บ้านหน้าทับมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและวิถีชีวิตชุมชน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่ยังคงการทำหัตถกรรมหางอวนอยู่
บ้านหน้าทับมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและวิถีชีวิตชุมชน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่ยังคงการทำหัตถกรรมหางอวนอยู่
บ้านหน้าทับ เป็นชุมชนขนาดเล็กชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช แม้ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เอกสารทางวิชาการ หรืองานวิจัยใดกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านหน้าทับ ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลาโดยตรง แต่ปรากฏพบว่าท่าศาลมีประวัติเกี่ยวโยงกับตำนานและประวัติความเป็นมาของเมืองนครศรีธรรมราช โดยปรากฏตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชตอนหนึ่งว่ เมื่อครั้งที่สิ้นราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช (ปทุมวงศ์) แล้ว นครศรีธรรมราชกลายเป็นเมืองร้างอยู่ระยะหนึ่ง กรุงศรีอยุธยาจึงส่งพระพนมวังและนางสะเดียงทองมาครองเมืองนครศรีธรรมราช พระพนมวังจึงได้เกณฑ์ผู้คนเท่าที่มีอยู่ไปสร้างป่าเป็นนาขึ้นหลายแห่ง รวมทั้งในท้องที่อำเภอท่าศาลาปัจจุบัน
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ได้ระบุถึงข้าราชการปกครองหลายตำบล คือ ตำบลไทยบุรี ตำบลนบพิตำ ตำบลกลาย ตำบลร่อนกะหรอ และตำบลโมคลาน ตำบลเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอท่าศาลา แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้มีลักษณะเป็นชุมชนใหญ่มาเป็นเวลานานแล้ว
นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ความเป็นมาดังกล่าวข้างต้น อาจทราบได้จากโบราณสถาน วัดวาอารามต่าง ๆ ในท้องที่ เช่น วัดนางตรา และวัดโมคลาน ซึ่งเป็นวัตถุโบราณนักโบราณคดีประมาณอายุว่าสร้างในราว พ.ศ. 1400-1800 ต่อมากลายเป็นวัดร้างเนื่องจากหนีภัยสงครามเมื่อครั้งพม่ามาตีเมืองนครศรีธรรมราช เพราะที่ตั้งวัดอยู่ใกล้เส้นทางเดินทัพพม่า ครั้นถึง พ.ศ. 2440 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางราชการได้จัดระเบียบการปกครองส่วนท้องที่ของเมืองนครศรีธรรมราชเสียใหม่ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองส่วนท้องที่ ร.ศ. 116 โดยแบ่งเขตปกครองนครศรีธรรมราชออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง อำเภอเบี้ยชัด อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอสิชล อำเภอลำพูน อำเภอฉวาง อำเภอทุ่งสง อำเภอเขาพังไกร และอำเภอกลาย (อำเภอท่าศาลาในปัจจุบัน) ภายหลังตั้งอำเภอกลาย ในปี พ.ศ. 2440 และเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอท่าศาลา” เพื่อให้ตรงกับท้องที่ที่ตั้งที่ว่าการอำเภอที่ตั้งอยู่ตำบลท่าศาลาในปี พ.ศ. 2459 (กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, 2559: ออนไลน์)
ภายหลังเปลี่ยนชื่ออำเภอกลายเป็นอำเภอท่าศาลา ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ตำบลท่าศาลาในขณะนั้นที่มีฐานะเป็นสุขาภิบาลได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลท่าศาลา มีหมู่บ้านในปกครอง 15 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตลาดท่าศาลาบ้านเตาหม้อ บ้านท่าสูง บ้านท่าสูงบน บ้านในถุ้ง บ้านสระบัว บ้านปากน้ำใหม่ บ้านด่านภาษี บ้านบ่อนนท์ บ้านฝายท่า บ้านในไร่ บ้านแหลม บ้านบางตง และบ้านหน้าทับ
บ้านหน้าทับเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล โดยมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มทอดยาวตลอดแนวชายฝั่ง บ้านหน้าทับอยู่ในเขตพื้นที่ที่เรียกว่าป่าชายเลนบริเวณอ่าวทองคำท่าศาลา มีสภาพเป็นป่าชายเลนบริเวณดินเลนงอกใหม่ เป็นป่าชายเลนที่มีสภาพสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลากหลายชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก แสม ลำพู เป็นต้น มีหาดเลนขนาดใหญ่เป็นแหล่งหากินของนกน้ำนานาชนิด มีท่าเรือประมงชายฝั่งออกสู่ทะเลหลายจุดพื้นที่ อีกทั้งอยู่ใกล้ตัวเมือง ทำให้การสัญจรการคมนาคมมีความสะดวกสบาย
