Advance search

ชุมชนเกษตรกรรม ชุมชนทอและแปรรูปผ้า

หมู่ที่ 1
บ้านโนนภิบาล
โนนภิบาล
แกดำ
มหาสารคาม
862629202
ณัฐพล นาทันตอง
29 เม.ย. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
29 เม.ย. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
18 มิ.ย. 2024
บ้านโนนภิบาล

ชื่อบ้านโนนภิบาลมาจากชื่อผู้นำที่พามาตั้งหมู่บ้าน ชื่อพ่อขุนศรีภิบาล ประกอบกับสภาพพื้นที่บริเวณตั้งหมู่บ้านเป็นที่เนิน ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า โนน เลยเรียกรวมกันว่า บ้านโนนภิบาล


ชุมชนชนบท

ชุมชนเกษตรกรรม ชุมชนทอและแปรรูปผ้า

บ้านโนนภิบาล
หมู่ที่ 1
โนนภิบาล
แกดำ
มหาสารคาม
44190
16.0353312
103.4601684
องค์การบริหารส่วนตำบลโนนภิบาล

บ้านโนนภิบาลหมู่ 1 ตำบลโนนภิบาล จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 โดยการอพยพของชาวบ้านมาจากบ้านปอภาร ตำบลโคกล้าง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยการนำของพ่อตาแสงและพ่อขุนศรีภิบาล ครั้งแรกประมาณ 3 ครอบครัว และต่อมาเริ่มมีการอพยพมาเพิ่มประกอบกับมีจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการประกาศจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นขึ้นโดยมีพ่อขุนศรีภิบาลเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ซึ่งเริ่มแรกอยู่ในเขตการปกครองของตำบลมิตรภาพและตำบลหนองกุงอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ในระยะแรกพื้นที่เป็นป่าช้ามีพื้นที่ป่าจำนวนมาก สาเหตุของการย้ายมาตั้งที่บ้านโนนภิบาลเพราะเกิดโรคระบาดจึงอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งบริเวณบ้านโนนภิบาลปัจจุบันตามคำบอกเล่าของนางนารี ภิบาลสิงห์ ว่า "แต่กี้พ่อใหญ่แม่ใหญ่เว้าสู่ฟังว่ามาตั้งบ้านนี้มีแต่ป่าช้าเลาะนี้เป็นป่าเบิดนั้นละ กะพากันเฮดเฮียนนำป่านี่ละไผนำก้นมากะมาจองเอาแล้วกะสร้างเอา หนีมาย้อนโรคบักห่างเดะแม่ใหญ่ลาวเว้าสู่ฟัง" (นางนารี ภิบาลสิงห์, สัมภาษณ์)

จากการตั้งบ้านเรือนเพิ่มขึ้นจำนวนมากและมีการตั้งบ้านเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ. 2490 สมัยพ่อตัน พันธุมีผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชุมชนโนนภิบาลเนื่องจากมีการจัดระเบียบพื้นที่หมู่บ้านโดยการตัดถนนผ่านหมู่บ้านให้เป็นระเบียบแบบตารางหมากรุก ทำให้หมู่บ้านมีความเป็นระเบียบดังเช่นทุกวันนี้ การจัดระเบียบในช่วงนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยก็ว่าได้การขีดเส้นถนนโดนบ้านเรือนผู้คนหลายหลัง แต่ด้วยความเต็มใจก็มีการย้ายบ้านเรือนออกเพื่อให้การตัดถนนเป็นระเบียบโดยไม่มีข้อโต้แย้งเลย ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าของนางวรรณพง ภูครองทุ่งว่า "สมัยพ่อใหญ่ตันเป็นผู้ใหญ่บ้านนั้นเขาตัดถนนใหม่ตั้วให้หมู่บ้านมันเป็นระเบียบเรียบร้อย ตัดผ่าถืกเฮียนไผผุนั้นกะย้ายเฮียนหนีนั้นตั้ว อยากได้ถนนงาม ๆ แต่กะบ่มีไผขัดลาวเด้ละย้อนสมัยนั้นลาวฮ้ายเนาะปกครองได้ดียุตั้ว" (นางวรรณพง ภูครองทุ่ง, สัมภาษณ์)

ในช่วงทศวรรษ 2500 จากการเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ทำให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลของพืชเศรษฐกิจคือ ปอ ชาวบ้านเริ่มมีการปลูกปอขึ้นในชุมชนเพื่อส่งขายให้กับพ่อค้าในเมือง ซึ่งบ้านโนนภิบาลจะนำไปขายให้พ่อค้าคนกลางที่บ้านหนองตื่น ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ทุกครัวเรือนนิยมปลูกปอเนื่องจากปอสามารถสร้างรายได้ ทำให้รู้จักการใช้เงินตรามากขึ้น จากบ้านโนนภิบาลที่ว่าเป็นป่าช้าก็ถูกถากถางพื้นที่เพื่อปลูกปอจนป่าบ้านโนนภิบาลแทบจะหมด ซึ่งตรงจากคำบอกเล่าของนายอุดม วิชาชัย ว่า "สมัยปลูกปอนั้นพากันแข่งกันถางป่าตั้วไปมีแฮงถางได้หลายกะปลูกปอได้หลาย พอได้หลายกะมีเงินหลายตั้วบาดนิ พากันซื้อของมาสร้างบ้านสร้างเฮือนอยู่จนเท่าซุมื้อนี้ละ" (นายอุดม วิชาชัย, สัมภาษณ์)

นอกจากการปลูกปอแล้วนั้นชาวบ้านยังมีการปลูกยาเตอร์จี๊ดขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายยาเตอร์จี๊ดจำนวนมากซึ่งรายได้ต่อคนในการขายได้ถึง 100,000 บาท ทำให้ชาวบ้านเลิกปลูกปอแล้วมาปลูกยาเตอร์จี๊ดแทน

