Advance search

หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

หมู่ที่ 13
บ้านโนนโพธิ์ไทร
โนนทัน
หนองเรือ
ขอนแก่น
อบต.โนนทัน โทร. 0-4310-5017-019
ศิราณี ศรีหาภาค
24 เม.ย. 2023
วีรภัทร ศรีทำบุญ
24 เม.ย. 2023
veerapat srithamboon
25 เม.ย. 2023
บ้านโนนโพธิ์ไทร


ชุมชนชนบท

หนองเรือตระการ จักสานไม้ไผ่ ไก่ย่างทางพาด ตลาดกะหล่ำ เลิศล้ำเพชรพลอยเจียระไน พระใหญ่ภูเม็งทอง

บ้านโนนโพธิ์ไทร
หมู่ที่ 13
โนนทัน
หนองเรือ
ขอนแก่น
40210
16.4988774
102.3660511
องค์การบริหารส่วนตำบลองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน

บ้านโนนโพธิ์ไทร หมู่ที่ 13 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2225 เดิมก่อนเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านโนนทัน หมู่ 1 เนื่องด้วยมีประชากรในหมู่บ้านที่มากขึ้น จำนวนหลังคาเรือนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการแยกออกเป็นบ้านโนนโพธิ์ไทร หมู่ 13 โดยแต่ก่อนในหมู่บ้านมีต้นโพธิ์ไทรขนาดใหญ่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านมีความเชื่อและนับถือว่าต้นโพธิ์ไทร เป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มีความมั่นคงและร่มเย็น เมื่อมีการแยกหมู่บ้าน ผู้อาวุโสประจำหมู่บ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโนนโพธิ์ไทร

สภาพที่ตั้งและพื้นที่ของชุมชนได้แก่

ที่ตั้งของชุมชนและอาณาเขต

บ้านโนนโพธิ์ไทรหมู่ที่ 13 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอหนองเรือประมาณ 8 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 52 กิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น  อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบดินร่วน ที่ตั้งอยู่ติดกับทางหลวงหมายเลข 12 ถนนมะลิวัลย์ พื้นที่ทั้งหมด 1,920  ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยจำนวน 645 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 575 ไร่ พื้นที่ทำนาจำนวน 350 ไร่ พื้นที่ทำไร่จำนวน 250 ไร่ และพื้นที่ทำสวนจำนวน 100 ไร่

อาณาเขต

ทิศเหนือ          ติดกับบ้านห้วยม่วง หมู่ที่ 8 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ทิศใต้             ติดกับบ้านร่มเย็น หมู่ที่ 14 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ทิศตะวันออก     ติดกับบ้านนาเปือย หมู่ที่ 5 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ทิศตะวันตก      ติดกับบ้านโนนทัน หมู่ที่ 1 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ลักษณะทางธรณีวิทยาลักษณะภูมิประเทศลักษณะภูมิอากาศ

          ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ ห่างจากทางหลวงหมายเลข 12 ถนนมะลิวัลย์ 2 กิโลเมตร พื้นที่ราบ ทอดตัวจากทางด้านทิศตกไปสู่ทิศออก ลักษณะดินเป็นดินร่วน ประกอบอาชีพการทำนาเป็นอาชีพหลัก เมื่อแล้วเสร็จจากการทำนาแล้วก็จะทำการปลูกพืชผักสวนครัวพวกผักคะน้า ผักกาดกวางตุ้ง พริก เป็นต้น และมีการปลูกพืชไร่ ได้แก่ ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ด้านปศุสัตว์มีการเลี้ยงสัตว์เสริม เช่น เลี้ยงแพะ วัว ด้านลักษณะภูมิอากาศบ้านโนนโพธิ์ไทร มีลักษณะภูมิอากาศ 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มจากมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มจากเดือนมิถุนายน ถึง เดือนกันยายน และฤดูหนาว เริ่มจากเดือนตุลาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์   

สภาพการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในครัวเรือนและในชุมชน

การจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน

          ลักษณะการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนลักษณะการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทร ลักษณะของตัวบ้านสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้

1)     บ้านไม้ลักษณะเป็นบ้านที่สร้างด้วยไม้ทั้งหมดยกใต้ถุนบ้านสูง  เพื่อให้เป็นที่นั่งพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างเพื่อนบ้านป้องกันสัตว์ป่าหรือสัตว์เลื้อยคลานขึ้นบ้านและเป็นที่เก็บเครื่องมือต่าง ๆ บ้านไม้ยกใต้ถุนสูงยังมีให้พบเห็นอยู่ในชุมชน มีพื้นที่รอบบ้านพอที่จะปลูกผักสวนครัวใช้รับประทานได้

2)     บ้านกึ่งปูนถึงไม้ลักษณะเป็นบ้านที่สร้างด้วยปูนและไม้ส่วนใหญ่เป็นบ้าน 2 ชั้น ๆ บนทำด้วยไม้บางหลังคาเรือนชั้นบนนำเอาสังกะสีมาทำเป็นหลังคาเรือน บ้านชั้นล่างทำด้วยปูนบางหลังคาเรือนมีการปูพื้นด้วยกระเบื้องสามารถพบเห็นลักษณะบ้านแบบนี้ได้ทั่วไปในชุมชน มีพื้นที่รอบบ้านพอที่จะปลูกผักสวนครัวใช้รับประทานได้