บ้านหน้าทับ มีประชากรทั้งสิ้น 1,658 คน โดยประชากรในหมู่บ้านแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 ของจำนวนประชากรบ้านหน้าทับทั้งหมด
การประกอบอาชีพ
เนื่องจากสภาพที่ตั้งบ้านหน้าทับอย่บริเวณริมชายฝั่งทะเล พื้นที่ทางการเกษตรมีน้อย อาชีพประมงจึงเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน โดยวิธีการหาปลาของชาวบ้านหน้าทับจะใช้อวน ซึ่งอวนของชาวบ้านหน้าทับมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นอวนที่ได้จากยอดลานที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาทําเป็นเส้นแล้วตากแห้ง จากนั้นก็นํามาทอเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการหาปลา โดยใช้ติดที่ปลายอวนแต่ละหลัง ต่อมาได้มีการใช้ไนล่อนมาติดที่ปลายอวนแทนผลิตภัณฑ์ที่ทอจากใบลาน เมื่อวัตถุประสงค์การใช้งานเปลี่ยนไปแต่ยังมีการทอใบลานอยู่ จึงได้นํามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นแทน เช่น กระเป๋าสะพาย ที่รอง จานรองแก้ว หมวก แฟ้มเอกสาร กล่องใส่กระดาษทิชชู ที่ใส่รีโมท ที่ใส่โทรศัพท์มือถือ โดยมีชื่อเรียก ตามภาษาชาวบ้านว่า “ผลิตภัณฑ์หางอวน” จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผลิตภัณฑ์หางอวนบ้านหน้าทับได้กลายเป็นสินค้าประจำชุมชน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง นอกจากอาชีพประมง และการขายผลิตภัณฑ์หางอวนแล้ว ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่ประกอบอาชีพรับจ้าง โดยจะทำในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากงานหลัก บางส่วนรับราชการ หรือบางส่วนก็ออกไปประกอบอาชีพต่างชุมชนและต่างอำเภอ
อนึ่ง บ้านหน้าทับมีวิสาหกิจชุมชุน ภายใต้ชื่อ “บ้านแหลมโฮมสเตย์” ที่ได้ร่วมกับชาวบ้านหมู่ 14 และ 15 ในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศบริเวณริมชายฝั่งทะเล โดยมีวิสัยทัศน์เพื่อก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในการอนุรักษ์ป่าชายเลนและวิถีชุมชน กลุ่มฯได้มีกิจกรรมการดําเนินงานในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชุมชน พร้อมทั้งผู้มาเยือนในรูปแบบนักท่องเที่ยว หรือจะเป็นการดำเนินกิจกรรมของนักเรียน นักศึกษา การศึกษาดูงานของหน่วยงานต่าง ๆ และการจัดประชุมของหน่วยงาน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีรูปแบบกิจกรรมที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของนักท่องเที่ยว ความพร้อมของพื้นที่ และสภาพอากาศ ทั้งนี้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ มีรูปแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนที่หลากหลาย ดังนี้
- หัตถกรรมทอหางอวน เป็นการนํา “หางอวน” หรือยอดใบลานที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาทําเป็นเส้นตากแห้งและทอเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการหาปลา โดยใช้ติดที่ปลายอวน ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย
- กลุ่มเครื่องแกงแม่บ้านมุสลิมะฮ์ บ้านแหลม หมู่ 14 เป็นการเรียนรู้การทําเครื่องแกงกับกลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันทําพริกแกงโดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองในชุมชนซึ่งสามารถส่งไปขายที่ประเทศสิงคโปร์
- บ้านปูบ้านปลา เป็นการสร้างบ้านให้ปู สร้างที่อยู่ให้ปลา เพื่อสร้างจิตสํานึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับชุมชน
- ปลูกป่าชายเลน เป็นกิจกรรมสร้างจิตสํานึกด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการท่องเที่ยวที่สร้างความประทับใจและยั่งยืนตลอดไป
