ชุมชนบ้านป่ายางห่างเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำชีระหว่างเขตอำเภอเมืองกับอำเภอกันทรวิชัยนับว่าเป็นบ้านที่อยู่ชายขอบในอดีต แต่เมื่อมีสะพานข้ามแม่น้ำชีทำให้หมู่บ้านกลายเป็นเส้นทางหลักเชื่อมต่อระหว่างกันทรวิชัยกับอำเภอเมือง ผู้คนเริ่มรู้จัก และการเข้ามาสร้างถวารวัตถุ นำพาชุมชนรักษาศิลปวัฒนธรรมแบบเดิมให้คงอยู่
ชื่อบ้านป่ายางห่าง มาจากสภาพพื้นที่ที่มีป่าต้นยางนาจำนวนมากและต้นยางนาแต่ละต้นมีระยะห่างกันจำนนวนมากจึงเป็นที่มาของชื่อบ้านป่ายางห่าง
ชุมชนบ้านป่ายางห่างเป็นชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำชีระหว่างเขตอำเภอเมืองกับอำเภอกันทรวิชัยนับว่าเป็นบ้านที่อยู่ชายขอบในอดีต แต่เมื่อมีสะพานข้ามแม่น้ำชีทำให้หมู่บ้านกลายเป็นเส้นทางหลักเชื่อมต่อระหว่างกันทรวิชัยกับอำเภอเมือง ผู้คนเริ่มรู้จัก และการเข้ามาสร้างถวารวัตถุ นำพาชุมชนรักษาศิลปวัฒนธรรมแบบเดิมให้คงอยู่
ชุมชนบ้านป่ายางห่าง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลาว โดยอพยพมาจากร้อยเอ็ดและจากบ้านยาง อำเภอกันทรวิชัยเป็นส่วนมาก เมื่อประมาณ 140 ปีเศษ จากการสัมภาษณ์นายธีร์ ชมชื่น เล่าว่า ประมาณปี พ.ศ. 2410 มีกลุ่มคนอพยพมาจากร้อยเอ็ดและจากบ้านยางอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำชี จึงพากันถากถางเพื่อจับจองเป็นที่ทำกิน และเป็นที่อยู่อาศัยและต่อมาก็มีชาวบ้านจากบ้านยาง บ้านโนนตาลอยู่เพิ่มขึ้นจึงรวมกันตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น
สภาพชุมชนก่อนปี พ.ศ. 2410
เดิมพื้นที่บ้านป่ายางห่างในปัจจุบันนี้ เป็นพื้นที่รกร้าง มีต้นไม้พืชพรรณนานาชนิด โดยมากแล้วเป็น “ต้นยางนา” มากหลายร้อยต้นแต่ต้นยางนานี้อยู่ห่างกันสลับกับต้นไม้อื่น ๆ พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมบ่อยครั้ง มีแม่น้ำชีไหลผ่านใกล้บริเวณหมู่บ้านพร้อมกับมีชีหลงเป็นแหล่งเก็บน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พื้นที่ส่วนมากเป็นป่าและมีบ่อน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆ กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ เรียกว่า “บวก” โดยยายเลี่ยมทอง ศรีไสย์ ซึ่งเป็นลูกของนายทอน ศรีไสย์ เล่าว่า “แต่กี้พ่อเคยเว้าให้ฟังว่าตั้งแต่พ่อมาอยู่บ้านนี้มีแต่ป่ายาง เหลียวหาเบิ่งหม่องสิเฮ็ดนากะมีแต่บวกน้ำน้อยพอสิเอาเข้าลงไปดำไว้ถ้าพอมีกิน ดีมันยังมีน้ำชีอยู่ใกล้ไว้หาปูหาปลากินอยู่พอเกิดมากะมีแต่ป่านี้ล่ะอยู่กับป่า หากินในป่านิล่ะทางย่างกะบ่มีลัดป่าลัดดงไปเอา”
จากการบอกเล่าของนายธีร์ ชมชื่น เป็นคนที่มีอายุมากที่สุดในหมู่บ้านว่าบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่รกร้างมีต้นไม้ยางประมาณ 100 ต้น เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมได้ง่าย ลักษณะดินเป็นดินเหนียว (ชาวอีสานเรียกว่าดินทาม) เป็นดินที่เหมาะการปลูกข้าวอย่างมาก จนประมาณปี พ.ศ. 2410 มีกลุ่มคนอพยพจากบ้านยางโดยพ่อของนายทอน ศรีไสย์ (ไม่ทราบชื่อ) ซึ่งเป็นผู้นำและต่อมาก็มีการอพยพมาเพิ่มเติมอีกหลายครอบครัวทั้งจากบ้านยาง ซึ่งส่วนมากแล้วอพยพมาจากบ้านยางเนื่องจากประชากรบ้านยางนั้นมีมากจึงเกิดการหาพื้นที่ใหม่เพื่อตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่เพื่อการทำมาหากินที่สะดวกมากยางขึ้นเนื่องจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านส่วนมากแล้วต้นตระกูลมาจากบ้านยางคือตระกูลเนื่องละมุล นำโดยพ่อใหญ่จารย์ครูบุญศรี เนื่องละมุล เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การตั้งที่อยู่อาศัย ทำไร่ ทำนา พร้อมกับมีแม่น้ำชี และชีหลงเป็นแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้าน บริเวณหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมทุกปีซึ่งเป็นบริเวณที่ตรงข้ามกับบ้านลาดเพียงแม่น้ำชีกันซึ่งเป็นพื้นที่ที่ท้าวบัวทองซึ่งเลือกบริเวณนี้เพราะเห็นว่าปากท้องนั้นสำคัญกว่าน้ำท่วม
จากการจับจองพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยยายสมหวัง สุวรรณเลิศเล่าให้ฟังว่า “แต่กี้มาจองที่เอาไม้มาสักเอาแล้วแต่ผุสิสักได้หน่อยได้หลายแต่พ่อใหญ่ทอน กับพ่อใหญ่จารย์คูบุญศรีสักได้หลายกว่าหมู่ เพิ่นมีนาหลายเพิ่นสักเอาแล้วจั่ง พากันมาเฮ็ดเฮียนอยู่แล้วถากเฮดนาเที่ยละหน่อย ๆ ไป”
การจับจองพื้นที่ของคนที่มาก่อนย่อมได้ที่นาและที่อยู่อาศัยจำนวนมากและเป็นพื้นที่ใกล้น้ำง่ายต่อการทำนาและการเพาะปลูก ส่วนคนที่มาทีหลังก็จะได้ลดหลั่นกันไปแล้วแต่คนจะปักเอาพื้นที่ไหนแต่คนที่มาก่อนย่อมได้พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าและการเพาะปลูกก็จะมีผลผลิตมากด้วย
การเปลี่ยนแปลงช่วงที่ 2 พ.ศ. 2410-2503 การก่อตั้งหมู่บ้านเพื่อดำรงชีวิต
จากการบอกเล่าของนายธีร์ ชมชื่น ที่มีอายุมากที่สุดในหมู่บ้านและรู้ที่มาของหมู่บ้านว่าในราว พ.ศ. 2410 มีผู้อพยพมาจากบ้านยางและมาจากร้อยเอ็ดบางส่วนเป็นที่มีการอพยพมาเพื่อหาทำเลที่ตั้งหมู่บ้านใหม่เพื่อหาที่ทำมาหากินแห่งใหม่เท่านั้นไม่ได้หนีโรคระบาดมาแต่อย่างใดจึงมาอยู่ตั้งหมู่บ้านป่ายางห่าง ลักษณะการตั้งชุมชนบริเวณลุ่มน้ำชีนี้ มีขนาดครัวเรือนไม่แน่นอนโดยตั้งบ้านเรือนตามแนวยาวของแม่น้ำชี จากการบอกเล่าในช่วงแรกมีการถากถางป่าเพื่อสร้างกระต็อบมุงด้วยหญ้าแฝกเป็นที่อยู่อาศัยซึ่งบ้านก็จะอยู่ห่างไกลกันกระจายออกไปตามพื้นที่ไม่มีถนนหนทางชัดเจนทางเดินเป็นทางเดินผ่านทุ่งนา นางเลี่ยมทอง ศรีไสย์ ซึ่งเป็นลูกของนายทอน ศรีไสย์ด้วยเสียงที่ชัดเจนว่า “พ่อเว้าให้ฟังว่าตั้งแต่รุ่นพ่อใหญ่มาตั้งบ้านเฮาพากันหาไม้มาตั้งเสาเฮียนเอาไพหญ้ามามุงฝาเฮียนกะเอาใบยางนิล่ะมันมีหลายเอามาเฮดฝาแอ้มเฮียนหลายเฮียนพากันเฮดซ่อยกันพอได้อยู่ก่อนหม่องเฮดนากะหาบวกน้ำเอาในเข้าไปหว่านไว้พอได้กินก่อน วัวควยกะยังบ่มีหาแนวก่นเอา” จากที่นางเลี่ยมทองเล่าให้ฟังโดยไม่ทราบว่าปู่ของตัวเองเป็นใครตั้งแต่มาอยู่บ้านนี้ได้ฟังเพียงคำบอกเล่าของพ่อเท่านั้นว่าอพยพเดินเท้ามาจากบ้านยางมาเพื่อหาที่อยู่ใหม่และพากันตั้งกระต๊อบพออยู่ที่ไหนมีบ่อน้ำเล็ก ๆ ก็เอาข้าวลงไปหว่านเพื่อไว้พอกินเท่านั้น
