ชุมชนเกษตรกรรมที่มีการรวมกลุ่มทำข้าวฮาง สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิก นอกจากนั้นยังมีการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียง
บ้านเหล่าจั่นมีที่มาของชื่อบ้านนามเมืองตามคำบอกเล่าของคนในชุมชนว่า ในอดีตบริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นป่าทึบและมีสัตว์ป่านานาชนิด แต่ที่มีมากคือ เสือ คนในชุมชนจึงต้องหาวิธีที่กำจัดเสือออกจากพื้นที่ชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับคนในชุมชนและสัตว์เลี้ยง จึงได้มีการทำอุปกรณ์จับเสือขึ้น เรียกว่า จั่น ต่อมาจึงนำชื่ออุปกรณ์ในการจับเสือ คือ จั่น มาผสมกับคำว่าเหล่า ซึ่งในภาษาอีสานเป็นคำเรียกพื้นที่ป่าทึบตั้งเป็นชื่อชุมชนว่า บ้านเหล่าจั่น
ชุมชนเกษตรกรรมที่มีการรวมกลุ่มทำข้าวฮาง สามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิก นอกจากนั้นยังมีการทอผ้าไหมที่มีชื่อเสียง
บ้านเหล่าจั่นมีที่มาของชื่อบ้านนามเมืองตามคำบอกเล่าของคนในชุมชนว่า ในอดีตบริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นป่าทึบและมีสัตว์ป่านานาชนิด แต่ที่มีมากคือ เสือ คนในชุมชนจึงต้องหาวิธีที่กำจัดเสือออกจากพื้นที่ชุมชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับคนในชุมชนและสัตว์เลี้ยง จึงได้มีการทำอุปกรณ์จับเสือขึ้น เรียกว่า จั่น ต่อมาจึงนำชื่ออุปกรณ์ในการจับเสือคือ จั่น มาผสมกับคำว่าเหล่า ซึ่งในภาษาอีสานเป็นคำเรียกพื้นที่ป่าทึบตั้งเป็นชื่อชุมชนว่า บ้านเหล่าจั่น
"ที่มาของเหล่าจั่นมาจาก ตะกี้หม่องนี้เป็นป่าฮก มีสัตว์หลายอย่าง หลายสุดนิกะเสือนิละ ไทบ้านกะเลยเฮ็ดจั่นจับเสือขึ้นมา กะเลยได้ชื่อบ้านว่าบ้านเหล่าจั่น ส่วนคำว่าเหล่า กะคือป่า เอามาบวกกัน" (นางละม่อม บำรุงบุญ, สัมภาษณ์)
ชุมชนบ้านเหล่าจั่น ตั้งขึ้นราวทศวรรษที่ 2400 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกลุ่มคนเมื่อครั้งเริ่มตั้งชุมชนในระยะแรกนั้นตามคำสัมภาษณ์กล่าวว่าเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจาก อำเภอจังหาร และบ้านขอนแก่น อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด สาเหตุของการอพยพมาเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนและตั้งการหาพื้นที่ในการทำมาหากินใหม่ จึงได้พากับอพยพมายังพื้นที่ตั้งชุมชน ด้วยเห็นว่าเหมาะสม เพราะประกอบไปด้วยหนองน้ำ 3 แห่ง คือหนองสิม (หนองลิงโตน) หนองเจริญ (หนองหัวควาย) หนองพุก และมีห้วยอยู่ทางทิศใต้ของชุมชน อีกทั้งยังมีป่าโคกหนองเขียดเหลืองเป็นพื้นที่ในการหาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต มีแหล่งน้ำมีป่าจึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การตั้งชุมชนจึงได้ตั้งชุมชนอยู่บริเวณหมู่ที่ 10 ในปัจจุบัน โดยมีพ่อใหญ่ขุนนิสัยเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ๆ ของชุมชน
