บ้านเปียงหลวง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่แถบพื้นที่ชายแดนกับปัญหาความขัดแย้งสู่การอพยพเข้ามายังประเทศไทย และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ยังคงวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม
บ้านเปียงหลวง ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่แถบพื้นที่ชายแดนกับปัญหาความขัดแย้งสู่การอพยพเข้ามายังประเทศไทย และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ยังคงวิถีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม
ชาวบ้านเปียงหลวงเดิมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเขตรัฐฉาน ประเทศพม่า ในสมัยนั้นช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 การเข้ามาของอังกฤษทำให้พม่าตกเป็นเมืองอาณานิคม และอังกฤษยังเข้ามาแทรกแซงในอำนาจการปกครอง และบทบาททางการเมืองของประเทศ ทำให้รัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต่าง ๆ มีปัญหาความขัดแย้งและเกิดการต่อสู้เป็นสภาวะสงครามรุนแรงในพื้นที่ ผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่จึงย้ายกองกำลังเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย บริเวณดอยอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเดือนพฤษภาคมของปี พ.ศ. 2501 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2502 ได้ย้ายกองบัญชาการมาอยุ่ที่บ้านป๋างตอง และกระจายกองกำลังไปตามแนวชายแดน ตั้งแต่เชียงรายถึงแม่ฮ่องสอน รวมถึงพื้นที่บ้านเปียงหลวงซึ่งอยู่ศูนย์กลางระหว่างกองบัญชาการ และยังใช้เป็นพื้นที่ศูนย์ประสานงานอีกด้วย หลังจากนั้นก็มีการต่อสู้และความขัดแย้งในพื้นที่เรื่อยมา
จนในปี พ.ศ. 2527 รัฐบาลไทยส่งหน่วยทหาร ฉก. 327 เข้าไปประจำการบริเวณพื้นที่ชายแดนแถบนี้ ปัญหาสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเริ่มลดความรุนแรงลงและคลี่คลายโดยลำดับ แต่ก็ยังประสบปัญหาเรื่องพลเมืองในพื้นที่ เนื่องจากชาวบ้านเป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายทั้งชาวไทใหญ่ ชาวจีนฮ่อ ชาวลีซอ ชาวปะหล่อง และชาวพื้นเมืองที่ยังไม่มีบัตรประชาชน ทางหน่วยงานภาครัฐจึงมีการเข้ามาจัดการดูแล และจัดระบบระเบียบในชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านเปียงหลวง ที่ประกอบด้วยหลายชุมชนและมีประชากรอยู่อาศัยอย่างหนาแน่นมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยหลายชุมชน หรือหย่อมบ้าน ซึ่งกระจายกันอยู่ในพื้นที่ราบเชิงเขา เนินเขา โดยลักษณะทางกายภาพของสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนและพื้นที่ราบตามหุบเขา ไหล่เขาโดยทั่วไป ที่ตั้งชุมชนอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเวียงแหงประมาณ 16 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทางประมาณ 176 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ เขตพื้นที่ชายแดนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตตำบลแสนไห อำเภอเวียงแหง
บ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยชุมชนย่อยอีก 5 หมู่บ้าน ได้แก่ ชุมชนคนจีน ชุมชนบ้านหลักแต่ง ชุมชนใหม่ ชุมชนเมืองจ๊อด และชุมชนบ้านดอย โดยประชากรที่อาศัยอยู่แต่ละชุมชนล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งชาวไทใหญ่ จีนฮ่อ ลีซอ (ลีซู) ปะหล่อง (ดาราอาง) และชาวพื้นเมือง ซึ่งมีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 15,035 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 7,436 คน ประชากรหญิง 7,599 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 2,540 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ดาราอาง, ไทใหญ่, ลีซู, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)