จากนั้นมีครอบครัวที่ตามมาคือครอบครัวตระกูลเนื่องละมุล นำมาโดยพ่อใหญ่จารย์คูบุญศรีกับแม่ใหญ่สีดาถือเป็นครอบครัวที่สองที่มาตั้งบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของนายทอน ศรีไสย์ โดยนางคำเย็น เนื่องละมุลซึ่งป็นหลานอยู่บ้านเลขที่ 48 หมู่ 8 ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดหาสารคาม เล่าว่า “พ่อใหญ่บุญศรีแม่ใหญ่สีดา มาจากบ้านยางพุ่นล่ะว่ามานำพ่อใหญ่ว่าสั้นตั้วกะเลยมาตั้งอยู่บ้านนี้มาจองเอานาเป็นป่านั่นล่ะมาไว้ถ้าเฮดกิน” จากการเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านก็ถากถางพื้นที่เพื่อหาที่อยู่อาศัยและจับจองที่นาตามสมควร ต่อมาเริ่มมีรุ่นลูกรุ่นหลานมากขึ้นจากหลายครอบครัว จึงเริ่มมีการทำที่อยู่อาศัยใหม่และจากที่มีคนอพยพมามากขึ้นทำให้ต้องเร่งสร้างบ้านเพื่อเป็นหลักแหล่งการสร้างบ้านเป็นการช่วยกันแต่ล่ะบ้านบ้านไหนทำก่อนก็จะมาช่วยกันทำโดยการตัดต้นไม้ยางนาซึ่งเป็นไม้ที่อยู่บริเวณหมู่บ้านมาสร้างบ้านเรือน การสร้างบ้านนั้นเป็นการสร้างในรูปแบบบ้านใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงในเวลายามค่ำคืนจะได้ง่ายต่อการดูแลในยามวิกาล การสร้างบ้านในช่วงนี้ยังกระจัดกระจายกันอยู่บางส่วนอยู่บริเวณบ้านปัจจุบันมีบ้านของนายทอน พ่อใหญ่บุญศรี แล้วยังมีบ้านที่สร้างอยู่ทางริมน้ำชีอีกสองสามหลังการตั้งบ้านในช่วงนี้นั้นยังกระจัดกระจายกันอยู่ไม่เป็นระเบียบ
ต่อมาประมาณช่วงปี พ.ศ. 2430 จากการที่ชาวบ้านส่วนมากนับถือศาสนาพุทธแต่เดิมมาแล้วจึงพากันรวมตัวสร้างวัดโดยวัดแต่แรก ๆ นั้นนายธีร์ ชมชื่น เล่าให้ฟังว่า “ตั้งแต่พ่อบวชเป็นเณรบ่ทันมาอยู่บ้านนี้ดอกวัดนี้มีเฮียนหลังน้อย ๆ เป็นศาลาวัดคือเฮียนน้อยเฮานี้นาพอพระได้อยู่สวดมนต์ฉันเข้าท่อนั้นล่ะกับในวัดมีหนองน้ำน้อยอยู่หลังวัดล่ะ” วัดสร้างจากการช่วยเหลือของชาวบ้านหลายคนบางคนไปหาตัดไม่มาเพื่อทำเสาบ้าน อีกคนสานฝาศาลา สานหญ้าคาเพื่อมุงหลังคาเพื่อพอเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจากการสอบถามนายธีร์ที่อายุมากที่สุดในหมู่บ้านว่าประเพณีฮีตสิบสองในหมู่บ้านนี้ทำมาเกือบครบทุกประเพณียกเว้นประเพณีบุญบั้งไฟเท่านั้นและวัดแห่งนี้ต่อมาได้เป็นที่เรียนหนังสือของชาวบ้านในช่วงต่อมาโดยมีครูเคน ครูชวนเป็นครูสอนหนังสือในสมัยนั้น นอกจากการสร้างวัดแล้วสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านศรัทธามาตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านคือศาลปู่ตา ซึ่งจากการบอกเล่าของนายจันทร์ ทรทึก ว่า “ปู่ตาบ้านเฮานี้กะตั้งมาแต่โดนแล้วพ่อหาถามไผกะบ่รู้มีแต่คนว่าเกิดมากะเห็นแล้วล่ะกะสิตั้งมาตั้งแต่ตั้งบ้านนี่ล่ะอยู่หม่องเก่าซุมื้อนี้ล่ะแต่ว่าแต่กี้ใหญ่กว่านี้เด้ล่ะคนถากเฮดนาหลายกะเลยกิ่วลงเหลืออยู่หน่อย ๆ นี้ล่ะล่าเอ้ย ปู่ตากะเป็นผีคุ้มครองรักษาหมู่บ้านเนาะกะเลี้ยงเพิ่นทุกปี” ปู่ตาเป็นที่พึ่งของชาวบ้านว่ารักษาคุ้มครองหมู่บ้านมาตั้งแต่ตั้งชาวบ้านทุกปีจะเตรียมเครื่องบูชา เหล้าไห ไก่ตัว หมากพลู บุหรี่ เพื่อรวมกันมาคารวะปู่ตาทุก ๆ ปี ช่วยกันถากถางทำความสะอาดใครผ่านไปมาถือมีดไปนาก็พากันถางเพื่อไม่ให้รกร้าง และต่อมาก็มีการบูรณะศาลปู่ตามาเรื่อย ๆ เพราะชำรุดไปตามเวลา และการทำนาก็รุกพื้นที่ของปู่ตาทำให้มีพื้นที่น้อยมากจนทำให้ไม่มีพื้นที่ในการจัดงานจึงมีการย้ายไปตั้งหลักบ้านแต่ก็ยังมีการมาทำความสะอาดปู่ตาอยู่เสมอ
ชาวบ้านในช่วงแรกจากการบอกเล่าของคนแก่หลายคนโดยนายลุย พะลิงอยู่บ้านเลขที่ 38 หมู่ 8 ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคามเล่าเรื่องการทำมาหากินให้ฟังว่า “แต่กี้บ้านเฮาบ่ทันพากันเฮดนาหลายดอกถางไว้เฮดพอกิน หม่องโคกมันหลายพากันถางโคกปลูกปอพุ่นแหล่วขาย ซัวสิได้ตั้วตัดแล้วแบกไปแซ่น้ำชีพุ่นหย่างไกลแบกไปแล้ว ๆ กะพากันไปนั่งลอกเฮียนไผเฮียนมันลอกซ่อยกันพากันเอาไปแซ่ใกล้กันหลายเฮียนอยู่นำกันได้โสกันไปนำสั่นตั้ว” นายลุยบอกถึงการปลูกปอว่าในพื้นที่บ้านป่ายางห่างนี้ปลูกปอเป็นส่วนมากแล้วการตัดแล้วนำไปแช่น้ำชีเพื่อให้เปื่อยจนเกือบเน่าและลอกออกมาตากแห้งเพื่อทำเป็นเชือกแต่คนในหมู่บ้านก็จะมารวมกันทำริมแม่น้ำชีใกล้ ๆ กันช่วยกันลอกแต่ละบ้านมาช่วยกันทำโดยส่วนมากแล้วจะลอกแล้วนำมาตากแห้งเพื่อขายมากกว่าทำไว้ใช้เอง โดยช่วงที่ปอเติบโตนั้นก็มีการถากถางพื้นที่ของตนเองในการทำนาเพื่อให้มีพื้นที่เพิ่มในการทำนาอีก
การปรับตัวของคนที่มาสร้างหมู่บ้านและคนที่มาอาศัยเพิ่มเติม
ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2475 จากการสอบถามว่าใครเป็นผู้นำหมู่บ้านคนแรกโดยการสอบถามชาวบ้านลายคนบอกว่านายทอน ศรีไสย์เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกซึ่งนับเป็นคนที่เข้ามาในหมู่บ้านตระกูลแรก ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งตระกูลนี้เป็นต้นตระกูลที่ชายจากหลายบ้านมาแต่งงานกับลูกสาวของนายทอน และอีกตระกูลก็คือตระกูลเนื่องละมุล ประมาณ พ.ศ. 2498 นายธีร์ ชมชื่น เล่าว่า “พ่อมาอยู่บ้านนี้พ่อกับแม่ตั้วบอกมากับพี่น้องนั่นล่ะมาจากบ้านยางแล้วพ่อกะมาแต่งงานกับลูกสาวคนที่สองของพ่อใหญ่บุญศรีมาอยู่บ้านหลังนี้บ้านเลขที่ 2 ตั้วต่อจากบ้านพ่อใหญ่ทอนมาเฮดนานำเพิ่นมาอยู่จนเท่าซุมื้อนี้ล่ะ” ตระกูลที่อพยพมาอยู่เพิ่มเติมเองก็เป็นตระกูลที่มาจากบ้านยางเหมือนกับช่วงแรก ๆ เพื่อมาแต่งงานใหม่และทำนาในช่วงนี้เนื่องจากมีเขยมาใหม่ก็มีการถากถางจับจองพื้นที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อขยายให้มีที่นามากกว่าเดิมเพราะต้องทำนาเพิ่มอีกเพื่อไว้กินนายธีร์เข้ามานี้ยังมีการปลูกปออยู่มากเหมือนเดิมซึ่งนายธีร์เองก็ได้ไปลอกปอเหลือนกันกับชาวบ้านคนอื่น ๆ และการทำนาช่วงนี้เริ่มมีวัวควายในการทำนานายธีร์ เล่าต่ออีกว่า “พ่อมาอยู่บ้านนี้พ่อตื่นแต่เช้าจูงควยออกไปไถนาให้เพิ่นหว่านเข้าเฮดนา เลี้ยงวัวเลี้ยงควยให้เพิ่นมาอยู่นำเฮียนเพิ่นเนาะเพิ่นสิด่าขั้นบ่เฮดกะดาย”