3)     บ้านปูนลักษณะเป็นบ้านที่สร้างด้วยปูนทั้งหมดบางหลังคาเรือนใช้อิฐบล็อกในการก่อสร้างและฉาบปูนปิดทับส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียวสามารถพบเห็นได้น้อยในชุมชน ลักษณะของตัวบ้านที่มีอยู่ในชุมชนมีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้านครบครัน มีพื้นที่รอบบ้านพอที่จะปลูกผักสวนครัวใช้รับประทานได้

การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกบ้าน

          ลักษณะภายนอกบ้านส่วนใหญ่มีการจัดสิ่งของรอบบ้านได้อย่างเป็นระเบียบ มีการปลูกต้นไม้และบางบ้านปลูกพืชผักสวนครัวไว้ริมรั้วรอบบ้านที่ต่างชนิดกัน มีหญ้าขึ้นบางแห่ง การจัดเก็บขยะเป็นระเบียบ แต่ละครัวเรือนจัดเก็บขยะด้วยของตนเอง และเก็บขยะไปทิ้งที่บ่อขยะหลังหมู่บ้าน

          การจัดสภาพแวดล้อมในชุมชน

          ภายในชุมชนมีการจัดการขยะได้ดี โดยมีการจัดเก็บขยะของแต่ละครัวเรือนเป็นอย่างดี ไม่มีขยะเกลื่อนถนน ถนนภายในชุมชนและรอบนอกหมู่บ้านมีลักษณะเป็นคอนกรีต  ส่วนเส้นทางที่ใช้เดินทางไปไร่นาเป็นถนนลูกรัง ทำให้มีฝุ่นละอองดินคลุ้งกระจาย ในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ เช่น วันพ่อแห่งชาติ  วันแม่แห่งชาติ  หรือวันปีใหม่ จะมีการรณรงค์ทำความสะอาดภายในหมู่บ้านและรอบๆบริเวณหมู่บ้าน โดยชาวบ้านโนนโพธิ์ไทรทุกคนจะออกมาช่วยกันทำความสะอาดทั้งหน้าบ้านตนเองและบริเวณส่วนรวม เช่น ถนนหน้าบ้าน เป็นต้น อีกทั้งภายในชุมชนมีการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วัว ไก่ เป็ด และแพะ เป็นต้น ในส่วนบ้านที่เลี้ยงสัตว์จัดการสภาพแวดล้อมด้วยการแยกคอกสัตว์ ออกห่างจากตัวบ้านที่อยู่อาศัย ในการจัดการมูลสัตว์ของชาวบ้านโนนโพธิ์ไทรมีการนำมูลวัว  ไปทำเป็นปุ๋ยใส่ไร่นา  และสวนผัก

          สุขาภิบาลอาหารและโภชนาการ

          ส่วนใหญ่ครัวเรือนมีการปรุงอาหารที่สุกสะอาด ประกอบอาหารกินเองเพื่อลดปัญหาโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำ ส่วนใหญ่ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะปลอดภัย บางครัวเรือนรับประทานอาหารสุกๆดิบๆ เช่น เนื้อ ปลาร้า เป็นต้น แต่ส่วนมากจะรับประทานเฉพาะที่มีงานบุญต่างๆ คนในหมู่บ้าน ภายในครัวเรือนมีการเลือกรับประทานผักปลอดสารพิษซึ่งครัวเรือนได้ปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง เช่น พริก คะน้า ผักกาด กวางตุ้ง ผักบุ้ง บางครัวเรือนมีการรับประทานผักที่ซื้อตามตลาด

          การจัดการขยะมูลฝอยในครัวเรือนและชุมชน

          ขยะอินทรีย์เป็นสิ่งที่ย่อยสลายได้ง่าย เศษอาหาร ผัก ผลไม้ หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ ซากพืช ซากสัตว์ชาวบ้านโนนโพธิ์ไทรส่วนมากจะกำจัดโดยการนำไปทิ้งที่บ่อขยะหลังหมู่บ้าน ส่วนน้อยจะทิ้งที่หลังบ้านของตนเอง เพราะสามารถย่อยสลายและนำเศษอาหารไปให้สุนัขหรือไก่

          ขยะรีไซเคิลเป็นสิ่งยังมีประโยชน์สามารถนำไปแปรรูปกลับมาใหม่ ได้แก่ กระดาษ พลาสติก แก้วโลหะ กระป๋อง  แนวทางการจัดการโดยส่วนใหญ่มักนำไปขายให้กับร้านขายของเก่า

          ขยะอันตรายซึ่งเป็นวัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อนวัตถุติดเชื้อและวัตถุไวไฟ เช่น ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ ขวดน้ำยาล้างห้องน้ำ มีการกำจัดโดยการนำไปทิ้งที่บ่อขยะหลังหมู่บ้าน

          ขยะทั่วไปอื่น ๆ นอกเหนือจากข้างต้นอาจมาใช้ใหม่ได้ แต่ย่อยสลายยากไม่คุ้มค่าในการแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ ได้แก่ เศษผ้า เศษหนัง ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พลาสติกห่อขนม มีการกำจัดโดยการนำไปทิ้งที่บ่อขยะหลังหมู่บ้าน

