Advance search

ย่วงรโอวก

เที่ยวบ้านละอูบ ชุมชนชาวละว้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พักโฮมสเตย์ ชิมโต๊ะสะเบื๊อก ชมวิถีชีวิตชุมชนบนยอดดอยสูง สัมผัสวิถีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะชนเผ่า

หมู่ที่ 6
บ้านละอูบ
ห้วยห้อม
แม่ลาน้อย
แม่ฮ่องสอน
อบต.ห้วยห้อม โทร. 0-5307-1453
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 มิ.ย. 2024
บ้านละอูบ
ย่วงรโอวก

สำหรับที่มาของชื่อบ้านละอูบนั้น มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า สมัยก่อนมีเจ้าเมืองลัวะได้ส่งบริวารไปเยี่ยมชุมชนต่าง ๆ ระหว่างทางได้แบกอูบ หรือผะอูบ เป็นภาชนะสำหรับใส่สิ่งของมีค่า ลักษณะเป็นทรงกระบอกบ้าง ทรงกลมหรือทรงรีบ้าง เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณโมซัมเบรียง จึงได้ทิ้งอูบไว้บริเวณนี้ เนื่องจากอูบมีน้ำหนักมาก ยากลำบากต่อการเดินทาง ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกพื้นที่นี้ว่า “ละอูบ” หมายถึง พื้นที่ทิ้งอูบ บ้างก็ว่าเดิมทีหมู่บ้านนี้มีชื่อว่าโมซัมเบรียง ซึ่งแปลว่าภูเขาโมซัมเบรียง ส่วนชื่อหมู่บ้านละอูบนั้น ได้มาจากในสมัยที่มีเจ้าหน้าที่จากภาครัฐเข้ามาสำรวจหมู่บ้านแล้วลืมหรือทิ้งอูบเอาไว้ (คำว่า ละ ภาษาเหนือหมายถึง ทิ้งไว้) จึงเป็นที่มาของชื่อบ้านละอูบนั่นเอง


เที่ยวบ้านละอูบ ชุมชนชาวละว้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พักโฮมสเตย์ ชิมโต๊ะสะเบื๊อก ชมวิถีชีวิตชุมชนบนยอดดอยสูง สัมผัสวิถีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะชนเผ่า

บ้านละอูบ
หมู่ที่ 6
ห้วยห้อม
แม่ลาน้อย
แม่ฮ่องสอน
58120
18.343806
98.057945
องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยห้อม

บ้านละอูบอพยพมาตั้งหมู่บ้านที่ภูเขาลูกหนึ่งมีชื่อตามภาษาลเวือะว่า ตูย่วงซโมะ เป็นภูเขาที่มีความสูงถึง 1,100-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านปัจจุบัน

เมื่ออยู่ได้ระยะหนึ่ง เริ่มมีคนเสียชีวิต จึงได้ตั้งป่าช้าที่ริมลำห้วยที่หนึ่งเรียกตามภาษาลเวือะว่า เดือะโกลงปอกรอง อยู่ได้ประมาณ 230 ปี แต่แล้วไม่อาจอยู่ได้นาน เนื่องจากลมกระโชกแรง และไม่มีน้ำกินน้ำใช้ เพราะอยู่บนดอยสูง จึงเรียกประชุมหารือทั้งหมู่บ้านว่าควรจะย้ายออกจากที่นี่เพราะปัญหาดังกล่าว

ผู้นำจึงถามความเห็นชาวบ้าน ว่าถ้าย้ายควรย้ายไปที่ไหนดี ที่ประชุมเห็นชอบที่จะย้ายไปที่ภูเขาอีกลูกหนึ่งมีชื่อเรียกตามภาษาลเวือะว่า ตูโฆละจัก และเขาเรียกว่า ตูย่วงพรม (ดอยบ้านเก่า) เป็นชื่อที่เรียกมาจนถึงทุกวันนี้ จึงย้ายมาอยู่และอาศัยอยู่ได้ประมาณ 300-400 ปี ก็มีคนเสียชีวิต จึงตั้งป่าช้า เรียกว่า เดือะโกลงอาวมมัง