การทำนาเป็นการทำนาหว่านกับนาดำเท่านั้นใช้วัวควายไถนาจากคำบอกเล่าของนายธีร์และเวลาเก็บเกี่ยวหลายบ้านก็จะมาช่วยกันเกี่ยวและตีข้าวและนำข้าวมาตากโดยใช้การตากแบบขี้ทาลานคือการนำขี้วัวมาทาบนลานดินเพื่อไม่ให้เมล็ดข้าวตกลงในซอกดินในระหว่างที่นวดข้าวอยู่ ในการนวดจะหาไม้กระดานมาวางเพื่อรองตีข้าวให้ออกมากที่สุดเพื่อให้ได้ข้าวที่ร่วงออกมามาก ๆ หรือในบางบ้านใช้วัวควายย่ำแทนการนวดข้าว แต่ส่วนมากแล้วก็ใช้การตีข้าวเนื่องจากง่ายและรวดเร็วกว่าการใช้วัวหรือควาย
ตระกูลที่มาแต่งงานกับลูกสาวคนสุดท้องของพ่อใหญ่บุญศรีคือนายประมวล นาทันตอง เป็นชาวบ้านเปลือยน้ำมาแต่งงานกับนางคำเย็น เนื่องละมุลซึ่งเป็นลูกสาวคนเล็กของพ่อใหญ่บุญศรีจากการบอกเล่าของนางคำเย็นว่า “พ่อใหญ่มวลมาจากบ้านเปลือยมีนาหลายตั้วเป็นคนแป๋รวยพุ่นล่ะมีนาหลายเขากะว่ารวยแล้วเนาะมาแต่งานแล้วอิพ่อแบ่งที่ให้สร้างเฮียนอีกหลังนึงหลังอยู่เดียวนี้ล่ะแต่กี้มีใต้ล่างเดียวนี้เฮดใหม่แล้วน้ำมันบ่ท่วมอีกเลยเฮดสองซั้นเลากะมาเฮดนานิแหล่วซ่อยกันเฮดถางหม่องเฮดนาได้หลายยุตั้ว” แล้วนายประมวลเองก็เข้ามาทำนาของนายบุญศรีที่แบ่งให้ลูกสาวคนเล็กเช่นกันและคนในหมู่บ้านก็พูดถึงนายประมวล ว่าเป็นคนที่หาปลาเก่งมากที่สุดในหมู่บ้าน เพราะในแต่ล่ะครั้งออกไปหาปลานั้นได้ปลามาเยอะและไม่ขายแต่กลับนำมาแจกญาติพี่น้องกินเท่านั้นไม่เคยขายแต่ก็เวลามีอะไรกินบ้านใกล้เรือนเคียงกันก็จะหามาสู่กันกิน อุปกรณ์ที่นายประมวลใช้หาปลาใช้แห ดาง และการใส่เบ็ดเพื่อดักปลาโดยการใส่เบ็ดเป็นการหาไม้ไผ่มาเหลาแล้วหาเชือกมาผูกกับตะขอแล้วนำไปใส่ไว้ตามลำแม่น้ำชีโดยใช้เหยื่อเป็นไส้เดือนที่ขุดเอาตามพื้นที่ในหมู่บ้านเพื่อมาเสียบไว้ในตอนเย็นแล้วตอนเช้าก็มาเก็บถ้ามีปลาติดก็ปลดออกใส่กระชังก่อนทำให้บ้านของนางคำเย็นเพียบพร้อมทุกอย่าง
นอกจากตระกูลที่เข้ามาแต่งงานกับตระกูลเนื่องละมุลแล้วยังมีคนจากบ้านยางมาแต่งงานกับตระกูลศรีไสย์คือนายธนินทร์ ช่างยันต์ โดยมาแต่งงานกับลูกสาวของนายทอน ศรีไสย์และมีครอบครัวใหม่มีอาชีพทำนาจากมรดกที่นายทอนมอบให้ลูกสาวพร้อมกับมีการถากถางเพิ่มเติมจากการบอกเล่าของยายสมหวังสุวรรณเลิศว่า “แต่กี้เพิ่นว่ามาอยู่กะพากันเอาไม้มาสักจองเอานั่นล่ะไผสักเอาหลายกะได้หลายไผสักน่อยได้น่อยแต่ผุเพิ่นมาก่อนกะได้หลายนั่นล่ะ” การเข้ามาจองพื้นที่ใช้ไม้ปักไว้เพื่อจับจองก่อนถากถางเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินจากที่มีครอบครัวมาอยู่มากนั้นทำให้ต้องมีที่ทำนาเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับแรงงานในการปรับปรุงเพื่อเป็นพื้นที่นามากขึ้นมากกว่าปลูกปอ จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2503 จากการที่ชาวบ้านต้องการปลูกข้าวมากแล้วนั้นข้าวยังเริ่มมีราคาดีกว่าปอทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวมากขึ้นจนทำให้พื้นที่ที่เป็นป่ากลายเป็นทุ่งนาอย่างมากเพื่อปลูกข้าวขาย จากการบอกเล่าของนายธีร์ ชมชื่น ว่า “บ้านเฮาเซาปลูกปอตั้งแต่ก่อนพ่อใหญ่พวงเป็นผู้ใหญ่บ้านไทบ้านกะพากันมาปลูกเข้าย้อนว่าปอมันปลูกหลายมันกะเลยถืกปลูกเข้าได้หลายกะพากันมาปลูกเข้าได้กินนำได้ขายนำ” จากการบอกเล่าของนายธีร์ทำให้ทราบว่าชาวบ้านเลิกปลูกปอในปี พ.ศ. 2503 เพราะดูจากนายพวงเป็นผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ. 2504 จึงทำให้ทราบถึงการเลิกปลูกปอของชาวชุมชนบ้านป่ายางห่าง และจากการที่เลิกปลูกปอเนื่องจากชาวบ้านถากถางพื้นที่มากขึ้นเพื่อทำนาและข้าวก็ขายได้เงินดีกว่าขายปอและวิธีการทำไม่ยุ่งยากเหมือนปอที่ต้องเอาไปแช่น้ำรอให้เน่าก่อนถึงลอกได้ซึ่งลำบากต่อการทำ การทำนาข้าวได้ผลผลิตดีกว่าและประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ต้องทำนาเพิ่มมากขึ้นด้วย
การเปลี่ยนแปลงช่วงที่ 3 พ.ศ. 2504-2520 ช่วงการพัฒนาหมู่บ้านสู่ความเจริญมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงในช่วงนี้จะเป็นการพัฒนาชุมชนโดยการนำของผู้นำหมู่บ้าน ในช่วงปี พ.ศ. 2504 ในช่วงนี้นายพวงซึ่งเข้ามารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนที่สองซึ่งนายพวงเองเป็นคนที่เกิดในหมู่บ้านนี้ซึ่งเป็นคนที่มีอายุมากพอสมควรจึงได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้นำหมู่บ้าน ในช่วงนี้เองชาวบ้านส่วนมากแล้วหันมาทำนาและมีการเลี้ยงวัวควายมากขึ้นด้วยเนื่องจากทุกบ้านมีวัวควายในช่วงนี้เนื่องจากมีที่มากจึงทำให้การทำนาจึงต้องใช้เครื่องทุ่นแรงด้วยจากการใช้วัวควายในการทำนาเนื่องจากการทำนาในชุมชนสภาพแหล่งน้ำเอื้อต่อการทำนาอย่างมาก แต่ในช่วงที่มีการทำนานี้ถนนหนทางในหมู่บ้านยังไม่มีชัดเจนโดยมากเป็นทางวัวควาย จากการบอกเล่าของนายธีร์ ชมชื่น เล่าว่า “แต่ก่อนพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้านถนนในหมู่บ้านเฮาบ่มีดอกหนทางมีแต่ทางวัวควยใช้ธรรมดาผ่านคือทางไปนานิล่ะเป็นขี้ดินเหนียวยามฝนตกย่างยากขี้ตมมันหล่มเทิงมันหนียวติดตีนต้นไม้กะยังบ่ทันเมิดปานได๋ยังเหลืออยู่กะบ่หลาย” จากการบอกเล่าของนายธีร์แล้วในหมู่บ้านยังไม่มีถนนหนทางเป็นเพียงทางวัวทางควายที่ใช้ผ่านไปทำนาของแต่ละคนที่ใช้ด้วยกันยังเป็นป่าอยู่ จนมาในปี พ.