Advance search

สถานที่ปฏิบัติธรรม 

หมู่ที่ 10
บ้านดงเมือง
ลำพาน
เมืองกาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์
ทต.ลำพาน โทร. 0-4384-0328
ณัฐพล นาทันตอง
5 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
5 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
20 มิ.ย. 2024
บ้านดงเมือง

เนื่องจากที่ตั้งชุมชนเป็นเนินเมืองเก่า และมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมากลักษณะเป็นดงขนาดใหญ่ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะดังกล่าว


สถานที่ปฏิบัติธรรม 

บ้านดงเมือง
หมู่ที่ 10
ลำพาน
เมืองกาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์
46000
16.45929252777176
103.4590915942652
เทศบาลตำบลลำพาน

เมืองกาฬสินธุ์ เดิมชื่อ เมืองฟ้าแดดสงยาง ส่วนเมืองที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองนี้อีกเมือง คือ เมืองเชียงสา ปัจจุบันคือบ้านดงเมือง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำพาน ห่างจากเมืองฟ้าแดดสงยางขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตร ดินแดนแถบนี้ตามตำนานสมัยขอมเรืองอำนาจมีการตั้งรกรากของกลุ่มละว้า ก่อนต่อมาได้เสื่อมอำนาจลง และถูกแทนที่ผสมกลมกลืนกับกลุ่มอื่นอย่าง ขอม และมอญ

ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์กษัตริย์พม่าปราบปรามมอญทางเมืองหริภุญไชย (เมืองลำพูนในปัจจุบัน) แล้วรุกมาทางใต้เรื่อยมาถึงเมืองฟ้าแดดสงยางในแคว้นโคตรบูรณ์ และได้กวาดต้อนผู้คนกลับไปยังพม่า ทำให้วัฒนธรรมมอญในดินแดนจังหวัดกาฬสินธุ์เสื่อมลง

เมืองเชียงสาและเมืองฟ้าแดดสงยางถูกทิ้งร้างไว้หลายร้อยปีจนเกิดเป็นป่า ซึ่งเรียกว่า "ป่าโนนเมือง" ประมาณ พ.ศ. 2439 หมื่นขันอาสาได้อาสานำชาวบ้านประมาณ 5 ครอบครัว ประกอบด้วย พ่อเคน-แม่อั้ว พ่อสีดา-แม่ดา พ่อจารย์สอน-แม่คา พ่อเวิน-แม่บัง และแม่กอง พร้อมด้วยบุตรหลาน ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คุ้มใต้ของบ้านดงเมืองปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านพากันมาจากบ้านวังเฮอะ ริมน้ำพาน เนื่องจากฤดูฝนถูกน้ำท่วมเป็นประจำ จึงพากันมาถางป่าโนนเมืองเพื่อปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด แตงไทย แตงโม แต่ก็มักประสบปัญหาสัตว์ป่ามาทำลายพืชผลเสมอ จนได้ชื่อว่า "ดงลิงส่อง" เมื่อได้ทำเลที่เหมาะแก่การตั้งบ้านเรือนจึงตั้งเป็นหมู่บ้านเรียกว่า "บ้านใหม่" ต่อมาหมื่นขันอาสาถึงแก่กรรม ชาวบ้านจึงไปขึ้นอยู่ในปกครองของผู้ใหญ่ทุ่ม ปัจจุบันคือ บ้านน้อยตอนกระต่าย ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวาง ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ แต่การทำนาไม่ได้ผลเท่าที่ควรเพราะถูกน้ำท่วมเป็นประจำ

เมื่อ พ.ศ. 2449 ชาวบ้านวังเฮอะ ปัจจุบันคือ ฮ่องพร้าว มีภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านม่วง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อไม่อาจทนต่อสถานการณ์น้ำท่วมไหว จึงพากันอพยพเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก กลับบ้านเดิม กลุ่มสอง อพยพขึ้นมาสมทบกับชาวบ้านใหม่ ซึ่งขณะนั้นหมื่นขันอาสาเป็นผู้นำอยู่แล้ว