การอยู่ที่ตรงนั้นเริ่มมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ คนลเวือะขุดบ่อน้ำที่นั่นบ่อหนึ่งเรียกว่า โฆละจัก แต่เนื่องจากที่ตรงนั้นเป็นตาน้ำและอยู่ที่สูงทำให้น้ำมีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอต่อประชากรที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

คนลเวือะจึงบริหารจัดการน้ำแบบให้ชาวบ้านเข้าแถวเรียงคิวเพื่อรอตักน้ำ เนื่องจากผู้คนจำนวนมาก กลุ่มสตรีจึงต้องนำอุปกรณ์ปั่นด้ายในระหว่างที่รอคิว บางคนเย็บปักถักร้อยและปั่นด้าย ระหว่างรอ เมื่อผู้นำของลเวือะเห็นความลำบากในการตักน้ำ จึงเรียกประชุมผู้นำเพื่อช่วยกันหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับประชาชนของพวกเขา ถ้ายังเป็นเช่นนี้ คงจะอยู่ที่นี่ไม่ได้ ประชาชนจะทะเลาะกันเพราะแย่งน้ำกัน

ที่ประชุมมีมติเห็นชอบที่จะย้ายหมู่บ้านอีกครั้ง ผู้นำจึงเสนอว่าถ้าย้ายไปที่ ตูย่วงกเซฮ ที่ประชุมเห็นด้วยหรือไม่ ชาวบ้านก็เห็นด้วยแล้วพวกเขาจจึงย้ายไปที่ ตูย่วงกเซฮ จึงตั้งป่าช้า ที่ราบโกลงปอกรอง

เมื่ออยู่ที่นั่นระยะหนึ่งมีคนป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพูดกันว่าตรงนี้เป็นเส้นทางที่ผีเดินผ่านผู้คนก็กลัว จึงย้ายไปที่ ตูโกลงซา อยู่ที่บ้านตูโกลงซา ประมาณ 20 ปี

เมื่อพวกเขาคลอดลูกมีแต่ผู้หญิงไม่มีผู้ชาย ชาวบ้านก็แปลกใจและพูดกันว่าบ้านนี้ไม่มีทางที่คนจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนให้ย้ายจากที่นี่กันเถอะ แล้วก็ย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านย่วงกเซฮเหมือนเดิม เป็นการอยู่ที่นั่นครั้งที่สอง แต่ครั้งนี้กลับไปแค่บางส่วน

อีกส่วนหนึ่งย้ายขึ้นมาตั้งหมู่บ้านที่ตูโมซัมเบียง หรือที่ตั้งของบ้านละอูบปัจจุบัน กลุ่มที่ย้ายไปที่ตูย่วงกเซฮ มีจำนวน 35 ครัวเรือน มีผู้นำทั้งสองหมู่บ้าน มีจารีตประเพณีด้วยกันทั้งสองหมู่บ้าน

เมื่อมีการเรียกประชุมจะใช้การตีฆ้อง (โมง) เป็นสัญญาณลับในการเรียกประชุมของชาวลเวือะในสมัยนั้น ผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านย่วงกเซฮชื่อว่า นายปุยจ ต่อมาเมื่อย้ายกลับจากบ้านตูโกลงซา กลุ่มที่อยู่บ้านโมซัมเบียง มีผู้นำคนแรกชื่อว่า นายหมึน คนที่สองชื่อว่า นายหมึก

ชาวบ้านรู้กันว่านายหมึกผู้นี้ เป็นพ่อของนายคามืน แต่กลุ่มที่อยู่บ้านย่วงกเซฮไม่มีคนเชื่อสายหรือตระกูล ซมัง จึงได้ปรึกษากันว่า ขอเชิญคนที่เป็นตระกูลซมังจากบ้านโมซัมเบียง หรือบ้านละอูบปัจจุบันมาอยู่ด้วย