          สาธารณูปโภคในชุมชน

          ทุกครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี โดยประชากรบ้านโพธิ์ไทร ใช้น้ำสำหรับอุปโภคจากน้ำประปาภายในหมู่บ้าน ส่วนน้ำดื่มซื้อจากร้านค้าในชุมชนและมีรถมาส่งน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ระบบสาธารณูปการของหมู่บ้านประกอบด้วย ไฟฟ้า ประปาและเครือข่ายโทรศัพท์  หอกระจายข่าว เสียงตามสาย โรงสีข้าวและร้านค้าชุมชน มีสภาพโดยรวมดังนี้

          1) ไฟฟ้าหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทร มีระบบไฟฟ้าใช้ทั่วถึงครบทุกครัวเรือน

          2) ประปาหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทร ส่วนใหญ่เป็นระบบประปาบาดาลมีน้ำใช้ทั่วถึงครบทุกหลังคาเรือน เปิดให้ใช้ตลอด 24 ชั่วโมง

          3) เครือข่ายโทรศัพท์หมู่บ้านโนนโพธิ์ไทร สามารถใช้การได้และมีเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้ได้ทุกระบบ

          4) หอกระจายข่าวเสียงตามสายหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทร มีหอกระจายข่าวจำนวน 2 แห่ง โดยตั้งอยู่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านเเละศาลาประชาคม สามารถให้บริการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ องค์กรและภาคเอกชนต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วหมู่บ้าน

          5) โรงสีข้าวหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทร มีโรงสีข้าวจำนวน 1 แห่ง ซึ่งรับสีข้าวจากชาวบ้าน

           6) ร้านค้าชุมชนหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทร มีร้านค้าชุมชนจำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วยร้านขายของชำ อาหารแห้งและเครื่องดื่ม 6 แห่ง ร้านขายน้ำ 1 แห่ง ร้านขายก๋วยเตี๋ยว 1 แห่ง ร้านขายส้มตำ 1 แห่ง ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่นิยมซื้อวัตถุดิบจากตลาดมาประกอบอาหารรับประทานเอง

จำนวนประชากรทั้งหมด   

          จำนวนประชากรจากการสำรวจเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 พบว่า มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 108 หลังคาเรือน มีประชากรที่อยู่จริงจำนวน 98 ครัวเรือน และไม่มีประชากรอยู่จำนวน 8 ครั้วเรือน มีประชากรทั้งหมดตามทะเบียนบ้านจำนวน 488 คน เป็นเพศชาย 227 คน เป็นเพศหญิง 221 คน ประชากรที่อยู่จริงจำนวน 368 คน เป็นเพศชายจำนวน 183 คน เป็นเพศหญิงจำนวน 185 คน และประชากรที่ไม่อยู่จริง แต่มีในทะเบียนบ้าน จำนวน 120 คน ไปทำงานและประกอบอาชีพที่ต่างจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง เป็นต้น และทำงานต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ดูไบ นิวซีแลนด์ สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น นอกจากนี้มีประชากรที่แต่งงานและย้ายออกไปอาศัยอยู่กับครอบครัวแต่ไม่ย้ายทะเบียนบ้าน 

จำนวนประชากรของชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทรเป็นปิรามิดแบบหดตัว (constrictive pyramid or declining pyramid) เป็นปิรามิดประชากรที่มีรูปแบบของฐานปิรามิดแคบ ตรงกลางพองออกและยอดค่อยๆ แคบเข้าคล้ายรูปดอกบัวตูม ซึ่งแสดงถึงรูปแบบของอัตราการเกิดและอัตราการตายที่ต่ำ หรือมีโครงสร้างประชากรลดลง จากการวิเคราะห์ ดังนี้

ประชากรช่วงอายุ แรกเกิด-14 ปี จำนวน 71 คน ร้อยละ 19.29 จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า อัตราการเกิดของประชากรลดลง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขโดยเฉพาะการคุมกำเนิด เช่น การใช้ยาคุม ฉีดยาคุม ยาฝังคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย เป็นต้น มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย คือ การทำหมันเพศหญิงและเพศชาย ทำให้ประชากรสามารถควบคุมการมีบุตรได้ จึงส่งผลให้อัตราการเกิดของประชากรลดลง สอดคล้องกับปิรามิดที่มีฐานแคบ

ประชากรหญิงวัยเจริญพันธุ์ 15-49 ปี ในหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทร จำนวนทั้งหมด 168 คน

ประชากรวัยแรงงาน 15-59 ปี จำนวน 213 คน ร้อยละ 57.88 จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีจำนวนประชากรวัยแรงงานมากที่สุด สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันที่ประชากรวัยแรงงานมีภาระหน้าที่ในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ในอนาคตวัยแรงงานจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

ประชากรวัยผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 84 คน ร้อยละ 22.82 จากการวิเคราะห์พบว่า ชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทรได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ซึ่งหมายถึงสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ (กระทรวงสาธารณสุข,2562) ประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ประชากรเข้าถึงระบบการบริการสาธารณสุขได้มากขึ้น ประชากรเข้าถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนทันได้ง่ายขึ้น และยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมากขึ้นประชากรวัยสูงอายุมีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงและอายุยืนมากขึ้น โดยสามารถแบ่งช่วงวัยผู้สูงอายุเป็น 3 ช่วง ดังนี้

1. วัยผู้สูงอายุตอนต้น     ช่วงอายุ 60-69 ปี         จำนวน 43 คน   ร้อยละ 11.68

2. วัยผู้สูงอายุตอนกลาง   ช่วงอายุ 70-79 ปี         จำนวน 29 คน   ร้อยละ 7.88

3. วัยผู้สูงอายุตอนปลาย  ช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป       จำนวน 12 คน   ร้อยละ 3.26

