Advance search

ชุมชนเกษตรกรรมที่ทำนาเป็นอาชีพหลักและมีการรวมกลุ่มทำอาชีพเสริมคือ การทอผ้า ที่มีชื่อเสียงอย่างผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก

วังแสง
วังแสง
วังแสง
แกดำ
มหาสารคาม
ณัฐพล นาทันตอง
30 เม.ย. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
30 เม.ย. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
19 มิ.ย. 2024
บ้านวังแสง

พื้นที่ในลำห้วยที่มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึกมีปลาชุกชุมและปรากฏต้นแสง จึงมีการตั้งชุมชนตามลักษณะพื้นที่ดังกล่าวว่า "บ้านวังแสง"


ชุมชนชนบท

ชุมชนเกษตรกรรมที่ทำนาเป็นอาชีพหลักและมีการรวมกลุ่มทำอาชีพเสริมคือ การทอผ้า ที่มีชื่อเสียงอย่างผ้าไหมลายสร้อยดอกหมาก

วังแสง
วังแสง
วังแสง
แกดำ
มหาสารคาม
44190
16.070527220237167
103.3548701191329
องค์การบริหารส่วนตำบลวังแสง

ชื่อบ้านวังแสงมาจาก พื้นที่ในลำห้วยที่มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำลึกมีปลาชุกชุมและปรากฏต้นแสง จึงมีการตั้งชุมชนตามลักษณะพื้นที่ดังกล่าวว่า “บ้านวังแสง” กลุ่มคนที่เข้ามาตั้งชุมชนแรกเริ่มอพยพมาจากบ้านโนนอะราง(ต้นอะราง)ที่ฝั่งทิศเหนือของชุมชนปัจจุบัน สาเหตุมาจากการย้ายที่ทำกินและแตกบ้าน ประมาณทศวรรษที่ 2400 ตามคำบอกเล่าของคนในชุมชนกล่าวว่า พื้นที่ของห้วยมีวังต่าง ๆ หลายที่ เช่น วังอีเห็น วังขี้หนู วังแสง วังต่าง ๆ จะปรากฏปลาและสัตว์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

พ.ศ. 2505 จากนโยบายของรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่1 ให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน “ปอ” เป็นพืชเศรษฐกิจที่ได้ความนิยมอย่างมากทุกพื้นที่ในภาคอีสาน บ้านวังแสงได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวเช่นกันโดยเฉพาะการถากถางพื้นที่ป่าโคกรอบ ๆ ชุมชนเพื่อปลูกปอทำให้พื้นที่ป่ารอบ ๆ ชุมชนกลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตร อีกทั้งการปลูกปอยังทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในชุมชนและเกิดการค้าปอ ข้าว จนเกิดมีนายฮ้อยปอในชุมชนคือ นายสมบูรณ์ บานสี ซึ่งรับซื้อปอจากชุมชนเพื่อนำไปขายที่ ร้านสหสินในตัวเมืองมหาสารคาม

พ.ศ. 2510 มีการสร้างถนนงปลิง-แกดำ ทำให้การเดินทางของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งเดิมก่อนมีถนนสายดังกล่าวคนในชุมชนใช้เส้นทางเกวียนผ่านดงป่าข่าง ไปบ้านจำปา ผ่านบ้านหนองแวงน่างเพื่อเข้าเมืองมหาสารคาม หลังจากการสร้างถนน หนองปลิง-แกดำ การเดินทางของผู้คนในบ้านวังแสงเจริญขึ้นมีรถโดยสารผ่านชุมชนไปยังเมืองมหาสารคาม

พ.ศ. 2518 สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการขุดลอกห้วยหนองแสงทำให้ห้วยมีความลึกและกว้างขึ้น รวมทั้งมีการสร้างฝายกั้นน้ำทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังมีการสร้างถนนริมห้วยทำให้เป็นเส้นทางสัญจรตามริมห้วย

