วัดสำคัญของอำเภอกันทรวิชัย และมีพระคู่บ้านคู่เมืองที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชนและผู้ที่เดินทางผ่าน
วัดสำคัญของอำเภอกันทรวิชัย และมีพระคู่บ้านคู่เมืองที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในชุมชนและผู้ที่เดินทางผ่าน
บริเวณที่ตั้งบ้านสระเป็นเมืองเก่าแก่ตามคําบอกเล่าสืบทอดกันมาผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าได้รับฟังจากบรรพบุรุษเล่าว่า เดิมที่ดินแถบนี้ขอมได้ครอบครองมาก่อนต่อมาทางนครเวียงจันทร์ได้มีอำนาจเข้ามาครอบครองมีเจ้าครองเมืองโดยเรียกกันว่า เมืองกันทางหรือคันธาธิราช ผู้ครองเมืองคนสุดท้ายมีนามว่า ท้าวลินจง ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงบริเวณ มีภรรยาชื่อบัวคำ ปกครองราษฎรหัวเมืองน้อยหัวเมืองใหญ่ทั้งหลายด้วยความร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา ต่อจากนั้นมาหลายชั่วอายุคนเมืองคันธาธิราชได้ย้ายไปตั้งเป็นเมืองกันทางที่บ้านโคกพระ หลังจากนั้นได้มีราษฎรย้ายมาจากเมืองร้อยเอ็ดมาตั้งบ้านอยู่แทนเมืองคันธาธิราชเป็นบ้านสระโดย ขึ้นกับเมืองกันทางหรืออำเภอกันทรวิชัยในปัจจุบัน
บ้านสระหมู่ 2 เป็นชุมชนโบราณที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี คือ พระพุทธมงคล พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอกันทรวิชัย
วัดพุทธมงคล ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2245 เดิมชื่อวัดโพธิ์หรือวัดพระยืน เนื่องจากมีต้นโพธิ์ในบริเวณวัดจำนวนมาก จึงเรียกว่า วัดโพธิ์ ที่เรียกว่า วัดพระยืน เพราะมีพระพุทธรูปยืนอยู่ใต้ต้นโพธิ์มีอยู่ก่อนการตั้งวัด จึงเรียกว่า วัดพระยืน โดยชาวบ้านพร้อมกับพระมหาราชสุจิตฺโต ซึ่งเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2506 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ภายในวัดมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ซึ่งเปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2468 โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2521 และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2533
ภายในวัดมีพระพุทธรูปที่สำคัญเป็นที่สักการะของชาวอำเภอกันทรวิชัยและผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา เรียกพระยืนหรือพระพุทธมงคล ประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์บนเนินดินภายในวัดพุทธมงคล สูงประมาณ 4 เมตร สันนิษฐานว่าเนินดินใต้ต้นโพธิ์เดิมอาจเป็นสถูปเจดีย์ในศิลปะสมัยทวารวดี สลักจากหินทราย มีเค้าพระพักตร์เป็นรูปทรงกระบอก องค์พระพุทธรูปยืนเอียงแบบตริภังค์ ครองจีวรห่มเฉียง ชายผ้าสังฆาฏิทำเป็นจีบซ้อนและทิ้งชายผ้ายาวเลยพระนาภี (หน้าท้อง) พระหัตถ์ซ้ายขนานกับพระวรกาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปวัฒนธรรมทวาราวดีในช่วงปลายที่ผสมผสานกับศิลปะแบบท้องถิ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ส่วนพระพักตร์และพระหัตถ์ขวาที่ชำรุดได้รับการซ่อมบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2460 ตามความเข้าใจของชาวบ้านผู้ที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา โดยให้พระหัตถ์ขวาจับบริเวณพระนาภี (หน้าท้อง) ทำให้แบบแผนขององค์พระพุทธรูปผิดไปจากพุทธลักษณะแบบดั้งเดิม เพราะการสร้างพระพุทธรูปยืนให้พระหัตถ์ขวาจับที่พระนาภี (หน้าท้อง) นั้นไม่เคยปรากฏตามแบบแผนพุทธลักษณะแบบดั้งเดิม ถ้าพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (หน้าอก) จะเป็นการแสดงปางประทานอภัยหรือปางแสดงธรรม หรือถ้าผายพระหัตถ์ค่อนไปด้านหน้าเพื่อแสดงปางประทานพร ปัจจุบันพระยืนวัดพุทธมงคลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองของกันทรวิชัย มีผู้คนเข้ามากราบไหว้สักการะอย่างเนืองแน่น
