Advance search

สถานที่ปฏิบัติธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

หมู่ที่ 11
บ้านป่ากุง
ศรีสมเด็จ
ศรีสมเด็จ
ร้อยเอ็ด
ทต.ศรีสมเด็จ โทร. 0-4350-8127
ณัฐพล นาทันตอง
6 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
6 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
20 มิ.ย. 2024
บ้านป่ากุง

เนื่องจากบริเวณพื้นที่ป่ามีต้นกุงหนาแน่น


สถานที่ปฏิบัติธรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

บ้านป่ากุง
หมู่ที่ 11
ศรีสมเด็จ
ศรีสมเด็จ
ร้อยเอ็ด
45260
15.990967613303997
103.4963758677754
เทศบาลตำบลศรีสมเด็จ

ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 พระอาจารย์ศรี มหาวีโรและคณะได้เดินธุดงผ่านมาเนื่องด้วยปรารถนาจะธุดงผ่านบ้านเกิด ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้จำวัดที่ป่ากุงซึ่งเป็นวัดร้างเก่ามีพื้นที่ประมาณ 4-5 ไร่ เป็นป่าพงทึบมีต้นไม้หนาแน่นโดยเฉพาะต้นกุงขึ้นจำนวนมาก ไม่มีคนกล้าเข้าไปนอกจากผู้ที่มีวิชา มีเพียงโจรผู้รายเมื่อขโมยวัวควายเสร็จแล้วก็จะนำมาซ่อนไว้ในป่ากุงเนื่องจากไม่มีใครกล้าเข้ามาในป่าแห่งนี้ เมื่อท่านอาจารย์ธุดงผ่านชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้พักที่วัดป่ากุง เป็นวัดเก่าแก่ปล่อยร้างและเป็นที่สงบไม่มีใครกล้าเข้าไป และไม่มีใครกล้าจับจองเป็นเจ้าของ มีคนเห็นผีเปรตที่เป็นพระอดีตญาคู สูงเท่าต้นตาลเที่ยวเร่ร่อนขอส่วนบุญ ท่านรับนิมนต์ชาวบ้านด้วยความดีใจเป็นอย่างยิ่ง ต่างคนต่างก็นำเสื่อหมอนมาถวายท่านได้พักจำวัด

เช้าวันต่อมาก็พากันมาทำกระต๊อบมุงหญ้าหลังเล็ก ๆ ให้ท่านและคณะอยู่ แม้ชาวบ้านจะยากจน ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือในการก่อสร้าง ด้วยความที่อยากให้ท่านเห็นใจแล้วอยู่โปรดต่อไป ใครมีเรี่ยวแรงก็ใช้เรี่ยวแรง ใครมีมีดก็ใช้มีด ใครมีขวานก็ใช้ขวาน ทั้งถากทั้งฟัน เพียงวันเดียวทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย

พอท่านพักที่วัดป่ากุงเป็นวันที่ 4 ท่านก็ได้ลาญาติโยมเพื่อธุดงต่อไปชาวบ้านโดยส่วนมากแสดงความอาลัยอาวรณ์เป็นอย่างยิ่ง บางคนร้องไห้ บางคนเว้าวอนให้อยู่ต่อ เขาบอกว่านานมาแล้วยังไม่เคยเห็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและแสดงธรรมเข้าถึงใจอย่างนี้ เมื่อชาวบ้านรบเร้าขัดขวาง บางคนมีน้ำตานองหน้า แสดงอาการอาลัยอาวรณ์อยู่อย่างเห็นได้ชัด ท่านจึงสงสารและพิจารณาว่า "ป่านี้เป็นสถานที่วิเวก สัปปายะ ญาติโยมมีศรัทธาพร้อมพรั่ง ควรที่เราจะสงเคราะห์เขาเพื่อมรรค ผล นิพพาน ต่อไป อันจะเป็นประโยชน์ใหญ่ในพระศาสนา" เมื่อท่านพิจารณาอย่างนั้นแล้ว จึงอยู่จำพรรษาและปฏิบัติภาวนาต่อไป ในพรรษานั้นปรากฏว่า ได้รับความสนใจและความอุปถัมภ์จากประชาชนชาวพุทธทั้งในจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดอื่น ๆ ทั้งใกล้และไกลเป็นจำนวนมาก ต่างก็พากันหลั่งไหลมาเพื่อทำบุญสุนทาน และรับการอบรมเทศนาสั่งสอน จากท่านเป็นเนืองนิจมิได้ขาด จนเกิดศรัทธาเลื่อมใสในปฏิปทาของท่านเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น พ่อใหญ่ชาลี มงคลสีลา คนบ้านป่ากุง ได้ถวายที่ดินสร้างวัดเพิ่มเติมจำนวน 100 ไร่ และบางคนถึงกับได้สละทางโลกออกบวชก็มีไม่น้อย และเหตุที่น่าอัศจรรย์ยิ่งอย่างหนึ่งนั้นก็คือ ชนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบ้านใกล้หรือว่าบ้านไกล เมื่อได้รับฟังพระธรรมเทศนาของท่านแล้ว บางคนถึงกับสละครอบครัวเหย้าเรือนออกบวช บางครอบครัวได้ออกบวชทั้งพ่อแม่ลูก เพื่อมาศึกษาและปฏิบัติศีลธรรมให้ได้เต็มที่ แม้ในปัจจุบันก็ยังคงมีผู้สละบ้านเรือนออกมาบวชอยู่โดยสม่ำเสมอ

หลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นพระที่ชาวบ้านให้ความเคารพเลื่อมใสศรัทธา จึงทำให้ชาวบ้านในละแวกนั้นเข้ามาอยู่ใกล้วัด (เดิมชาวบ้านศรีสมเด็จ ป่ากุง ส่วนมากย้ายมาจากบ้านหัวหนอง ต.โพธิ์ทอง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด) เมื่อปี พ.ศ. 2512 ท่านสมเด็จมหาวีระวงศ์ ได้เสด็จมาเป็นพระประธานวางศิลาฤกษ์ในการก่อสร้างโรงเรียน ท่านสมเด็จมหาวีระวงศ์ ได้ให้ความเมตตาตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านศรีสมเด็จ ซึ่งคำว่า "ศรี" มาจากองค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร และคำว่า "สมเด็จ" มาจากองค์สมเด็จมหาวีระวงค์ จึงได้ใช้ชื่อ บ้านศรีสมเด็จ

บ้านศรีสมเด็จแยกการปกครองออกจากบ้านหัวหนอง เมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นบ้านศรีสมเด็จ ม.13 ต.โพธิ์ทอง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ต่อมาปี พ.ศ. 2530 ได้แยกการปกครองออกจากอำเภอเมือง เป็นกิ่งอำเภอศรีสมเด็จ และยกฐานะเป็นอำเภอศรีสมเด็จ เมื่อปี พ.ศ. 2537 และบ้านศรีสมเด็จได้แยกการปกครองออกเป็นสองหมู่บ้าน คือ บ้านศรีสมเด็จ ม.10 และบ้านป่ากุง ม.11 ต.ศรีสมเด็จ อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด มีนายคำจันทร์ สืบชาติ เป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านป่ากุงคนแรก มีนายคำผาย เฉลยพจน์, นายบุญกว้าง นุศาสตร์เลิศ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คนที่ 2 นายบุญกว้าง นุศาสตร์เลิศ คนที่ 3 นายฮวด แสวงผล ปัจจุบันคนที่ 4 นายนิกร เพชรโคตร เป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยมีนายรัตน พานอนันต์, นายประสิทธิ์ สิทธิวงศ์ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

วัดป่ากุง ตั้งอยู่เลขที่ 80 หมู่ 11 บ้านป่ากุง ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ห่างจากตัวจังหวัด 19 กิโลเมตร และห่างจากเขตจังหวัดมหาสารคาม ประมาณ 40 กิโลเมตร ปัจจุบันมีการสร้างเจดีย์หินทรายคล้านบูโรพุทโธประเทศอินเดีย และมีการสร้างศาลากลางน้ำสำหรับครอบอัฐิของหลวงปู่ศรี มหาวีโร

บ้านป่ากุง มีจำนวนครัวเรือน 97 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้น 208 คน ประกอบด้วยประชากรเพศชายจำนวน 184 คน และเพศหญิงจำนวน 392 คน (2566)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

1.พระเทพวิสุทธิมงคล (ศรี มหาวีโร)

นามเดิมของท่านชื่อ ศรี เกิดในสกุลปักกะสีนัง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2460 ตรงกับวันศุกร์ เดือนหก ปีมะเมีย ที่บ้านขามป้อม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม โยมบิดาชื่อนายอ่อนสี โยมมารดาชื่อนางทุม ปักกะสีนัง ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ท่านได้บรรพชาอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. 2488 ณ พัทธสีมาวัดราษฎร์รังสรรค์ บ้านป่ายาง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีพระโพธิญาณมุนี (ดำ โพธิญาโณ) เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) เป็นอุปัชฌาย์ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาเป็นมคธว่า "มหาวีโร" ท่านพระอาจารย์ศรี ได้ออกจาริกห่างถิ่นมหาสารคาม และร้อยเอ็ดไปนานหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 ท่านจาริกมายังวัดป่ากุง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาประมาณ 170 ปี ท่านเป็นผู้นำศรัทธา ในการพัฒนาวัดป่ากุงให้เรืองรุ่งโดยลำดับ จนกระทั่งเป็น "วัดประชาคมวนาราม" ที่งามสง่า เป็นศาสนสถาน อันไพศาล สำหรับชาวพุทธผู้ศรัทธาในธรรมะของพระผู้มีพระภาคเจ้า และดำเนินตามธรรมวิถีของพ่อแม่ครูอาจารย์