ศ. 2514 นายธีร์ ชมชื่น คนที่อพยพมาจากบ้านยางมาแต่งงานกับตระกูลเนื่องละมุลได้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นผู้ใหญ่บ้านที่มีอายุน้อยกว่ารุ่นที่เป็นมาเพราะมีแต่คนที่มีอายุมากแล้วจากบันทึกของนายธีร์ทำให้ทราบถึงช่วงเวลาที่รับตำแหน่งที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ในช่วงที่นายธีร์ ชมชื่น เป็นผู้ใหญ่บ้านนี้เองทำให้เกิดถนนเส้นแรกในหมู่บ้านโดยนายธีร์ เล่าว่า “พ่อมาพาไทบ้านพากันถางหม่องทางวัวควยนี่ล่ะช่อยกันถางให้มันก้วงออกอีกยาวเป็นเส้นดียวไฮอดสามแยกพุ่นถนนใหญ่พากันซอยกันถางพ่อซายถางแม่ยิงพากันกวาดออกไปเผาจนได้เป็นถนนเส้นนี้” จากการเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำก็มีการพัฒนาสิ่งแรกคือถนนหนทางที่ใช้เดินทางกันให้สะดวกมากขึ้น จากการพัฒนาถนนเส้นแรกนี้ทำให้ชาวบ้านต่างพากันย้ายบ้านมาสร้างใหม่ให้ติดกับถนนเส้นแรกของหมู่บ้านโดยการย้ายมาจากบริเวณติดกับแม่น้ำชี โดยการรื้อบ้านหลังเก่าและยังมีการตัดไม้มาสร้างเพิ่มเติมในช่วงนี้อีกทำให้ทรัพยากรไม้ยางที่ใช้มากที่สุดนั้นเริ่มหายไปเรื่อย ๆ บ้านที่สร้างใหม่นั้นก็ไม่ใช้ไพหญ้ามุงหลังคาแล้วแต่ใช้สังกะสีมุงหลังคาแทนเพื่อรองน้ำฝนไว้กินด้วย ในช่วงนี้เองก็ส่งผลทำให้มีคนย้ายบ้านเรือนมาอาศัยอยู่สองฝั่งถนนเส้นแรกของหมู่บ้านทำให้มีบ้านเรือนตั้งเรียงกันเป็นแถวอยู่สองฝั่งถนนจากการพัฒนาถนนเส้นแรกของหมู่บ้าน
การทำนาที่ชาวบ้านหันมาทำนาเต็มที่นั้นจากการบอกเล่าของยายสมหวัง สุวรรณเลิศ เล่าว่า “แต่กี้บ้านเฮาเฮดนาบ่มีรถไถ มีแต่วัวควยละไถนาพากันเอางัวควยออกไปแต่เช้าไถนาดำนา ฮอดยามเกี่ยวข้าวซ่อยกันเด้บ่ได้จ้างคือซุมื้อนี้ไปซ่อยกันไปเรื่อย ๆ ลงแขกนั่นละรถสีกะบ่มีซ่อยกันตีเอาจั่งเอาไปเทใส่เล้าไว้ซุมื้อนี้เหมิดแล้วละมีแต่เงิน” จากการบอกเล่าถึงการทำนาจากยายสมหวังบอกถึงการทำนาในช่วงนี้ต้องใช้วัว ควายในการไถนาแล้วมีการดำนาแล้วยังต้องเดินดูเวลาเอาน้ำลงเพื่อให้ข้าวงามและหอยก็ต้องเก็บเองเนื่องจากไม่มียาฆ่าหอยและมีไม่มากและการเก็บไปนั้นก็ไปทำเป็นอาหารได้ แต่พอถึงเวลาเกี่ยวข้าวชาวบ้านก็มาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวและไม่มีการใช้รถสีใช้การตีข้าวเพื่อให้เมล็ดร่วงออกจากรวงแล้วจึงขนไปใส่ในยุ้งฉางที่บ้านช่วยกันไปทีละนาไม่มีการจ้างเหมือนทุกวันนี้ การลงแขกนั้นเจ้าของนาก็จะทำกับข้าวมาเลี้ยงคนลงแขกเสร็จจากนาของตัวเองก็จะไปช่วยคนที่มาช่วยเกี่ยวนาเราไปเรื่อย ๆ จนเสร็จ
จากนั้นก็มีการพัฒนาสถานที่ทางศาสนาจากการรวบรวมเงินชาวบ้านเพื่อสร้างศาลาวัดหลังใหม่จากการลงแรงของชาวบ้านที่ช่วยกันตัดไม้มาสร้างศาลาหลังใหม่จากการร่วมแรงร่วมมือของชาวบ้านที่ช่วยกันสร้างศาลาวัดและเป็นหลังปัจจุบันที่ยังเหลือและกลายเป็นกุฏิให้พระไปแล้ว จากการสอบถามนายธีร์ ยืนยันว่าศาลาหลังนี้เป็นศาลาที่ปรับปรุงตั้งแต่ช่วงที่เป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นหลังนี้ที่คงสภาพเดิมมากที่สุดแต่มีการเพิ่มเติมให้หลวงปู่ตันที่พึ่งมรณภาพเนื่องจากหลวงปู่มีอายุมากจึงเพิ่มห้องหนึ่งห้องให้จำวัดในด้านล่างเพื่อไม่ให้เดินขึ้นบันไดเนื่องจากท่านชราภาพมากและมีโรคแทรกซ้อนทำให้ต้องเพิ่มเติมด้านล่างเพื่อเป็นที่จำวัดให้หลวงปู่และปัจจุบันนี้ในวัดก็มีพระอยู่รูปเดียวหลังจากที่หลวงปู่มรณภาพแล้วปัจจุบันหลวงพ่อโรยมาจำวัดที่วัดสว่างคงคาแห่งนี้ ในช่วงเดียวกันนี้ก็มีการพัฒนาสะน้ำหลังวัดจากภาครัฐให้งบประมาณมาปรับปรุงให้ใหญ่ขึ้นโดยการจ้างคนในหมู่บ้านมาขุดทราบได้จากหลักนางวราภรณ์ ไชยชินที่บอกว่า “แต่กี้ตอนเขาขุดสระน้ำป้ามาหารับจ้างขุดสระน้ำหาเงินไปโรงเรียนอยู่ตั้วเขากะพากันจ้างไทบ้านนิล่ะขุดซ่อยกันพากันแบกบักจกมาผุละอันขุดซ่อยกันหลายคนอยู่แหล่ว ขุดแล้วกะได้เงินค่าขุดเป็นมื้อไปพอมีเงินไปโรงเรียน สระนี้ชาวบ้านช่วยกันขุดและมีการตั้งชื่อสระจากชาวบ้านหลายคนที่พูดตรงกันว่าชื่อ “สระคึกฤทธิ์” เพราะสระนี้ได้งบประมาณการขุดจากสมัยที่นายคึกฤทธิ์ ปราโมทย์เป็นนายกรัฐมนตรีและมีการพัฒนามากมายรวมถึงถนนด้วย และความที่ขุดแล้วสระน้ำนี้ก็มีขนาดใหญ่มากที่สุดและมีสระเดียวในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียนอีกชื่อหนึ่งว่า “หนองใหญ่” เป็นหนองน้ำที่ใช้สำหรับใช้อาบ ซักผ้าของชาวบ้านเท่านั้น ส่วนน้ำกินนั้นชาวบ้านต้องเดินทางไปหาบน้ำจากบ่อบ้านโนนตาลจากการบอกเล่าของนางวราภรณ์ต้องเดินทางพากันไปหาบน้ำที่บ้านโนนตาลไปพร้อมกันหลายคนหาบมาจากบ้านโนนตาลพอไปถึงต้องไปรอคิวอีกกว่าจะได้น้ำมากินก็ต้องรอนานพอสมควรแล้วแต่ก่อนั้นคนแก่เองกินน้ำจากบ่อทรายตรงแม่น้ำชีต้องไปหาบมาเช่นกัน
นาพอน้ำลดแล้วก็พากันเอาวัวควายไปไถต่อเลยเพื่อเตรียมการเพาะปลูกข้าวต่อเพื่อแช่ตอฟางข้าวเดิมให้เน่าเป็นปุ๋ยต่อด้วย
