
บ้านแม่ออกฮู พื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จากศูนย์พักพิงชั่วคราวสู่ชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะ
บ้านแม่ออกฮู พื้นที่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จากศูนย์พักพิงชั่วคราวสู่ชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์เฉพาะ
บ้านแม่ออกฮูเป็นชุมชนที่เกิดจากผลพวงของการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เดิมพื้นที่ตำบลแม่หละถูกจัดให้เป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากประเทศพม่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบบริเวณชายแดนไทย-พม่า ทางด้านจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน ซึ่งกำลังทหารพม่าได้เข้าโจมตีที่ตั้งของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า คือ กองกำลังทหารกะเหรี่ยง จนถึงปลายปี 2537 และต้นปี 2538 ทหารพม่าสามารถยึดที่ตั้งสำคัญของกองกำลังกะเหรี่ยงได้เกือบทั้งหมดเป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่บริเวณแนวชายแดน อพยพหลบหนีภัยจากการสู้รบเช้ามาอยู่ในประเทศไทยบริเวณชายแดน ในเขตอำเภอท่าสองยาง หน่วยงานที่รับผิดชอบได้จัดพื้นที่รองรับผู้หนีภัยจากการสู้รบจากประเทศพม่าขึ้นทั้งหมด 6 แห่ง ต่อมาในปี 2539 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานด้านการทหาร พิจารณาเคลื่อนย้ายผู้หลบภัยจากทั้ง 6 แห่ง มารวมไว้ ณ พื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ เพื่อความเหมาะสมในการควบคุมดูและสถานการณ์
ที่ตั้งของพื้นที่พักพิงบ้านแม่หละ หรือบ้านแบเกราะที่ผู้อพยพในพื้นที่และชาวบ้านตามแนวชายแดนไทย-พม่า รู้จักกัน ซึ่งมีความหมายในภาษากะเหรี่ยงว่า “ไร่ฝ้าย” ซึ่งแต่เดิมบ้านแบเกราะ ก็เป็นเหมือนกลุ่มบ้านหนึ่งที่อาศัยอยู่ในป่า และมีการทำไร่ฝ้ายเพื่อนำมาทำเป็นด้ายสำหรับทอผ้า จากคำบอกเล่าของผู้อพยพที่เข้ามาใหม่จากฝั่งพม่า บอกว่ามีการส่งฝ้ายจากบ้านแบเกราะไปขายให้กับกะเหรี่ยงหมู่บ้านที่อยู่ฝั่งพม่าด้วยโดยการตั้งถิ่นฐานของคนจะอยู่ตลอดแนวหัวยผารู มีครอบครัวอยู่ประมาณ 16 ครอบครัว มีคนอยู่ประมาณร้อยกว่าคน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีทั้งที่นับถือผี พุทธ และคริสต์ อาศัยอยู่รวมกัน มีการปลูกฝ้ายเป็นพืชไร่เพื่อปั่นทอผ้ากะเหรี่ยง รวมทั้งขายให้ทั้งคนไทยและพม่า จนเมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพม่ามีความรุนแรงมากขึ้นมีการตั้งแคมป์ในบริเวณแนวชายแดนไทย-พม่าหลายจุด ที่มีกะเหรี่ยงจากฝั่งพม่าเข้ามาในเขตไทย บางคนที่รู้จักคนในหมู่บ้านไทยหรือกะเหรี่ยงไทย ก็เข้ามาอยู่สร้างบ้านเล็ก ๆ อยู่กันชั่วคราว จนเมื่อรัฐบาลไทยมีการให้ตำรวจออกปราบกลุ่มที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือคนที่ไม่มีบัตรประชาชนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านไทย ทำให้ต้องอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักพิง ในที่นี้รวมทั้งชาวบ้านไทยที่อาศัยอยู่ก่อนในเขตที่เป็นป่าสงวนที่ส่วนใหญ่พูดไทยไม่ได้และไม่มีบัตรเหมือนกะเหรี่ยงพม่า ทำให้ส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่เดิมต้องกลายเป็นผู้อพยพไปด้วย ประกอบกับเมื่อเหตุการณ์การความไม่สงบที่เกิดในพม่าและการเข้ามาเผาแคมป์ในฝั่งไทยของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธและพม่า จนหลาย ๆ แคมป์ถูกรวมมาอยู่ที่แม่หละ และทุกคนกลายเป็นผู้หนีภัยการสู้รบที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แม่หละมาจนทุกวันนี้