จากการแบ่งช่วงอายุพบว่า วัยผู้สูงอายุตอนต้นมีจำนวนประชากรมากที่สุด ซึ่งจะส่งผลทำให้ในอนาคตมีผู้สูงอายุที่อยู่ในวัยพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น

จากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้างที่สำคัญ คือ ด้านเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวของประชากรลดลง วัยแรงงานทำงานเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีวัยผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ด้านสุขภาพ การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยผู้สูงอายุจะทำให้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพสูงขึ้น ด้านสังคม เกิดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุและวัยเด็กถูกทอดทิ้งมากขึ้น เนื่องจากวัยทำงานต้องทำงานมากขึ้นและต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้สูงอายุ

เชื้อชาติศาสนาและสถานภาพสมรส           เชื้อชาติศาสนา

ประชากรบ้านโนนโพธิ์ไทร หมู่ที่ 13 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ทุกคนมีสัญชาติไทย เชื้อชาติไทย และศาสนาพุทธ คิดเป็นร้อยละ 100

 สถานภาพสมรส

จากการสำรวจสถานภาพสมรสของประชากรในหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทร ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น พบว่าส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 52 และพบน้อยสุดจากการมีสถานภาพสมรสหย่าร้าง จำนวน 5 คน

กำลังคน/กลุ่มแกนนำในการพัฒนา

โครงสร้างองค์กรชุมชน

การศึกษาโครงสร้างองค์กรชุมชนเป็นการทำความเข้าใจกับระบบความสัมพันธ์ทางสังคมต่าง ๆ ในชุมชนระบบความสัมพันธ์ทางสังคมที่หลากหลายนี้ประกอบด้วยบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ที่มีบทบาทในชุมชนทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการการถอดโครงสร้างองค์กรชุมชนเป็นการสร้างแผนผังที่แสดงระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเหล่านี้ให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ทำให้เห็นถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกันของคนในชุมชน ถ้าชุมชนใดที่ใช้ทรัพยากรหรือสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนได้อย่างคุ้มค่าและสามารถอยู่ได้ด้วยคนในชุมชนเอง แสดงว่าชุมชนนั้นสามารถพึ่งตนเองได้

โครงสร้างองค์กรชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทรนำโดยกลุ่มคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนนำสำคัญ ซึ่งมีโครงข่ายประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน กองทุนวันละบาท อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กองทุนเงินล้าน กลุ่มสตรี กองทุนน้ำประปา กองทุนโรงสีข้าว  กองทุนรถไถ  และกองทุนฌาปนกิจศพ  โดยชาวบ้านบ้านโนนโพธิ์ไทรมีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน คือ กลุ่มสตรีร่วมกับชาวบ้านผลิตน้ำยาล้างจานแจกจ่ายใช้กันภายในหมู่บ้าน  บางครัวเรือนมีการผลิตไม้ถูพื้นเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว  นักปราชญ์ชุมชน และหมอพราหมณ์ ประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการในการระดมความคิดและความร่วมมือจากคนในชุมชน และเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารสำคัญที่จะกระจายข่าวสารต่าง ๆ ให้คนในชุมชนรับทราบ นอกจากนี้ชุมชนโนนโพธิ์ไทรยังมีการรับข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และคนในชุมชนยังมีการหาข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมจากโทรทัศน์อีกด้วย

มกราคม

ต้นเดือนมกราคมเป็นช่วงต้นปีจะมีการทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ จะมีการบายศรีสู่ขวัญ การขอพร ขอขมา ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้มีอาวุโสในหมู่บ้าน เพื่อเป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ๆ เป็นสิริมงคลแก่ชีวิตครอบครัวและชุมชน และในเดือนนี้มักจะนิยมจัดงานมงคล เช่น งานแต่ง งานบวช ทำบุญบ้าน เป็นต้น

ปลายเดือนมกราคมจะมีการทำบุญประทานข้าวเปลือก เรียกว่าบุญกุ้มข้าวใหญ่หรือบุญคุณลาน โดยชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะนำข้าวเปลือกไปบริจาคที่วัดตามจิตศรัทธา โดยวัดที่ชาวบ้านจะนำข้าวเปลือกไปทำบุญจะมีอยู่ 2 แห่งเป็นวัดใกล้เคียง เนื่องจากหมู่บ้านไม่มีวัด วัดสว่างอารมณ์และวัดหนองบัววราราม ชาวบ้านจะไปร่วมทำบุญตามวัดที่ศรัทธา ซึ่งจะเป็นการรวบรวมข้าวเปลือกของชาวบ้านนำมาบริจาครวมกัน บางคนไม่มีข้าวเปลือกก็จะบริจากเป็นเงิน เมื่อรวบรวมเสร็จสิ้นจะนำมาถวายวัด เพื่อนำไปทำบุญต่อไป

กุมภาพันธ์

พิธีทำบุญข้าวจี่ เมื่อเตรียมข้าวจี่พร้อมแล้ว ชาวบ้านจะไปรวมกันหรือต่างคนจัดทำจากบ้าน แล้วนำไปถวายพระภิกษุที่วัด มีการไหว้พระรับศีล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ตักบาตรด้วยข้าวจี่ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็อนุโมทนา หลังจากนั้นเป็นอันเสร็จพิธี

