บ้านเกาะแรต ชุมชนขนาดย่อมของชาวไทยเชื้อสายจีนบนเกาะขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับผืนแผ่นดินใหญ่ด้วยสะพานข้ามทะเลเฉลิมสิริราชกับวิถีประมงพื้นบ้านการใช้ชีวิตของผู้คนและทะเล
ที่มาของชื่อชุมชนบ้านเกาะแรต มีมูลเหตุของการตั้งชื่อชุมชนอยู่ 3 สาเหตุ ได้แก่
- จากการเล่าต่อ ๆ กันมาว่าในพื้นที่เกาะแห่งนี้มีต้นหนามขี้แรดขึ้นอยู่จำนวนมาก จึงเรียกว่า บ้านเกาะแรด และเปลี่ยนมาใช้ ตอเต่า สะกดในภายหลัง
- จากสภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นพื้นที่เกาะต่าง ๆ กระจายอยู่ในทะเล และพื้นที่เกาะแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกับแรด จึงตั้งชื่อว่า เกาะแรด และเปลี่ยนมาใช้ ตอเต่า สะกดในภายหลัง
- เรื่องเล่าท้องถิ่นกล่าวว่าสมัยก่อนมีเรือบรรทุกสัตว์ผ่านมายังบริเวณเกาะนี้และมีสัตว์ป่าหลุดออกมา คือ แรด จึงได้ตั้งชื่อว่าเกาะแรด และเปลี่ยนมาใช้ ตอเต่า สะกดในภายหลัง
บ้านเกาะแรต ชุมชนขนาดย่อมของชาวไทยเชื้อสายจีนบนเกาะขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับผืนแผ่นดินใหญ่ด้วยสะพานข้ามทะเลเฉลิมสิริราชกับวิถีประมงพื้นบ้านการใช้ชีวิตของผู้คนและทะเล
ในช่วงปี พ.ศ. 2403 มีแขกมุสลิมที่เป็นชาวประมงมาอาศัยอยู่ในเกาะแห่งนี้ ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีชาวบ้านถูกยิงและเสียชีวิต จึงนำศพไปฝังที่ต้นโพธิ์ทะเล และเรียกต้นไม้นี้ว่า ต้นโพธิ์แขก ในปี พ.ศ. 2413 มีชาวจีนไหหลำล่องเรือสำเภาเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชนเพิ่มเติมและมีการเลี้ยงหมู ทำให้ชาวมุสลิมจึงย้ายออกจากเกาะไป ชาวจีนที่เข้ามามีการสร้างศาลเจ้า และทำประมงพื้นบ้านเพื่อนำปลาไปแลกข้าวมาไว้กินและดำรงชีวิตอยู่ย่างนั้นเรื่อยมา จนในปี พ.ศ. 2472 มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านอย่างเป็นทางการ มีการสร้างโรงเรียนในชุมชน และได้รับการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตามพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจมาจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถจำแนกพัฒนาการของชุมชนบ้านเกาะแรตในแต่ละช่วงได้ ดังนี้
- พ.ศ. 2403 มีชาวมุสลิม (แขก) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้วิถีชีวิตแบบชาวประมงมาอาศัยอยู่ในเกาะแห่งนี้ ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวมุสลิมถูกกราดยิงด้วยกระสุนปืน มีผู้เสียชีวิต 1 คน และได้นําศพไปฝังที่ต้นโพธิ์ทะเล ต้นโพธิ์ต้นนี้มีชื่อเรียกว่า “ต้นโพธิ์แขก”
- พ.ศ. 2413 มีชาวจีนไหหลำอพยพมาอยู่ เดินทางโดยเรือสำเภา สักระยะหนึ่งชาวมุสลิมได้ย้ายออกจากพื้นที่เพราะวัฒนธรรมแตกต่างกัน โดยจีนไหหลำเลี้ยงหมูเยอะทำให้ชาวมุสลิมย้ายถิ่นฐาน
