บ้านห้วยน้ำริน ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่เฌเล กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีลักษณะเฉพาะตัว และทรัพยากรชุมชนอันเป็นทุนทางวัฒนธรรมเอกลักษณ์ท้องถิ่น
บ้านห้วยน้ำริน ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่เฌเล กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีลักษณะเฉพาะตัว และทรัพยากรชุมชนอันเป็นทุนทางวัฒนธรรมเอกลักษณ์ท้องถิ่น
ชาวบ้านห้วยน้ำริน ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่เฌเล (Lahu Shehleh) ซึ่งบรรพบุรุษดั้งเดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศจีน และได้อพยพลงมาทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศพม่า เพื่อหลบหนีปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาวจีนที่เกิดจากสภาวะสงครามในอดีต ต่อมาจึงมีการอพยพเข้ามายังพื้นที่ประเทศไทยบริเวณอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และมีการแยกออกเป็นอีกหลายกลุ่มไปอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินที่มีความอุดมสมบูรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และบางส่วนก็ยังคงปักหลักที่จังหวัดตากเช่นเดิม
ชาวลาหู่บ้านห้วยน้ำรินได้อพยพมาจาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยในระยะแรกอาศัยอยู่ที่บ้านแม่โถ ภายหลังจึงโยกย้ายมาอยู่ที่บ้านดอยมด เนื่องจากบ้านแม่โถอยู่ไกลจากเมือง และเข้าถึงยากลำบาก เมื่อมาอยู่ที่บ้านดอยมดชาวบ้านเกิดปัญหาความขัดแย้งกันจึงแยกออกเป็น 5 ชุมชน ประกอบด้วย บ้านดอยมด บ้านห้วยโป่ง บ้านห้วยม่วง บ้านแสนเจริญ และบ้านห้วยน้ำริน ในปี พ.ศ. 2517 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บ้านห้วยน้ำรินเป็นหย่อมบ้านของบ้านเมืองน้อย ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตำบลแม่เจดีย์ใหม่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้า เป็นระยะทางประมาณ 43 กิโลเมตร พื้นที่ชุมชนมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 3.84 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,307 ไร่ ประกอบด้วยที่พักอาศัย 75 ไร่ พื้นที่ทำเกษตรกรรม ประมาณ 480 ไร่ พื้นที่สาธารณะ 2 ไร่ และเป็นพื้นที่ป่าไม้ธรรมชาติ และหุบเขาประมาณ 1,750 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชัน มีที่ราบและที่ลาดเชิงเขาเล็กน้อย อยู่ในระดับความสูงเฉลี่ยประมาณ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะของเนื้อดินส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว และมีลำห้วยธรรมชาติไหลผ่าน คือ ลำห้วยแม่น้อย และลำห้วยแม่โถ
บ้านห้วยน้ำรินในฐานะที่เป็นหย่อมบ้านของบ้านเมืองน้อย ส่วนใหญ่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่เฌเล โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 8 บ้านเมืองน้อย ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 932 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 490 คน ประชากรหญิง 442 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 320 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ลาหู่บ้านเมืองน้อย ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ทั้งทำนา ทำไร่ และทำสวน โดยพื้นที่ชาวบ้านนิยมปลูก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วแดง ไม้ผล ไม้ดอก และพืชผักอื่นๆ โดยสามารถจำแนกเป็นประเภทหลักได้ ดังนี้
- ไม้ผลที่ปลูกในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น บ๊วย พลับ ท้อ ลิ้นจี่ ฯลฯ
- ไม้ดอกที่นิยมปลูก ตัวอย่างเช่น ดอกพุทซี่ (ตุ่มเงินตุ่มทอง) ดอกลิเอทริส (ดอกม่วง) เฟิร์นหนัง ฯลฯ
- พืชผักที่นิยมปลูก ตัวอย่างเช่น ผักสลัดหวาน สลัดหัว (หอมห่อ) สลัดใบแดง ฯลฯ
โดยพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านปลูกจะได้รับการส่งเสริม และการสนับสนุนจากโครงการหลวงในการผลิต เพื่อรองรับและจำหน่ายสินค้าที่ออกผลผลิตและช่วยสร้างรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่
วิถีชุมชน ความเชื่อ และศาสนา
ศาสนาเป็นส่วนสำคัญที่ยึดโยงกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของชาวลาหู่ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นกรอบทางด้านศีลธรรมที่ควบคุมสังคมชุมชน ในเรื่องที่ดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ โดยชาวลาหู่มีความเชื่อในการนับถือผีบรรพบุรุษและยึดโยงกับวิถีปฏิบัติของชาวบ้านที่ทำสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต ในการบูชา เซ่นไหว้ตามช่วงต่าง ๆ ของแต่ละปี และนอกจากผีบรรพบุรุษที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือแล้ว ยังมีผีประเภทอื่นที่ชาวลาหู่ และชาวไทยภูเขาทั่วไปเคารพและเกรงกลัว ได้แก่ ผีเจ้าป่า ผีเจ้าที่ ผีบ้านผีเรือน ผีน้ำ ผีเหมือง เป็นต้น