ประมาณปี พ.ศ. 2523 คำเย็น เนื่องละมุล เล่าว่า “พ่อใหญ่มวลเลาขุดน้ำบาลดาลตั้วขุดเองนิล่ะเอากะละมังมางุมหาหม่องขุดหม่อได๋มีน้ำอายน้ำในกะละมังกะขุดเลยขุดแล้วกะได้พร้อมหม่องนี่ในวัดกะมีแต่มันบ่ใสหม่องนี่ใสคนกะมาเบิ่งมาขอไปกินที่แรกเอาถังมาใส่ไปกิน” สามีได้เจาะน้ำบาดาลเป็นที่แรกของหมู่บ้านที่ใสสะอาดและสามารถกินได้จึงทำให้ชาวบ้านมาใช้น้ำที่บ้านของนางคำเย็น จากที่ต้องไปหาบน้ำกินที่บ้านโนนตาลเพื่อมากินซึ่งต้องเดินทางไกลเพื่อนำน้ำมาเป็นน้ำดื่ม และการดื่มน้ำจั้นหรือบ่อทรายที่อยู่บริเวณน้ำชีหันมาดื่มน้ำบาดาลที่บ้านของนางคำเย็น เนื่องละมุล โดยนายชำนาญ นาทันตองซึ่งเป็นลูกของนางคำเย็นและนายประมวลเจ้าของบ่อน้ำบาดาล เล่าว่า การขุดบ่อน้ำบาดาลครั้งแรกนั้นใช้กะละมังคว่ำลงดินไว้ตอนเย็นกระจายไปแต่ละที่ในบ้านของตนและตอนเช้ามาเปิดมีไอน้ำอยู่ก็เลยขุดและได้น้ำที่ใสและดื่มได้ชาวบ้านจึงมาใช้น้ำบาดาลเพื่อเป็นน้ำดื่ม จนในปี พ.ศ. 2527 มีการพัฒนาถนนเส้นแรกของหมู่บ้านโดยงบประมาณจากภาครัฐเป็นถนนลูกรังเพื่อทำให้การสัญจร สะดวกมากยิ่งขึ้นในฤดูฝนในการทำถนนลูกรังก็มีรถใส่หินลูกรังมาแต่ยังไม่มีรถมาไถก็ใช้แรงชาวบ้านมาเขี่ยหินลูกรังช่วยกันหน้าบ้านตัวเองเสร็จก็ไปช่วยกันจนเสร็จเรียบร้อยแล้วยังทำให้ชาวบ้านเริ่มซื้อรถมอเตอร์ไซต์ มาใช้ในการเดินทาง ในปีนี้ก็เริ่มมีการทำนาเพื่อขายเพราะเส้นทางในการติดต่อค้าขายสะดวกมากขึ้น จากการซื้อขายข้าวที่สะดวกมากขึ้นทำให้มีพ่อค้าเข้ามาติดต่อซื้อข้าวหลายรายทำให้ชาวบ้านเริ่มผลิตข้าวมากขึ้นเพื่อต้องการนำเงินมาใช้ในการซื้อสินค้าที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน เช่น ทีวี เป็นต้น เข้ามาใช้ในหมู่บ้านทำให้เกิดการเริ่มมีการใช้เงินตราเพิ่มมากขึ้นด้วย แล้วจากการเริ่มมีรถก็จะมีการเริ่มส่งลูกเข้าเรียนในเมืองมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีเงินเยอะก็จะส่งลูกเข้าเรียนในเมืองในระดับสูงขึ้นไป
จากที่ช่วงนี้มีเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำนาแล้วทำให้การทำนานั้นสะดวกมากขึ้นกว่าเดิมชาวบ้านก็ทำนาถึงสองครั้งเพราะมีความต้องการที่จะขายให้ได้ราคามาก ๆ ทำให้มีการปลูกข้าวสองครั้ง การปรับปรุงที่นาให้มีพื้นที่มากขึ้นโดยการจ้างรถไถปรับที่ให้ปลูกข้าวได้มากขึ้น และมีการปลูกข้าวเหนียวแล้วข้าวจ้าวโดยแบ่งที่นา โดยการปั้นคูแทนา จากการบอกเล่าของนายสมพงษ์ เนื่องละมุลว่า “แต่กี้ปั้นคูแทนาไว้กันน้ำนำนั่นลละบาดนิมันปลูกข้าวสองแนวกะเปับ่งที่ปลูก พอเป่งน้ำลงแล้วกะจกเอาดินมาปั้นเป็นคูพอกันน้ำได้นิละ บาดนิมีรถไถแฮงง่ายรถเฮดคาวเดียว” จากการบอกเล่าการปั้นคูพื่อการกักเก็บน้ำไว้ในที่นาและเป็นการแบ่งพื้นที่เพาะปลูกด้วย และในนาข้าวของแต่ละคนก็จะมีบ่อน้ำอยู่กลางทุ่งนาเพื่อไว้เก็บน้ำและจะมีปลามาอยู่หลังจากที่น้ำท่วมเสร็จแล้วน้ำก็ลดลงในทุ่งนาเรื่อยปลาก็จะมาลงที่สระน้ำของแต่ละที่นา หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวช่วงนาปีแล้วก็จะทำการวิดน้ำออกเพื่อเอาปลาโดยนายสมพงษ์เล่าต่ออีกว่า “เกี่ยวข้าวแล้วกะพากันเอิ้นพี่น้องเอาเครื่องไปสาปลามากินใกล้ช่วงปีใหม่พอดีพี่น้องทางไกลกะสิมาเอาปลานิละเฮดกิน”การวิดน้ำเอาปลาเพื่อที่จะเอาปลามากินในช่วงปีใหม่ต้อนรับญาติที่มาจากทางไกลด้วย
ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2530 มีการสร้างโรงเรียนบ้านป่ายางห่างโนนทันขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนของคนในหมู่บ้านและบ้านโนนทันจึงเรียกรวมเป็น “โรงเรียนบ้านป่ายางห่างโนนทัน” จากการสอบถามชาวบ้านและนายธีร์ ชมชื่น เล่าว่า แต่เดิมพื้นที่โรงเรียนบ้านป่ายางห่างโนนทันนี้เป็นป่าไผ่ที่มีเจ้าของอยู่โดยได้ซื้อที่จากเงินภาครัฐเป็นเงิน 8000 บาทแล้วชาวบ้านทั้งบ้านป่ายางห่างและบ้านโนนทันช่วยกันถากถางและสร้างอาคารเรียนขึ้นเป็นอาคารไม้มีใต้ถุนสูงและมีการปรับปรุงห้องเรียนชั้นล่างในภายหลัง จากการที่พื้นที่เดิมเป็นป่าต้นไผ่ชาวบ้านก็มาช่วยกันถากถางกอไผ่ในพื้นที่โรงเรียนเพื่อสร้างโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านป่ายางห่างและบ้านโนนทันเพราะโรงเรียนตั้งอยู่ระหว่างกลางของสองหมู่บ้านทำให้สองหมู่บ้านส่งลูกมาเรียนร่วมกันโดยครูเคน ครูชวน ต่อมามีครูทองมากมาสอนเพิ่มที่หลังเนื่องจากแต่ก่อนครูเคน ครูชวนสอนอยู่โรงเรียนวัดบ้านป่ายางห่าง
ในปี พ.ศ. 2533 มีระบบน้ำประปาในหมู่บ้านจากเดิมที่ใช้น้ำจากชีหลงมาใช้ในการบริโภคและน้ำกินจากบ้านนางคำเย็นและต่อมาชาวบ้านก็เริ่มมีการรองน้ำฝนเพื่อนำมาดื่มแทนน้ำบาดาลและก็มีการซื้อโอ่งเป็นการซื้อโอ่งแดงที่รถเข้ามาขายในหมู่บ้านจากการสอบถามจากนายธีร์ เล่าว่า “มันมีรถมาขายโอ่งแดงใหญ่ ๆ มาหาขายกะพากันซื้อบ้านละโอ่งสองโอ่งไว้ถ้าใส่น้ำฝนกินเขากะเฮดฮางรินนำให้น้ำมันไหลมาใส่โอ่ง” มาเพื่อรองรับน้ำไว้กินได้ตลอดปีจากการที่มีการพัฒนาถนนลูกรังจากเดิมที่เคยทำนาครั้งเดียวชาวบ้านก็หันมาทำนาสองครั้งเพื่อต้องการขายข้าวให้ได้เงินมากขึ้นโดยการทำนาปรังเพื่อเอาข้าวขายอย่างเดียวไม่เก็บไว้กินทำให้ชาวบ้านได้เงินจากการขายข้าวเพิ่มมากขึ้นและเริ่มมีรถไถนาเข้ามาทำให้ง่ายต่อการทำนาและต่อมาก็มีปุ๋ยเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้นไปด้วย ในปี พ.ศ. 2542 มีงบประมาณในการพัฒนาถนนเป็นถนนคอนกรีตซึ่งทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้นทำให้ชาวบ้านหันมาใช้ถนนเส้นนี้ในการสัญจรเข้าเมืองแล้วทำให้เริ่มซื้อรถยนต์มาใช้เอความสะดวกในการเดินทางเข้าเมืองเพื่อทำการค้าขาย เพื่อเดินทางไปศึกษาของบุตรหลาน แล้วยังมีการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น แล้วการผลิตข้าวเพื่อขายทำให้ชาวบ้านทำนาอย่างจริงจังมากขึ้น ทำให้เริ่มมีการส่งลูกเข้าไปเรียนในเมืองมากขึ้นเพราะสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้สะดวกมากขึ้น