เมษายน

เดือนเมษายนหรือบุญเดือนสี่จะเป็นบุญสรงน้ำหรือบุญสงกรานต์ ซึ่งงานประเพณีสงกรานต์ชาวบ้านจะมีการเล่นน้ำสงกรานต์ มีการจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ มีสรงน้ำพระและบรรพบุรุษ และมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ในบ้านด้วย ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดจะกลับมาสังสรรค์ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวในช่วงวันหยุดสงกรานต์

พฤษภาคม

เดือนพฤษภาคมหรือบุญเดือนห้า ในเดือนนี้จะมีการทำบุญเบิกบ้าน แต่ละครอบครัวจะเชิญพระสงฆ์มาทำบุญ ตักบาตร ทำพิธีไหว้ศาลปู่ตา และประพรมน้ำมนต์ เพื่อเป็นศิริมงคล และมีพิธีสำคัญคือพิธีแรกนาขวัญ เป็นบุญที่จะทำทุกปีก่อนที่จะเริ่มทำนาปี เพื่อเป็นการเตรียมตัวทำนา โดยในช่วงนี้จะมีการเตรียมที่นาเพื่อจะหว่านเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกข้าว เป็นเดือนที่เป็นช่วงฤดูกาลทำนา

มิถุนายน

เดือนมิถุนายนหรือบุญเดือนหก ในเดือนนี้อดีตเคยมีการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ  ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบสานต่อกันมาทางวัฒนธรรมของหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านงดการจัดบุญบั้งไฟ เนื่องจากผู้ทำบั้งไฟเสียชีวิต ไม่มีผู้สืบทอด และบั้งไฟทำให้เกิดความเสียหายกับไร่อ้อย

กรกฎาคม

เดือนกรกฎาคมจะเป็นช่วงเดือนที่มีงานบุญประเพณีเข้าพรรษา ชาวบ้านจะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดในช่วงเช้าและมีการแห่เทียนพรรษา มีการถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุและมีการจำวัดของผู้เฒ่าหรือแม่ออกในวัดตลอดช่วง 3 เดือนที่เข้าพรรษา

กันยายน

เดือนกันยายนจะมีประเพณีบุญข้าวประดับดิน  ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่าการนำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงเจ้าที่เจ้าทางที่รักษาพื้นนา เชื่อว่าจะทำให้ได้ข้าวอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารใส่กระทงใบตอง มีเครื่องเส้น บุหรี่ หมากพู นำไปวางตามท้องทุ่งนา 

ตุลาคม

เดือนตุลาคมจะเป็นช่วงประเพณีออกพรรษา โดยทำบุญตักบาตรเทโวอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา

พฤศจิกายน

เดือนพฤศจิกายน จะทำบุญผ้าป่า เนื่องจากเป็นบุญที่ทำหลังจากออกพรรษา โดยการถวายผ้าบังสุกลจีวร  นอกจากนี้ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทำนาปี โดยปกติมักจะเก็บเกี่ยวหลังจากเสร็จงานบุญเพื่อถือเป็นการทำบุญก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ชาวบ้านจะมาร่วมทำบุญกันก่อนที่จะแยกย้ายกันเก็บเกี่ยวผลผลิตของตนเอง นอกจากนี้ยังมีประเพณีลอยกระทงโดยการจัดให้มีการลอยกระทงที่หนองน้ำ ลำคลอง ลำห้วยของหมู่บ้าน

ธันวาคม

เดือนธันวาคม งานบุญกฐินเป็นกฐินที่ประชากรในหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทรนำไปทอดที่วัด นำผ้ากฐิน เป็นผ้าขาวที่ตัดออกเป็นชิ้นๆ พอที่จะประกอบเข้าเป็นจีวรได้ ทำเสร็จแล้วนำไปย้อมสีหรือไม่ก็ได้ หรือย้อมแล้วก็ได้ นำมาจัดเป็นองค์กฐิน นำไปทอดที่วัด และถวายผ้าไตร จีวร เครื่องใช้ เช่น มีมุ้ง หมอน กระโถน เตา ภาชนะสำหรับใส่อาหารคาวหวาน ยาสีฟัน แปรงสีฟัน อุปกรณ์ซักล้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสังสรรค์ส่งท้ายปีเก่าในช่วงสิ้นเดือน ช่วงเช้าจะไปวัดทำบุญตักบาตร ช่วงเย็นมีการเลี้ยงสังสรรค์ภายในครอบครัว

จากปฏิทินชุมชนข้างต้น ทำให้เห็นว่าในชุมชนมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง ช่วงเวลาที่คนในชุมชนว่างจากกิจกรรมทางการประกอบอาชีพ เพื่อที่จะดำเนินกิจกรรมการพัฒนาของชุมชนได้ โดยจะเห็นได้ว่าจากปฏิทินชุมชน คนในชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทรจะมีการประกอบอาชีพทั้งปีในบางอาชีพ คือ การทำนา ทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ปลูกผักสวนครัว ทำฟาร์มแพะ และเลี้ยงวัว มีหยุดงานตามวันหยุดราชการและเทศกาลตามปกติ ในส่วนของการทำนาปีจะมีการเริ่มต้นฤดูการทำนาประมาณเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนสิงหาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจนถึงสิ้นเดือน โดยใช้เป็นรถเกี่ยวข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวบ้านจะทำไร่อ้อยต่อและเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้ออ้อยที่หมู่บ้าน เนื่องจากละแวกใกล้เคียงมีโรงงานน้ำตาล