ทศวรรษที่ 2480 หลังจากที่มีการตั้งชุมชน เกิดโรคไข้บักห่าง (โรคฝีดาษ) ขึ้นในชุมชน สาเหตุของการเกิดโรคนี้เกิดจากในช่วงปีที่เกิดนั้นปรากฏพวก กบ เขียด เป็นจำนวนมาก สัตว์พวกนี้ก็ตายในหนองน้ำและคนก็นำน้ำในหนองในใช้ในครัวเรือน ทำให้เชื้อดังกล่าวติดต่อสู่คน ในปีที่โรคระบาดนั้นคนในชุมชนบ้านเหล่าจั่นเสียชีวิตลงจำนวน 300 คน ส่งผลให้มีการย้ายไปอยู่ตามพื้นที่ไร่นาของตนเอง บางส่วนย้ายไปอยู่บริเวณ หนองพุก บางส่วนย้ายออกไปอยู่ทางหนองหัวควาย และออกไปอยู่ตามไร่นา ทางบ้านหนองสิมบ้างบางส่วน ส่งผลให้เมื่อการระบาดสงบลงกลุ่มคนที่ย้ายไปอยู่ตามหนองพุกและหนองหัวควาย แยกออกเป็นชุมชนใหม่ กลุ่มคนที่ย้ายหนีโรคระบาดไปทางหนองพุกตั้งเป็นบ้านนาภู กลุ่มคนที่หนีโรคระบาดไปทางหนองหัวควายตั้งบ้านหนองเจริญขึ้น ภายในชุมชนบ้านเหล่าจั่นก็เกิดการขยายตัวของชุมชนออกไปทางบ้านหนองสิมปัจจุบันด้วยเช่นกัน ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคระบบสาธารณสุขยังไม่มีความทันสมัยมาก มีการตั้งสุขศาลาขึ้นที่ตัวอำเภอแกดำ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาในชุมชนบ้านเหล่าจั่นเลย คนในชุมชนจึงต้องพึ่งพาธรรมชาติและอาศัยภูมิปัญญาในการรักษาโรคเอง คือ อาศัยสมุนไพรในการฝนทา ต้มกิน เป็นการรักษาด้วยภูมิปัญญาชุมชน เส้นทางคมนาคมส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเดิน โดยจะเดินจากชุมชนไปทางหนองสิม ข้ามคูน้ำไป แล้วเดินไปขึ้นรถที่บ้านดอนหว่าน
"เกิดโรคไข้บักห่างขึ้น ในช่วง 2480 กว่า คนบ้านเฮาตายหลาย ตายปีนึง 300 คน คนที่บ่ติดกะหนีไปทางหนองพุกแหน่ หนองหัวควายแหน่ รัฐกะบ่ได้ออกมาเบิ่งเนาะคนไข้เขาหลาย เฮากะอยู่ไปตามอัตภาพ รอดกะรอด ตายกะตาย โรคอันนี้ปีนั้นสัตว์น้ำมันหลายมันตายในหนองไทบ้านกะไปตักน้ำเอาใช้กะติ กะรักษาไปตามอาการ กินยาต้ม ทายาฝนแหน่"
ในปี 2500 เกิดภัยแล้งขึ้นในชุมชนบ้านเหล่าจั่น ไม่สามารถที่ทำนาหรือเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้ ทำให้คนในชุมชนมีการนำข้าวของที่มี เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย แตงโม พืชผักต่าง ๆ ไปแลกข้าวยังพื้นที่อื่น ๆ เช่นนำไปแลกข้าวที่จังหวัดร้อยเอ็ด เดินเท้าและขี่เกวียนไป ใช้เวลาไปในแต่ละครั้ง 2-3 วัน หากเดินไปก็จะได้ข้าว 1 หาบ หากเป็นคนที่พอมีฐานะก็จะไปซื้อข้าวที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ต่อมาเมื่อ ปี 2504 มีการปลูกปอตามนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 คนในชุมชนบ้านเหล่าจั่นมีการปลูกปอตามที่ภาครัฐมีนโยบาย บ้านเหล่าจั่นมีการปลูกปอเป็นจำนวนหลายครัวเรือนถึงกับมีคำกล่าวที่ว่าไปทุ่งนาแทบไม่ได้เพราะกลิ่นปอกลิ่นแรงมาก
"ปี 2500 มันแล้งเฮ็ดนาบ่ได้ คนกะเอาของไปแลกเข้า เอาปลาแดกแน่ เอาผ้าไหมแหน่ เอาไปหลายหม่อง ร้อยเอ็ดนิกะไป ย่างไปขี่เกวียนไป ไปประมาณ 2-3 คืน ได้กะกลับมา ได้มาบ่หลาย หาบเดียว คนมีเงินเพิ่นกะไปซื้อมากิน แต่ว่าบ้านเฮากะดีขึ้นย้อนว่า มีการปอในช่วง 2504 ปอหลายเรือน จนไปท่งนาบ่ได้ละ" (นายหนูทอง สัมฤทธิ์รินทร์, สัมภาษณ์)
ในปี 2522 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนของชุมชนเพราะมีการทำวิจัยภายในชุมชน ทำให้ในปีดังกล่าวเกิดการพัฒนาระบบสาธารณสุข มีห้องส้วม ซึ่งก่อนปี 2522 คนในชุมชนใช้วิธีปลดทุกข์ตามทุ่งนา ตามป่า หรือบางทีก็ใกล้ที่ไหนก็ทำกิจส่วนตัวตรงนั้น เมื่อมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขแล้ว ระบบประปา และไฟฟ้าก็ได้ตามเข้ามา ในปีนี้มีการส่งหมู่บ้านเหล่าจั่นเข้าประกวดหมู่บ้าน ผลปรากฏว่า บ้านเหล่าจั่นได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสะอาดและสุขลักษณะอนามัยตามมา
