Advance search

ชุมชนเกษตรกรรม เลี้ยงหม่อน ทอผ้า 

บ้านหนองบัว
หนองกุง
แกดำ
มหาสารคาม
ณัฐพล นาทันตอง
30 เม.ย. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
30 เม.ย. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
19 มิ.ย. 2024
บ้านหนองบัว

เนื่องจากมีหนองน้ำขนาดใหญ่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับในหนองน้ำมีบัวแดงจำนวนมากจึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อบ้านว่า"บ้านหนองบัว"


ชุมชนชนบท

ชุมชนเกษตรกรรม เลี้ยงหม่อน ทอผ้า 

บ้านหนองบัว
หนองกุง
แกดำ
มหาสารคาม
44190
16.080635720323293
103.42842861499598
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองกุง

บ้านหนองบัวตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 ซึ่งราษฎรได้มีการอพยพมาจากบ้านหัวหนอง (ปัจจุบันอยู่บริเวณฝั่งทิศใต้ของหนองบัว) เนื่องมาจากมีเหตุการณ์โรคระบาดร้ายแรงคือ โรคบักห่าง หรือโรคท้องร่วง ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก จึงได้อพยพมาตั้งที่บริเวณบ้านหนองบัวบัวปัจจุบัน สาเหตุที่เลือกพื้นที่เนื่องจากมีหนองน้ำขนาดใหญ่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับในหนองน้ำมีบัวแดงจำนวนมากจึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อบ้านว่า "บ้านหนองบัว" (นายณัฐวุฒิ อ่อนสุจันนา, สัมภาษณ์)

บ้านหนองบัว ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองกุง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม มีระยะทางห่างจากอำเภอแกดำประมาณ 21 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,202 ไร่ ซึ่งนับเป็นพื้นที่การเกษตรจำนวน 1,725 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัยจำนวน 71 ไร่ ที่สาธารณะ 406 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เป็นดินร่วนปนทราย

บ้านหนองบัวในอดีตชาวบ้านมีอาชีพทำนาเป็นส่วนมาก ในช่วงทศวรรษ 2500 มีการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการปลูกปอ เพื่อส่งขายทำเชือก กระสอบ ทำให้ชาวบ้านหนองบัวมีการปลูกปอแทบทุกครัวเรือน จากพื้นที่บ้านหนองบัวที่มีป่ามากมาย

การปลูกปอของชาวบ้านหนองบัวเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้เกิดการพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ของหมู่บ้านเนื่องจากมีการถากถางพื้นที่เพื่อทำการปลูกปอ ประกอบกับชาวบ้านเริ่มมีรายได้จากการขายปอ ส่งผลให้มีการเริ่มสร้างบ้านเรือน ปรับปรุงบ้านเรือนให้ดียิ่งขึ้น บ้านหนองบัวมีรายได้จากการขายปอแทบทุกครัวเรือน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 มีการพัฒนาถนนเพื่อเชื่อมต่อกับตัวเมืองการพัฒนาครั้งนี้ชาวบ้านก็ได้รับผลของการพัฒนา คือ การเดินทางสะดวกสบาย การค้าขายสะดวกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสร้างถนนทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการก่อสร้างคือ มีการรับจ้างขุดถนน ขุดคลอง ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการทำเกษตรกรรม นอกจากนั้นยังมีการขุดลอกหนองบัวจากเดิมที่ตื้นเขินอยู่ให้ลึกมากยิ่งขึ้น แต่การขุดลอกครั้งนั้นเองทำให้บัวแดงซึ่งมีอยู่มากในอดีตมีน้อยลง แต่ปัจจุบันชาวบ้านเริ่มมีการฟื้นฟูโดยการนำบัวแดงเข้ามาปลูกใหม่เพื่อให้หนองบัวกลับมาสวยงามเหมือนเดิม

ในปี พ.ศ. 2522 เป็นช่วงที่ชาวบ้านหนองบัวมีเงินมาจากการขายปอซึ่งในช่วงนี้เองปอราคากิโลกรัมละ 12 บาท นับว่าเป็นช่วงที่ราคาปอสูง ประกอบกับชาวบ้านหนองบัวปลูกปอจำนวนมากจนกระทั่งมีพ่อค้าคนกลางมาจับจองตั้งแต่อยู่แปลงปลูก ซึ่งมีชาวบ้านขายได้เงินสูงสุด 50,000 บาท และปอเริ่มมีราคาตกต่ำลงในปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านหนองบัวจึงเลิกปลูกปอ

จากผลกระทบการเลิกปลูกปอนั้นทำให้ชาวบ้านหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นแทนตามนโยบายของรัฐบาล แต่ในช่วง พ.ศ. 2530 ชาวบ้านหนองบัวส่วนมากเป็นผู้ชายเริ่มมีการเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย เกาหลี มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อเป็นการหารายได้เข้าหมู่บ้านซึ่งคนที่ไปทำงานต่างประเทศได้ส่งเงินกลับมาบ้านไม่น้อยกว่า คือ 20,000 บาทต่อเดือน หากใครทำงานที่บริษัทก็จะมีเงินส่งมาบ้านเดือนละหลายหมื่น

ชาวบ้านหนองบัวนอกจากทำการเกษตรทำนา ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง เมื่อว่างจากการทำการเกษตรแม่บ้านส่วนมากก็จะทำการทอผ้า ซึ่งในอดีตเป็นการทอผ้าเพื่อนุ่งห่มธรรมดา