ในส่วนของปฏิทินวัฒนธรรมของบ้านโนนโพธิ์ไทรจะมีการปรับเปลี่ยนจากในอดีตไปตามวันเวลาและสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ ไม่มีผู้สืบถอดและส่งผลเสียต่อไร้อ้อย ทำให้ยกเลิกประเพณีบุญบั้งไฟในที่สุด โดยปฏิทินวัฒนธรรมของบ้านโนนโพธิ์ไทรจะเริ่มต้นที่เดือนมกราคม ช่วงต้นปีจะเป็นในส่วนของการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ และนิยมจัดงานมงคลในช่วงต้นปี เดือนกุมภาพันธ์จะเป็นบุญกุ้มข้าวใหญ่หรือบุญคูณลาน และบุญข้าวจี่ เดือนเมษายนจะมีบุญทรงน้ำหรือประเพณีสงกรานต์ เดือนพฤษภาคมจะเป็นเดือนที่เริ่มฤดูกาลทำนาปี จะมีการทำบุญเบิกบ้าน และมีพิธีแรกนาขวัญ เป็นการทำบุญก่อนเริ่มทำนาปี เดือนกรกฎาคมจะเป็นช่วงประเพณีเข้าพรรษา เดือนกันยายนจะมีประเพณีบุญข้าวประดับดิน เดือนตุลาคมประเพณีบุญข้าวสาก เดือนพฤศจิกายนจะทำบุญผ้าป่า เนื่องจากจะเป็นบุญที่ทำหลังจากออกพรรษา และเป็นช่วงที่ชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทำนาปี และมีประเพณีลอยกระทงร่วมด้วย และในเดือนธันวาคมจะมีงานบุญกฐิน และการทำบุญส่งท้ายปีเก่าอีกด้วย

เมื่อพิจารณาจากปฏิทินชุมชนจะพบว่า ช่วงที่ไม่ควรเข้าไปทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน ที่คนในชุมชนมีการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยการทำนาปี จะทำให้มีการรวมตัวกันของคนในชุมชนได้ยาก และการมีส่วนร่วมของชุมชนลดลง ส่วนช่วงเวลาที่ควรเข้าไปทำกิจกรรมพัฒนาชุมชน คือ ช่วงที่คนในชุมชนว่างจากการทำนาปี และในช่วงนั้นมีการทำกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม ประชากรในหมู่บ้านจะอยู่บ้านส่วนมาก ซึ่งทำให้เข้าไปทำกิจกรรมในชุมชนมีส่วนร่วมในชุมชนได้ง่ายขึ้น และคนในชุมชนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชนของตนเองมากขึ้น

ประวัติทั่วไป

          นางรมย์รวินท์ ธัญญ์ปิติเกษม อายุ 49 ปี เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

          ที่อยู่ปัจจุบัน : บ้านเลขที่ 159 หมู่ที่ 13 บ้านโนนโพธิ์ไทร ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

          การเจ็บป่วย : ปฏิเสธประวัติการเจ็บ

ประวัติครอบครัว

          นางรมย์รวินท์ ธัญญ์ปิติเกษม เป็นบุตรของนายประทิน แสนวงษ์ และนางเพ็ญศรี แสนวงษ์ ซึ่งมีพี่น้องร่วมกันทั้งหมด 5 คน โดยตนเป็นบุตรคนที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2535 ได้แต่งงาน มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นางสาว นพรัตน์ ธัญญ์ปิติเกษม อายุ 26 ปี ปัจจุบันตนได้หย่าร้างกับสามี อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ลูกสาว และน้องชาย บ้านเลขที่ 159 หมู่ที่ 13 บ้านโนนโพธิ์ไทร ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น

ประวัติการศึกษา

          นางรมย์รวินท์ ธัญญ์ปิติเกษม เริ่มเข้าศึกษาในระดับชั้นอนุบาลที่โรงเรียนในอำเภอบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2524 และไม่ได้เข้ารับการศึกษาต่อ

กองทุนในชุมชน 

          - กองทุนเงินล้าน 

          เป็นกองทุนที่รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้แต่ละหมู่บ้าน โดยทางบ้านโนนโพธิ์ไทร ได้นำเงินมาจัดตั้งกองทุนเงินล้าน เพื่อให้สมาชิกได้กู้เงินไปหมุนเวียนใช้ในการประกอบอาชีพ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 มีประธาน 1 คน คือ นางมุกดา คำเวียง มีกรรมการจำนวน 9 คน และมีสมาชิกทั้งหมด จำนวน 185 คน ชาวบ้านที่กู้ยืมเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ เมื่อครบกำหนดชำระ 1 ปี ผู้ที่ยืมเงินจะต้องส่งเงินต้นและดอกให้กับกองทุน ถึงจะสามารถยืมต่อได้ ซึ่งคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาท/ปี

          - กองทุนสตรี

          เป็นแหล่งเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2554 ประกอบด้วยประธานกองทุน 1 คน กรรมการ 10 คน และสมาชิก 33 คน  เป็นกองทุนเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรี เสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านสังคมให้แก่สตรีและองค์กรของสตรี โดยจะให้สมาชิกที่เป็นสตรีที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกู้ยืม ซึ่งการกู้ยืมจะต้องมีการจัดกลุ่มกันในการกู้ยืม โดยจัดเป็นกลุ่มละ 3 คน จึงจะไปสามารถกู้ยืมได้ วงเงินในการกู้ยืมสูงสุด 100,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 บาท/ปี กำหนดชำระดอกเบี้ยและต้นทุนปีละ 2 ครั้ง