เมื่อ พ.ศ. 2468 มีชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งนำโดยพ่อใหญ่หอม พ่อก้าน พ่อสุ่ย และพ่ออ้น พร้อมด้วยบุตรหลานอพยพจากบ้านท่าสีดา ขึ้นมาอยู่ทางคุ้มเหนือของบ้านดงเมือง ปัจจุบันคือหมู่ที่ 13 โดยให้ชื่อที่มาอยู่ใหม่ว่า "บ้านลิงส่อง" ทางด้านทิศตะวันออกนำโดยนายวัน นางอ่อน นางพุด และนางแพง พร้อมด้วยบุตรหลานประมาณ 4 ครอบครัว พากันมาตั้งบ้านเรือนเรียกว่า "บ้านใหม่" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านดงเมือง" เนื่องจากเป็นเนินเมืองเก่า และมีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมากซึ่งเป็นดงขนาดใหญ่

ใน พ.ศ. 2529 บ้านดงเมืองได้แบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ หทู่ที่ 10 และ 13 แต่ละหมู่แบ่งย่อยออกเป็นคุ้มดังนี้

หมู่ที่ 10 ประกอบด้วย 5 คุ้ม ดังนี้

  • คุ้มกลางพัฒนา
  • คุ้มกำไลทอง
  • คุ้มแสงมณี
  • คุ้มโนนศรีสวัสดิ์
  • คุ้มอุดมสมพร

หมู่ที่ 13 ประกอบด้วย 6 คุ้ม ดังนี้

  • คุ้มสีเมืองทอง
  • คุ้มร่มโพธิ์ทอง
  • คุ้มพรสวรรค์
  • คุ้มหลักเมือง
  • คุ้มดาวเหนือ
  • คุ้มดาวเรือง

บ้านดงเมือง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร ซึ่งบ้านดงเมือง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านท่าสีดา ตำบลลำพาน อำเภอเมือง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านน้อยดอนกระต่าย ตำบลลำพาน อำเภอเมือง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ลำน้ำพาน และบ้านดอนยานาง อำเภอยางตลาด
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หนองคู

บ้านดงเมือง เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำพาน และมีหนองน้ำสาธารณะอยู่โดยรอบจำนวน 5 แห่ง คือ ทางทิศตะวันตก ติดกับ หนองขาม ทางทิศตะวันออก ติดกับ หนองปลาเข็ง ทางทิศเหนือ ติดกับ หนองไฮ ทางทิศใต้ ติดกับ หนองคู และกลางบ้านมีหนองผำ 

บ้านดงเมืองมีสภาพภูมิอากาศ 3 ฤดู คือ

  • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน
  • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
  • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

บ้านดงเมือง ประกอบด้วยจำนวนครัวเรือน 121 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากรทั้งสิ้น 668 คน แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 312 คน และเพศหญิง จำนวน 356 คน

ชาวบ้านบ้านดงเมือง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ ทำนา ทำสวน อารีพรอง ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ ค้าขาย รับจ้าง หมู่บ้านดงเมืองเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ จึงมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ของชุมชนหลายกลุ่ม เช่น ปุ๋ยอัดเม็ด ปุ๋ยหมักชีวภาพ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ปลูกผักชะอม เลี้ยงปลา 

กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบ้านดงเมือง ในอดีตมีวัตถุประสงค์ผลิตปุ๋ยไว้ใช้เอง โดยใช้วัตถุดิบจากมูลวัวและกระบือที่เลี้ยงไว้ จากนั้นจึงได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ จึงมีกำลังมากพอที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าด้วย แต่กระนั้นทางกลุ่มเองก็คำนึงถึงการจำกัดปริมาณที่ต้องไม่ผลิตมากเกินไป ซึ่งอาจกระทบต่อราคาและคุณภาพของปุ๋ย โดยกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ มีโครงสร้างการบริหารงานและหน้าที่ดังภาพประกอบ

ชาวบ้านได้ยึดถือประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีการทำบุญในวันพระและวันสำคัญทางศาสนา รวมทั้งการยึดมั่นในจารีต "ฮีตสิบสอง" อันได้แก่

  • เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม
  • เดือนยี่ บุญคูณลาน
  • เดือนสาม บุญข้าวจี่
  • เดือนสี่ บุญเผวต
  • เดือนห้า บุญสงกรานต์
  • เดือนหก บุญบั้งไฟ
  • เดือนเจ็ด บุญเบิกบ้าน
  • เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
  • เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนสิบ บุญข้าวสาก
  • เดือนสิบเอ็ด ออกพรรษา ทำปราสาทผึ้ง
  • เดือนสิบสอง บุญกฐิน ประเพณีลอยกระทง

