Advance search

บ้านตูบค้อ ชุมชนชาติพันธุ์ม้งในพื้นที่ภาคอีสาน ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชน และความโดดเด่นทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ 

หมู่ที่ 6
บ้านตูบค้อ
กกสะทอน
ด่านซ้าย
เลย
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
20 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 มิ.ย. 2024
บ้านตูบค้อ

เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนเคยเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงวัว ชาวบ้านมีการมาปลูกกระท่อมสำหรับพักอาศัยชั่วคราว ซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า “ตูบ” โดยอาศัยใบของต้นค้อเพื่อมุงหลังคา เมื่อก่อตั้งเป็นชุมชนจึงใช้ชื่อชุมชนว่า “บ้านตูบค้อ”


บ้านตูบค้อ ชุมชนชาติพันธุ์ม้งในพื้นที่ภาคอีสาน ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชน และความโดดเด่นทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ 

บ้านตูบค้อ
หมู่ที่ 6
กกสะทอน
ด่านซ้าย
เลย
42120
17.084890309202
101.055606901645
องค์การบริหารส่วนตำบลกกสะทอน

ชาวบ้านตูบค้อเดิมอาศัยอยู่ที่บ้านภูขี้เถ้า ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ผกค.) เข้ามาควบคุมพื้นที่ทำให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลนานถึง 13 ปี

ในปี พ.ศ. 2525 กองทัพภาคที่ 3 โดยกำลังพลเรือน ตำรวจ ทหาร พ.ต.ท. 33 ดำเนินการเปิดยุทธการ “ผาเมืองเกรียงไกร” และยุทธการ “ผาเมืองเผด็จศึก” ปฏิบัติการพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก เพื่อปราบปรามผู้เข้าร่วมกับกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งประชาชนพื้นราบ นิสิต นักศึกษา และกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์อพยพออกจากที่หลบซ่อนเข้ามามอบตัวกับทางการเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2525 ทางราชการจึงได้จัดที่พักอาศัยและที่ดินทำกินให้เป็นหลักแหล่ง เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมและติดตามความเคลื่อนไหว โดยให้ชาวม้งอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่บ้านตูบค้อมาจนถึงปัจจุบัน

สาเหตุที่เรียกพื้นที่ตั้งชุมชนดังกล่าวว่า “บ้านตูบค้อ” เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนเคยเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงวัว ชาวบ้านมีการมาปลูกกระท่อมสำหรับพักอาศัยชั่วคราว ซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า “ตูบ” โดยอาศัยใบของต้นค้อเพื่อมุงหลังคา เมื่อก่อตั้งเป็นชุมชนจึงใช้ชื่อชุมชนว่า “บ้านตูบค้อ”

บ้านตูบค้อ หมู่ที่ 6 ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย พื้นที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 650 เมตร อยู่ห่างจากอำเภอด่านซ้าย เป็นระยะทางประมาณ 47 กิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดเลย ประมาณ 127 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 59 กิโลเมตร โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณษเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยมุ่น อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ เขตอุทยานภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ เขตอุทยานภูหินร่องกล้า อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ เขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

บ้านตูบค้อ ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านตูบค้อ ตำบลกกะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 713 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 365 คน ประชากรหญิง 348 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 176 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ม้ง

บ้านตูบค้อ ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนประกอบอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเป็นการทำการเกษตรในพื้นที่ราบและพื้นที่ราบเชิงเขา มีทั้งการทำนา ทำไร่ และทำพืชสวนต่าง ๆ ผลผลิตสำคัญที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าวไร่ ข้าวนา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขิง มันเทศ และพืชผักอีกหลายชนิด ทั้งเพื่อเก็บไว้กินในครัวเรือน และแบ่งขายแบบเชิงพาณิชย์ ประชากรบางส่วนในชุมชนมีอาชีพรับจ้างและค้าขาย นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการทำปศุสัตว์ในครัวเรือน เช่น การเลี้ยงวัว หมู เป็ด ไก่ เป็นต้น

จารีตประเพณีและกฎข้อบังคับของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เป็นกฎที่สืบเนื่องมาจากจารีตประเพณีที่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และชาวม้งได้ถือหลักปฏิบัติตามจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด บ้านตูบค้อ ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง วิถีความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนเป็นความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติ มีการนับถือผี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มีทั้งผีที่อยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่โดยทั่วไป เช่น ท้องฟ้า แหล่งน้ำ ต้นไม้ ภูเขา ไร่นา บ้านเรือน และผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ตัวอย่างเช่น ผีฟ้า ผีป่า ผีนา ผีน้ำ ผีประตู ผีจอมปลวก ซึ่งจะมีการทำพิธีเซ่นไหว้ในช่วงต่าง ๆ ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมที่สำคัญ เช่น ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด ประเพณีเกี่ยวกับการตาย ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ประเพณีเกี่ยวกับสัตว์ และประเพณีเทศกาลรื่นเริง เช่น ประเพณีปีใหม่ม้ง

ประเพณีปีใหม่หรือประเพณีฉลองปีใหม่ ซึ่งเป็นงานรื่นเริงของชาวเขาเผาม้ง โดยทุก ๆ ปีจะจัดขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตในรอบปีเรียบร้อยและเป็นการฉลองถึงความสำเร็จในการเพาะปลูกของแต่ละปี ซึ่งจะต้องทำพิธีบูชาถึงผีฟ้า ผีป่า ผีบ้าน ที่ให้ความคุ้มครอง และดูแลความสุขสำราญตลอดทั้งปี รวมถึงผลผลิตที่ได้ในรอบปีด้วย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะทำการฉลองกันอย่างพร้อมเพรียงกัน หรือตามวันและเวลาที่สะดวกของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี ประเพณีปีใหม่ม้งนี้ชาวม้งเรียกกันว่า “น่อเป๊โจ่วฮ์” แปลตรงตัวได้ว่า “กินสามสิบ” สืบเนื่องจากชาวม้งจะนับช่วงเวลาตามจันทรคติ โดยจะเริ่มนับตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ไปจนถึง 30 ค่ำ ซึ่งตามปฏิทินจันทรคติจะแบ่งออกเป็นข้างขึ้น 15 ค่ำ และข้างแรม 15 ค่ำ เมื่อครบ 30 ค่ำ จึงนับเป็น 1 เดือน ดังนั้นในวันสุดท้าย 30 ค่ำ ของเดือนสุดท้าย (เดือนที่ 12) ของปีจึงถือได้ว่าเป็นวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงวันฉลองปีใหม่ส่วนใหญ่จะตกอยู่ประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ในวันดังกล่าวหัวหน้าครัวเรือนของแต่ละบ้าน จะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลของครัวเรือน ถัดจากวันส่งท้ายปีเก่าไป 3 วัน คือวันขึ้น 1 ค่ำ 2 ค่ำและ 3 ค่ำของเดือนหนึ่ง จัดเป็นวันฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทุกคนจะหยุดหน้าที่การงานทุกอย่างในช่วงวันดังกล่าวนี้ และจะมีการจัดการละเล่นต่าง ๆ ในงานขึ้นปีใหม่ เช่น การละเล่นลูกช่วง การตีลูกข่าง การร้องเพลงม้ง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาม้ง, ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรไทย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ด่านซ้ายไทเลย. (2559). สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/Dansai.Magazine

ด่านซ้ายไทเลย. (2563). สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/Dansai.Magazine

สันธิเวชช์ มงคลชัย. (2549). ประเพณีปีใหม่ของชาวเขาเผ่าม้ง บ้านตูบค้อ ตำบลกกสะท้อน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.