- พ.ศ. 2423 มีการสร้างศาลเจ้าโดยขออนุญาตการก่อสร้างจากเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ก่อสร้างศาลเจ้าคือนายหยก และนายซี ไม่ทราบนามสกุล สร้างโดยใช้ไม้หลุมพอต้นเดียว ใช้สลักไม้ตอกแทนตะปู และเนื่องจากบนเกาะไม่สามารถเพาะปลูกได้ ชาวบ้านต้องเอาปลา เอากุ้งไปแลกข้าว
- พ.ศ. 2472 เกาะแรตมีนายฮ่ง แซ่จิ๋ว เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
- พ.ศ. 2483-2484 มีการร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนบ้านเกาะแรตขึ้น ครูยุคแรกคือครูสนิท เจนพิชัย มีนักเรียนเริ่มแรก 20 กว่าคน บ้านเรือนสมัยนั้นมุงด้วยจาก ใช้ไม้โกงกางในการก่อสร้าง
- พ.ศ. 2505-2507 มีการนําก๋งแต่ละรูปไปแต่งก๋งที่เมืองจีน และนํากลับมาเมื่อปี พ.ศ. 2507 และทุก ๆ 10 ปี ต้องมีการแต่งก๋งถือเป็นพิธีกรรมที่สำคัญ
- พ.ศ. 2512 พื้นที่บ้านเกาะแรตมีการเลี้ยงหมูเป็นจำนวนมากในแทบทุกพื้นที่บนเกาะ
- พ.ศ. 2533 การพัฒนาเกิดขึ้นบนเกาะแรตเริ่มมีไฟฟ้าใช้
- พ.ศ. 2536 การพัฒนาเกิดขึ้นบนเกาะแรตเริ่มมีโทรศัพท์ใช้
- พ.ศ. 2539 เป็นยุคซบเซาของการเลี้ยงหมูเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และช่วงนี้เองบ้านเกาะแรตมีการพัฒนาถนนคอนกรีตเข้ามาในหมู่บ้าน
- พ.ศ. 2541 มีการปกครองโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีเทศบาลตำบลดอนสัก บ้านเกาะแรตเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลดอนสัก
- พ.ศ. 2543 บ้านเกาะแรตมีน้ำประปาใช้ในหมู่บ้าน
- พ.ศ. 2549-2552 ได้พระราชทานสะพานเฉลิมสิริราช โดยการประสานงานของผู้นําในชุมชนซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนในเกาะแรตเป็นอย่างมาก
บ้านเกาะแรต หมู่ที่ 3 ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมชนเป็นเกาะกลางทะเล ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเทศบาลเมืองดอนสัก ห่างจากพื้นราบไม่ไกลมากนัก มีสะพานเฉลิมสิริราชเป็นทางเชื่อมข้ามทะเลจากแผ่นดินใหญ่มายังชุมชนบ้านเกาะแรต โดยพื้นที่ชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ทะเลอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนเทศบาลแหลมลื่น
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ด้านชุมชนท้องอ่าว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ด้านแหลมทวดชุมชนทองไมล์
บ้านเกาะแรต ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านเกาะแรต ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 310 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 148 คน ประชากรหญิง 162 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 105 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
จีนการประกอบอาชีพของคนในบ้านเกาะแรตโดยส่วนใหญ่จะทำอาชีพที่เกี่ยวกับการประมง ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างและหลากหลาย ได้แก่