1.พระโพธิญาณมุณี หรือหลวงพ่อเมือง พลวฑฺโท เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ นามเดิมชื่อเมือง นามสกุลกอหาร เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2489 อุปสมบทเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2509 และมาปฏิบัติธรรมที่วัดป่ามัชฌิมาวาสในปี 2510 โดยก่อนหน้านั้นเป็นพระครูปลัดสุวัฒนเมตตาคุณ เป็นพระภิกษุที่อยู่ในสายวิปัสสนา โดยมีเหล่าคนดังทั่วประเทศรวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้ความเคารพบูชาและให้ความนับถืออย่างมาก โดยเฉพาะสายคหบดี

ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อ วัดป่ามัชฌิมวาส ซึ่งเป็นวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2474 โดยพระอาจารย์ทุ่ม ปิยธโร จากวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นชาวอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ได้มาเริ่มสร้างวัดขึ้นหลังจากนั้นท่านก็เดินทางไปจำพรรษา และสร้างวัดใหม่ที่อำเภอชนบท ต่อมามีเจ้าอาวาสอีกหลายองค์

วัดป่ามัชฌิมวาสยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วกาฬสินธุ์ ที่สร้างจากหยกสีเขียว ขนาดหน้าตักกว้าง 18 นิ้ว หลวงปู่ขาว ที่สร้างจากหินหยกสีขาว ขนาดหน้าตักกว้าง 80 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปล้ำค่าทั้งสององค์ นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุและพระพุทธรูปอื่น ๆ ประดิษฐานอยู่บริเวณพุทธสถานภายในวัด เป็นที่สักการะของชาวบ้านและผู้ที่รับถือ

นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ศพ พิพิธภัณฑ์ศพวัดป่ามัชฌิมาวาส ก่อตั้งโดยพระอาจารย์ เมือง พลวฑฺโฒ ประมาณปี พ.ศ. 2510  ตั้งอยู่ในศาลาอัศวินวิจิตร ในช่วงแรกนั้นศพมนุษย์หรือร่างอาจารย์ใหญ่ใช้ในการพิจารณาสังขารของพระสงฆ์และประชาชนทั่วไปที่มาแสวงบุญรวมทั้งการเข้ามานั่งสมาธิ วิปัสนากรรมฐาน โดยร่างอาจารย์ใหญ่นั้นได้รับความอนุเคราะห์จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยการเวียนใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ให้ได้ประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรมกล่าวคือ เมื่อมีศพอาจารย์ใหญ่ก็จะนำมาเก็บไว้ที่วัดและเมื่อต้องการใช้ในการศึกษาก็จะขนย้ายไปเพื่อทำการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังได้ช่วยดูแลทำความสะอาด 

นอกจากจัดแสดงศพหรือร่างกายมนุษย์แล้วนั้นยังมีการจัดแสดงวัตถุที่เกี่ยวกับสงครามและความรุนแรงต่าง ๆ เช่น ซากระเบิด ชุดทหารหรือเครื่องใช้ในช่วงสงคราม โดยการนำเสนอภาพความสูญเสียที่มนุษย์สร้างขึ้นบนโลกและความโหดร้ายของสงคราม อีกทั้งยังกลุ่มวัตถุจำพวกเขาสัตว์ต่าง ๆ มากมาย พิพิธภัณฑ์ศพวัดป่ามัชฌิมาวาสเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นในด้านของความแปลกและน่าสนใจเพราะสามารถใช้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านชีววิทยาและใช้ในการวิปัสนากรรมฐานศึกษาทางพุทธศาสนาอีกด้วย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธ และผู้นำทางศาสนา เช่น พระสงฆ์ต้องเป็นผู้มีความรู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและที่สำคัญชุมชนให้ความร่วมมือในการบริหารงานดำเนินงานของกิจการวัด

 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ไพวรรณ์ เครือวรรณ. (2541). นิทานมุขปาฐะบ้านดงเมือง ตำบลลำพาน อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ภัชรินทร์ ซาตัน และคณะ. (2556). การศึกษาสภาพการดําเนินธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์ของวิสาหกิจชุมชนในจังหวัด กาฬสินธุ์ กรณีศึกษาบ้านดงเมืองและบ้านโนนเสียว. กาฬสินธุ์ : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์

พระอรหันต์ สายหลวงปู่มั่น. (14 กันยายน 2559). พระอรหันต์สายหลวงปู่มั่น. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567. https://www.facebook.com/

Google Map. (2566). พิกัดแผนที่วัดป่ามัชฌิมาวาส. สืบค้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567.  https://www.google.com/maps

ทต.ลำพาน โทร. 0-4384-0328