ปี 2539 มีการจัดตั้งกลุ่มทอผ้าบ้านเหล่าจั่นขึ้น โดยได้งบจาก กขคจ. มาสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าว ในปี 2540 กลุ่มทอผ้าได้ส่งผ้าเข้าประกวดการทอผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก ทำให้ได้รางวัลชนะเลิศ ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มทอผ้าบ้านเหล่าจั่นขึ้น พ.ศ. 2541 โรงงาน มิ่งเฮง เป็นโรงงานทอผ้า (ไหมพรม) ส่งต่างประเทศที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ไปทำงานได้ขยายกิจการมาตั้งยังชุมชนบ้านเหล่าจั่น บริเวณหมู่ 11 การขยายสาขาของโรงงานมิ่งเฮงทำให้คนในชุมชนที่เคยไปทำงานที่กรุงเทพฯ กลับมายังชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้สามารถที่จะสร้างบ้าน ซื้อรถ ซื้อที่ดิน และทำให้เกิดย่านการค้าคนในชุมชนที่ไม่ได้ทำงานก็ทำกับข้าว นำข้าวของไปตั้งเป็นตลาดขายให้กับพนักงานโรงงานหลังเวลาเลิกงาน เกิดรายได้หมุนเวียนภายในชุมชน เกิดธุรกิจหอพักภายในชุมชน และมีคนจากต่างจังหวัดและแรงงานพม่าเข้ามาทำงานด้วย
บ้านเหล่าจั่น ตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของตัวอำเภอแกดำ อยู่ห่างจากตัวอำเภอราว 4 กิโลเมตร
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลหนองแสน อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลดอนหว่าน อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
ชุมชนเหล่าจั่นโดยมากมีอาชีพทำเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนาเป็นหลักเมื่อว่างเว้นจากการทำนาจึงทำอาชีพเสริมเช่น การทอผ้า การทำขนม ทำปลาร้าบองสมุนไพร และมีการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมฮีต 12 คอง 14 ตามประเพณีตั้งแต่ดั้งเดิม
บ้านเหล่าจั่นเป็นชุมชนเกษตรกรรม ต่อมาเมื่อมีการตั้งโรงงานไหมพรมภายในบริเวณชุมชนทำให้คนในชุมชนกลับจากไปทำงานที่กรุงเทพฯ มาทำงานโรงงานที่บ้านเนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากและได้ดูแลครอบครัว ชาวชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาร้อยเอ็ดโดยมากจึงเป็นคนลาว พูดภาษาอีสานกันทั้งหมู่บ้าน
จากการเป็นชุมชนเกษตรกรรมจึงมีเวลาว่างในช่วงพักจากการเกษตร ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มทำอาชีพร่วมกัน เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มทำข้าวฮาง กลุ่มทำขนม เพื่อเป็นการสร้างรายได้ภายในชุมชน
คนในชุมชนทำเกษตรกรรมทุกครัวเรือนทั้งปลูกข้าวและทำงานที่โรงงานไหมพรมที่ก่อตั้งขึ้นภายในชุมชน ซึ่งทางโรงงานก็จ้างงานคนในชุมชนเป็นส่วนมากเนื่องจากอยู่ใกล้บ้านและทำให้ผู้คนไม่ต้องเปลี่ยนงาน สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
วัดดอนธาตุ/วัดพระธาตุ