จากการที่พื้นที่ในหมู่บ้านน้ำท่วมบ่อยครั้ง พ.ศ. 2547 เกิดน้ำท่วมหมู่บ้านอีกครั้งทำให้ต้องเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงคือไว้ชั้นบนของหมู่บ้านเพราะครั้งนี้น้ำท่วมไม่สูงเท่ากับปี พ.ศ. 2521 ทำให้ชาวบ้านเอาของที่ต้องการและออกไปอยู่ที่ถนนทางออกไปบ้านวังบัวชั่วคราวก่อนซึ่งบางคนอยู่เฝ้าบ้านไม่ออกไปไหนทำให้การเดินทางสัญจรยากลำบากชาวบ้านออกไปซื้อของต้องเดินฝ่าน้ำกลางถนนออกไปและเดินกลับซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณหนึ่งเดือนถึงสองเดือนการเดินทางไปโรงเรียนก็จะมีรถของบ้านเดียวกันชาวบ้านก็จะพาลูกตื่นแต่เช้าพาออกไปรอเพื่อเดินทางไปโรงเรียนเดินลุยน้ำออกไปแต่งตัวที่ถนนแล้วขึ้นรถไปโรงเรียนด้วยกันและชาวบ้านคนใดจะไปซื้อของก็ออกไปพร้อมกันแต่ต้องกลับมาเองเพราะรถที่นักเรียนขี่ไปต้องกลับมาพร้อมกับเจ้าของรถเลิกงาน หลังจากน้ำท่วมการสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยจากที่มีใต้ถุนด้านล่างเปลี่ยนเป็นก่ออิฐแล้วทำเป็นบ้านสองชั้นเพื่อความสะดวกสบายของคนแก่ที่ไม่ต้องขึ้นลงบันไดและการทำกิจวัตรประจำวันด้านต่าง ๆ เพราะจากที่เคยเป็นที่ใช้เลี้ยงวัวชาวบ้านเลิกเลี้ยงวัวเพราะมีรถไถใช้ในการทำนาจึงเลิกเลี้ยงและอีกอย่างหนึ่งมีการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์กักเก็บน้ำได้มากจึงไม่มีน้ำท่วมอีกทำให้ชาวบ้านมั่นใจว่าไม่เกิดน้ำท่วมแล้วจึงปรับปรุงบ้านเรือนของตนเอง
การทำนาก็ทำนาปรังมากขึ้นเนื่องจากข้าวช่วงนี้มีราคาที่สูงมากจากนโยบายของรัฐบาลมีการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งผลผลิตเพื่อให้ได้ข้าวมาก ชาวบ้านจึงทำนาเพิ่มมากขึ้นและเก็บข้าวไว้กินน้อยลงเพื่อจะขายเอาเงินมากว่าในการทำนาปีก็จะทำข้าวเจ้ามากขึ้นเนื่องจากมีราคาสูงกว่าข้าวเหนียว จึงทำข้าวเหนียวลดลงเพื่อจะต้องการกำไรในการปลูกข้าวมากที่สุด
การเปลี่ยนแปลงช่วงที่ห้า พ.ศ. 2548-2553 ยุคการพัฒนาสู่โลกภายนอก
จากการที่ถนนเริ่มพัฒนาสู่บ้านต่าง ๆ เป็นเส้นทางที่ชัดเจนและสะดวกมากขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2548 ภาครัฐได้สร้างสะพานข้าวแม่น้ำชีบริเวณใกล้เคียงท่าน้ำเดิมของบ้านป่ายางห่างเพื่อใช้ข้ามไปในเมืองโดยทางเรือซึ่งมีแต่ชาวบ้านที่ใช้เท่านั้นหลังจากมีการสร้างสะพานแล้วเสร็จแล้วนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้านที่จากการที่เป็นหมู่บ้านที่ใคร ๆ ก็ไม่เคยรู้จักมาเป็นหมู่บ้านที่เป็นทางสัญจรเข้าสู่ในเมืองทำให้กลายเป็นที่รู้จักและมีผู้คนมาใช้เส้นทางนี้ในการเดินทางเข้าเมืองเนื่องจากมีระยะทางที่สั้นลงและสะดวกต่อการเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง จากการที่มีสะพานข้ามแม่น้ำชีทำให้ชาวบ้านพากันส่งลูกเข้าเรียนในเมืองเพราะใกล้และมีงบประมาณจากภาครัฐช่วยเหลือในการเรียน และที่วัดบ้านเกิ้งเหนือซึ่งมีตลาดนัดในวันพุธชาวบ้านที่เลี้ยงเป็ดนำไข่เป็ดไปขาย เก็บผักไปขาย บางคนก็ฆ่าไก่ไปขาย งมหอยไปขายบ้าง จากการสอบถามนางหนูแดง ชมชื่น เล่าว่า “ป้ากะเลี้ยงเป็ดยุนาไปเกียมันซุมื้อช่วงเกี่ยวข้าวแล้วกะป่อยมันลงไปกินข้าวเหี่ย ยามข้าวกำงงกหอยหลายกะปล่อยเป็ดนี่หละลงไปกินหอยยามเช้ากะเก็บไข่มันมาไว้ฮอดวันพุธกะเอาไปขายตลาดนัด” จากการเลี้ยงเป็ดของนางหนูแดงการเลี้ยงเป็ดเป็นประโยชน์ต่อการทำนาให้กินไปข้าวที่หกในช่วงเกี่ยวข้าวและช่วยกินหอยเวลาที่หอยกินข้าวช่วงที่ต้นกล้ากำลังโตแล้วก็เก็บไข่ไว้ไปขายตลาดนัด คนอื่นที่มาก็ขายผักสวนครัวบ้าง งมหอนที่แม่น้ำชีมาขายบ้าง หาปลาตามทุ่งนาแล้วมาขายบ้างทำให้ชาวบ้านป่ายางห่างมีตลาดในการค้าขายด้วยและที่สำคัญตลาดนี้ก็เป็นสถานที่ที่ชาวบ้านพากันไปซื้อกับข้าวมากินด้วย
การเข้าสู่เมืองง่ายมากขึ้นจากการข้ามสะพานและบ้านเกิ้งเองมีร้านขายวัสดุก่อสร้างอยู่จากการขายข้าวที่ชาวนามีเงินเก็บมากจากการรับจำนำข้าวบ้างประกันราคาข้าวบ้างทำให้ชาวบ้านมีเงินและปรับปรุงบ้านจากบ้านที่มีใต้ถุนสูงมาเป็นบ้านสองชั้นโดยก่ออิฐชั้นล่างเพิ่ม บางคนบ้านหลังเก่าก็ผุพังก็รื้อหลังเก่าลงและถมที่สร้างบ้านใหม่เป็นบ้านชั้นเดียวที่สร้างด้วยปูน เพราะในช่วงหลัง ๆ มาน้ำท่วมก็ไม่สูงมากนักต่างก็พากันถมที่บ้านขึ้นสูงเพื่ออยู่สูงกว่าระดับน้ำที่ท่วมเพื่อจะอยู่อาศัยในช่วงน้ำท่วมได้ และบางบ้านเองมีที่นาน้อยขายข้าวได้น้อยก็ไม่ปรับปรุงมากพียงแต่ยกใต้ถุนให้สูงขึ้นกว่าเดิม โดยส่วนมากแล้วจะทำใต้ถุนด้านล่างมากกว่าเพื่อการใช้สอยที่มากกว่า ไม่เพียงแต่มีเงินเพราะการขายข้าวเท่านั้นชาวบ้านป่ายางห่างเองก็เลี้ยงวัวพันธุ์หูที่บูมมากในตอนนั้นและลูกออกมาก็ขายได้ราคาหลักแสนก็เลยทำให้มีรายได้มากขึ้น จากการสัมภาษณ์นายสมพงษ์ เนื่องละมุล ว่า “โอ้ยแต่กี้นั้นเลี้ยงวัวหูนิล่ะซื้อมากะโตละแสนห้าพอเซิงแล้วออกลูกมาขายได้โตละแสนสองแสนมีเงินช่วงนั้นซื้อรถเงินสดได้สบายเลยเลยซุมื้นี้ติขายทิ่มแล้วขาดทุนเซาเลี้ยงมาเฮดนาดกว่า” จากการที่ขายวัวได้เงินมากพอสมควรแต่กลับมาขาดทุนช่วงที่เลิกบูมและเงินที่ขายได้ก็ปรับปรุงบ้านบ้านอื่นมีคนมาถามตัวละสามแสนไม่ขายปัจจุบันนี้ตัวละสี่หมื่นเขาก็ไม่ซื้อเลยต่อมาชาวบ้านก็เลิกเลี้ยงวัวพันธุ์หูอีกและขายวัวที่มีอยู่ออกถึงจะขาดทุนก็ตาในปีเดียวกันนี้มีการเข้ามาของกลุ่มอาจารย์ มมส. และเพื่อนเข้ามาซื้อที่ที่ท้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ของยายเลี่ยมทอง ศรีไสย์เพื่อสร้างบ้านสวนป่าโดยสร้างสถาปัตยกรรมอีสาน บ้านทรงอีสานอย่างงดงามในพื้นที่บ้านสวนแห่งนี้และต่อมาก็มีกลุ่มเพื่อนมาซื้อที่บริเวณเดียวกันนี้ได้ประมาณ 40 ไร่ โดยการสร้างบ้านสวนป่าแห่งนี้ทำให้ชาวบ้านเองแตกแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งศรัทธาในการสอนของอาจารย์ มมส. ท่านนี้ที่สอนในทางธรรมะที่ดีเนื่องจากเป็นลูกศิษย์พระกรรมฐานหรือธรรมยุติทำให้ชาวบ้านฝ่ายหนึ่งศรัทธา จากการสัมภาษณ์นายเอกภพ ว่า “อาจารย์เพิ่นดีตั้วสอนเฮาดีให้เฮาปฏิบัติธรรมสอนธรรมะพาเฮดประเพณีเก่า ๆ ที่บ้านเฮามันสิหายไปแล้วเพิ่นพาเฮดเพิ่นสร้างพระธาตุบ้านเฮากะสิเป็นหม่องเที่ยว” เป็นคนที่เห็นด้วยในการสร้างศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่และทำให้บ้านป่ายางห่างเป็นที่รู้จักและเป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่อีกฝ่ายกลับกลัวว่าจะมาต้มตุ๋นหลอกชาวบ้านซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มของผู้นำหมู่บ้านเองที่กลัวชาวบ้านถูกต้มตุ๋นนั่นเอง