ความเชื่อในเรื่องผี หรืออำนาจเหนือธรรมชาติยังยึดโยงกับประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเช่นเดียวกัน เพราะชาวลาหู่เชื่อว่าหากไม่ประกอบพิธีกรรมตามช่วงเวลาเทศกาลต่าง ๆ ที่เคยปฏิบัติมาอาจจะส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน เช่น อาจเกิดเรื่องไม่ดีกับชุมชนหรือชาวบ้าน อาจเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเสียชีวิต ดังนั้นชาวบ้านจะประกอบพิธีกรรมและปฏิบัติตามความเชื่อท้องถิ่นอย่างเคร่งครัด โดยประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในเทศกาลตามปฏิทินรอบปีชุมชนซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และประเพณีที่มีความงดงาม ตัวอย่างเช่น เทศกาลปีใหม่ ประเพณีกินข้าวใหม่ ฟูจาเลอ (แต่งงานใหญ่) ปอยป๋าดีเลอ (ทำบุญใหญ่) กือซากู (ทำบุญบ้าน) ฮาคูเว (ประเพณีเรียกขวัญ) ฯลฯ
ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน
แต่เดิมราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด และฝิ่น แต่ขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการเกษตร นอกจากมีการบุกรุกผืนป่าเพื่อทำไร่แล้ว ยังไม่รู้จักการดูแลรักษาแหล่งน้ำอันเป็นทรัพยากรสำคัญ จึงก่อให้เกิดปัญหาตามมาทุกปี กระทั่งปี พ.ศ. 2525 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำรินจึงได้ถูกจัดขึ้นในพื้นที่ 50 ไร่ ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ และคนพื้นเมืองอาศัยอยู่ โดยจัดหาแนวทางการทำมาหากินให้กับชาวบ้านทดแทนการปลูกฝิ่น อาทิ พืชไร่ ผัก ผลไม้เมืองหนาว ที่ให้ผลคุ้มค่ากว่า ซึ่งเมื่อปฏิบัติตามแนวทางโครงการหลวงฯ ชาวบ้านจึงมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
ลักษณะพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีความชันประมาณ 95 % มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 700 - 1,000 เมตร มีแหล่งน้ำขนาดเล็ก คือ ลำห้วยน้ำริน ลำห้วยแม่โถน้อย ลำห้วยสาขาของแม่โถไหลจากทิศเหนือไปทิศใต้ลงไปสู่แม่น้ำลาวเรื่อยลงสู่แม่น้ำโขง มีพื้นที่รับผิดชอบ 19.03 ตารางกิโลเมตร หรือ 11,890.90 ไร่ จำนวน 6 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 8 บ้านเมืองน้อย บ้านห้วยน้ำริน บ้านดอยมด และหมู่ที่ 10 บ้านดอยม่วง บ้านแสนเจริญ บ้านแม่ขะต๋าน มี 287 ครัวเรือน ประชากร 1,345 คน ประกอบด้วยชาวเขาเผ่ามูเซอ กะเหรี่ยง และคนเมือง ลักษณะภูมิอากาศ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 20.5 องศาเซลเซียส และมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตรต่อปี วัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ชมวัฒนธรรมของชนเผ่า ประเพณีปี๋ใหม่ของชนเผ่ามูเซอ พิธีการเลี้ยงชา พิธีเลี้ยงขวัญใต้เตียน การตำข้าวโดยใช้ครกกระเดื่อง งานศิลปวัฒนธรรมการทอผ้ากี่เอวแบบ กะเหรี่ยง ของกลุ่มแม่บ้านขะต๋าน การผลิตไม้กวาดดอกหญ้าของกลุ่มแม่บ้านเมืองน้อย แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ กิจกรรมท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังสามารถชมแปลงวิจัยเกษตรภายในศูนย์ที่มีพืชพรรณต่าง ๆ ให้ได้ชมตามฤดูกาล เช่น
- เฟิร์นหนัง เฟิร์นเขากวาง สาวรส บ๊วย (ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม ออกผลประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน)
- ชมแปลงเกษตรชาวบ้าน อาทิ แปลงตุ่มเงินตุ่มทอง แปลงสตอเบอรี่ (ออกผลช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) เที่ยวปีใหม่มูเซอ ช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
- พิธีเรียกขวัญ หรือใต้เตียน เป็นพิธีทำบุญของสมาชิกใน พิธีเลี้ยงชา ช่วงประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
- ชมหัตถกรรมของ อาทิ การตำข้าว การทอผ้า การทำเครื่องเงินแบบกรรมวิธีโบราณ ฯลฯ
ภาษาพูด : ลาหู่, ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ชาวลาหู่ไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน แต่ปัจจุบันกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาสามารถเขียนภาษาไทยได้
สมชาย จะย่อ. (2545). แนวทางฟื้นฟูและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของเผ่าลาหู่แซแล บ้านห้วยน้ำริน ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย: ร่างรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เจดีย์ใหม่. (ม.ป.ป.). ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567, จาก http://www.maejadeemai.go.th/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (ม.ป.ป.). บ้านห้วยน้ำริน จังหวัดเชียงราย. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567, จาก https://communityarchive.sac.or.th/