- การมาดอวน (ผูกอวน) เมื่อชาวบ้านหยุดการทำประมงชาวบ้านจะนําอวนขึ้นมาซ่อมแซม คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มาดอวนเป็นจะรับอวนมามาด โดยได้รับค่าแรงหัวละ 40 บาท ถ้าเป็นห่อห่อละ 550 บาท ห่อหนึ่งมีทั้งหมด 15 ผืน
- การทำอวน ชาวประมงจะมีการทำอวนเองบ้าง จ้างคนในชุมชนบ้าง การทำอวนจะซื้อเนื้ออวนมา นํามาใส่ทุ่นลอย ค่าจ้างหัวละ 10 บาท ถ้าเป็นห่อห่อละ 100 บาท ห่อหนึ่งมีทั้งหมด 15 ผืน
- การทำอวนกุ้ง อวนกุ้งออกไม่ได้ในช่วงที่กระแสน้ำแรงหรือน้ำใหญ่ ที่ผ่านมาแต่ละปีจะทำอวนกุ้งในช่วงเดือน 11 เดือน 12
- การออกอวนลอยกุ้ง อวนลอยกุ้งสามารถทำได้เกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นช่วงคลื่นลมแรง คือช่วงเดือน 11 ช่วงเดือน 12 ซึ่งเป็นช่วงหน้ามรสุม ในเกาะแรตชาวบ้านออกอวนลอยกุ้งกันมาก กุ้งที่ได้จะเป็นกุ้งแชบ๊วย กุ้งแสม เป็นต้น
- การคว้ากุ้ง การคว้ากุ้งด้วยมือเปล่าในเกาะแรตจะทำในช่วงลมพัทยา เนื่องจากน้ำในช่วงกลางวันจะลดลงเต็มที่
- การรุนกุ้งเคย การรุนกุ้งเคยสามารถรุนได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่รุนกุ้งเคยได้มากคือช่วงลมตะเภา และลมพัทยา เพราะว่าช่วงนี้กระแสน้ำค่อนข้างแรงทำให้กุ้งเคยเข้ามาอยู่ตามแนวชายฝั่ง แต่ถ้าวันไหนไม่ได้ก็จะสังเกตเห็นว่าจะมีขี้ยองติดกับเครื่องมือรุนกุ้งเคย กุ้งเคยที่ชาวบ้านเกาะแรตได้ส่วนใหญ่ เป็นกุ้งสายไหม และกุ้งสารส้มโอ เมื่อได้มาแล้วชาวบ้านจะนํามาทำกะปิ
- การทำกะปิ ที่เกาะแรตมีการทำกะปิเกือบตลอดทั้งปี เพราะสามารถรุนกุ้งเคยได้ตลอดทั้งปี การทำกะปิเมื่อได้กุ้งเคยมาแล้วเลือกเศษขยะ ลูกปลาสัตว์น้ำอื่นๆ ออกให้หมดแล้วคลุกเคล้าเกลือนําไปตากแห้ง เมื่อแห้งพอประมาณก็นํามาตำ ตำอย่าให้ละเอียดแล้วตําอีกรอบให้ละเอียดมากขึ้น แล้วนำเคยที่ได้ไปหมักในถังหรือโอ่งไว้ 15 วันขึ้นไปก็สามารถนํามาประกอบอาหารหรือขายได้ กะปิเกาะแรตกิโลกรัมละ 120 บาท
- การเข็นอวน ที่เกาะแรตในช่วงลมพัทยาเนื่องจากน้ำลดลงเต็มที่ ชาวบ้านจะใช้อวนที่มีลักษณะพิเศษเป็นอวนที่มีตีนอวนติดกับพื้นดิน จากนั้นก็ลากอวนทั้งสองข้างเข้าหาฝั่ง เรียกว่า “การเข็นอวน”
- การจับปูโม่ ปูโม่หรือปูโง่ เป็นปูที่มีลักษณะก้ามใหญ่ ตัวเล็ก อาศัยอยู่ตามโขดหิน การเคลื่อนไหวเชื่องช้า การจับปูโม่อาศัยเหยื่อปลาหรือหอยผูกเข้ากับเชือก โดยไม่ต้องใช้ตะขอเบ็ด ปูโม่จะออกมาคีบเหยื่อ จากนั้นเราก็จับปูโม่
- การแปรรูปปลาเค็ม การแปรรูปปลาเป็นปลาเค็มทำได้ตลอดทั้งปีจะนําปลาที่ติดมากับอวนปู อวนกุ้ง อวนปลา มาแปรรูปเป็นปลาเค็ม ปลาที่นํามาแปรรูป เช่น ปลาลิ้นหมา ปลากรวด เป็นต้น
- การออกอวนปู การออกอวนปูคนในชุมชนเกระแรตจะออกอวนปูในช่วงเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม ของทุกปี ปูที่ได้จะเป็นปูม้า
- การออกอวนปลา การออกอวนปลาทำได้เกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ชาวบ้านส่วนใหญ่ออกอวนปูจะได้ปูดีในช่วงนี้ สำหรับอวนปลาได้ดีในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนของทุกปี
- การค้าขาย คนในชุมชนเกาะแรตบางบ้านยึดอาชีพค้าขาย มีการค้าขายตลอดทั้งปี ในชุมชนมีร้านค้าหลายร้าน
- รับจ้างทั่วไป นอกจากรับจ้างทำอวน มาดอวนแล้วคนในชุมชนยังทำงานรับจ้างอื่นๆ ด้วย เช่น ทำงานก่อสร้าง ทำงานแพ อื่นๆ ซึ่งงานรับจ้างทำได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้ เนื่องด้วยบ้านเกาะแรตตั้งอยู่ในทำเลที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม จึงมีการสร้างเศรษฐกิจชุมชนโดยการสนับสนุนพัฒนาการท่องเที่ยว มีการจัดสรรเส้นทางเดินชมธรรมชาติ ชมวิถีชีวิตของชาวบ้าน และมีการปรับเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นโฮมสเตย์เพื่อรับรองนักท่องเที่ยว เมื่อเข้าไปในเกาะแรตจะพบกับ “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” และ “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” ซึ่งเป็นศาลเจ้าไหหลำที่คนบนเกาะให้ความเคารพนับถือกันมาอย่างยาวนานนับร้อยปี หากมองไปทางด้านซ้ายมือของเกาะ จะมองเห็นวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ แหลมทวด หาดวังหิน นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือชมวิถีชีวิตชาวประมงรอบเกาะ ที่ทอดแหจับปลากระบอกบริเวณชายฝั่ง พร้อมถ่ายภาพกับโลมาที่เข้ามากินปลากระบอก จนที่นี่กลายเป็นจุดชมวิวอีกด้วย
นอกจากนี้ บ้านเกาะแรตยังมีอาหารทะเลสดใหม่ให้นักท่องเที่ยวรับประทานแบบไม่อั้น แถมด้วยอาหารพื้นเมืองและอาหารจีนดั้งเดิม เช่น หมึกไข่ผัดหวาน หมูเน่า ผัดตับไส้และอีกหลากหลายเมนู อีกทั้งยังมีจุดขายอาหารทะเลสดและของฝากจากชาวประมงพื้นบ้าน เช่น ปลากุเลาเค็ม หมึกแห้ง กุ้งแห้ง และอื่นๆ ซึ่งชาวบ้านใช้วิธีทำปลาที่สืบทอดกันมาแต่ละบ้านไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี
ปฏิทินชุมชน
- มกราคม บ้านเกาะแรตจะมีประเพณีวันขึ้นปีใหม่ตามสากล มีการพบปะสังสรรค์เครือญาติ กินเลี้ยง อวยพรวันปีใหม่ให้กัน
- กุมภาพันธ์ มีประเพณีตรุษจีน ถือเป็นประเพณีสำคัญของชาวจีนไหหลำ ถือว่าเป็นประเพณีที่จัดขึ้นปีใหม่ในชุมชน ในอดีตจะมีการรับหนังตะลุง รับรําวงมาแสดงในหมู่บ้าน ในงานตรุษจีนแต่ละบ้านจะมีการทำความสะอาดบ้าน ทำความสะอาดหมู่บ้าน มีการไหว้บรรพบุรุษโดยนําไก่ หัวหมู ส้ม ขนมเข่ง อื่น ๆ มาไหว้บรรพบุรุษ
- มีนาคม ในบ้านเกาะแรตมีประเพณีไหว้หัวเรือ ขุนตาเล เพื่อให้ออกทำมาหากินทางทะเลอย่างปลอดภัย ส่วนใหญ่ใช้ไก่ ส้ม ผลไม้ต่าง ๆ
- เมษายน บ้านเกาะแรตมีเทศกาลเชงเม้ง ซึ่งเป็นวันสำคัญที่รําลึกถึงบรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ว โดยลูกหลานจะนําอาหารไปป่าช้าหรือสุสานจีนเพื่อแสดงความเคารพต่อบรรพบุรุษ นอกจากนี้ บ้านเกาะแรตยังมีประเพณีสงกรานต์ มีการสรงน้ำพระ รดน้ำผู้สูงอายุและขอพร
- มิถุนายน จะเป็นการไหว้หัวเรือ ขุนตาเล อีกหนึ่งรอบเพื่อให้ออกทำมาหากินทางทะเลอย่างปลอดภัย ส่วนใหญ่ใช้ไก่ ส้ม ผลไม้ต่าง ๆ