ในปี พ.ศ. 2520 มีการแยกหมู่บ้านหรือแยกเขตการปกครอง ซึ่งแยกออกจากตำบลหนองกุงเป็นตำบลโนนภิบาลพร้อมกับมีการตั้งที่พักสงฆ์หลวงปู่บุญสาร สังโข จากการตั้งหมู่บ้าน ตั้งสำนักสงฆ์ทำให้หมู่บ้านเริ่มมีการพัฒนาขี้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง

การทอผ้าของบ้านโนนภิบาลมีมาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่ไม่มีการพัฒนาเป็นสินค้าแปรรูป ในปี พ.ศ. 2546 มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นมีสมาชิกถึง 49 คน ซึ่งมีการทอผ้าซิ่น สไบ ผ้าห่ม กลุ่มทอเสื่อ นอกจากนั้นแล้วยังมีการพัฒนาป่าชุมชนบริเวณหน้าวัดป่ากุงโพธิสาร โดยบริษัทริเวอร์บราเทอร์ มาสนับสนุนการปลูกป่าชุมชนตั้งแต่เริ่มปลูกจนต้นไม้เติบใหญ่เป็นป่าชุมชนขึ้นมาใหม่ในปัจจุบัน การจัดตั้งกลุ่มทอผ้าทำให้มีผ้าทอเก็บไว้จำนวนมากและไม่ค่อยได้ส่งออกมากนักในปี พ.ศ. 2559 จึงมีการจัดตั้งกลุ่มแปรรูปผ้าเป็นกระเป่าผ้าและมีกลุ่มทอผ้าขาวม้าขึ้นด้วย

บ้านโนนภิบาลมีจำนวนประชากรประมาณ 276 คน เป็นชุมชนเล็ก ๆ อยู่กันแบบระบบเครือญาติ ประชากรส่วนมากเป็นกลุ่มคนลาวอพยพโยกย้ายถิ่นฐานหนีโรคระบาดมาตั้งชุมชนตามพื้นที่ที่เหมาะสมเรื่อยมา

บ้านโนนภิบาลเป็นชุมชนเกษตรกรรมมีอาชีพทำนา และปลูกต้นยาสูบเนื่องจากสภาพพื้นที่เหมาะแก่การปลูกต้นยาสูบ ทำให้ชาวบ้านมีการปลูกต้นยาสูบทุกครัวเรือน เมื่อว่างเว้นจากฤดูทำนาหรือการปลูกต้นยาสูบ ก็ประกอบมีอาชีพทอผ้า อาชีพแปรรูปผ้าทอ โดยคนในชุมชนดำเนินการเอง

คนในชุมชนทำเกษตรกรรมทุกครัวเรือนทั้งปลูกข้าวและปลูกต้นยาสูบ ซึ่งรายได้ส่วนมากมาจากการปลูกต้นยาสูบมากกว่าการปลูกข้าว เนื่องจากสภาพพื้นที่บางส่วนไม่สามารถปลูกข้าวได้จึงมีการปลูกข้าวเพื่อยังชีพเท่านั้น และหันมาปลูกต้นยาสูบขายเพื่อสร้างรายได้ดีกว่า 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1.กลุ่มแปรรูปผ้า กลุ่มแปรรูปกระเป๋าผ้าตั้งขึ้นในช่วง พ.ศ. 2559 เป็นกลุ่มที่ทำกระเป๋าจากผ้าขาวม้าเป็นกระเป๋าในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งกระเป่าถือ กระเป๋าสะพายข้าง กระเป๋าสะพายหลัง มียอดสั่งซื้อสำหรับเป็นของที่ระลึกงานเกษียณอายุราชการ ของขวัญในโอกาสต่าง ๆ ได้

2.กลุ่มทอผ้าบ้านโนนภิบาล กลุ่มทอผ้าบ้านโนนภิบาลตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นการทอผ้าหลากหลายรูปแบบทั้งผ้าซิ่นฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขาวม้า และอีกหลายรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันยังมีการเก็บผ้าเหล่านั้นให้สามารถเลือกซื้อหาได้อยู่ กลุ่มทอผ้าก็ยังทอผ้าอยู่เช่นเดิมในช่วงว่างจากฤดูการเกษตร

3.พระธาตุพนมจำลองวัดป่ากุงโพธิสาร วัดป่ากุงโพธิสารสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2520 โดยแรกเริ่มตั้งเป็นสำนักสงฆ์ ปัจจุบันมีพระอาจารย์สบาย เตชธโร เป็นเจ้าอาวาส ในชื่อวัดป่ากุงโพธิสาร ซึ่งภายในวัดมีการสร้างพระธาตุพนมจำลองขึ้นเพื่อเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการจำลองพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ประชาชนได้กราบไหว้และเที่ยวชมความงามของสิ่งจำลองภายในวัดมากมาย

ภาษาที่ใช้ในชุมชนใช้ภาษาอีสานเป็นส่วนมาก เนื่องจากบรรพบุรุษเป็นกลุ่มคนลาวอพยพหนีโรคระบาดมา ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาอีสาน และมีการใช้ภาษากลางในการติดต่อราชการได้


ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนนอกจากที่ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลด้านการพัฒนาโครงการพื้นฐานแล้วนั้น การพัฒนาอาชีพจากโครงการวิจัยจากมหาวิทยาลัยเข้ามาสนับสนุนเป็นการสร้างรายได้และเกิดการรวมกลุ่มกันทำงานเนื่องจากมีการสั่งซื้อจากภายนอกชุมชนมากขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2565). โครงการวิจัยจากต้นทุนแหล่งน้ำสู่กลุ่มศิลปวัฒนธรรมหนองแกดำ. สนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

862629202