พ.ศ. 2520 มีการแยกการปกครองจากตำบลแกดำเป็นตำบลวังแสง ทำให้ชุมชนบ้านวังแสงเป็นศูนย์กลางการปกครองของตำบล ผู้คนมีความสะดวกในการว่าราชการรวมทั้งมีงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งในปี พ.ศ. 2521 ไฟฟ้าเข้ามาในชุมชนทำให้วิถีชีวิตของผู้คนสะดวกสบายรวมทั้งมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาในชุมชน อีกทั้งในช่วงปีดังกล่าวชุมชนบ้านวังแสงมีการตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้นและมีการส่งผ้าเข้ามาขายในเมืองมหาสารคามและส่งเข้าไปในพระราชวังสวนจิตรลดาโดยอาจารย์นงเยาว์ ทำให้เกิดการผลิตผ้าทอเพื่อส่งขายเป็นจำนวนมากในระยะดังกล่าว เกิดรายได้ให้กับกลุ่มทอผ้าไหมของชุมชนบ้านวังแสงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเป็นเอกลักษณ์ผ้าไหมที่โดดเด่นของชุมชนบ้านวังแสง

พ.ศ. 2540 ชุมชนบ้านวังแสงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดความหนาแน่นทั้งด้านประชากรและพื้นที่อยู่อาศัยในชุมชน ส่งผลให้มีการแยกการปกครองในชุมชนออกเป็น 3 หมู่บ้าน คือ บ้านวังแสงหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 20 ส่งผลให้การปกครองในระดับชุมชนมีความทั่วถึงและสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนได้

พ.ศ. 2544 ชื่อเสียงของผ้าทอบ้านวังแสงโด่งดังขึ้นจากการชนะการประกวดผ้าไหมจากงานบุญบั้งไฟของอำเภอแกดำ ซึ่งมีการประกวดผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากภายในงาน โดยบ้านวังแสง ตำบลวังแสงใช้ผ้าของนางคำพร หินตะ เข้าไปประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่งผลให้ผ้าไหมลายสร้อยดอกหมากของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านวังแสงมีชื่อเสียงและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ แต่กลุ่มผ้าทอบ้านวังแสงในปัจจุบันประสบปัญหาคือการขาดคนรุ่นใหม่ในการสืบทอดภูมิปัญญา

พ.ศ. 2550 เกิดธุรกิจผลิตศาลพระภูมิและขายศาลพระภูมิในชุมชนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน เกิดการจ้างงานและพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนมีการขับเคลื่อนมากขึ้น

บ้านวังแสงสภาพทั่วไปเป็นพื้นที่ราบลุ่มใกล้ลำห้วย มีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลแวงน่าง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และติดกับลำห้วยน้ำค้าง
  • ทางใต้ ติดกับ เขตตำบลดอนหว่าน อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านคอนสาร ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม
  • ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และลำห้วยน้ำค้าง

บ้านวังแสงมีประชากรทั้งหมด 545 คน เป็นกลุ่มชาวลาวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คนในชุมชนช่วงแรกเริ่มพึ่งพาอาศัยกันในชุมชนก่อนเงินตราเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันคนในชุมชนมีกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมากเนื่องจากบุตร หลาน เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ

จากการเป็นชุมชนเกษตรกรรมจึงมีเวลาว่างในช่วงพักจากการเกษตร ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มทำอาชีพร่วมกัน เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มทำศาลพระภูมิ ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับชุมชน

คนในชุมชนทำเกษตรกรรมทุกครัวเรือนทั้งปลูกข้าว เมื่อว่างเว้นจากการทำนาเลี้ยงวัว ควาย จึงรวมกลุ่มทอผ้าเพื่อเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมให้คงอยู่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มทอผ้าบ้านวังแสง

การทอผ้าของชุมชนบ้านวังแสงมีการสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีต โดยสมัยก่อนนั้นผู้หญิงอีสานต้องทอผ้าเป็นเนื่องจากต้องใช้นุ่งห่มในครัวเรือน เป็นเครื่องสมมาตอนแต่งงาน (มอบให้แม่ย่า) ผ้าทอจึงเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของหญิงชาวอีสาน วิถีชีวิตของคนอีสานจึงมีความสัมพันธ์กับกระบวนการทอผ้า ทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย ในปี พ.ศ. 2521 เกิดกลุ่มทอผ้าของชุมชนบ้านวังแสงขึ้นโดยเกิดจากการที่อาจารย์นงเยาว์จากเมืองมหาสารคามเข้ามารับซื้อผ้าทอของคนในชุมชนและส่งผลิตภัณฑ์ไปวังสวนจิตรลดา กลุ่มทอผ้าของชุมชนจึงมีความคึกคักตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งค่อย ๆ ซบเซาลงในระยะต่อมา ในปี พ.ศ. 2544 มีการประกวดผ้าทอของอำเภอแกดำ โดยตำบลวังแสงเลือกผ้าของ นางคำพร หินตะ ลงประกวดและได้รับรางวัลชนะเลิศผ้าไหมทอมือลายสร้อยดอกหมากของอำเภอแกดำ ส่งผลให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุน ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านวังแสงยังคงผลิตสินค้าผ้าไหมและผ้าทออื่น ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเอกลักษณ์ของผ้าทอของชุมชนแห่งนี้คือ เป็นผ้าทอที่มีกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมและความสวยงามที่สัมผัสได้