บ้านแม่ออกฮูเป็นชุมชนที่เกิดจากผลพวงของการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 9 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ติดกับทางหลวงหมายเลข 105 อำเภอแม่สอด-อำเภอแม่สะเรียง มีพื้นที่ประมาณ 1148 ไร่ สภาพทางภูมิศาสตร์ของลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่เนินเขาสูงต่ำสลับกันไป โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ลำห้วยผารู และแนวเขายอดผารู
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลหัวแห้ง อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทางหลวงหมายเลข 105 แม่สอด - แม่สะเรียง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แนวเขาดอยเลวา และดอยผารู
บ้านแม่ออกฮู หมู่ที่ 9 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มาจากพื้นที่แถบชายแดนไทย-พม่า และเขตประเทศพม่า ปัจจุบันครอบครัวกะเหรี่ยงแต่ละบ้านจะมีสมาชิกอาศัยอยู่เพียงหนึ่งรุ่นหรือสองรุ่น เพราะเมื่อมีการแต่งงานก็จะมีการสร้างบ้านใหม่ ซึ่งอาจจะอยู่ใกล้บ้านพ่อแม่หรืออาจจะอยู่คนละโซน หรือในบางรายที่มีการแต่งงานนอกพื้นที่ เช่น แต่งงานกับคนไทย หรือกับชาวต่างชาติ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ภายนอกพื้นที่พักพิงชั่วคราว หน้าที่ในครอบครัวทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะมีบทบาทไม่ต่างกันมากนัก อาจเป็นเพราะอาชีพและกิจกรรมที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น การเลี้ยงลูกก็จะมีการช่วยเหลือกันเลี้ยง เพราะครอบครัวส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ออกไปทำงานข้างนอก และเด็กเมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนก็จะมีกิจกรรมที่โรงเรียนส่วนการหารายได้จะมีการช่วยกันทำงาน เช่น บางครอบครัวที่ต้องออกไปทำงานรับจ้างข้างนอกมักจะไปกันทั้งครอบครัว แต่ในด้านของการตัดสินใจต่าง ๆ ในครอบครัวทั้งสองฝ่ายมักจะมีการปรึกษากันเสมอ
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 บ้านแม่ออกฮู ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 10,289 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 5,267 คน ประชากรหญิง 5,022 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 225 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
กะแย, ดาราอาง, ไทใหญ่, ปกาเกอะญอ, โพล่งชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ออกฮู หมู่ที่ 9 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก อาชีพของกะเหรี่ยงในพื้นที่จะค่อนข้างมีความหลากหลายทางด้านอาชีพค้าขาย หรือเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยอาชีพของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่พักพิงฯ บ้านแม่หละสามารถจำแนกได้ 6 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มค้าขาย คือ กลุ่มที่มีร้านค้าตั้งแต่ขนาดเล็ก เพื่อขายสินค้าให้เด็กนักเรียนบริเวณหน้าโรงเรียน หรือร้านค้าขนาดใหญ่ เพื่อขายสินค้าส่งในพื้นที่พักพิง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ทำอาหารขาย สินค้าทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของกะเหรี่ยง