- สิงหาคม บ้านแรตมีประเพณีวันสารทจีน ตรงกับขึ้น 14 ค่ำเดือน 9 วันสารทจีนคนในหมู่บ้านจะมีพิธีไหว้ก๋ง ซึ่งก๋งจะทํานายถึงเหตุการณ์ในอนาคตว่าหมู่บ้านจะมีอะไรเกิดขึ้น นอกจากไหว้ก๋งแล้วจะมีการไหว้เจ้า โดยใช้ไก่ ผลไม้ ธูป เทียน และจุดธูปไว้รอบ ๆ บ้าน เพื่อไม่ให้สิ่งที่ไม่ดีเข้าบ้าน ทั้งยังมีการชิงเปรตแบบชาวจีนอีกด้วย
- กันยายน บ้านเกาะแรตมีพิธีกรรมการไหว้พระจันทร์ ซึ่งชาวเกาะแรตมีความเชื่อว่าการไหว้พระจันทร์ทำให้คลายทุกข์ มีความสุขสวัสดี วิธีการปฏิบัติตนก๋งจะพาคนในชุมชนที่มีความเชื่อแห่รอบเกาะเพื่อลดความทุกข์ นอกจากนี้ ยังมีการไหว้หัวเรือในเดือนนี้ด้วยเพราะถือว่าเป็นเดือนที่ดี มีความเชื่อว่าถ้าไหว้พ่อตาเล แม่ย่านางแล้วทำให้ประกอบอาชีพได้ดี เช่น อวนปู หาปลา หากุ้งในทะเลได้ดี เดินทางปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ตลอดจนประเพณีเทศกาลเดือนสิบ แรม 1 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เรียกว่า รับตายาย เป็นวันที่แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ วันนี้เป็นวันรวมญาติอีกวันหนึ่ง คนในชุมชนจะมีการทำขนมต่าง ๆ เช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ฯลฯ ไปทำบุญที่วัดใกล้ ๆ เพราะบ้านเกาะแรตไม่มีวัด
- ตุลาคม ชุมชนเกาะแรตมีประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่งเรียกว่า “เทศกาลกินก๋งชิว” เป็นเทศกาลกินเนื้อ” ซึ่งเทศกาลนี้จะมีการกินอาหารทางวัฒนธรรม ได้แก่ หมู่เน่า ผัดตับไส้ เป็นต้น นอกจากนี้ มีเทศกาลเดือนสิบ แรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันทำบุญให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว แสดงถึงความกตัญญูกตเวที เรียกว่า ส่งตายาย โดยคนในชุมชนจะนําอาหารและขนมต่าง ๆ ไปทำบุญที่วัด คล้าย ๆ กับวันรับตายาย เป็นอีกวันหนึ่งที่ญาติพี่น้องได้มาพบเจอกัน
- พฤศจิกายน ชุมชนเกาะแรตมีเทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลบุญ ชาวจีนจะถือศีลไม่กินของคาว ไม่กินเนื้อ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต กินผัก นุ่งขาว ถือศีล 3-9 วัน กลางคืนจะมีพิธีกรรมเดินเวียนเทียนรอบศาลเจ้า คืนสุดท้ายมีการลุยไฟ อาบน้ำร้อน ขณะเดียวกันในเดือนเดียวกันนี้ยังมีประเพณีลอยกระทง โดยชาวบ้านเกาะแรตจะไปร่วมกิจกรรมกับหมู่บ้านอื่น ๆ มีการแข่งเรือ ตอนกลางคืนจะมีการลอยกระทงขอขมาพระแม่คงคา
- ธันวาคม บ้านเกาะแรตมีกิจกรรมวันพ่อ เน้นการพัฒนาหมู่บ้าน เช่น ปลูกต้นไม้ การเก็บขยะ การล้างทำความสะอาดศาลเจ้า ฯลฯ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันแต่ละปีในหมู่บ้าน ช่วงปลายเดือนมีการส่งท้ายปีเก่าตามสากล มีการสังสรรค์กินเลี้ยงกันในหมู่บ้าน
ภูมิปัญญาวิถีชีวิตชาวประมง