การที่ศรัทธาในพระสายธรรมยุติของอาจารย์ มมส. ท่านนี้ทำให้ท่านสร้างวัดป่าซึ่งเป็นวัดป่าแห่งแรกของบ้านป่ายางห่างโดยการถวายที่ดินของนายถวิล นางละมัยรัตน์ สิงหพันธุ์สร้างวัดป่าแรก ๆ จากการบอกเล่าของนายลุย พะลิง เล่าว่า “ทีแรกสร้าวัดกะพากันไปซ่อยเพิ่นถางป่าตั้งกุฏิพระครูบานัยเพิ่นมาอยู่องค์แรกอยู่กระต๊อบน้อย ๆ หลังคามุงสังกะสีสีเขียวเพิ่นกะกางกฏนอนเอากะพัฒนามาเรื่อย ๆ ละ” จากการสร้างวัดลุ่มที่ศรัทธามนอาจารย์ มมส. ก็มาช่วยและการมาวัดก็กลุ่มที่ศรัทธาอาจารย์ มมส. ก็มาวัดป่าส่วนอีกฝ่ายก็ไปวัดบ้านทำให้ชาวบ้านเองก็แบ่งฝ่ายกันเข้าวัดด้วยและที่สำคัญชาวบ้านกลุ่มที่ศรัทธาในอาจารย์ มมส. เองก็กราบพระ 5 ครั้งจากที่เคยกราบ 3 ครั้งซึ่งจากการสอบถามนางนารี เกติยะ เล่าว่า “อาจารย์เพิ่นสอนว่าหลวงปู่บุญมรพากราบระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครูอาจารย์นำเพิ่นกะเลยพากราบห้าเทื่อ” จากการบอกเล่าถึงการกราบครั้งที่กราบเพิ่มและต่างจากการกราบเดิมคือการเพิ่มการกราบบิดามารดา และครูอาจารย์อีกสองครั้งทำให้เพิ่มการเคารพครูอาจารย์และบิดามารดาด้วยทำให้ชาวบ้านที่ศรัทธาหันมากราบพระ 5 ครั้งจึงทำให้ชาวบ้านเองก็แบ่งฝ่ายกันแต่ไม่ถึงกับทะเลาะกันอย่างหนักใครศรัทธาทางไหนก็ไป
ต่อมาในหมู่บ้านจากการที่ชาวบ้านบุกรุกที่ปู่ตามากจนกลายเป็นทุ่งนาทำให้ศาลปู่ตาอยู่บนโพนเล็ก ๆ การที่ทำบุญประเพณีไม่มีที่ประกอบพิธีกรรมจึงทำการสร้างหลักบ้านขึ้นมาใหม่พร้อมกับศาลาประชาคมจากงบประมาณ SME ในปี พ.ศ. 2549 เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่สะดวกมากยิ่งขึ้นถึงเวลาทำบุญบ้านเองชาวบ้านก็พากันมาช่วยกันทำความสะอาดที่เพื่อเตรียมงานผู้นำหมู่บ้านก็โยงด้ายผ่านหน้าบ้านของชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านนำด้ายมาต่อเข้าบ้านตัวเองเพื่อทำบุญร่วมกัน ทุก ๆ บ้านเตรียมกระทงสามเหลี่ยมใส่ข้าวดำข้าวแดง ปลาร้าไปวางทำบุญให้บรรพบุรุษด้วย
ส่วนการทำนาของชาวบ้านนั้นก็มีการทำนาสองฤดูเหมือนกันแต่สะดวกมากกว่าเดิมเครื่องจักรต่างก็มีการพัฒนามากขึ้นทำให้ในหมู่บ้านมีคนซื้อรถไถนา รถปั้นนาทำให้ชาวบ้านจ้างไถนาปั่นนาทำเพียงหว่านข้าวหรือดำนาเท่านั้นที่ใช้แรงงานคนโดยส่วนมากแล้วก็จ้างดำนาเหมือนกันส่วนการเก็บเกี่ยวก็สบายมากกว่าเดิมใช้รถเกี่ยวแล้วเทใส่รถไปขายเลยง่ายกว่าเดิมอีกแต่ช่วงข้าวนาปีก็มีการเกี่ยวด้วยมือเหมือนเดิมเนื่องจากเป็นข้าวที่ใช้กินแต่การตีข้าวนั้นก็หมดไปก็มีรถสีข้าวเข้ามาเช่นกันทำให้สะดวกและง่ายกว่าการตีข้าวไม่ต้องหาขี้วัวมาผสมทาลานให้ยุ่งยากกว่าเดิมทำให้การทำนาเป็นการจ่งแรงงานเป็นส่วนมากทำให้การลงแขกหายไปจากหมู่บ้านจากการเล่าของนางคำเย็นว่า “ซุมื้อนี้บ่มีดอกลงแขกมีแต่เงินละจ้างเอาเขากะพากันหาเงินซุคนจ้างมาเกี่ยวข้าวกะหาคนมาเกี่ยวยากเขากะจ้างของไผของมันแย่งกันจนได้ไปหาจ้างคนทางอื่นมาเกี่ยวข้าวมันสิขอบก่อน” จากการบอกเล่าแล้วการทำนาในช่วงนี้เป็นการจ้างไม่มีการลงแขกเหมือนเดิมอีกการจ้างงานก็หายากเนื่องจากชาวบ้านเองก็ทำนากันทุกคนก็จ้างเหมือนกันทำให้ต้องไปหาคนจากที่อื่นมาช่วยเกี่ยวข้าวและนาปีบางส่วนเองชาวบ้านก็ใช้รถเกี่ยวเพื่อนำไปขายบางส่วนเพื่อเอาเงินมาทำทุนในการทำนาครั้งต่อไปด้วย
จากการที่กลุ่มอาจารย์ มมส. เห็นว่าพื้นที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมบ่อยครั้งมีชาวบ้านบางส่วนที่เดือดร้อนไม่เพียงเฉพาะคนที่อยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ และกลุ่มอาจารย์ มมส. ส่วนมากเป็นคนที่มีเชื้อสายจีนมาจากในเมืองบ้างที่เป็นลูกศิษย์จึงรวมตัวกันสร้างมูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ขึ้นในปี พ.ศ. 2550เพื่อบรรเทาสาธารณภัยในปีนี้จากการเริ่มสร้างแล้วกลุ่มที่ไม่ศรัทธาก็มีการต่อต้านนานาประการเพราะไม่เห็นด้วยในการสร้างมูลนิธิแห่งนี้ แต่การต่อต้านก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใดสามารถสร้างให้แล้วเสร็จได้และสามารถออกบรรเทาช่วยเหลือชาวบ้านช่วงที่น้ำท่วมประมาณปี พ.ศ. 2552 โดยประมาณจนได้รับความพอใจจากชาวบ้านและบ้านใกล้เคียงในตำบลมะค่าที่ได้รับความช่วยเหลือก่อนภาครัฐจะเข้ามาช่วยอีกและกลุ่มที่ต่อต้านเองก็มีส่วนได้รับประโยชน์จากมูลนิธินี้ด้วยการสร้างมูลนิธิยังมีการสร้างถนนให้เป็นถนนสาธารณะไปยังท่าน้ำวัดป่าโชติบุญญาภิบาลเพื่อข้ามแม่น้ำชีไปยามมีบุญทางศาสนาต่อมาก็มีกลุ่มลูกศิษย์มาสร้างบ้านริมถนนสายนี้ มีทั้งอาจารย์ พยาบาล ล้วนเป็นข้าราชการทั้งนั้น ความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็อยู่แบบสองฝ่ายถกเถียงกันบ้างในบางเรื่องแต่ไม่ถึงกับแตกแยก
ในช่วงถัดมานั้นจากการที่มีคนใช้เส้นทางผ่านหมู่บ้านมากทำให้ถนนคอนกรีตที่สร้างมานานชำรุดในประมาณปี พ.ศ. 2552 มีการสร้างถนนลาดยางผ่านหมู่บ้านจนถึงสะพานทำให้เกิดการค้าขายได้อย่างสะดวกมากขึ้นในช่วงนี้เองชาวบ้านก็ได้ไปรับจ้างเก็บเศษไม้ออกจากดินที่มาเทถนนและมีผู้ชายบางส่วนก็มารับจ้างขับรถบดถนนบ้างปัจจุบันคนที่ขับรถบดถนนก็ไปทำงานกรุงเทพแล้ว จากการสัมภาษณ์นางบุญมี ช่างยันต์ ว่า “แต่กี้กะไปรับจ้างเก็บเศษไม้ออกจากถนนตอนเขามาเฮดถนนมันง่าย ๆ นึงหย่างไปเก็บไปบ่ยากพอมีเงินซื้อแนวกินชาวบ้านบางส่วนว่างงานตอนกลางวันเพราะไม่ได้ทำอะไรก็มารับจ้างเป็นบางส่วนเท่านั้นจากการสร้างถนนเสร็จก็เป็นทางที่สะดวกมากขึ้นทำให้ช่วงหลังมานี้คนส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนในเมืองหลายคน ส่งผลทำให้โรงเรียนบ้านป่ายางห่างถูกยุบตามมติรัฐบาลไปรวมกันที่โรงเรียนบ้านโนนตาล