คนซมังก็มาอยู่กับพวกเขาหนึ่งครอบครัว แต่เมื่อมาอยู่ได้ระยะหนึ่งเขามีพฤติกรรมเล่นชู้กับแม่ม่ายในหมู่บ้าน เมื่อผู้นำทราบว่ามีเหตุการณ์เช่นว่านั้นเกิดขึ้น เกรงว่าจะเกิดอาเพศขึ้นในหมู่บ้าน แต่คนลเวือะเชื่อว่าตระกูลซมังเป็นตระกูลที่มีความสำคัญต่อการตั้งและดำรงอยู่ของชุมชนลเวือะ จึงไม่กล้าว่ากล่าวตักเตือนหรือลงโทษ

ชาวบ้านย่วงกเซฮ จึงพากันย้ายหนีออกจากหมู่บ้านในปีเดียวกันทั้ง 35 หลังคาเรือน มาอยู่ร่วมกับคนที่อยู่บ้านตูโมซัมเบียง ส่วนครอบครัวซมังนั้น ได้ย้ายมาภายหลังจากที่ครอบครัวอื่นย้ายไปแล้วหนึ่งปี

จากนั้นเป็นต้นมาทุกครัวเรือนจึงอาศัยอยู่ที่ดอยโมซัมเบียงตลอดมา ต่อมาเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ชุมชนบ้านละอูบขยายขึ้นมาตามไหล่เขา จนเป็นบ้านละอูบในปัจจุบัน สำหรับผู้ที่ตั้งบ้านละอูบคนแรก คือ ปูลงิง ส่วนผู้ใหญ่บ้านคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้ง คือ นายดิง

บ้านละอูบ หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ละน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะทางกายภาพของที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ภูเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ 1,100 เมตร สภาพภูมิศาสตร์พื้นที่มีความลาดชัน และล้อมรอบไปด้วยป่าดิบเขา อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ชุมชนอยู่ห่างจากอำเภอแม่ลาน้อยเป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยห้อม
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านป่าแป๋
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดง
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านแม่สะกว๊ะ บ้านห้วยหมากหนุน และบ้านแม่กองแป

หมู่บ้านละอูบสามารถเข้าถึงได้ตลอดปี มีเส้นทางเข้าถึงได้ 3 เส้นทาง ได้แก่

  • เส้นทางจากอำเภอแม่ลาน้อย เป็นถนนลาดยาง ระยะทาง 25 กิโลเมตร
  • เส้นทางจากอำเภอแม่แจ่ม ระยะทาง 80 กิโลเมตร เส้นทางนี้ถนนเป็นดินลูกรัง ชาวบ้านไม่นิยมใช้
  • เส้นทางจากอำเภอแม่สะเรียง ระยะทาง 48 กิโลเมตรถึงบ้านป่าแป๋ ผ่านแยกบ้านป่าแป๋ เส้นนี้เป็นทางลูกรัง ชาวบ้านไม่นิยมใช้ ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางดังกล่าวจากบ้านป่าแป๋ ถึงบ้านละอูบ ทำให้การจราจรสะดวกมากขึ้น

บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ละน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ละน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,100 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 550 คน ประชากรหญิง 550 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 279 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

บ้านละอูบมี 3 สายตระกูลหลัก และมี 2 ตระกูลสมทบ ดังนี้

  • ย่วงมอยจ
  • ย่วงไตฮปลอง
  • ย่วงลเมียง
  • ซมัง (สมทบ)
  • ย่วงเฮง่ (สมทบ)

ระบบการปกครองของบ้านละอูบในอดีตมีผู้นำอยู่สองฝ่ายหลัก ๆ คือ ฝ่ายปกครองและฝ่ายพิธีกรรม

ฝ่ายปกครอง

ประกอบไปด้วยผู้ใหญ่บ้าน "ปกวด" และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เรียกว่า "ปเรึอม" ในอดีตตระกูลซมัง ถือว่าเป็นคนที่มีอำนาจในการปกครองเพราะเชื่อว่าสืบเชื้อสายมาจากตระกูลของขุนหลวงวิลังคะ นอกจากนี้ก็มี “ตะปิฮ” หรือผู้อาวุโสจากตระกูลต่าง ๆ มาร่วมตัดสินในเรื่องต่าง ๆ

