Advance search

บ้านห้วยหอย ชุมชนชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บนพื้นที่ตั้งชุมชนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความสวยงาม กับการจัดการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

หมู่ที่ 19
บ้านประตูเมือง
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 มิ.ย. 2024
บ้านห้วยหอย

ตั้งชื่อชุมชนตามชื่อลำห้วยที่อยู่ใกล้บริเวณชุมชนที่มีหอยอยู่เป็นจำนวนมาก


บ้านห้วยหอย ชุมชนชาวไทยภูเขากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บนพื้นที่ตั้งชุมชนที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความสวยงาม กับการจัดการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

บ้านประตูเมือง
หมู่ที่ 19
แม่วิน
แม่วาง
เชียงใหม่
50360
18.62929047277831
98.64077389240265
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน

ชาวบ้านห้วยห้อยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงสะกอ) เดิมอาศัยอยู่บริเวณทางด้านทิศใต้ของที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน เป็นชุมชนที่กระจัดกระจายกันอยู่หลายหมู่บ้าน ต่อมาชาวบ้านเกิดล้มตายเป็นจำนวนมากเนื่องจากเป็นไข้ป่า แต่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าถูกผีป่าทำร้าย จึงได้พากันอพยพแยกย้ายออกจากพื้นที่ไป ภายหลังมีการรวมตัวกันอีกครั้ง โดยชาวบ้านที่กระจัดกระจายกันอยู่ในพื้นที่ตามป่าเขา รวมตัวกันตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนที่บ้านห้วยงู แต่มีอยู่ 3 ครอบครัวที่แยกออกมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยบริเวณบ้านห้วยหอยปัจจุบัน ต่อมาจึงมีชาวบ้านย้ายเข้ามาอยู่ด้วยเพิ่มเติม และในช่วงปี พ.ศ. 2530 เกิดสภาวะความแห้งแล้งในพื้นที่บ้านห้วยงู ทำให้ชาวบ้านไม่มีน้ำกินน้ำใช้ จึงเกิดการย้ายถิ่นฐานครั้งสำคัญของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ ไปยังชุมชนอื่น ๆ โดยรอบ ได้แก่ บ้านห้วยข้าวลีบ บ้านประตูเมือง และบ้านห้วยหอย หมู่ที่ 19 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง และบ้านขุนนาสา หมูที่ 8 ตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ ทำให้ชุมชนบ้านห้วยหอยมีประชากรเพิ่มมากขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน

เดิมทีบ้านห้วยห้อยอยู่ในเขตการปกครองของบ้านขุนป๋วย หมู่ที่ 3 ตำบลแม่วิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 จึงการมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ โดยรวม 3 ชุมชนเป็นหมู่บ้านเดียวกัน ประกอบด้วย บ้านห้วยหอย บ้านห้วยข้าวลีบ และบ้านประตูเมืองเป็นหมู่ที่ 19 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มาจนถึงปัจจุบัน

บ้านห้วยหอย เป็นหย่อมบ้านของบ้านประตูเมือง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะทางกายภาพของภูมิศาสตร์ชุมชนมีสภาพเป็นพื้นที่ภูเขาสลับซับซ้อน และเป็นป่าดงดิบสลับกับป่าเบญจพรรณ ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 820 เมตร อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่วางเป็นระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางพื้นราบเป็นระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร และเส้นทางขึ้นเขาอีกประมาณ 8 กิโลเมตร ชุมชนบ้านห้วยหอยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยโป่ง หมู่ที่ 11 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้าขุนนาสา หมู่ที่ 8 ตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสบวิน หมู่ที่ 9 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านขุนป๋วย หมู่ที่ 3 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

บ้านห้วยหอย เป็นหย่อมบ้านของบ้านประตูเมือง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรภายในบ้านห้วยหอยเป็นชาวปกาเกอะญอ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 19 บ้านประตูเมือง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 663 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 335 คน ประชากรหญิง 328 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 198 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ปกาเกอะญอ