บ้านหนองบัวเป็นหนึ่งบ้านที่มีชื่อเสียงทางการผลิตผ้าทอมือ ซึ่งในปี พ.ศ. 2546 มีการตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นแรกเริ่มมีสมาชิก 30 คน เป็นการทอผ้าฝ้ายซึ่งส่งขายตามร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ทอตามคำสั่งซื้อจากลูกค้า ซึ่งส่วนมากเป็นวัยทำงาน ข้าราชการ ทำให้ชาวบ้านหนองบัวที่มีการทอผ้ามีรายได้จากการทอผ้าประกอบกับการทำการเกษตรไปด้วย

บ้านหนองบัว ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองกุง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม มีระยะทางห่างจากอำเภอแกดำประมาณ 21 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 2,202 ไร่ ซึ่งนับเป็นพื้นที่การเกษตรจำนวน 1,725 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัยจำนวน 71 ไร่ ที่สาธารณะ 406 ไร่ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม เป็นดินร่วนปนทราย

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองกุง หมู่ที่ 1 ตำบลหนองกุง
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านหัวนาคำ หมู่ที่ 9 ตำบลหนองกุง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านคำมะมายน้อย หมู่ที่ 11 ตำบลหนองกุง
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านเสือกินวัว หมู่ที่ 3 ตำบลมิตรภาพ

บ้านหนองบัวมีประชากรทั้งหมด 525 คน เป็นกลุ่มชาวลาวมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คนในชุมชนช่วงแรกเริ่มพึ่งพาอาศัยกันในชุมชนก่อนเงินตราเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันคนในชุมชนมีกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมากเนื่องจากบุตร หลาน เดินทางไปทำงานที่กรุงเทพฯ

จากการเป็นชุมชนเกษตรกรรมจึงมีเวลาว่างในช่วงพักจากการเกษตร ชาวบ้านมีการรวมกลุ่มทำอาชีพร่วมกัน เช่น กลุ่มทอผ้า ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับชุมชน

คนในชุมชนทำเกษตรกรรมทุกครัวเรือนทั้งปลูกข้าว เมื่อว่างเว้นจากการทำนาเลี้ยงวัว ควาย แล้วก็จะรวมกลุ่มทอผ้าเพื่อเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมให้คงอยู่

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มทอผ้ามัดหมี่

กลุ่มทอผ้ามัดหมี่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2546 แรกเริ่มตั้งกลุ่มมีสมาชิก 30 คน ทอผ้ามัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งเป็นการทอมือทุกขั้นตอน สามารถทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายมัดหมี่ตามการสั่งซื้อของลูกค้าได้ สามารถทอผ้าลายมัดย้อมตามการสั่งซื้อของลูกค้าได้ กลุ่มทอผ้าของชุมชนบ้านหนองบัวสร้างชื่อเสียงให้ชุมชนอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการที่มีการสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งผลิตภัณฑ์ทอผ้าฝ้ายของชุมชนยังได้รับรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนและมีการสืบทอดการทอผ้าให้กับคนรุ่นใหม่เพราะสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง

กลุ่มทอผ้าขาวม้า

กลุ่มทอผ้าขาวม้าบ้านหนองบัวตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2546 เช่นเดียวกับกลุ่มทอผ้ามัดหมี่ซึ่งเป็นการทอผ้าขาวม้า สามารถตัดขายเป็นผืนหรือขายเป็นเมตรแบบยาวตามความต้องการของลูกค้าที่สั่งซื้อหรือสั่งจอง สามารถนำไปใช้ในงานพิธีต่าง ๆ ได้ การทอผ้าขาวม้าสามารถผลิตได้ในจำนวนมากเพราะลวดลายไม่ซับซ้อนทำให้สินค้าผ้าขาวม้าสามารถขายได้อย่างต่อเนื่อง

วัดหนองบัว

วัดหนองบัวเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่สามารถเรียกความสนใจของผู้ที่ผ่านไปผ่านมาได้เนื่องจากมีรูปปั้นของพญานาคขนาดใหญ่ซึ่งมีชื่อว่า "ย่าศรีปทุมนาคราช" ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2563 โดยเจ้าอาวาส

หนองบัว

หนองบัวเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญของชาวบ้านหนองบัว ซึ่งในอดีตหนองบัวมีบัวแดงจำนวนมาก เป็นที่มาของชื่อบ้านนามเมืองว่า "บ้านหนองบัว" โดยหนองบัวมีการขุดลอกครั้งใหญ่ตามโครงการของรัฐบาล พ.ศ. 2518 ส่งผลให้หนองบัวสามารถกักเก็บน้ำได้มากขึ้นแต่ก็ทำให้บัวแดงเริ่มหายไปจากหนองบัว ปัจจุบันชาวบ้านเริ่มมีการนำบัวแดงเข้ามาปลูกเพื่อจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนต่อไป

ภาษาที่ใช้ในชุมชนใช้ภาษาอีสานเป็นส่วนมากเนื่องจากบรรพบุรุษเป็นกลุ่มคนลาวอพยพมา ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาอีสาน และมีการใช้ภาษากลางในการติดต่อราชการได้


ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนแห่งนี้คือการเข้ามาวิจัยและพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนสามารถประชาสัมพันธ์ให้คนมาเที่ยวในชุมชน ยกระดับทุนทางวัฒนธรรมให้มีมูลค่าและคุณค่ามากขึ้นดีกว่าการย่ำอยู่กับที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2565). โครงการวิจัยจากต้นทุนแหล่งน้ำสู่กลุ่มศิลปวัฒนธรรมหนองแกดำ. สนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)