วัดพระธาตุ หรือ วัดดอนธาตุ เป็นพื้นที่ที่นับได้ว่ามีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนกล่าวถึงช่วงทศวรรษที่ 2480 ได้เกิดโรคไข้บักห่าง (โรคฝีดาษ) ทำให้คนในชุมชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พื้นที่วัดพระธาตุหรือวัดดอนธาตุจึงเป็นสถานที่ในการนำศพของผู้เสียชีวิตมาฝังภายในบริเวณวัด รวมไปถึงเป็นพื้นที่ในการประกอบฌาปนกิจของคนในชุมชนด้วย ราวปี 2560 มีการสร้างพระธาตุศรีไตรคุณขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อของชุมชนบ้านหนองสิมและบ้านเหล่าจั่น
หนองสิม
หนองสิม เป็นหนองน้ำที่มีความสำคัญยิ่งต่อชุมชน เพราะเป็นหนองน้ำที่มีมาตั้งแต่การตั้งบ้าน เมื่อก่อนชื่อ "หนองลิงโตน" เนื่องจากว่าบริเวณข้างหนองเป็นป่าทึบและมีกิ่งไม้ปกคลุมมาถึงผิวน้ำ ลิงจะกระโดดจากกิ่งไม้ลงน้ำ ชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำนี้ว่า หนองลิงโตน ต่อมามีการสร้างสิมไว้บริเวณกลางหนองและทำพิธีกรรมสำคัญ ๆ ในสิมแห่งนี้ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า หนองสิม และกลายมาเป็นชื่อบ้านนามเมืองของหนองสิม ปัจจุบันมีการขุดลอกเพื่อให้เก็บน้ำได้ในปริมาณที่มากขึ้นและในปี 2562 ได้มีการสร้างสะพานไม้เพื่อข้ามไปยังโคกเขียดเหลืองเพื่อไหว้ปู่วังคะฮาด (ปู่ตา) และใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
ข้าวฮาง
กลุ่มผลิตข้าวฮางเพื่อสุขภาพชุมชนบ้านเหล่าจั่น ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านเหล่าจั่น ตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2562 การผลิตข้าวฮางเพื่อสุขภาพมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าการทำนาทั่วไปโดยเฉพาะในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ซึ่งเริ่มต้นการเก็บเกี่ยวจะเลือกช่วงที่ข้าวไม่แก่จนเกินไปและไม่อ่อนจนเกินไป (ข้าวเม่า) หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจะนำข้าวเปลือกที่ได้มานึ่งจนสุกแล้วนำไปตากแห้งแล้วจึงนำมาสีเป็นข้าวเปลือก ข้าวฮางเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่มและสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนบ้านเหล่าจั่นในปัจจุบัน
กลุ่มทอผ้า
กลุ่มทอผ้าบ้านเหล่าจั่น ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 โดยได้งบสนับสนุนจาก กศคจ เป็นงบประมาณที่ช่วยแก้ความยากจน และในปี 2540 กลุ่มได้ส่งผ้าไหมเข้าประกวดผ้าไหมในงานกาชาด จังหวัดมหาสารคาม ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่ม ปัจจุบันด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิคทำให้สมาชิกนำกี่ทอผ้ากลับไปทอยังบ้านของตนเอง
ภาษาที่ใช้ในชุมชนใช้ภาษาอีสานเป็นส่วนมาก เนื่องจากบรรพบุรุษเป็นกลุ่มคนลาวอพยพมา ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาอีสาน และมีการใช้ภาษากลางในการติดต่อราชการได้
ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนแห่งนี้ที่สำคัญมากที่สุดคือ การตั้งขึ้นของโรงงานไหมพรมที่สามารถให้คนในชุมชนเข้าไปทำงานในโรงงาน และยังทำให้คนที่ไปทำงานกรุงเทพฯ กลับมาทำงานที่บ้านดูแลครอบครัวและยังสามารถทำการเกษตรควบคู่ไปกับการทำงานโรงงานได้ด้วย
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2565). โครงการวิจัยจากต้นทุนแหล่งน้ำสู่กลุ่มศิลปวัฒนธรรมหนองแกดำ. สนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)