          - กองทุนน้ำประปา

          กองทุนน้ำประปา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2550 ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นงบประมาณจำนวน 2,265,000 บาท จัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคแก่ชาวบ้านทุกครัวเรือนในหมู่บ้าน โดยคิดอัตราค่าน้ำ หน่วยละ 5 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดนำไปใช้ในการจ่ายค่าไฟฟ้าในการผลิตน้ำประปา และซ่อมแซมระบบประปาของหมู่บ้าน

          - กองทุนรถไถนา

          เป็นแหล่งเงินทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จำนวน 500,000 บาท ทางผู้นำชุมชนจึงได้มีการนำเงินสนับสนุนไปจัดตั้งเป็นกองทุนรถไถนา โดยซื้อรถไถนามาใช้ในการทำเกษตรกรรมของชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน และคณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกันดูแลกองทุน กองทุนรถไถนาคิดค่าไถนา ไร่ละ 600 บาท รายได้ที่ได้จากการไถ่นาจะนำไปปันส่วนในการซื้อน้ำมันไว้สำหรับเติมรถไถ ให้ค่าแรงคนขับรถไถ และส่วนที่เหลือจะนำไปสมทบทุนกองทุนต่างๆ

 

 

          - กองทุนโรงสีข้าว

          เป็นกองทุนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในการก่อสร้าง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2561 ใช้งบประมาณทั้งหมด 300,000 บาท โดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานกองทุน และชาวบ้านในหมู่ 13 ทุกคนเป็นผู้ดูแลช่วยกัน  จะมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้จัดการในหารสีข้าวให้แก่สมาชิกที่ต้องการสีข้าว  โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการสีข้าว แต่กองทุนจะนำรำที่ได้จากการสีข้าวไปขาย  นำเงินที่ได้เข้ากองทุนและเก็บไว้เพื่อจ่ายค่าไฟ

          - กองทุนออมวันละบาท

          เป็นโครงการขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนทัน โดยสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่เข้าร่วมกองทุน มีการเก็บออมวันละ 1 บาท โดยเจ้าหน้าที่ผู้เป็นสมาชิกของอบต. 1 คน ทำการเปิดรับฝากออมเงินที่ศาลาอเนกประสงค์ทุกสิ้นเดือน ซึ่งผู้ที่มาฝากเงินจะมีสมุดบัญชีการออมทุกราย จำนวนเงินที่มาฝากคิดเป็น 30 บาท หรือ 31 บาท ต่อคน ตามแต่ละเดือนนั้นๆ กองทุนวันละบาทนี้ไม่สามารถถอนเงินได้ นอกจากคนในครอบครัวผู้ออมเงินเสียชีวิต แล้วนำใบแจ้งเสียชีวิตมายืนขอเบิกเงิน และกรณีเจ็บป่วยได้เข้ารับการรักษานอนโรงพยาบาล ให้นำใบรับรองแพทย์มายืนขอเบิกเงินได้

          - กองทุนฌาปนกิจศพ

          เป็นกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้น มีการเก็บเงินเข้ากองทุนเดือนละ 100 บาทต่อครัวเรือน โดยมีเจ้าหน้าที่อสม.เรียกเก็บตามครัวเรือน หากคนในครอบครัวผู้ที่เป็นสมาชิกเสียชีวิต จะได้รับเงินค่าบำรุงศพ ศพละ 100,000 บาท

ผู้คนในชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทรใช้ภาษาไทยและตัวอักษรไทยในการพูดและการอ่านเขียน


ชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทรได้เข้าร่วมโครงการบ้านโนนโพธิ์ไทรร่วมใจ ห่างไกล COVID-19 บ้านโนนโพธิ์ไทร หมู่ที่ 13 ตำบลโนนทัน อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น มีปัญหาที่มีความรุนแรงมากที่สุดคือ ประชากรบ้านโนนโพธิ์ไทรเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 โดยภายในบ้านโนนโพธิ์ไทรมีทั้งหมด 98 หลังคาเรือน มีคนในครัวเรือนไปทำงานนอกชุมชน จำนวน 26 ครัวเรือน 120 คน ซึ่งในระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ถึง 8 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ในพื้นที่บ้านโนนโพธิ์ไทรมีบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจำนวน 10 ครัวเรือน 19 คน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 คน คิดเป็นร้อยละ 36.84 จังหวัดชลบุรี จำนวน 6 คน คิดเป็นร้อยละ 31.58 และจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 26.31 และจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 5.26 รวมจำนวนผู้ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดและคนในครอบครัวที่เสี่ยงติดเชื้อทั้งหมด จำนวน  41 คน ซึ่งประชากรที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการลงทะเบียนผ่านการตรวจสอบจาก อสม.ทุกคน แต่ไม่ได้มีการกักตัวในบ้านตามมาตรการ ยังมีการเดินทางไปยังแหล่งที่มีคนพลุกพล่าน เช่น ร้านค้าประจำหมู่บ้าน ตลาดสด เป็นต้น จากการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและสำรวจความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 พบว่าประชากรบ้านโนนโพธิ์ไทรมีความรู้เรื่องโรค COVID-19 ที่ถูกต้อง จำนวน 88 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 89.79 ประชากรมีทัศนคติไม่กลัวการติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 4 คน คิดเป็นร้อยละ 1.08 โดยให้เหตุผลว่า ไม่กลัวเนื่องจากตนเองอาศัยอยู่แต่ที่บ้าน ไม่มีการเดินทางไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน มีการป้องกันตนเองดี อีกทั้งตนเองไม่มีโรคประจำตัว หากเกิดการติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรง และมีประชากรที่คิดว่าตนเองมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 11 คน คิดเป็นร้อยละ 11.22 โดยให้เหตุผลว่า ตนเองมีโอกาสติดเชื้อ  COVID-19 เนื่องจากตนเองมีการเดินทางไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน และมีการเปิดร้านขายของชำทำให้มีความจำเป็นต้องพบปะกับบุคคลมากมาย อีกทั้งภายในชุมชนมีคนมาจากพื้นที่เสี่ยง หากไม่กักตัวอาจเกิดการเเพร่ระบาดได้ นอกจากนี้ประชากรบ้านโนนโพธิ์ไทรยังมีพฤติกรรมสุขภาพที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ได้แก่  ประชากรไม่ล้างมือและไม่หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ร้อยละ 1.02 ประชากรไม่ใส่หน้ากากอนามัย ร้อยละ 61.23 ประชากรไม่เว้นระยะห่าง ร้อยละ 2.04 และประชากรไม่มีการกักตัวอยู่บ้าน ร้อยละ 3.06 จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรบ้านโนนโพธิ์ไทรเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19