ฝ่ายพิธีกรรม

ในหมู่บ้านตระกูลย่วงมอยจจะเป็นผู้นำทางด้านพิธีกรรมเรียกว่า "จาวโงว" โดยมีเรื่องเล่าว่าในอดีตมีชายตระกูลซมังคนหนึ่งมาจากหมู่บ้านป่าแป๋ เข้ามาอยู่ที่ตูย่วงซโมะ ขณะนั้นมีผู้นำพิธีกรรมที่เป็นตระกูลย่วงมอยจอยู่แล้ว ช่วงนั้นมีเหตุการณ์ "หญิงรักหญิง" เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นแล้วถูกฟ้าผ่า

ชาวลเวือะเชื่อว่าต้องมีการทำพิธี "ตะไนญ" ชาย ซมังคนนั้นได้ถามผู้นำตระกูลย่วงมอยจว่าทำพิธีตะไนญได้หรือไม่ ผู้นำย่วงมอยจตอบว่าได้ จากนั้นเป็นต้นมาตระกูลย่วงมอยจก็รับหน้าที่ในการทำพิธีกรรมมาโดยตลอด และมีการสืบทอดกันตามสายตระกูล ผู้นำด้านพิธีกรรมคนปัจจุบัน คือ นายนุนุ กรกวรรษ ในการทำพิธีจะมี “ตะปิฮ” เป็นผู้ช่วย หน้าที่ของผู้นำด้านพิธีกรรม

ผู้นำทั้งฝ่ายปกครองและพิธีกรรมนี้ ชาวบ้านจะให้ความเคารพ เวลาทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน ต้องเอาเนื้อแบ่งให้กับผู้นำในหมู่บ้านด้วย โดยให้ขาหมู 1 ขา แก่ผู้นำพิธีกรรม โดยผู้นำพิธีกรรมจะแบ่งให้กับผู้อาวุโสที่นั่งอยู่หัวโต๊ะในพิธีด้วย (โงงซตอก) ให้เนื้อหมู 1 ชิ้น (โตะซอง) แก่ผู้ใหญ่บ้าน (ประมาณ 1 กิโลกรัม)

ในหมู่บ้านมีกฎระเบียบและจารีตประเพณีที่ถือปฏิบัติร่วมกัน ตั้งแต่การเกิดจนถึงการตาย เช่น กฎระเบียบการปกครอง กฎระเบียบการจัดการทรัพยากร

ตัวอย่าง จารีตในการเกิด ประวัติการคลอดลูกของคนลเวือะ บ้านละอูบ เมื่อคนลเวือะคลอดลูก จะมีหมอตำแยในหมู่บ้านเป็นผู้ทำคลอดให้ พอคลอดเสร็จจะมีการอยู่ไฟเป็นเวลา 7 วัน ครั้นเมื่อครบ 7 วัน จะมีการฝังสะดือใต้ถุนบ้าน คนที่นับถือผีบรรพบุรุษ จะทำพิธีแจ้งให้ผีผู้คุ้มครองรู้ว่าในครอบครัวนั้นมีสมาชิกใหม่

จากนั้นจะมีพิธีตั้งชื่อในภาษาลเวือะเรียกพิธีนี้ว่า (ตึาตเรียงกวนงัก) ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง (ตึาต) พอโตขึ้นมาอีกก็ทำพิธีเลี้ยงผีประจำตัวเขา คือพิธีมัดมือในภาษาลเวือะเรียกว่า (โนกรบุก) เมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นเต็มวัย จะมีการบรรจุให้เข้ามาเป็นหนุ่มเข้าเส้น

