหันมาช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าชุมชนกันมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนด้านต่าง ๆ จากองค์กรภายนอก ทำให้การดำเนินการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านโป่งคำเป็นไปอย่างราบรื่น ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของบ้านโป่งคำก็มีสภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดโป่งคำเป็นศูนย์รวมของศรัทธาประชาชนชาวบ้านโป่งคำ มีพระอาจารย์สมคิด จารณมโน เป็นเจ้าอาวาส เป็นนักพัฒนาให้วัดเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมตามแนวทางของพระพุทธศาสนา อาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ยึดหลักของเกษตรธรรมชาติมาพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีการประสานหน่วยงานองค์กรมาร่วมบูรณาการ ให้กลายเป็นลานวัฒนธรรมบ้านโป่งคำ มีโครงการพัฒนาและสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและสุขภาพเพื่อการสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน กิจกรรม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว (การพัฒนาชุมชนต้นแบบของกลุ่มจังหวัดน่านภาคเหนือตอนบน 2 โดยประชารัฐ) โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน และเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 มีพิธีเปิดลานวัฒนธรรมบ้านโป่งคำ ณ วัดโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ภายในงานมีการจัดแสดงอาหารพื้นถิ่น การสาธิตทำสบู่น้ำไผ่ธรรมชาติ นิทรรศการเชิงปฏิบัติการศูนย์เรียนรู้วัดโป่งคำ สาธิตการทำผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ การแสดงแปลงเกสรพอเพียงปลอดสาร มีการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น รำวงม่ะเก่า ดนตรีพื้นบ้านสะล้อ ซอ ซึง การแสดงจากเยาวชน การตีกลองปูจา การละเล่นพื้นบ้าน ฯลฯ

ณัฐกานต์ จิตรวัฒนา. (2546). พัฒนาการทุนทางสังคมของกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ บ้านโป่งคำ ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน. พัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เสน่ห์น่านวันนี้. (2561). สืบค้นเมื่อ 17 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/CharmNanToday

อบต.ดู่พงษ์ โทร. 0-5471-8312