วิถีชีวิตชาวประมงมีภูมิปัญญาในการดูว่าพื้นที่ที่ใดมีสัตว์น้ำหรือไม่ โดยสังเกตจากการที่น้ำเดิน น้ำนิ่ง ดูน้ำขึ้นน้ำลงแต่ละเดือนจะมีน้ำเดินไม่เกิน 15 วัน น้ำเดินสังเกตได้จากน้ำจะเชี่ยว การทอดสมอเรือจะมีขยะลอยมาเต็ม น้ำจะมีสีขุ่นตกตะกอน ช่วงน้ำเดินทำให้ชาวประมงสามารถหาสัตว์น้ำได้ แต่ถ้าน้ำไม่เดินน้ำจะนิ่ง ชาวประมงหาสัตว์น้ำไม่ได้ โดยในแต่ละเดือนน้ำเดินน้ำนิ่งไม่เหมือนกัน
ชาวประมงพื้นบ้านเล่าว่าถ้ามีพายุเข้าลักษณะท้องฟ้าจะเป็นสีแดง มีเมฆมืดครึ้ม น้ำในทะเลจะเป็นสีเขียว บางครั้งโลมาจะเตือนภัย ถ้าโลมากระโดดทั้งตัวหันหัวไปทางไหน เขาเชื่อกันว่าพายุจะเข้าทางด้านนั้น
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
สะพานเฉลิมสิริราช
เนื่องจากบ้านเกาะแรตเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเกาะ เดิมทีการเดินทางไปยังเกาะแรตต้องอาศัยเรือเท่านั้น นอกจากช่วงเวลาที่น้ำทะเลลงมาก ๆ ที่สามารถเดินข้ามไปยังเกาะแรตได้ สร้างความลำบากให้ชาวเกาะแรตมาโดยตลอด ชาวบ้านจึงทำหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาในการก่อสร้างสะพานข้ามไปยังเกาะ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าวไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสะพาน ซึ่งมีความยาว 400 เมตร รวมถึงถนนรองรับคอสะพาน ราวสะพาน ทางเท้า ระบบไฟฟ้าบนสะพาน และลานจอดรถบนเกาะแรตพื้นที่รวม 650 ตารางเมตร และได้เปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 และพระราชทานนามว่า “สะพานเฉลิมสิริราช” ให้ประชาชนที่สัญจรไปมาได้รับความสะดวก ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางการประมง ตลอดจนทำให้ชาวเกาะแรตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากสาธารณูปโภค อาทิ ไฟฟ้า โทรศัพท์ น้ำประปา สะพานเฉลิมสิริราชจึงเปรียบเป็นประตูบานใหญ่ที่เปิดบ้านเกาะแรตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในปัจจุบัน
กระทรวงมหาดไทย, กรมพัฒนาชุมชน. (ม.ป.ป.). บ้านเกาะแรต จ.สุราษฎร์ธานี. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567, จาก https://www.otoptravel.net/
ผู้จัดการออนไลน์. (2566). ทช.ชวนใช้ "สะพานเฉลิมสิริราช" โครงการพระราชดำริ ร.๙ ข้ามทะเลเที่ยว "เกาะแรต" ชมวิถีชีวิตชาวประมง. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://mgronline.com/
สุคนธ์ทิพย์ รักแก้ว. (2554). โครงการศึกษารูปแบบการจัดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมของโรงเรียนบ้านเกาะแรต หมู่ที่ 3 ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี, กองการท่องเที่ยวและกีฬา. (ม.ป.ป.). ชุมชนบ้านเกาะแรต. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.suratthanitourism.com/
Kapook. (ม.ป.ป.). ชวนเที่ยวเกาะแรต สุราษฎร์ธานี เกาะจิ๋วแต่แจ๋ว แหล่งวิถีชีวิตชาวเล. สืบค้นเมื่อ 21 มิถุนายน 2567, จาก https://www.kapook.com/