เมื่ออายุได้ประมาณ 15-18 ปีบริบูรณ์ การบรรจุให้เข้าเส้นนั้น จะได้รับเนื้อคนละหนึ่งชิ้น จึงถือว่าพิธีบรรจุสมบูรณ์ผู้ชายจะบรรจุเข้าตอนพิธีโนกลมัง การบรรจุให้เข้าเส้นมีผลในการทำหน้าที่ในงานพิธีต่าง ๆ ของชุมชน เช่นพิธีบางอย่างในงานศพเมื่อได้รับการบรรจุแล้ว ถ้าไม่ทำหน้าที่จะต้องถูกปรับคนละ 50 บาท เมื่อบรรจุเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะสามารถมีแฟนได้

ลัวะ (ละเวือะ)

บ้านละอูบ หมู่ที่ 6 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ละน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ที่ตั้งชุมชนอยู่ในพื้นที่ภูเขา เนินเขา และที่ราบเชิงเขา รวมไปถึงพื้นที่ประกอบการเพาะปลูกทางการเกษตรของชาวบ้าน ด้วยเหตุนี้ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนจึงมีอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก โดยมีการปลูกพืชหลากหลายชนิดตามฤดูกาล ทั้งพืชไร่ พืชสวน และพืชหมุนเวียน ตัวอย่างเช่น การทำข้าวนา ข้าวไร่ ข้าวสาลี ขณะเดียวกันชาวบ้านก็มีการปลูกพืชระยะสั้น และพืชระยะยาวไปด้วย ได้แก่ กาแฟ กะหล่ำปลี เสาวรส เผือก มัน ถั่วลิสง ถั่วแดง ฯลฯ 

นอกจากนี้ บ้านละอูบยังมีผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่โดดเด่น ได้แก่ ผ้าทอละว้า เครื่องเงิน และกาแฟ มีโฮมสเตย์สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการมาสัมผัสวิถีชีวิตที่มีความเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ โดยชุมชนได้มีการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน โดยได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากสำนักงานพัฒนาชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดแม่ฮ่องสอน กิจกรรมท่องเที่ยวในหมู่บ้าน เช่น ชิมอาหารพื้นบ้านแบบลัวะ คือ โต๊ะสะเบือก เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมประเพณีของชาวลัวะ เช่น การรำดาบ การบรรเลงดนตรีเป่าเขาควาย ชมการผลิตงานหัตถกรรมจากกลุ่มทำเครื่องเงินละว้า กลุ่มผ้าทอละว้า กลุ่มกาแฟบ้านละอูบ มีสินค้าโอท็อปของชุมชนให้เลือกซื้อกลับบ้าน และยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชมกลุ่มโฮมสเตย์บ้านละอูบด้วย

ปฏิทินชุมชน

เดือน (ไทย/ลเวือะ) กิจกรรมทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต/เกษตรกรรม
มกราคม/ เคิ ปาวน
  • นิยมจัดงานแต่ง
  • ขึ้นบ้านใหม่
  • หาฟืน
  • เกี่ยวหญ้าคา ซ่อมแซมบ้าน
  • เก็บผลผลิตกาแฟ
  • เก็บดอกหญ้า
กุมภาพันธ์/ เคิ พอน
  • ประชุมสามัญประจำปีของชุมชน
  • แบ่งพื้นที่ทำข้าวไร่
  • เตรียมพื้นที่เพาะปลูก (ฟันไร่)
มีนาคม/ เคิ แลฮ
  • เลี้ยงผีแนวกันไฟ
  • ทำแนวกันไฟ
  • เตรียมพื้นที่เพาะปลูก (เผาไร่)
เมษายน/ เคิ อาแลฮ
  • บูชาเจ้านาไร่
  • กิจกรรมปีใหม่
  • เริ่มปลูกข้าวไร่
  • เริ่มปลูกข้าวนาช่วงกลางเดือน
  • เพาะปลูกพืชไร่ต่าง ๆ
พฤษภาคม/ เคิ ซเตะ
  • เลี้ยงผีหัวบันได
  • เลี้ยงผีละมัง
  • ดูแลข้าวไร่ ถางหญ้ารอบแรก
  • ปลูกผักช่วงต้นฤดูฝน
มิถุนายน/ เคิ ซไตม
  • เลี้ยงเจ้านา
  • เลี้ยงเจ้าหัวเมือง
  • ดำนา
  • ปลูกพืชต่าง ๆ พืชอายุสั้น-ยาว
กรกฎาคม/ เคิ กาว  
  • ดูแลข้าวไร่ไร่ ถางหญ้ารอบสอง
  • ปลูกพืชต่าง ๆ
สิงหาคม/ เคิ ซาว  
  • ถางหญ้าข้าวนา รอบแรก
  • เก็บผลผลิตพืชอายุสั้น
กันยายน/ เคิ กละ
  • กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
  • ดูแลข้าวไร่ ถางหญ้ารอบสาม
  • ปลูกพืช/เก็บผลผลิต
  • หาฟืน
ตุลาคม/ เคิ บิฮตุ
  • พิธีเรียกขวัญข้าว
  • เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวไร่
  • ตีข้าวไร่
พฤศจิกายน/ เคิ บิฮติง
  • ทำบุญหลักการเก็บเกี่ยว
  • ทำบุญข้าวใหม่
  • เก็บเกี่ยวข้าวไร่
  • เริ่มเก็บเกี่ยวข้านา
ธันวาคม/ เคิ ฆอฮ
  • กิจกรรมเฉลิมฉลองรื่นเริง
  • เทศกาลคริสต์มาส
  • งานแต่งงาน
  • เริ่มมีการสร้างบ้านใหม่
 