หลวงปู่ศรี มหาวีโร จำพรรษาที่วัดประชาคมวนาราม หรือวัดป่ากุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ท่านเป็นผู้นำ เป็นธุระในกิจการงานพระศาสนาอย่างจริงจังและมั่นคง สร้างคุณูปการและสาธารณประโยชน์เป็นจำนวนมาก ทั้งเจดีย์ชัยมงคล เจดีหินทราย พระเทพวิสุทธิมงคล (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) พระวิปัสนาจารย์ชื่อดังภาคอีสาน ละสังขารแล้วเมื่อเวลา 05.34 น. วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ด้วยโรคชรา ภายในศาลากลางน้ำ วัดประชาคมวนาราม (ป่ากุง) อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด อายุ 94 ปี 3 เดือน 13 วัน (66 พรรษา) หลังจากหลวงปู่ฯ อาพาธมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 ศิษย์ยานุศิษย์นำเข้ารักษาตัวและเข้าออก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น จำนวนหลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555 ณ เมรุชั่วคราว วัดประชาคมวนาราม ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด

1.เจดีย์หินทราย วัดป่ากุง เจดีย์หินทราย วัดป่ากุง เป็นสิ่งก่อสร้างที่สวยงาม ลักษณะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ ทำจากหินทรายธรรมชาติแห่งแรกในประเทศไทย โดยจำลองแบบการก่อสร้างมาจากบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากใน พ.ศ. 2531 หลวงปู่ศรี มหาวีโรได้ไปปฏิบัติศาสนกิจและจำพรรษาที่ประเทศอินโดนีเซีย ได้ไปนมัสการเจดีย์โบโรโดร์ (บุโรพุทโธ) ที่เกาะชวาอินโดนีเซีย ได้เห็นความใหญ่โตมโหฬารงดงาม หลวงปู่เกิดความประทับใจมาก เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้นำเรื่องราวที่ได้ไปพบ มาเล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟัง และดำริว่าจะสร้างไว้ที่เมืองไทย 

เจดีย์หินทรายนี้ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 90 ปี พรรษา 60 ของพระเทพวิสุทธิมงคล "หลวงปู่ศรี มหาวีโร" โดยสร้างด้วยแรงศรัทธาของคณะศิษยานุศิษย์ เสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสมัครสมานสามัคคี เทิดทูนความดีที่หลวงปู่ศรีได้ประพฤติปฏิบัติและทำงานแข่งกับเวลาให้สำเร็จ โดยทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน จนกระทั่งเสร็จภายใน 2 ปี

เจดีย์มีรูปทรงแปดเหลี่ยม กว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร (กว้างxยาว ตามชื่อจังหวัด) สูง 109 เมตร แบ่งเป็น 7 ชั้น ตบแต่งด้วยหินทรายธรรมชาติ จากปากช่อง จ.นครราชสีมา 

ชั้นที่ 1 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำเล่าเรื่องราวซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมี 

ชั้นที่ 2-3 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติพระพุทธเจ้า

ชั้นที่ 4 ภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำรูปชัยมงคลคาถา 

ชั้นที่ 5 ผนังทรงกลมฐานรององค์เจดีย์ เป็นภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน 

ชั้นที่ 6 เป็นองค์เจดีย์ราย 8 องค์ และองค์เจดีย์ประธาน 1 องค์ และโดยเฉพาะชั้นที่ 7 ยอดเจดีย์ทองคำ น้ำหนักถึง 101 บาท และภายในองค์เจดีย์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่นำมาจากประเทศอินเดียให้พุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวได้กราบไหว้บูชา ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล 

โดยมากหากพูดคุยกันในชุมชนจะใช้ภาษาอีสาน และภาษากลางสำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าชมและผู้เข้าปฏิบัติธรรม


วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ และผู้นำทางศาสนาเช่นพระสงฆ์ต้องเป็นผู้มีความรู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและที่สำคัญชุมชนให้ความร่วมมือในการบริหารงานดำเนินงานของกิจการวัด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เทศบาลตำบลศรีสมเด็จ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน. https://www.srisomdej.go.th/

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด. (ม.ป.ป.). บ้านป่ากุง-ศรีสมเด็จ หมู่ 10. https://sites.google.com/ccollege.ac.th/

เพจวัดประชาคมวนาราม-ป่ากุง Wat Prachakom Wanaram-Pahkoong. (2562, 1 ตุลาคม). ปฐมเหตุแห่งวัดป่ากุง. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567. https://www.facebook.com/pahkoong/posts  

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด. (2559). เจดีย์หินทรายวัดป่ากุง. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567. https://www2.m-culture.go.th/roiet/

Google Map. (2566). พิกัดแผนที่วัดป่ากุง (วัดประชาคมวนาราม). สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567.  https://www.google.com/maps

ทต.ศรีสมเด็จ โทร. 0-4350-8127