- สปาโคลน เป็นการสัมผัสกับสปาธรรมชาติท่ามกลางบรรยากาศของท้องทะเล ซึ่งโคลนมีคุณสมบัติในการช่วยขจัดสิ่งสกปรก บํารุงผิว และยังช่วยลดความมันรวมไปถึงอุดม ด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ทะเลสดมาวางขายในราคาที่ไม่แพงให้กับชุมชน
- ตลาดนัดชุมชน เป็นตลาดชาวบ้านที่มีชาวประมงออกเรือหาอาหาร
- หัตถกรรมปากกัดตีนถีบ เป็นการเรียนรู้การแกะใบจากเพื่อสร้างรายได้
- ป่าอเมซอนใต้แห่งอ่าวทองคํา เป็นป่าโกงกางที่มีขนาดใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของหอยนางรม โดยสามารถที่จะทานหอยนางรมสด ๆ ในเรือได้ทันที เพราะมีความสด สะอาด รสชาติหวานอร่อย เหมาะสําหรับผู้ที่ชมชอบทานหอยนางรมสด ๆ
- วิถีชีวิตชุมชนมุสลิม เป็นการเที่ยวชมวิถีชุมชนหน้าทับ หมู่ 7 มีความเป็นอยู่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะที่มีเสน่ห์ความเป็นมุสลิม ทั้งด้านวัฒนธรรมการแต่งกาย อาหาร ศาสนสถานที่เป็นจุดเด่นของชุมชน คือ มัสยิดสีชมพูหรือมัสยิดบ้านหน้าทับ (ซีดารุ้ลอามาน) กิจกรรมการละเล่นยามว่าง อาชีพในชุมชนที่มีความผูกพันกับป่าชายเลน วิถีชาวประมง เป็นต้น (วิภาภรณ์ เครือจันทร์, 2560: 56-57)
กลุ่มชุมชน
กลุ่มแม่บ้านเกษตรชุมชนอิสลามบ้านหน้าทับ: ก่อตั้งขึ้นเพื่อร่วมช่วยเหลือกันในการจักสานผลิตภัณฑ์จากใบลาน แล้วนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกวางจำหน่ายเพื่อนำรายได้เข้าสู่ครัวเรือนและชุมชน ปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรชุมชนอิสลามบ้านหน้าทับเป็นเพียงกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ยังคงสืบทอดการทําหัตถกรรมจักสานจากใบลาน (หางอวน)
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์: ก่อตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนและวิถีชีวิตชุมชน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน
ชาวบ้านหน้าทับมีวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่โดยพึ่งพาอาศัยธรรมชาติ และดำเนินไปโดยยึดหลักคำสอนทางศาสนา ชาวมุสลิมชุมชนบ้านหน้าทับมีประเพณีทางศาสนาที่ยึดถือปฏิบัติเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับชาวมุสลิมในชุมชนอื่นทั่วไป เช่น วันปอซอ หรือวันรักษาศีลอด วันฮารีรายอปอซอ หรือวันละศีลอด วันฮารีรายอ ฮัจยี หรือวันตรุษฮัจยี วันเมาลิด วันอารูซอ วันนิสฟูซะบาน และวันอัลอิสเราะห์ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมหางอวน
การทำหัตถกรรมจักสานหางอวน (ใบลาน) ของชาวบ้านหน้าทับ ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 ถึงปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอําเภอท่าศาลา เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในเรื่องของระบบการผลิต การบริหารการจัดการ การตลาด และจัดอบรมวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มแม่บ้านเกษตรชุมชนอิสลามบ้านหน้าทับเป็นเพียงกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ยังคงสืบทอดการทําหัตถกรรมจักสานจากใบลาน (หางอวน) นับเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวที่สําคัญประเภทหนึ่งที่ช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้กับประชาชนบ้านหน้าทับได้อย่างมาก
วัสดุอุปกรณ์ที่นํามาใช้ในการผลิตหัตถกรรมหางอวน เป็นวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ในท้องถิ่น แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของการทําใบลานให้เป็นเส้นหางอวน และในส่วนของการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตงานหัตถกรรมจากหางอวน มีดังนี้
- การตัดยอดลาน จะต้องเลือกดูต้นลานที่มียอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ใบ วิธีการตัดต้นลานมี 2 วิธี คือ การตัดด้วยมีด และการตัดด้วยไม้ขอตัด