 

ช่างตีเหล็ก

  • นายบุญซุก เขียวภูมิชัย
  • นายเอียง งามจารุเลิศไมตรี
  • นายดวงจันทร์ จันทร์แย
  • นายพะกริ๊ บุตรตราสวรรค์

ช่างตีเงิน

  • นายคำปัน ประทีปพจน์
  • นายวิเชียร ประทีปพจน์
  • นายวิฑูรย์ ประทีปพจน์
  • นายคำสม ยงธนสารกุล
  • นายณรงค์ พิมพ์ใจประภา
  • นายสนอง บงกชรุ่งวิจิตร
  • นายเมือง ศักดิ์ศรีดงดอย
  • นายนะทันเอน ซื่อต่อดงดอย
  • นายอดุลย์ มิ่งศรีสุข
  • นายทองสุข มิ่งศรีสุข
  • นายอำพล ผัดน้อย
  • นายสมเกียรติ พิมพ์ใจประภา
  • นายกำพล บงกชรุ่งวิจิตร

ช่างจักสาน

  • นายเคียง เจริญถวิล
  • นายอินต๊ะ บุษยาวรรณ
  • นายทะลึก บาดาลใจ
  • นายเกอเมิง งามจารุเกรียงไกร
  • นายอุดทา แผ่อำนาจ
  • นายโจ๊ะโจ๊ะ หยกรัศมีโรจน์
  • นางยศ กานนโสภา
  • นายติด จำปาจรัส

หมอยาสมุนไพร/หมอตำแย

  • นายเอกราช ชูเกียรติดงดอย
  • นายสลัว ชูเกียรติดงดอย
  • นางยศ กานนโสภา
  • นางทา คำพุทธ

ช่างซอ

  • นายพูลสวัสดิ์ จันทร์แย
  • นางจูมสาย สารภีสุวรรณศร
  • นายวันชัย ปองธิติพงศ์
  • นายลา เจริญเต็มเปี่ยม
  • นายวงศ์รัตน์ จันทร์แย
  • นายสุข แผ่อำนาจ
  • นางเคือง มิ่งศรีสุข
  • นางแอ คณาวุฒิกร
  • นางนิ เขียวภูมิชัย
  • นางหลวง งามลาภรัตนกุล
  • นายสมชาย ไพรตระหง่าน
  • นายบุญแสน นิลุบลไพบูลย์
  • นายบุญแสน บงกชรุจิลักษมี

ทุนกายภาพ

บ้านละอูบตั้งอยู่บนภูเขาสูงสลับซ้อนกันที่สวยงาม ล้อมรอบด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีการทำนาขั้นบันได ปลูกต้นกาแฟที่เป็นที่รู้จักในปัจจุบัน