กลุ่มงานรับจ้าง คือ กลุ่มทำงานในพื้นที่ เช่น สร้างบ้าน ซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ หรือขนของหรือสินค้าต่าง ๆ และอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ออกนอกพื้นที่ เพื่อไปทำงานทั้งในพื้นที่ใกล้เคียงประเภทไปเช้า-เย็นกลับ หรือไปทำงานต่างพื้นที่ห่างไกล เช่น แม่สอด กรุงเทพฯ โดยผ่านนายหน้าจัดหางานที่จะคอยมารับ-ส่ง และทำบัตรแรงงานต่างด้าวให้ แต่กลุ่มนี้จะต้องมีการจ่ายเงินค่าดำเนินการที่ค่อนข้างสูง และบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการโดนหลอกหรือถูกตำรวจจับ ทำให้ในปัจจุบันมีคนออกไปทำงานข้างนอกน้อยลง ส่วนใหญ่จึงนิยมทำงานในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อำเภอแม่ระมาด ที่มีพื้นที่ไร่นาของคนไทยจำนวนมาก
กลุ่มเกษตรกรรม คือ กลุ่มที่ใช้พื้นที่ว่างในการเพาะปลูกผักและผลไม้ รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นอาหาร เช่น หมู ไก่ แพะ เป็นต้น สินค้าที่ได้จากการเกษตรจะมีการส่งขายในตลาดหรือตลาดนัดตอนเช้า
ครู อาจารย์ นักวิชาการ คือ กลุ่มที่ทำงานในโรงเรียน หรือรับงานมาทำที่บ้าน เช่น งานแปลเอกสาร กลุ่มนี้อาจมีการให้ค่าตอบแทนหรือไม่มีค่าตอบแทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์กรที่ทำงานหรือกิจกรรมที่รับมาทำงานนั้น
กลุ่มอุตสาหกรรมในครัวเรือน คือ กลุ่มที่ส่วนใหญ่เป็นการรวมกลุ่มเพื่อทำงาน เช่น ทอผ้า จักสาน เพื่อขายส่งให้องค์กรระหว่างประเทศ หรือขายภายในพื้นที่พักพิง
กลุ่มเจ้าหน้าที่ขององค์กรทั้งภายในและกายนอก ได้แก่ อาสาสมัคร คณะกรรมการต่าง ๆ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ เป็นต้น
ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ออกฮู หมู่ที่ 9 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก จะมีวิถีชีวิตบทบาทหน้าที่ที่คล้ายคลึงกันหลายส่วน ผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่จะตื่นกันแต่เข้าประมาณ ตี 4-5 เพื่อสวดมนต์ของแต่ละศาสนา บางครอบครัวที่เคร่งครัดจะทำกันเป็นครอบครัว หรือเพื่อนบ้านที่สนิทกัน โดยผู้หญิงและผู้ชายจะช่วยกันในการหุงหาอาหารตามแต่กิจกรรมตอนเช้าของแต่ละครอบครัว เช่น หุงข้าว ผ่าฟืน ต้มน้ำเพื่อดื่ม ทำกับข้าว รองน้ำที่จะปล่อยในช่วงเช้าและทำความสะอาดในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้านของตน หรือในบางวันที่มีตลาดนัดตอนเช้า ก็จะมีการไปซื้อกับหรือของใช้ที่คนภายนอกนำมาขายในพื้นที่ เช่น ผ้าไหม เนื้อสัตว์ ผักสด ขนม เป็นต้น หลังจากทำอาหารและกินข้าวเช้าประมาณ 07.00 น. ก็จะเตรียมตัวไปทำงานประจำที่องค์กรภายในพื้นที่ เช่น ครู หมอ อาสาสมัครองค์กร เป็นต้น ส่วนคนที่ไม่มีกิจกรรมประจำทำก็จะอยู่กับบ้าน เช่น นอนพัก ไปนั่งพูดคุยบ้านเพื่อน ไปเดินตลาด อบรมพิเศษ หรือในบางโอกาสที่มีการขอให้ช่วยเหลือกิจกรรม เช่น สร้างบ้านซ่อมบ้าน ไปหาไม้หรือใบตองสำหรับซ่อมบ้าน หรือกิจกรรมที่ทางสำนักงานขอให้ช่วยงาน เป็นต้น โดยในแต่ละวันกิจกรรมนอกบ้านจะสิ้นสุดประมาณ 15.00 น. เพื่อที่จะกลับมาหุงอาหาร และกินข้าวเย็นในเวลาประมาณ 16.00 น และเตรียมอุปกรณ์เพื่อเข้าแถวรองน้ำในช่วงเย็น และอาบน้ำ ซึ่งจะต้องไปอาบที่บ่อน้ำรวมในแต่ละกลุ่มบ้าน เมื่อเสร็จกิจกรรมต่าง ๆ บางบ้านที่ใช้เทียนถาดจะเข้านอนตั้งแต่ 1 ทุ่ม ส่วนบางบ้านก็อาจไปดูโทรทัศน์บ้านที่มีแบตเตอรี่หรือไฟฟ้าหรือไปสวดมนต์