- การฉีกแยกใบลาน โดยจับใบลานที่ยังไม่คลี่ใบให้ตั้งขึ้น แล้วใช้มือฉีกแยกยอดลานออกเป็นใบ ๆ ลาน 1 ยอด จะได้ใบอ่อน 50-60 ใบ จากนั้นเอาก้านใบออก แล้วนำมาพับครึ่งมัดรวมกัน โยลาน 1 ยอด จะมัดได้ประมาณ 2 มัด
- นำใบลานไปแช่น้ำเพื่อที่จะนำใบลานไปขูดผิวออก โดยมีเทคนิค คือ น้ำที่ใช้แช่ใบลานต้องเป็นน้ำเค็ม เพราะจะทำให้ใบลานมีความเหนียว และทนทาน
- แยกใบลานออกเป็น 2 ส่วน ใบลานแต่ละใบมีอยู่ด้วยกัน 2 สี คือ ด้านหนึ่งสีเหลืองอ่อน อีกด้านหนึ่งเป็นสีเหลืองแก่ วิธีแยกใบลานให้ใช้มือซ้ายจับปลายใบลานด้านสีเหลืองแก่อยู่ข้างบน มือขวาถือไม้ขุดลาน โดยใช้นิ้วชี้รองรับใบลานด้านล่างใช้หัวแม่มือกดบนไม้ขูดลานขูดเอาผิวที่ใบออกตั้งแต่ปลายจนถึงโคนใบลานจะเผยอเล็กน้อยแยกออกเป็น 2 ชิ้น จากนั้นใช้ปลายไม้ขูดลานสอดและแงะใบลานให้แยกออกเป็น 2 ชิ้น เลือกใบลานที่แยกชั้นไม้ นํามาผูกมัดเป็นกลุ่ม ๆ
- การหวีสางใบลาน โดยนำใบลานมาแขวนไว้กับเสา จากนั้นใช้หวีพลาสติก (ชนิดเดียวกับที่ใช้หวีผม) สางใบลานทีละใบเป็นเส้นเล็ก ๆ เท่า ๆ กัน แล้วนําไปแช่น้ําอีกประมาณ 2 คืน เพื่อให้เส้นลานมีความขาว
- การย้อมเส้นลาน กรรมวิธีในการย้อมเส้นลานนั้นทําเช่นเดียวกับการย้อมเส้นใยทั่ว ๆ ไป การย้อมนั้นมีมีอยู่ 2 วิธี คือ การย้อมร้อนและย้อมเย็น การย้อมร้อน คือ การย้อมโดยใช้ความร้อนเป็นตัวทําละลาย ทําให้สีติดกับเส้นใย และใช้น้ำเกลือเป็นตัวช่วยทําให้สีติดดี ส่วนการย้อมเย็น คือ การย้อมโดยใช้น้ำเย็น แล้วรอเวลาให้สีซึมเข้าเส้นใย
- เตรียมเส้นลานเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่ง
- ทอเส้นลาน การทอเส้นลานจะใช้กี่สำหรับทอ 1 ชุด เป็นกี่พื้นเมืองชนิด 2 ตะกรอ เส้นลานที่ยังไม่ได้ทอเรียกว่า “วะ” แต่ถ้าทอออกมาเป็นผืนกว้างประมาณ 1 ศอก ความยาวไม่จํากัดเรียกว่า “หางอวน ในการทอนั้นขนาดกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร จะได้เส้นยืนทั้งหมด 120 เส้น นํามาร้อยเขาตะกรอโดยผูกต่อกันเป็นคู่ ๆ แล้วนําปลายเส้นลานไปผูกรวมไม้และเชือกซึ่งผูกติดกับหลักยึดเส้นยืน ในขณะที่ทอวะใช้เท้าเหยียบเพื่อยกตะกรอขึ้นลงสลับกันพร้อมกับพุ่งกระสวยซึ่งพันด้วยเส้นลานชนิดเดียวกัน ทํานองเดียวกับการทอผ้าด้วยกี่พื้นเมืองของชาวอีสาน ส่วนลายที่ใช้ในการทอนั้นมีทั้งหมด 3 กลุ่มใหญ่ คือ ลายหลัก หรือลายต้นแบบ ลาย เรขาคณิต กลุ่มลายประดิษฐ์ ลายที่ใช้ในการทอหางอวนใช้ลายต้นแบบ เป็นลายที่มีมาตั้งแต่โบราณ มี 3 ลายคือ ลายหนึ่ง ลายสอง และลายสาม ซึ่งเป็นสายพื้นฐานของการสร้างสรรค์ลายอื่น ๆ
ปัจจุบันรูปแบบผลิตภัณฑ์หางอวนบ้านหน้าทับมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบดั้งเดิม และรูปแบบที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนา รูปแบบดั้งเดิมคือแบบที่ทอเป็นผืน ทั้งที่เป็นสีธรรมชาติของหางอวน และแบบที่ผ่านการย้อมสีและมีลวดลายการทอเป็นตารางหมากรุก ราคาจะอยู่ที่เมตรละ 120 บาท ส่วนหางอวนแบบที่ได้รับการพัฒนา คือ การนำเอาหางอวนเป็นผืนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้ารูปแบบใหม่ เช่น ซองใส่ตะเกียบ ที่รองแก้ว กระเป่า และหมวก เป็นต้น
ภาษาพูด: ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน: ภาษาไทยกลาง
กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย. (2559). ประวัติความเป็นมาอำเภอท่าศาลา. [ออนไลน์]. ได้จาก: https://district.cdd.go.th [สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566].
เรวัต สุขสิกาญจน์. (2550). หัตถกรรมหางอวนกับวิถีชีวิตชุมชนมุสลิมบ้านหน้าทับ ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.
วิภาภรณ์ เครือจันทร์. (2560). กลยุทธ์การพัฒนาองค์กรวิสาหกิจชุมชนอย่างมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาบัณฑิตอาสาสมัคร วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.