ที่ตั้งหมู่บ้านสระตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอกันทรวิชัยจังหวัดมหาสารคามโดยห่างจากที่ว่าการอำเภอกันทรวิชัยประมาณ 1 กิโลเมตร การคมนาคมติดต่อภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีตและถนนลาดยางเชื่อมติดต่อกับถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 213 มีรถวิ่งผ่านตลอดทั้งวัน ส่วนอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียงดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับบ้านคันธารพัฒนาหมู่ 6 ตำบลคันธารราษฎร์อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศใต้ ติดกับบ้านส้มปล่อยหมู่ 4 ตำบลคันธารราษฎร์อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันตก ติดกับบ้านสระหมู่ 11 ตำบลคันธารราษฎร์อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันออก ติดกับบ้านโนนหมู่ 5 ตำบลคันธารราษฎร์อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
บ้านสระแบ่งออกเป็น 2 คุ้มคือคุ้มตะวันตก และคุ้มตะวันออก เพราะมีถนนหลวงแผ่นดินกั้นกลางหมู่บ้าน
จากการสำรวจประชากรขององค์การบริหารส่วนตำบลคันธารราษฎร์ เมื่อ พ.ศ. 2563 พบว่าชุมชนบ้านสระประกอบด้วยจำนวนครัวเรือน 107 ครัวเรือน รวมมีประชากรทั้งสิ้น 333 คน แบ่งเป็นเพศชาย 159 คน เพศหญิง 174 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตกับการทำอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และเปิดร้านอาหารตามสั่งตลอดแนวถนนทางหลวงแผ่นดิน 213 ในการหาอยู่หากินของผู้คนในชุมชน ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนยังคงมีการช่วยเหลือกันและกันผ่านระบบเครือญาติ กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนเป็นกลุ่มไท-ลาว
ชาวบ้านในชุมชนมักประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อาจมีบางครอบครัวจะเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น แต่ก็ยังมีชาวบ้านจำนวนมากที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ เช่น การทำนารอบ ๆ บ้านสระเป็นที่ราบลุ่มเกือบทุกครัวเรือนจึงมีอาชีพทำนา ซึ่งมีการทำนาดำและนาหว่าน ชาวบ้านสระจึงได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำนาข้าวที่นิยมปลูกส่วนมาก ได้แก่ ข้าวเหนียว ข้าวจ้าวมะลิ การค้าขายบ้านสระมีร้านของชำ จำนวน 5 ร้าน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดพุทธมงคล
ชาวบ้านนับถือคือศาสนาพุทธ ซึ่งวัดพุทธมงคลเป็นสถาบันทางศาสนาที่สำคัญในหมู่บ้านและเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีการจัดงานดังต่อไปนี้
เดือนอ้าย คือบุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรมปริวาสกรรมเพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทําผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เป็นการฝึกสำนึกถึงความบกพร่องของตนและมุ่งประพฤติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป
เดือนยี่ ทำบุญลานข้าวหรือทำบุญคุณข้าว นิมนต์พระสวดมนต์เย็นเพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก เมื่อพระฉันอาหารเช้าเสร็จแล้วก็จะทำพิธีสู่ขวัญข้าว
เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่และทำบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่จะเริ่มตอนเช้าโดยชาวบ้านจะใช้ข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อยนำไปปิ้งแล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระที่วัด
เดือนสี่ ทำบุญผะเหวด มีการฟังเทศน์มหาชาติ
เดือนห้า ตรุษสงกรานต์หรือบุญสรงน้ำ การสรงน้ำที่มีการรดน้ำให้พระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ การทำบุญมีการถวายทาน การทำบุญสรงน้ำกำหนดเอาวัน 15 ค่ำเดือน 5 บางครั้งเรียกว่า บุญเดือนห้า ถือเป็นเดือนสำคัญเพราะเป็นเดือนต้นปีใหม่ของชาวไทย
เดือนหก ทำบุญบั้งไฟและบุญวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟ เพื่อขอฝนและมีการบวชนาคพร้อมกันด้วยการทำบุญเดือนหกนี้เป็นงานที่สำคัญก่อนจะลงมือทำนา
เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือทำบุญบูชาบรรพบุรุษมีการเซ่นสรวงหลักเมืองหลักบ้านปู่ตาผีตาแฮก เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้ที่มีพระคุณ
เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรงจึงคล้ายกับทางภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เช่น มีการทำบุญตักบาตรถวายเทียนเพื่อเป็นพุทธบูชาและเก็บไว้ตลอดเข้าพรรษา
เดือนเก้า ทําบุญข้าวประดับดิน เป็นการทําบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับโดยจัดอาหาร หมากพลู เหล้ าบุหรี่ แล้วนําไปวางไว้ใต้ต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่งพร้อมนำเชิญวิญญาณของญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารไป ต่อมาใช้วิธีหยาดน้ำกรวดน้ำแทน
เดือนสิบ ทําบุญข้าว (สลากภัตร) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบหรือเรียกว่าบุญเดือนสิบ
เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษาหรือบุญเดือนสิบเอ็ดในวันขึ้น 15 ค่ำ พระสงฆ์จะออกแสดงอาบัติทําการปวารณาคือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้โอวาสแด่พระสงฆ์ให้ปฏิบัติตัวอย่างผู้ทรงศีลเป็นอันเสร็จพิธี
เดือนสิบสอง ทำบุญกฐินการทำบุญกฐินเริ่มทำตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 12 จนถึงวันเพ็ญ
ทุนวัฒนธรรม
พระยืนวัดพุทธมงคลหรือพระพุทธมงคล
พระพุทธมงคล ประดิษฐานอยู่ใต้ต้นโพธิ์บนเนินดินภายในวัดพุทธมงคล สูงประมาณ 4 เมตร สันนิษฐานว่าเนินดินใต้ต้นโพธิ์เดิมอาจเป็นสถูปเจดีย์ในศิลปะสมัยทวารวดี สลักจากหินทราย มีเค้าพระพักตร์เป็นรูปทรงกระบอก องค์พระพุทธรูปยืนเอียงแบบตริภังค์ ครองจีวรห่มเฉียง ชายผ้าสังฆาฏิทำเป็นจีบซ้อนและทิ้งชายผ้ายาวเลยพระนาภี (หน้าท้อง) พระหัตถ์ซ้ายขนานกับพระวรกาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธรูปวัฒนธรรมทวาราวดีในช่วงปลายที่ผสมผสานกับศิลปะแบบท้องถิ่น อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ส่วนพระพักตร์และพระหัตถ์ขวาที่ชำรุดได้รับการซ่อมบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2460 ตามความเข้าใจของชาวบ้านผู้ที่มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา โดยให้พระหัตถ์ขวาจับบริเวณพระนาภี (หน้าท้อง) ทำให้แบบแผนขององค์พระพุทธรูปผิดไปจากพุทธลักษณะแบบดั้งเดิม เพราะการสร้างพระพุทธรูปยืนให้พระหัตถ์ขวาจับที่พระนาภี (หน้าท้อง) นั้นไม่เคยปรากฏตามแบบแผนพุทธลักษณะแบบดั้งเดิม ถ้าพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (หน้าอก) จะเป็นการแสดงปางประทานอภัยหรือปางแสดงธรรม หรือถ้าผายพระหัตถ์ค่อนไปด้านหน้าเพื่อแสดงปางประทานพร ปัจจุบันพระยืนวัดพุทธมงคลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองของกันทรวิชัย มีผู้คนเข้ามากราบไหว้สักการะอย่างเนืองแน่น
- ภาษาที่ใช้ติดต่อราชการ ภาษาไทย
- ภาษาที่ใช้สื่อสารในท้องถิ่น ภาษาอีสาน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านสระ คือผู้คนในชุมชนมีอาชีพหลัก คือการทำไร่ทำนา เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลทำนา มักจะเกิดปัญหาในการว่างงาน บางคนต้องหาอาชีพเสริมเพื่อที่จะหารายได้มาดูเเลสมาชิกในครอบครัว บางคนต้องเดินทางไปรับจ้างทำงานในเมืองใหญ่ ซึ่งความท้าทายนี้เป็นโจทย์สำคัญถึงการสร้างโอกาสให้ผู้คนในชุมชนมีรายได้หลักเหมือนการทำนานั้นเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องบูรณาการเพื่อสร้างอาชีพ เพื่อที่จะพยายามดึงคนในชุมชนไม่ทิ้งถิ่นเเละทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2565). โครงการการอยู่ร่วมกันในเมืองประวัติศาสตร์ทวาราวดีอย่างมีอนาคต ณ กันทรวิชัย. สนับสนุนการวิจัยโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
สุพาพร กันทพันธุ์. (2545). การศึกษาวิเคราะห์ชุมชนบ้านสระ หมู่ 2 ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
Google Map. (2566). พิกัดแผนที่บ้านวังแสง. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567. https://www.google.com/maps