จากการสร้างสถาปัตยกรรมในบ้านสวนป่าและมีการสร้างเจดีย์ขึ้นเจดีย์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2553 และมีชื่อว่า พระธาตุจอมศรีสัมมาสัมพุทธเจดีย์ เป็นสถานที่รื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีบุญต่าง ๆ ให้มาปฏิบัติกับแบบโบราณ โดยทำตามประเพณีฮีตสิบสองนำโดยอาจารย์ มมส. ที่สอนด้านศิลปวัฒนธรรมด้วยแล้วประเพณีที่พาปฏิบัติโดยการร่วมมือจากชาวบ้านที่ศรัทธามาช่วยกันทำงานบุญแต่ละบุญซึ่งในหมู่บ้านเองก็ทำเหมือนกันแต่อาจจะไม่ทำแบบดั้งเดิมเหมือนที่อาจารย์พาปฏิบัติ จากนี้ชาวบ้านก็ต่างพากันมาทำบุญที่บ้านสวนป่าในแต่ละเดือนในฝ่ายที่ศรัทธาอาจารย์ มมส. และอีกฝ่ายก็ไปทำบุญที่วัดบ้านซึ่งจะจัดไม่ตรงกันจึงแสดงว่าบ้านป่ายางห่างนี้มีการทำบุญฮีตสิบสิบสองเดือนละสองครั้งซึ่งไม่พร้อมกันและปฏิบัติบางประเพณีซึ่งฮีตสิบสองที่ชาวบ้านปฏิบัติกันอยู่
บ้านป่ายางห่างอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ อำเภอกันทรวิชัย ห่างจากตัวอำเภอกันทรวิชัยประมาณ 18 กิโลเมตร อยู่ห่างจากถนน รพช. บ้านดอนเวียงจันทร์ประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านที่ตั้งตามแนวยาวของลำน้ำชี มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีต้นไม้ที่ขึ้นบริเวณนี้ ได้แก่ ไม้ยาง ไม้สะแบง ไม้แก ปัจจุบันต้นยางถูกทำลายมาทำที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน คงเหลือเฉพาะตามที่นา และสวนเล็กน้อย
อาณาเขตของหมู่บ้าน มีดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านเปลือยน้ำ ตำบลมะค่า
- ทิศใต้ ติดกับ แม่น้ำชี
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโนนทัน ตำบลมะค่า
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านกุดร่อง ตำบลท่าขอนยาง
แหล่งน้ำของหมู่บ้าน
- แม่น้ำชี เป็นลำน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคและการทำประปาหมู่บ้าน
- ชีหลง เป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านใช้ในการเกษตรกรรม เป็นแหล่งอาหารอีกแหล่งหนึ่งของหมู่บ้าน
ชุมชนบ้านป่ายางห่าง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นหมู่บ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลาว โดยอพยพมาจากร้อยเอ็ดและจากบ้านยาง อำเภอกันทรวิชัยเป็นส่วนมาก เมื่อประมาณ 140 ปีเศษ จากการสัมภาษณ์นายธีร์ ชมชื่น เล่าว่าประมาณปี พ.ศ. 2410 มีกลุ่มคนอพยพมาจากร้อยเอ็ดและจากบ้านยางอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำชี จึงพากันถากถางเพื่อจับจองเป็นที่ทำกิน และเป็นที่อยู่อาศัยและต่อมาก็มีชาวบ้านจากบ้านยาง บ้านโนนตาลอยู่เพิ่มขึ้นจึงรวมกันตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น
ชาวบ้านป่ายางห่างเป็นชุมชนเกษตรกรรมเป็นหลัก เมื่อว่างเว้นจากการทำนาจึงจะไปรับจ้างทำงานก่อสร้างภายนอกชุมชน ไม่มีการรวมกลุ่มทำชีพเนื่องจากสมาชิกในชุมชนมีจำนวนน้อย โดยมากเมื่อเสร็จฤดูกาลทำนาก็จะไปหารับจ้างที่กรุงเทพฯ ส่วนมากมีแต่คนแก่กับแม่ที่เลี้ยงดูบุตร
ชุมชนทำการเกษตรส่วนมาก ชีวิตประจำวันก็จะเป็นแบบซ้ำซ้อนอยู่กับที่ คือ ทำนา เมื่อว่างเว้นจากการทำนาไม่มีการรวมกลุ่ม
1.วัดพระธาตุจอมศรีสัมมาสัมพุทธเจดีย์ การเข้ามาของกลุ่มอาจารย์ มมส. และเพื่อนเข้ามาซื้อที่ที่ท้ายหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ของยายเลี่ยมทอง ศรีไสย์เพื่อสร้างบ้านสวนป่าโดยสร้างสถาปัตยกรรมอีสาน บ้านทรงอีสานอย่างงดงามในพื้นที่บ้านสวนแห่งนี้และต่อมาก็มีกลุ่มเพื่อนมาซื้อที่บริเวณเดียวกันนี้ได้ประมาณ 40 ไร่ โดยการสร้างบ้านสวนป่าแห่งนี้ทำให้ชาวบ้านเองแตกแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งศรัทธาในการสอนของอาจารย์ มมส. ท่านนี้ที่สอนในทางธรรมะที่ดีเนื่องจากเป็นลูกศิษย์พระกรรมฐานหรือธรรมยุติทำให้ชาวบ้านฝ่ายหนึ่งศรัทธา จากการสัมภาษณ์นายเอกภพ ว่า “อาจารย์เพิ่นดีตั้วสอนเฮาดีให้เฮาปฏิบัติธรรมสอนธรรมะพาเฮดประเพณีเก่า ๆ ที่บ้านเฮามันสิหายไปแล้วเพิ่นพาเฮดเพิ่นสร้างพระธาตุบ้านเฮากะสิเป็นหม่องเที่ยว”เป็นคนที่เห็นด้วยในการสร้างศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมให้คงอยู่และทำให้บ้านป่ายางห่างเป็นที่รู้จักและเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่อีกฝ่ายกลับกลัวว่าจะมาต้มตุ๋นหลอกชาวบ้านซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มของผู้นำหมู่บ้านเองที่กลัวชาวบ้านถูกต้มตุ๋นนั่นเอง และการที่ศรัทธาในพระสายธรรมยุติของอาจารย์ มมส. ท่านนี้ทำให้ท่านสร้างวัดป่าซึ่งเป็นวัดป่าแห่งแรกของบ้านป่ายางห่างโดยการถวายที่ดินของนายถวิล นางละมัยรัตน์ สิงหพันธุ์
ภาษาที่ใช้ในชุมชนใช้ภาษาอีสานเป็นส่วนมากเนื่องจากบรรพบุรุษเป็นกลุ่มคนลาว ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาอีสาน และมีการใช้ภาษากลางในการติดต่อราชการได้
ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนนอกจากที่ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาลด้านการพัฒนาโครงการพื้นฐานแล้วนั้น การมีพระธาตุจอมศรีสัมมาสัมพุทธเจดีย์ปัจจุบันกำลังขอตั้งเป็นวัดเพื่อเป็นการสืบสานวัฒนะรรมประเพณีให้คงอยู่ถึงปัจจุบัน
ณัฐพล นาทันตอง. (2557). ความเปลี่ยนแปลงชุมชนบ้านป่ายางห่าง จากบ้านป่ามาเป็นทางสัญจร ตำบลมะค่า อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ. 2410-2553. รายงานรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น