Advance search

ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ จากพื้นที่ประสบปัญหาความล้มเหลวด้านการประกอบอาชีพ สู่การพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจชุมชน กับวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

หมู่ที่ 9
บ้านน้ำทรัพย์
แก่งกระจาน
แก่งกระจาน
เพชรบุรี
วิไลวรรณ เดชดอนบม
22 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวณธานันท์
22 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
22 มิ.ย. 2024
บ้านน้ำทรัพย์


ชุมชนชนบท

ชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ จากพื้นที่ประสบปัญหาความล้มเหลวด้านการประกอบอาชีพ สู่การพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจชุมชน กับวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

บ้านน้ำทรัพย์
หมู่ที่ 9
แก่งกระจาน
แก่งกระจาน
เพชรบุรี
76170
12.97544951583264
99.61953329785077
องค์การบริหารส่วนตำบลแก่งกระจาน

พื้นที่บริเวณที่ตั้งบ้านน้ำทรัพย์ก่อนที่จะมีการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คน บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำซับอยู่ในผืนป่าหรือทางด้านท้ายของหมู่บ้านในปัจจุบัน ก่อนที่ผู้คนจะเข้ามาจับจองพื้นที่สร้างที่พักอยู่อาศัยกันจนเป็นชุมชนในภายหลัง เดิมชาวบ้านน้ำทรัพย์เป็นชาวตำบลวังจันทร์ที่อพยพย้ายถิ่นฐานพาครอบครัวเข้ามาในพื้นที่และจับจองที่ดินทำกินในช่วงที่มีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในอำเภอแก่งกระจาน และต่อมามีการเปิดป่าเพื่อทำการสัมปทานไม้บริเวณรอบขอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ในช่วงปี พ.ศ. 2505 ชาวบ้านเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ลุ่มน้ำเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการทำเกษตรกรรม ภายหลังเมื่อการก่อสร้างเขื่อนแล้วเสร็จพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง ชาวบ้านจึงได้ขยับที่ตั้งชุมชนขึ้นมาในบริเวณพื้นราบที่สูงเหนือเขื่อนแก่งกระจาน โดยมีการโยกย้ายที่ตั้งบ้านเรือนอยู่หลายครั้ง และได้มาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยยังบริเวณชุมชนบ้านน้ำทรัพย์จนถึงปัจจุบัน

บ้านน้ำทรัพย์ ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ที่ตั้งชุมชนห่างจากตัวอำเภอแก่งกระจานประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ราบสูงเหนือเขื่อนแก่งกระจาน และเป็นที่ราบสูงสลับกับภูเขา ชุมชนมีเนื้อที่ประมาณ 14,000 ไร่ และมีพื้นที่ป่าชุมชนอีกกว่า 12,000 ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ที่ 4 บ้านลำตะเคียน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ หมู่ที่ 7 บ้านหนองเกตุ
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ หมู่ที่ 5 บ้านแม่คะเมย และหมู่ที่ 14 บ้านพุบอน

บ้านน้ำทรัพย์ ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 บ้านน้ำทรัพย์ ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 589 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 291 คน ประชากรหญิง 298 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 249 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ชาวบ้านน้ำทรัพย์ ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมเช่นเดียวกันกับประชากรในตำบลแก่งกระจานโดยทั่วไป มีการทำไร่ ปลูกข้าวโพด มะม่วง มะนาว และมีการเลี้ยงสัตว์ และประชากรส่วนหนึ่งก็มีอาชีพรับจ้างทั่วไป และนอกจากนี้ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือในเขาชลประทานชาวบ้านก็มีอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย และการทำอาชีพประมง ทั้งนี้ยังเป็นการทำเกษตรแบบผมผสาน เช่น การปลูกมะนาว เลี้ยงโคเนื้อ เลี้ยงแพะ และทำประมงน้ำจืด โดยมีรายละเอียดการประกอบอาชีพและระบบเศรษฐกิจชุมชนดังนี้

ประมงน้ำจืด อาชีพจับปลาเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมของชาวบ้านน้ำทรัพย์ แต่เนื่องจากการจับปลาโดยที่ไม่มีการอนุรักษ์หรือการฟื้นฟูทำให้ปริมาณปลามีจำนวนลดน้อยลง ในปี 2548 จึงเกิดโครงการฟื้นฟูสัตว์น้ำหน้าบ้าน โดยเปลี่ยนแปลงวิถีการหาปลา จากเดิมที่เคยหาปลาได้เต็มพื้นที่ เปลี่ยนเป็นการกำหนดพื้นที่รัศมี 500 เมตร จากฝั่งเป็นพื้นที่ห้ามจับปลา มีการสร้างกระชังปลาเพื่อนำปลามาอนุบาล 2-4 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของปลา ก่อนปล่อยลงในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการสร้างกร่ำปลา ทำมาจากไม้ไผ่ ไม้ที่มีหนาม นำไปทิ้งไว้ใต้น้ำเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของปลา ทำให้ชาวบ้านสามารถจับปลาได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น ทางกรมประมงจึงคัดเลือกวิธีการนี้ให้เป็น โครงการต้นแบบพื้นฟูสัตว์น้ำหน้าบ้าน