ดังนั้น นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 4 รุ่นที่ 21 กลุ่มที่ 6 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น  ฝึกปฏิบัติในรายวิชา ปฏิบัติการพยาบาลอนามัยชุมชน 2 ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านโนนโพธิ์ไทรจำนวน 9 คน ผู้นำชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทร และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลโนนทัน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาประชากรบ้านโนนโพธิ์ไทร หมู่ที่ 13 ตำบลโนนทัน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID 19  จึงได้จัดทำโครงการบ้านโนนโพธิ์ไทรร่วมใจ ห่างไกล COVID-19 เพื่อให้ประชากรบ้านโนนโพธิ์ไทรมีความรู้ ความตระหนัก และมีพฤติกรรมสุขภาพที่สามารถป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้


ชุมชนบ้านโนนโพธิ์ไทรมีจุดที่น่าสนใจอื่นๆเช่น  ร้านบ้านหอมรัญจวน ร้านครัวมุมอร่อย 24 น. ร้านแจ่วฮ้อน เนื้อโคขุน และ วัดโพธิ์บ้านโนนทัน

กิตติพร เนาว์สุวรรณ และคณะ. (2563). ความสำเร็จในการดำเนินงานควบคุมโรคติดเชื้ออไวรัสโคโรนา 2019

          (COVID-19) ในชุมชน ของอาสาสมคัรสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในประเทศไทย สืบค้น 13

          มกราคม 2564, จาก https://li01.tcithaijo.org/index.php/pnujr/article/view/242995/

          168800

กรมแผนที่ทหาร. 2540. บทที่ 3 องค์ประกอบของแผนที่. กองบัญชาการทหารสูงสุด

กองยุทธศาสตร์และแผนงานสาธารณสุข. 2562. รายละเอียดตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี          งบประมาณ 2563 , 364 (9), 9-364

กองยุทธศาสตร์และแผนงานสาธารณสุข. 2562. รายละเอียดตัวชี้วัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี          งบประมาณ 2561 , 346 (1) , 1-346

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. 2554. วิถีชุมชน: เครื่องมือ 7 ชิ้นที่ทำให้งานชุมชน ง่าย ได้ผล และสนุก.

          กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุข ศาลา

ไพบูลย์ โล่ห์สุนทร. 2540. ระบาดวิทยา. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ. (2559). วิถีชุมชน เครื่องมือ 7 ชิ้นที่ทำให้งานชุมชนง่ายได้ผลและสนุก,                    4(11), 15-100

จริยาวัตร คมพยักฆ์. (2554). การพยาบาลอนามัยชุมชน : แนวคิดหลักการและการปฏิบัติการพยาบาล.              

          กรุงเทพฯ: จุดทอง.

ธานี กล่อมใจ จรรยา แก้วใจบุญ และทักษิกา ชัชวรัตน์. (2563). ความรู้และพฤติกรรมของประชากรเรื่องการ           ป้องกันตนเอง จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019  ทันตภิบาลสังกัดกระทรวง             สาธารณสุข. สืบค้น 13 มกราคม 2564, จาก https://he01.tci-thaijo.org/index.php/bcnpy/

article/view/243309/165906

พรรณศิริ ดำโอชุติมา รัตนสุภา. (2563). ฟิสิกส์ของหยดละอองเพื่อการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด19.สาขา    วิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์. สืบค้น 13 มกราคม 2564, จาก  

          https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/ThaiJPhys/article/view/242676/165754

เมธินี ลักษมีการค้า รุจิดา วิไลรัตน์ และธฤษิดา ปัญโญศักดิ์. (2557). ประสิทธิภาพของแอลกอฮอล์เจลและ

          สารละลายแอลกอฮอล์ในการฆ่าเชื้อจุลชีพ. สืบค้น 13 มกราคม 2564, จาก https://he02.tci- 

          thaijo.org/index.php/rtamedj/article/view/61131/50374

อบต.โนนทัน โทร. 0-4310-5017-019