ร้านผลิตศาลพระภูมิ

พ.ศ. 2550 เกิดธุรกิจผลิตศาลพระภูมิและขายศาลพระภูมิในชุมชนช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน เกิดการจ้างงานและพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ ส่งผลให้เศรษฐกิจในชุมชนมีการขับเคลื่อนมากขึ้น มีทั้งผู้มาซื้อรายย่อยและรายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการส่งออกศาลพระภูมิไปตามร้านขายศาลพระภูมิตามจังหวัด ซึ่งการผลิตศาลพระภูมินั้นใช้ทั้งทักษะด้านฝีมือช่างและศิลปะเข้าด้วยกัน ปัจจุบันธุรกิจผลิตและจำหน่ายศาลพระภูมิสร้างรายได้หมุนเวียนให้กับชุมชน แรงงานในชุมชนส่วนหนึ่งไม่ต้องออกไปขายแรงงานนอกพื้นที่

ห้วยน้ำค้าง (ห้วยวังแสง)

ห้วยน้ำค้างหรือห้วยวังแสงอยู่ทางทิศตะวันตกเรื่อยมาจนถึงฝั่งทิศเหนือของหมู่บ้านเป็นสายน้ำสำคัญที่คนในชุมชนใช้อุปโภคบริโภค ในอดีตพื้นที่ของห้วยมีวังต่าง ๆ หลายที่ เช่น วังอีเห็น วังขี้หนู วังแสง วังต่าง ๆ จะปรากฏปลาและสัตว์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก พ.ศ. 2518 สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีการขุดลอกห้วยหนองแสงทำให้ห้วยมีความลึกและกว้างขึ้น รวมทั้งมีการสร้างฝายกั้นน้ำทำให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ อีกทั้งยังมีการสร้างถนนริมห้วยทำให้เป็นเส้นทางสัญจรตามริมห้วย ห้วยน้ำค้างไม่เพียงเป็นแหล่งน้ำสำคัญเท่านั้นยังเป็นที่ตั้งของศาลปู่ตาของชุมชนที่คนในชุมชนเคารพนับถือและมีประเพณีไหว้ผีปู่ตาในทุก ๆ ปี ห้วยน้ำค้างหรือห้วยวังแสงจึงมีความสำคัญต่อชุมชนทั้งด้านอุปโภคบริโภค ที่มาของชื่อบ้านนามเมือง สถานที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน ห้วยดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนบ้านวังแสงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

เรือนอีสาน

เป็นเรือนอีสานแบบโบราณซึ่งมีการอนุรักษ์ไว้ให้ผู้คนได้เห็นและศึกษาเรียนรู้บ้านหลังดังกล่าวปัจจุบันเป็นของนางอภิฐา สุทธ์ไชยา ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 14 บ้านวังแสง ถือว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นมรดกของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ต่อไป

ภาษาที่ใช้ในชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาอีสาน เนื่องจากบรรพบุรุษเป็นกลุ่มคนลาวอพยพมา ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาอีสาน และมีการใช้ภาษากลางในการติดต่อราชการได้


ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนแห่งนี้คือการเข้ามาวิจัยและพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนสามารถประชาสัมพันธ์ให้คนมาเที่ยวในชุมชน ยกระดับทุนทางวัฒนธรรมให้มีมูลค่าและคุณค่ามากขึ้นดีกว่าการย่ำอยู่กับที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2565). โครงการวิจัยจากต้นทุนแหล่งน้ำสู่กลุ่มศิลปวัฒนธรรมหนองแกดำ. สนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)