การประกอบอาชีพของชาวบ้านห้วยหอย ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ประชากรส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพตามวิถีดั้งเดิมเกี่ยวกับด้านการทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก คือการทำไร่หมุนเวียน การทำนาแบบขั้นบันได และการปลูกพืชผักสวนครัวในชุมชน ระยะหลังชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกพืชสวน และการทำไร่แบบผสมผสานแทนการทำไร่หมุนเวียนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการทำไร่หมุนเวียนไม่มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ในปัจจุบันมากนัก นอกจากข้าว พืชไร่ที่ชาวบ้านนิยมปลูกแล้ว ยังมีพืชเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ อีก ตัวอย่างเช่น การปลูกผักเมืองหนาว ผักฮ่องเต้ ผักกวางตุ้ง ฯลฯ เพื่อส่งขายให้กับโครงการหลวงฯ และตลาดค้าส่งต่าง ๆ ทั้งยังมีการเลี้ยงสัตว์ในชุมชน และชาวบ้านบางส่วนยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปด้วย และเนื่องจากสภาพพื้นที่ชุมชนที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่ค่อนข้างสมบูรณ์และมีความสวยงาม อีกทั้งวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นทุนที่สำคัญสำหรับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชาวบ้านบางส่วนจึงรวมกลุ่มกันเป็นที่พักแบบโอมสเตย์เพื่อเปิดรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติและวิถีชุมชน ซึ่งเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งให้กับชาวบ้าน

บ้านห้วยหอย ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ การนับถือศาสนาของประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาคริสต์ ประมาณร้อยละ 90 โดยมีทั้งนิกายโรมันคาทอลิก และนิกายโปรเตสแตนต์ ประชากรส่วนที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 10 นับถือศาสนาพุทธ และมีความเชื่อแบบดั้งเดิมของชนเผ่า ภายในชุมชนมีศาสนสถานของศาสนาคริสต์ทั้ง 2 นิกาย อย่างละ 1 แห่ง และศาสนสถานของชาวพุทธและความเชื่อดั้งเดิมอีก 1 แห่ง

ชาวบ้านห้วยหอย ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ มีวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละความเชื่อ มีทั้งประเพณีดั้งเดิมที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในกลุ่มชาวพุทธและความเชื่อดั้งเดิม และวิถีชีวิตตามแบบของผู้นับถือศาสนาคริสต์ ไม่ว่าจะเป็น ประเพณีขึ้นปีใหม่ ประเพณีแต่งาน ประเพณีการบวชป่า ประเพณีการเลี้ยงผีนาผีไร่ ประเพณีเกี่ยวกับพิธีศพ ประเพณีขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีเกี่ยวกับการคลอดลูก โดยแต่ละกิจกรรมประเพณีจะมีความแตกต่างและคล้ายคลึงกันบ้างตามแต่ละกลุ่มความเชื่อของชาวบ้านในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรป่าไม้

ป่าไม้ในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยหอยมีลักษณะเป็นป่าดงดิบสลับกับป่าเบญจพรรณ โดยชาวบ้านมีการจัดการป่าในเขตชุมชน โดยจำแนกป่าออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย ป่าอนุรักษ์ จำนวน 2,129 ไร่ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างสูง ไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้โดยเด็ดขาด ป่าใช้สอย จำนวน 815 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านจัดสรรไว้สำหรับใช้นำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ด้านการก่อสร้าง สร้างที่อยู่อาศัย โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากชุมชน และห้ามแปรรูปไม้เพื่อจำหน่าย และไม่สามารถเข้าไปบุกเบิกพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้ สามารถเข้าไปล่าสัตว์ได้ในปริมาณที่จำกัดเพื่อเป็นแหล่งโปรตีนเสริมให้กับสมาชิกในชุมชน ป่าสำหรับเป็นพื้นที่ทำมาหากินและที่อยู่อาศัย มีเนื้อที่ประมาณ 2,115 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกทางการเกษตร และทำเกษตรกรรมในรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงพื้นที่สร้างที่พักอาศัย อาคาร สถานที่ภายในชุมชน

แหล่งน้ำธรรมชาติ

  • ลำน้ำ บ้านห้วยหอยมีธารน้ำธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่บริเวณชุมชน 2 สาย คือ ลำน้ำห้วยหอย และลำน้ำขุนป๋วย ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำทั้งสองแห่งนี้ในการอุปโภค บริโภค และสำหรับทำเกษตรกรรม
  • น้ำตก พื้นที่บริเวณชุมชนบ้านห้วยหอย มีน้ำตกอยู่ 2 แห่ง ชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกบน และน้ำตกล่าง หรือน้ำตกห้วยหอย โดยน้ำตกทั้งสองแห่งนี้อยู่ในเส้นทางการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน

ภาษาพูด : ปกาเกอะญอ, ภาษาไทยถิ่นเหนือ, ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภัทรพล กิจประยูร. (2554). ธุรกิจโฮมสเตย์กับผลกระทบที่มีต่อชุมชน: กรณีศึกษา บ้านห้วยหอย หมู่ที่ 19 ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 

มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน. (2565). ไร่หมุนเวียน ชุมชนบ้านห้วยหอย ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2567, จาก https://sathai.org/

เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น. (2565). สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2567จาก https://www.facebook.com/unseencnx