ด้านศาสนาและความเชื่อ
เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ออกฮู หมู่ที่ 9 ตำบลแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแม่หละ และมีความแตกต่างในด้านศาสนาและความเชื่อที่มีมาทั้งก่อนและหลังการเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จึงทำให้มีลัทธิความเชื่อที่หลากหลาย และการประกอบพิธีกรมแตกต่างกัน ในแง่ของศาสนาความเชื่อในพื้นที่ ประกอบด้วย
- กลุ่มคริสเตียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละจะมีกลุ่มคริสเตียนที่มาจากหลากหลายวิธีคิด และความเชื่อศรัทธาตามนิกายที่ต่างกันไป โดยมีโบสถ์มากกว่า 10 แห่ง และมีโรงเรียนสอนพระคัมภีร์ด้วย
- กลุ่มชาวพุทธ ประกอบด้วย วัดพุทธ จำนวน 4 แห่ง
- กลุ่มเชื่อในวิญญาณบรรพบุรุษและธรรมชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นการผสมความเชื่อในพุทธศาสนาเข้าไปด้วย และอีกกลุ่มหนึ่งอาจเชื่อในเรื่องวิญญาณเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยลัทธิ Elder ใช้ตัวอักษรและรูปบูชาเป็นสัญลักษณ์พระอาทิตย์ และมีความเชื่อว่า พวกเขาเกิดมามีพี่น้องสามคน คนที่โตที่สุด คือ กะเหรี่ยง คนที่สอง คือ พม่า และคนสุดท้อง คือ อังกฤษ ซึ่งจะมีการบูชาคล้าย ๆ กับโต๊ะผีในการบูชาบรรพบุรุษ
- กลุ่มอิสลาม มีจำนวนสุเหร่า 4 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่
- กลุ่มฮินดู ไม่มีสถานประกอบศาสนกิจ
ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ เช่น งานแต่งงาน กะเหรี่ยงที่เป็นชาวคริสต์จะมีการทำกิจกรรมภายในโบสถ์เหมือนคริสเตียนทั่วไป แต่ในส่วนของพุทธจะมีการทำกิจกรรมทุกอย่างที่บ้าน เช่น สู่ขอไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จกิจกรรมต่าง ๆ จะมีการเลี้ยงอาหารที่จัดเป็นหม้อใหญ่เพื่อเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงาน ส่วนการจัดงานศพที่กะเหรี่ยงในพื้นที่พักพิงจะให้การฝังโดยมีการแบ่งเป็นเขตป่าช้ามุสลิม กับป่าช้ากะเหรี่ยงที่เรียกกันว่า โซน ดี ในส่วนของป่าช้ากะเหรี่ยงจะมีการแบ่งปันกันระหว่างกะเหรี่ยงพุทธและคริสต์ แต่ส่วนของการดำเนินพิธีกรรมงานศพจะไม่แตกต่างกันมากนัก คือ มีการทำพิธีที่บ้านในส่วนของพุทธ ประมาณ 2-3 วัน สวดของคริสต์จะมีการสวดเพียงวันเดียวที่โบสถ์แล้วนำไปฝั่ง และงานศพของคริสต์จะมีญาติพี่น้องเดินทางไปช่วยในการฝังศพและจัดดอกไม้หน้าศพก่อนฝัง ส่วนของพุทธจะมีการแห่ศพมาจากบ้านของผู้ตาย มีการเล่นดนตรีนำศพ ที่กลุ่มฟ้อนรำแห่ศพเพื่อนำไปฝังที่ป่าช้า
สรพงษ์ วิชัยดิษฐ์. (2547). กระบวนการก่อรูปอัตลักษณ์ของผู้อพยพชาวกะเหรี่ยง : ศึกษากรณีกะเหรี่ยงในพื้นที่พักพิงชั่วคราว บ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก. วิทยานิพนธ์มานุษยวิทยามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Unseen Tour Thailand. (2563). สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/UnseenThailand