บ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพด้านการเกษตรเป็นหลัก มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว กระเทียม ข้าวโพด พริก มะเขือ แตงกวา ผักกะหล่ำปลี มะม่วง ส้มเขียวหวาน อะโวคาโด โดยพืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกเหล่านี้สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ตำบลเปียงหลวงให้มีการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้นด้วย ตำบลเปียงหลวงมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านใช้ในการทำประมงพื้นบ้าน ได้แก่ แม่น้ำแตง และแหล่งน้ำธรรมชาติมีสระน้ำ อ่างเก็บน้ำ ฝาย ห้วย หนอง คลอง บึง สามารถใช้ในการประมงได้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ทำการประมงในระดับครัวเรือนเพื่อยังชีพ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการทำปศุสัตว์โดยสัตว์ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงคือ โค กระบือ โดยมีการเลี้ยงแบบปล่อยเข้าป่า เข้าทุ่งนาให้กินเองบ้าง นำอาหารมาให้บ้าง การเลี้ยงสุกร นิยมเลี้ยงเป็นคอกขนาดเล็กตามบ้านและบางที่มีการจัดการเป็นระบบฟาร์ม การเลี้ยงเป็ด และไก่ ประชาชนในพื้นที่นิยมเลี้ยงแบบปล่อยตามบ้าน สวน นา ไร่
บ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านมีการนับถือศาสนาพุทธแบบเถรวาท มีวัดประจำชุมชนอยู่ 2 วัด คือ วัดเปียงหลวง ตั้งอยู่ปากทางเข้าหมู่บ้าน และวัดฟ้าเวียงอินทร์ ตั้งอยู่สุดเขตหมู่บ้านบริเวณแถบชายแดนไทย-พม่า และแบบมหายาน มีวัดจีนเป็นวัดประจำชุมชน ตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำใกล้หมู่บ้านชาวจีน นอกจากนี้ยังมีประชากรที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และนิกายโปรเตสแตนต์ มีคริสตจักรเปียงหลวงเป็นศาสนสถาน
ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาท ส่วนชาวจีนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน ส่วนหนึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และถึงแม้ในหมู่บ้านจะไม่มีโบสถ์ของนิกายโปรเตสแตนต์ แต่ชาวบ้านก็ยังคงทำยึดมั่นในความเชื่ออย่างสม่ำเสมอ สำหรับชาวไทใหญ่นอกจากนับถือศาสนาพุทธแล้ว ยังมีความเชื่อเรื่องผีอีกหลายประเภท อาทิ ผีเจ้าเมือง ผีบ้านผีเรือน ผีนา ผีน้ำ ฯลฯ แต่ผีที่ชาวไทใหญ่บ้านเปียงหลวงให้ความเคารพมากที่สุด คือ ผีเจ้าเมือง เนื่องจากชาวไทใหญ่หมู่บ้านเปียงหลวงแบ่งออกเป็นสองกลุ่มบ้าน คือ บ้านเปียงหลวงเดิม และบ้านหลักแต่ง ผีเจ้าเมืองจึงมี 2 แห่ง สำหรับบ้านเปียงหลวงเดิม ศาลเจ้าเมืองตั้งอยู่ติดกับวัดเปียงหลวง ส่วนบ้านหลักแต่ง ศาลเจ้าเมืองตั้งอยู่บนวัดฟ้าเวียงอินทร์ ใกล้แนวเขตแดนไทย-พม่า ในทุก ๆ ปี ชาวบ้านทั้งสองแห่งจะต้องจัดพิธีไหว้ศาลเจ้าเมืองร่วมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล และมีประเพณีที่สำคัญของท้องถิ่น ได้แก่ ประเพณีปอยส่างลอง ประเพณีปอยส่างกาน ประเพณีปอยจ่าก๊ะ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสลากภัต เป็นต้น
เนื่องจากบ้านเปียงหลวงนับได้ว่าเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีการอาศัยอยู่ร่วมกันของผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทใหญ่ จีนฮ่อ ลีซอ (ลีซู) ปะหล่อง (ดาราอาง) และชาวพื้นเมือง ฉะนั้นภาษาที่ใช้สื่อสารภายในชุมชนจึงมีความหลากหลายตามกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ อาทิ ในกลุ่มชาวไทใหญ่จะใช้ภาษาไตในการพูดคุยสื่อสารกับคนจากกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน ชาวลีซอสื่อสารด้วยภาษาลีซู ชาวดาราอางสื่อสารด้วยภาษาปะหล่องทอง, ปะหล่องรูไม ทั้งนี้ ยังคงมีภาษาไทยถิ่นเหนือ หรือคำเมือง และภาษากลางเป็นภาษาที่อาจใช้พูดคุยกับคนต่างชาติพันธุ์และชาวพื้นเมืองในชุมชน และใช้ในการติดต่อราชการด้วย
วันดี สันติวุฒิเมธี. (2545). กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย-พม่า กรณีศึกษาหมู่บ้านเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่. สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Jinny Tent. (2562). บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2567, จาก https://www.bloggang.com/
Little Monkey. (2563). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/littlemonkeyupdate
ที่นี่..เวียงแหง. (2566). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/wianghaengcity
แคว้นเปียงหลวง. (2566). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/