Advance search

ชุมชนทอผ้าบ้านนาทะเล ชุมชนเก่าแก่ของชาวเชียงแสน และการอพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มคน รวมถึงตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านถึงที่มาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับทรัพยากรท่องเที่ยวชุมชน

หมู่ที่ 5
บ้านนาทะเล
ชัยจุมพล
ลับแล
อุตรดิตถ์
วิไลวรรณ เดชดอนบม
20 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
20 มิ.ย. 2024
บ้านนาทะเล

พื้นที่บริเวณชุมชนเป็นท้องทุ่งและหนองน้ำกว้างใหญ่คล้ายกับทะเล ชาวบ้านจึงตั้งชื่อชุมชนว่า บ้านนาทะเล


ชุมชนชนบท

ชุมชนทอผ้าบ้านนาทะเล ชุมชนเก่าแก่ของชาวเชียงแสน และการอพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มคน รวมถึงตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านถึงที่มาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับทรัพยากรท่องเที่ยวชุมชน

บ้านนาทะเล
หมู่ที่ 5
ชัยจุมพล
ลับแล
อุตรดิตถ์
53130
17.637863
100.035359
องค์การบริหารส่วนตำบลชัยจุมพล

จากตำนานพื้นบ้านถึงที่มาของกลุ่มคนในอำเภอลับแล และเรื่องเล่าท้องถิ่นจากผู้สูงอายุในชุมชนได้ให้ข้อมูลที่มาของบรรพบุรุษชาวลับแลและบ้านนาทะเลไว้ว่า กลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยและตั้งหมู่บ้านในพื้นที่นี้อพยพมาจากบ้านวัลลิโยนก นครนาคพันธ์สิงหน ตำบลชัยบุรี อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยเชื่อว่าวิญญาณเจ้าปู่พญาแก้ววงษ์เมือง กษัตริย์องค์ที่ 13 ของเมืองเชียงแสน ให้หนานคำลือ และหนานคำแสน เป็นผู้นำชาวเชียงแสนประมาณ 20 ครัวเรือน อพยพหนีภัยสงครามและโรคระบาดลงมาทางใต้จากเมืองเชียงแสน มายังพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ คือ บ้านเชียงแสน ตำบลแม่พูล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นชุมชนแรกของชาวเมืองลับแล เช่นเดียวกับชาวบ้านนาทะเลก็เป็นชุมชนหนึ่งที่เป็นผลมาจากการอพยพในครั้งนั้นด้วย และเริ่มก่อตั้งเป็นชุมชนเมื่อประมาณช่วงปี พ.ศ. 1500

แต่เดิมบ้านนาทะเลมีชื่อว่า “บ้านต้นต้อง” ซึ่งเป็นภาษาถิ่นหมายถึงต้นกระท้อน เนื่องจากบริเวณที่ตั้งชุมชนมีต้นกระท้อนอยู่มาก แต่ถูกโค่นลงเพื่อปรับเป็นพื้นที่เพาะปลูกในเวลาต่อมา เมื่อมีการตั้งชุมชนอย่างเป็นทางการจึงได้ใช้ชื่อชุมชนว่า “บ้านนาทะเล” เนื่องจากสภาพแวดล้อมชุมชนเป็นทุ่งกว้างและมีหนองน้ำ มีลักษณะคล้ายกับทะเล จึงใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

บ้านนาทะเล หมู่ที่ 5 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 12 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มสลับกับที่ดอน มีลำห้วยไหลผ่าน 3 สาย ทางด้านทิศตะวันออก ทิศใต้ และไหลผ่านกลางชุมชน มีพื้นที่ป่าชุมชนบางส่วน และรายรอบไปด้วยพื้นที่ทางเกษตรกรรม โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้  

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 ตำบลชัยจุมพล
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งยั้ง
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนสายพระแทนศิลาอาสน์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ป่าชุมชนหมู่ที่ 4 ตำบลชัยจุมพล

สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 5 บ้านนาทะเล ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,801 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 855 คน ประชากรหญิง 946 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 960 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก จะเป็นการทำนาและทำไร่ตามฤดูกาล โดยพืชพรรณที่ชาวบ้านนิยมปลูกในช่วงต่าง ๆ ได้แก่ ทำนาข้าว ไร่พริก ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ไร่ถั่วลิสง ปลูกหอมแดง นอกจากนี้ยังมีอาชีพจักสาน ค้าขายอาหารท้องถิ่น ได้แก่ การทำข้าวแคบ ข้าวพัน ข้าวพันผัก ขนมไทย รวมถึงการทอผ้าที่ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างรายได้ที่สำคัญของบ้านนาทะเล และมีการทำปศุสัตว์ในระดับครัวเรือน ได้แก่ การเลี้ยงวัว ควาย เป็ด และไก่ และยังมีประชากรบางส่วนที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รับราชการ ลูกจ้างเอกชน และบางส่วนก็เดินทางออกไปทำงานต่างถิ่นด้วย 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านนาทะเล หมู่ที่ 5 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นชุมชนหนึ่งที่มีทรัพยากรชุมชนที่เป็นทุนพื้นฐานที่ดีในการผลักดันชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยว ทั้งมรดกวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ ที่สามารถนำมาจัดการเพื่อพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนได้ เนื่องจากชุมชนมีอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตนเอง และยังคงรักษาวิถีชีวิต ภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมไว้ด้วยความภาคภูมิใจ โดยมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวชุมชนหลากหลายประเภท ประกอบด้วย

  • ภูมิปัญญาเกี่ยวกับอาหารพื้นบ้านและวัฒนธรรมการกิน เช่น ข้าวแคบ ข้าวปัน (ข้าวพัน) ข้าวพันผัก ลอดช่องเค็ม
  • ภูมิปัญญาเกี่ยวกับงานหัตถกรรม งานฝีมือ เช่น การทอผ้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ในครัวเรือน ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ โดยการทอผ้าที่ลายหลักในการทอ เช่น ลายแปดขอ ลายสองขอ ลายสี่ขอ ลายประแจจีน ลายหงส์เครือ ลายหงส์ขัง ลายนกน้อย ลายดอกเคี๊ยะ ลายดาวดึงส์ ลายเก็ดถะหวา ฯลฯ และยังมีงานจักสาน และงานแกะสลักไม้รูปแบบต่าง ๆ ด้วย
  • ภูมิปัญญาด้านประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น งานบุญหรือประเพณีพื้นบ้าน เช่น การใส่บาตรฝิงหนาว (ตักบาตรข้าวใหม่) งานก่อเจดีย์ข้าวเปลือก ตรุษไทย ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีสลากชะลอม ก้างปูยา งานเทศน์มหาชาติ ประเพณีลอยกระทง ฯลฯ โดยการจัดกิจกรรมงานประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ จะร่วมจัดขึ้นที่วัดประจำชุมชน คือวัดนาทะเลเป็นหลัก
  • ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ บ้านนาทะเล หมู่ที่ 5 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มีภูมิปัญญาด้านการทำเกษตรกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำนา ทำไร่ หรือทำสวน เช่น การปลูกหอมแดง ทำไร่ข้าวโพด หรือทำนาข้าว ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตรอีกทางหนึ่งได้ และยังเป็นการยึดโยงจากผลผลิตทางการเกษตรไปสู่ภูมิปัญญาด้านอาหารถิ่น และอื่น ๆ ได้ด้วย
  • ภูมิปัญญาในการสร้างอาคารบ้านเรือนด้วยไม้ มีทั้งการสร้างด้วยไม้แบบดั้งเดิม แบบร่วมสมัย และแบบสมัยใหม่ มีเอกลักษณ์ของอาคารบ้านเรือนและองค์ประกอบแบบดั้งเดิมที่ยังหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง เช่น อ่างล้างเท้าของเรือนในชนบทในอดีตที่มีไว้บริเวณเชิงบันได สำหรับล้างทำความสะอาดเท้าก่อนขึ้นเรือน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

พรรณี จุฑานนท์ (2547). รูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนบ้านนาทะเล โดยความร่วมมือของชุมชนบ้านนาทะเล หมู่ 5 ตำบลชัยจุมพล อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

องค์การบริหารส่วนตำบลชัยจุมพล (ม.ป.ป.). แหล่งท่องเที่ยวตำบลชัยจุมพล. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2567, จาก http://www.chaijumphon.go.th/

Warathorm. (2566). ชุมชนทอผ้าบ้านนาทะเล จ.อุตรดิตถ์. สืบค้นเมื่อ 20 มิถุนายน 2567, จาก https://welovetogo.com/