ทุนมนุษย์

ระบบการปกครองของบ้านละอูบมีรูปแบบที่ชัดเจน จากรูปแบบการแบ่งฝ่ายในการปกครองของชนเผ่าที่มีฝ่ายปกครอง และฝ่ายพิธีกรรม ทำให้บริหารจัดการผู้คนในชนเผ่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงบ้านละอูบมีผู้เชี่ยวชาญ ปราชญ์ด้านต่าง ๆ มากมาย และมีการรวมกลุ่มในชุมชนที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มอาชีพ กลุ่มอื่น ๆ

ทุนวัฒนธรรม

บ้านละอูบมีการประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของชาติพันธุ์ลเวือะอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี รวมถึงยังดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น เสื้อผ้า บ้านเรือน อาหาร เป็นต้น

ทุนเศรษฐกิจ

จากข้อทุนกายภาพ ทำให้ต่อยอดถึงโอกาสทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศที่เหมาะสมแก่การปลูกกาแฟ พืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนั้นยังมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนเพื่อออมทรัพย์จนพัฒนามาเป้นสหกรณ์ออมทรัพย์ของชุมชน เปรียบเสมือนแหล่งทุนให้กับชาวบ้าน และยังรับการตั้งกองทุนต่าง ๆ จากภาครัฐอีกด้วย

ภาษาพูด : ลัวะ, ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ลัวะไม่มีตัวอักษรที่ใช้เขียน แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่ได้รับการศึกษาสามารถเขียนภาษาไทยได้


ปัจจุบันการปกครองภายในหมู่บ้านมีความเป็นประชาธิปไตย ผู้นำในด้านต่าง ๆ ของชุมชนนั้นผ่านการเลือกตั้งจากคนในชุมชน แทนที่ระบบสืบสายตระกูลในสมัยก่อน


  • มีการสร้างระบบประปาในหมู่บ้านโดยกรมชลประทาน เนื่องจากก่อนหน้านี้ชาวบ้านพยายามนำน้ำประปาภูเขามาใช้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก 
  • ระบบไฟฟ้ายังไม่เสถียร เกิดไฟดับอยู่บ่อย ๆ 
  • ถนนที่สร้างนั้นเสียหายเป็นระยะ ๆ 

มีการบริหารจัดการสิ่งสกปรกในชุมชนที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนที่มีการทิ้งมูลสัตว์ ขยะอย่างไม่เป็นระเบียบ ทำให้เป็นชุมชนที่สกปรก


ชาวบ้านส่วนมากในปัจจุบันสามารถอ่านออกเขียนได้ มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มีโรงเรียนที่เปิดสอนถึงมัธยมต้น ส่วนหนึ่งออกไปเรียนต่อในอำเภอแม่ลาน้อย ในปี พ.ศ. 2543 มีองค์กรเอกชนคริสเตียนเข้ามาเพื่อส่งเสริมเด็กในด้านต่าง ๆ จนถึงอายุ 22 ปี 


จารีตประเพณีวัฒนธรรม สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้คนรุ่นใหม่หลงลืมวัฒนธรรม ประเพณีที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การแต่งกาย ภาษา วิถีชีวิต การทำมาหากิน การลงแขก และวัฒนธรรมการแวะเวียนไปมาหาสู่กัน ส่งผลทำให้สังคมเสื่อมถอยด้านจริยธรรม เกิดปัญหาครอบครัว ความรุนแรงในครอบครัว คู่สมรสหย่าร้าง การแย่งชิงทรัพยากร ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น คนไม่สนใจการแต่งชุดลเวือะ ผู้ผลิตและสวมใส่มีการส่งเคราะห์ซึ่งกันและกัน การห่อของฝาก การต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองลดน้อยลง


ในอดีตประมาณ ปี พ.ศ. 2543 ชาวบ้านละอูบประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยปลูกข้าวในไร่หมุนเวียนเป็นหลัก จึงมีความจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ไร่เหล่า ในปีดังกล่าวชุมชนมีมติเปิดไร่เหล่าโกลงโลก

ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 95 ของครัวเรือนในหมู่บ้านในเวลานั้นต้องฟันไร่เพื่อเลี้ยงชีพ แต่พื้นที่ไร่เหล่าโกลงโลก อยู่ติดกับไร่เหล่าบ้านดง หมู่ที่ 5 ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก เช่นเดียวกับบ้านละอูบ ภายหลังทั้งสองหมู่บ้านฟันไร่ส่งผลทำให้พื้นที่ไร่ในปีดังกล่าวถูกตัดเป็นจำนวนมาก

ต่อมาอธิบดีกรมป่าไม้ในขณะนั้นได้โดยสารเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการผ่านพื้นที่ดังกล่าวเห็นว่าพื้นที่ถูกฟันเป็นจำนวนมากจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้สนธิกำลังกันเพื่อมาจับกุมดำเนินคดีผู้นำชุมชน และผู้นำครอบครัวบ้านละอูบ

แต่จากการลงพื้นที่พบว่าในไร่ที่ถูกตัดนั้นไม่มีไม้ใหญ่ หรือที่มีจำนวนน้อยมาก จึงลงพื้นที่พูดคุยกับแกนนำชาวบ้าน ในขณะนั้นนำโดย นายคำปัน ประทีปพจน์ ได้ขอเจรจากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยจะขอจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนเอง และสร้างข้อตกลงในการจัดการทรัพยากร โดยออกเป็นระเบียบชุมชน กำหนดข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จึงเกิดการแบ่งประเภทป่าอนุรักษ์ ป่าพิธีกรรม ป่าใช้สอย ป่าที่ทำกิน และที่ทำกิน เป็นต้น ทั้งนี้ ภายใต้คำแนะนำของเจ้าหน้าที่จากโครงการแคร์ และสมาคมอิมเปก


ป่าแม่ยวม (ฝั่งซ้าย)

ชุมชนบ้านละอูบ เคยประสบปัญหาด้านต่าง ๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ จึงมีการวางแผนการใช้งบประมาณ การจัดการทรัพยากร การวางแผนพัฒนาหมู่บ้าน กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน ระบบการบริหารและพัฒนาหมู่บ้าน การบริหารการเงิน การบริการทรัพยากร เป็นต้น ส่งผลทำให้เป็นที่สนใจ ยอมรับของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และยังส่งผลทำให้หมู่บ้านกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของตำบลห้วยห้อม และอำเภอแม่ลาน้อย

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ลเวือะ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. (2548). “ความจริง วัฒนธรรม และความเชื่อ: การเมืองและการผลิตความรู้ป่าไม้ในไทย”. (หน้า 9-45). ใน ความรู้กับความจริงเรื่องทรัพยากร. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ธนัน อนุมานราชธน จันทนา สุทธิจารี และไพสิฐ พาณิชย์กุล. (2545). แนวทางการจัดการความขัดแย้งเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในเขตอำนาจขององค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดเชียงใหม่. เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อานันท์ กาญจนพันธุ์ และมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด. (2538). วิวัฒนาการของการบุกเบิกที่ดินทำกินในเขตป่า: กรณีศึกษาภาคเหนือตอนบน. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย.

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านละว้า (ลัวะ) แม่ละอูบ. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2567, https://thai.tourismthailand.org/

ข่าวสดออนไลน์. (21 กันยายน 2565). ชวนเที่ยวบ้านละอูบ พักโฮมสเตย์ ชิมโต๊ะสะเบือก ชมวิถีชีวิตชุมชนชาวละเวื้อะ. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2567, https://www.khaosod.co.th/

บ้านละอูบ. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2567, https://www.facebook.com/Banlaoop

เอกราช ชูเกียรติดงดอย. (2560). โครงการวิจัยฟื้นฟูวัฒนธรรมการจัดการน้ำของชาวละเวื๊อะบ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

อบต.ห้วยห้อม โทร. 0-5307-1453