ทั้งนี้ ชาวบ้านมีการนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ มีการเปลี่ยนแนวคิดของเกษตรกรจากการผลิตที่มุ่งเน้นปริมาณสู่การผลิตแบบเกษตรผสมผสาน ควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรม “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ได้แก่ การลดรายจ่ายในครัวเรือน มีการส่งเสริมให้มีการทำสบู่และน้ำยาอเนกประสงค์ไว้ใช้ในครัวเรือน มีสร้างอาชีพใหม่ พัฒนาอาชีพเดิมให้มีการต่อยอด แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เกิดการรวมกลุ่มเป็น “วิสาหกิจชุมชนเพชรน้ำทรัพย์” ผลิตสินค้าจากวัตถุดิบภายในชุมชนและชุมชนข้างเคียง ได้แก่ ทองม้วน ทองพับ ปลาส้ม น้ำตาล ฯลฯ การลดต้นทุนในภาคเกษตร ส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้และการผลิตปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ กลั่นสมุนไพรไล่แมลง น้ำส้มควันไม้ เพื่อใช้ในการเกษตร

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนไปพร้อม ๆ กับการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 3 ประการ เพราะการไม่มีแหล่งทุนในระบบ ทำให้คนในชุมชนต้องหันไปพึ่งพาแหล่งทุนนอกระบบ ส่งผลให้ในแต่ละปีมีดอกเบี้ยไหลออกจากชุมชนไปสู่มือนายทุนภายนอกชุมชนจำนวนมหาศาล จึงจัดตั้ง “สหกรณ์เครดิตยูเนียนบ้านน้ำทรัพย์” ขึ้นเมื่อปี 12 ธันวาคม 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนิสัยการออมและเป็นแหล่งทุนในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้แก่คนในชุมชน ปัจจุบันมีการเปิดรับสมาชิกจากชุมชนข้างเคียงเพื่อขยายผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 60 ล้านบาท มีสมาชิกกว่า 1,300 คน

หลังจากการกำหนดวิสัยทัศน์ชุมชนเมื่อปี 2540 ชาวบ้านน้ำทรัพย์ มีความอยู่ดีกินดีขึ้นจากการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติอย่างป่าไม้และสัตว์น้ำที่เคยเสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างเช่นในอดีต เกษตรกรเองก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูก จากที่เคยทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ก็หันมาทำการทำเกษตรแบบผสมผสานมากขึ้น จนเกษตรแบบผสมผสานกลายมาเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืช เช่น มะนาว กล้วยน้ำว้า และเลี้ยงสัตว์ เช่น โคเนื้อ แพะ ซึ่งแพะของบ้านน้ำทรัพย์ได้รับการรับรองเป็นแพะมาตรฐานฟาร์ม จากที่เคยเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเนื้อหรือนม ปัจจุบันได้ยกระดับสู่การจำหน่ายแพะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

นอกจากการเลี้ยงแพะที่เป็นสัตว์ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังมีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง คือ “ไก่ประดู่หางดำ” โดยมีการเลี้ยงควบคู่ไปกับการทำเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ โดยการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองเป็นที่นิยมของตลาด จึงทำให้ชาวบ้านมีรายได้อีกทางหนึ่งจากการขายไก่บ้านหรือไก่พันธุ์พื้นเมือง และนอกจากการขายไก่เป็นตัวให้กับพ่อค้าแล้ว ชาวบ้านยังมีการรวมกลุ่มแปรรูปอาหาร ผลิตภัณฑ์จากไก่ประดู่หางดำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น เช่น การทำไส้อั่วไก่ การทำกุนเชียง การทำแหนม และการทำไส้กรอกอีสาน ฯลฯ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน. (2564). เรียนรู้เรื่องเกษตร เศรษฐกิจพอเพียง “บ้านน้ำทรัพย์” @เพชรบุรี. สืบค้นเมื่อ 22 มิถุนายน 2567, จาก https://travel.trueid.net/1

ธีระยุทธ ชาวุฒิ. (2556). โครงการการสร้างอาชีพเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่เป็นอาชีพเสริมควบคู่กับเกษตรผสมผสานของชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ธีระยุทธ ชาวุฒิ (2558). โครงการการพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์มการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่ ควบคู่กับเกษตรผสมผสานของชุมชนบ้านน้ำทรัพย์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. (ม.ป.ป.). จังหวัดเพชรบุรี บ้านน้ำทรัพย์. วารสารภาคตะวันตก, 61-70.