ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา ชุมชนพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ท่ามกลางพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงในชุมชน
ชุมชนบ้านใหม่พัฒนา ชุมชนพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ท่ามกลางพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงในชุมชน
เดิมพื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนยังไม่มีผู้อยู่อาศัยเป็นเพียงป่าสนเขาและพื้นที่ราบสูงเชิงโดยทั่วไป ต่อมามีชาวบ้านเริ่มเขามาบุกเบิกพื้นที่แผ้วถางป่าเพื่อสร้างบ้านเรือน โดยเป็นชาวบ้านที่มาจากบ้านแจ่มหลวง ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ชาวปกาเกอะญออาศัยอยู่ และเมื่อเวลาผ่านไปชุมชนก็ขยายใหญ่ขึ้น เริ่มมีความหนาแน่นและแออัด พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้คน ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงได้แยกตัวออกมาสร้างบ้านเรือนในบริเวณที่ป่าเชิงเขาเพื่อจะเป็นชุมชนใหม่ ในระยะแรกมีจำนวนครอบครัวที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนเพียง 1 ครอบครัว ต่อมาไม่นานก็มีกลุ่มเพื่อนพ้องเข้ามาเพิ่มเติมเป็น 3-4 ครอบครัว และชาวบ้านคนอื่น ๆ ก็เริ่มเห็นด้วยและสนับสนุนในการออกมาตั้งชุมชนใหม่ จึงมีการอพยพมาสร้างที่พักอาศัยและบุกเบิกพื้นที่ทำกินมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นชุมชน และให้ชื่อว่า “บ้านใหม่พัฒนา” มาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตพื้นที่ตำบลแจ่มหลวงอยู่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จนในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลมีการประกาศแบ่งเขตพื้นที่ปกครอง และจัดตั้งอำเภอใหม่ โดยตำบลแจ่มหลวงให้อยู่ในเขตอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านใหม่พัฒนา ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณที่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่แจ่มตอนบน เขตเทือกเขาดอยอินทนนท์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,400 เมตร ลักษณะทางกายภาพของสภาพภูมิศาสตร์ชุมชนเป็นพื้นที่ราบสูงสลับกับพื้นที่หุบเขาล้อมรอบอยู่ทั่วไป ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอแม่แจ่มประมาร 100 กิโลเมตรไปทางทิศเหนือ และห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะทางประมาร 250 กิโลเมตร โดยชุมชนมีเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยบง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ห้วยน้ำแม่แจ่ม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองเจ็ดหน่วย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านกิ่วโป่ง
บ้านใหม่พัฒนาเป็นชุมชนหนึ่งของหมู่บ้านกิ่วโป่ง หมู่ที่ 2 ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประชากรชาวบ้านใหม่พัฒนาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 2 บ้านกิ่วโป่ง ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 701 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 370 คน ประชากรหญิง 331 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 327 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ปกาเกอะญอประชากรส่วนใหญ่ของบ้านใหม่พัฒนาประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมชองชาวไทยภูเขาโดยทั่วไป และชนกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ที่จะมีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง โดยพื้นที่ชาวบ้านนิยมปลูก ได้แก่ การทำนาข้าว ข้าวโพด พืชผักสวนครัว ไม้ผลชนิดต่าง ๆ นอกจากการทำการเกษตรที่เป็นการเพาะปลูกพืชแล้ว ชาวบ้านยังมีการเลี้ยงทำปศุสัตว์ในระดับครัวเรือน เป็นการเลี้ยงเพื่อไว้บริโภคในครัวเรือน แบ่งขายให้กับเพื่อบ้าน และขายให้กับพ่อค้าเพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง โดยสัตว์ที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยงกันในชุมชน ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ วัว และควาย ฯลฯ
เดิมชาวไทยภูเขา หรือชนเผ่าพื้นเมือง และชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ และการนับถือผี ซึ่งในวิถีชีวิตของชาวบ้านจะยึดโยงกับประเพณี พิธีกรรมที่มีความเชื่อในเรื่องสิ่งเหล่านี้มาเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าการเจ็บป่วยโดยที่หาสาเหตุไม่ได้ ชาวบ้านก็เชื่อว่ามีผีเป็นผู้กระทำ ต้องทำพิธีเซ่นไหว้เพื่อขอขมา หรือในการเพาะปลูกตามฤดูกาลก็จะมีการเซ่นไหว้เพื่อบอกกล่าว และขอให้การเพาะปลูกเป็นไปด้วยความราบรื่น พืชพรรณเจริญงอกงาม มีผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ ทั้งการไหว้ผีป่า ผีนา ผีไร่ ผีน้ำ ผีฝาย ฯลฯ ต่อมาภายหลังได้มีกลุ่มมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และมีชาวบ้านเปลี่ยนความเชื่อจำนวนหนึ่ง ต่อมาจึงมีชาวบ้านเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมถูกลดบทบาทลง และจางหายไปในที่สุด เนื่องจากชาวบ้านหันมานับถือศาสนาคริสต์กันเป็นส่วนใหญ่ และในปัจจุบันชาวปกาเกอะญอบ้านใหม่พัฒนานับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ และมีคริสตจักรบ้านใหม่พัฒนาเป็นศูนย์กลางความเชื่อชุมชน มีการเข้าโบสถ์ในทุกวันอาทิตย์ อธิษฐานตามบ้านเรือน และจัดกิจกรรมในเทศกาลวันคริสต์มาสในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษากลาง
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรขาว อักษรไทย
สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์. (2545). การจัดการศึกษาเพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นชุมชนปกาเกอะญอ หมู่บ้านใหม่พัฒนา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
คริสตจักรบ้านใหม่พัฒนา. (2566). สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/