Advance search

บ้านท่าตาฝั่ง ชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ (สะกอ) บนพื้นที่บริเวณแนวเขตชายแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

บ้านท่าตาฝั่ง
แม่ยวม
แม่สะเรียง
แม่ฮ่องสอน
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
31 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
5 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 มิ.ย. 2024
บ้านท่าตาฝั่ง


บ้านท่าตาฝั่ง ชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ (สะกอ) บนพื้นที่บริเวณแนวเขตชายแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

บ้านท่าตาฝั่ง
แม่ยวม
แม่สะเรียง
แม่ฮ่องสอน
58110
18.075615304318
97.691975980997
เทศบาลตำบลแม่ยวม

บ้านท่าตาฝั่งเริ่มมีการเข้ามาของผู้คนก่อตั้งเป็นชุมชนในช่วงปี พ.ศ. 2485 โดยนายจออู ศรีมาลี ได้พาครอบครัวมาบุกเบิกพื้นที่ทำกินและสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย ต่อมาจึงมีครอบครัวอื่น ๆ อพยพเข้ามาเพิ่มเติมในภายหลัง และเรียกพื้นที่นี้ว่า “บ้านจออู” ตามชื่อบุคคลแรกที่เข้ามาในพื้นที่ ช่วงแรกเริ่มชาวบ้านมีการโยกย้ายบ้านเรือนบ่อยครั้งเพื่อหาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและการตั้งบ้านเรือน โดยโยกย้ายบ้านเรือนไปในแถบบริเวณลำห้วยแม่กองคา และลำห้วยแม่ปอ และตั้งบ้านเรือนอยู่หลายจุดจนในที่สุดมาตั้งอยู่บริเวณบ้านท่าตาฝั่ง และลงหลักปักฐานที่มั่นคงมากขึ้น ผู้คนก็เริ่มย้ายครัวเรือนเข้ามาสมทบอีก ทำให้ชุมชนขยายใหญ่ขึ้น มีประชากรหนาแน่นขึ้นตามลำดับ และได้ก่อตั้งเป็นชุมชนบ้านท่าตาฝั่ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีหย่อมบ้านในการปกครองอีก 5 หย่อมบ้าน

บ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ตั้งชุมชนมีลักษณะทางกายภาพของภูมิศาสตร์ชุมชนเป็นพื้นที่ราบสูงเชิงเขา ใกล้กับลุ่มแม่น้ำสาละวิน ในบริเวณสบห้วยแม่กองคากับแม่น้ำสาละวิน ตามแนวเขตพรมแดนประเทศไทยและเมียนมาร์ มีลำห้วยแม่กองคาไหลผ่านมีต้นน้ำมาจากบริเวณป่าขุนห้วยแม่กองคาตัดผ่านชุมชนด้านทิศตะวันตกลงสู่แม่น้ำสาละวิน ชุมชนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอแม่สะเรียง มีเนื้อที่สำหรับที่อยู่อาศัยประมาณ 100 ไร่ เนื้อที่สำหรับเกษตรกรรม 1,000 ไร่ พื้นที่ป่าต้นน้ำ 10,000 ไร่ และพื้นที่ป่าใช้สอย 3,000 ไร่ โดยชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลสบเมย อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำสาละวิน แนวเขตพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศเมียนมาร์

บ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรในชุมชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 บ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,087 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 576 คน ประชากรหญิง 511 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 292 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ปกาเกอะญอ

บ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักเกี่ยวกับการเกษตร ทำนา ทำสวน ทำไร่ และมีการปลูกพืชตระกูลถั่วในพื้นที่บริเวณหาดทรายริมชายฝั่งแม่น้ำสาละวิน โดยพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกมีทั้งพืชระยะสั้น พืชระยะยาว ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชล้มลุก และพืชชนิดต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายและเพาะปลูกตามความเหมาะสมในแต่ละฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นการทำนาข้าว การปลูกข้าวไร่ พืชไร่หลากชนิด เช่น ผักกาด ฟักทอง  ฟักเขียว ถั่วฝักยาว บวบ แตงกวา มัน เผือก มันสำปะหลัง ผักชี ผักอีหลึ๋ง ข้าวโพด มะระ พริก มะเขือ งา ถั่วอีกหลายชนิด พืชสวนต่าง ๆ ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว น้อยหน่า ลำไย ขนุน กล้วย มะละกอ ฝรั่ง สับปะรด มะนาว พุทรา ฯลฯ และการปลูกพืชบริเวณหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ตัวอย่าง เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด แตงโม เป็นต้น และนอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก ทั้งการทำประมงพื้นบ้าน การทำปศุสัตว์ เลี้ยงแพะ วัว ควาย หมู การหาเก็บของป่า และอาชีพรับจ้างทั่วไป

กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (สะกอ) บ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ เนื่องจากการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารี ทั้งยังมีการสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับชาวบ้าน เมื่อผู้นำชุมชนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ชาวบ้านก็เริ่มหันไปนับถือศาสนาคริสต์ตามไปด้วย ทำให้กลายเป็นชุมชนกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก โดยมีคริสตจักรบ้านท่าตาฝั่ง เป็นศูนย์รวมศรัทธาและเป็นศาสนสถานประจำชุมชน ซึ่งมีการจัดกิจกรรมทางศาสนาในทุกวันอาทิตย์ มีการนมัสการพระเจ้า การสอนพระคัมภีร์ และประเพณีเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นตามวันสำคัญทางศาสนาในแต่ละช่วงของรอบปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติ

แม่น้ำสาละวิน ชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า “แม่น้ำคง” เป็นแม่น้ำที่ไหลตัดผ่านหลายประเทศ และมีความยาวมากที่สุดในพื้นที่กลุ่มประเทศภูมิภาคอุษาคเนย์ มีความยาวเป็นระยะทางกว่า 2,800 กิโลเมตร และมีความสำคัญและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และต่อทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ระดับน้ำในแม่น้ำสาละวินจะเริ่มลดระดับลงในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน และในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมระดับน้ำในแม่น้ำก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม่น้ำสาละวินยังมีความหลากหลายทางธรณีวิทยามีหินทับถมซ้อนกันเป็นลวดลายธรรมชาติที่สวยงามหาดูได้ยาก ทั้งยังเป็นแหล่งอาศัยของปลาหลายชนิด และสองฝั่งแม่น้ำยังเต็มไปด้วยพรรณไม้ที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การศึกษาธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีหาดทรายที่มีความสวยงามคือ หาดแท่นแก้ว หรือ หาดทรายแก้ว เป็นหาดที่เต็มไปด้วยหินกลมมนสวยงาม มีความหลากหลายทั้งขนาดและประเภทของหิน ซึ่งสามารถไปเยี่ยมชมความงามของชายหาดริมฝั่งแม่น้ำสาละวินได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปี

ทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาและแหล่งน้ำ ทำให้ในบริเวณชุมชนมีป่าตามธรรมชาติที่มีพรรณไม้หลักหลาย ผืนป่าบริเวณบ้านท่าตาฝั่งสามารถจำได้ 4 ประเภท ประกอบด้วย

  1. ป่าเขตร้อน เป็นป่าที่ไม่มีไม้ผลัดใบ พืชส่วนใหญ่จะเป็นไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็งรัง
  2. ป่าเบญจพรรณ เป็นป่าที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นกระจายในบริเวณ โดยเฉพาะตามลำห้วยต่าง ๆ ที่มีความชุ่มของน้ำ ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และผึ้งชอบไปทำรังบนต้นไม้
  3. ป่าเขตหนาว เป็นพื้นที่ป่าที่ประกอบไปด้วยไม้ยืนต้นขนาดไม่ใหญ่มาก ลำต้นค่อนข้างเล็ก มีใบเขียวสดตลอดทั้งปี และป่าเหล่า เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรใช้เป็นพื้นที่ในการเพาะปลูกและทำมาหากิน มีการทำไร่หมุนเวียนและปลูกพืชอยู่เป็นประจำในแต่ละรอบปี

สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์

สถานีตำรวจภูธรท่าตาฝั่ง หรือ โรงพักท่าตาฝั่ง เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยพื้นที่นี้เคยเป็นจุดค้าขายและลำเลียงสินค้าจากฝั่งประเทศเมียนมาร์เข้ามายังพื้นที่ประเทศไทย มีการค้าขายแร่ชนิดต่าง ๆ โดยอาคารถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2466 สังกัดกองเมืองที่ 17 กองตำรวจมณฑลที่ 8 มณฑลพายัพ ลักษณะเด่นของตัวอาคารคือเป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นล่างเป็นป้อมไม้เนื้อแข็ง สร้างด้วยเสา 32 ต้น มีห้องทำงาน 3 ห้อง เพดานทำด้วยไม้แผ่น หลังคามุงสังกะสี ฝาอาคารทำด้วยไม้หนา 10 นิ้ว ซ้อนทับกัน 4 ชั้น ลักษณะเป็นบังเกอร์สำหรับการสู้รบ มีรูสำหรับสอดลำกล้องปืนได้ ในอดีตเป็นฐานของทหารพรานและตำรวจตระเวนชายแดน ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 อาคารมีความเสียหายจากการใช้งานเป็นระยะเวลานาน จึงจัดสรรงบสร้างอาคารใหม่ในปี พ.ศ. 2525 ใช้ชื่อว่า สถานีตำรวจภูธรตำบลท่าฝั่ง

บ้านท่าตาฝั่ง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวบ้านมีการใช้ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ในการติดต่อสื่อสารกันภายในชุมชน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เดชกำพล เจดีย์ยอด (2548). รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่เหมาะสมโดยความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ยวมกับราษฎรบ้านท่าตาฝั่ง หมู่ที่ 7 ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

เทศบาลตำบลแม่ยวม. (2567). หมู่บ้านท่าตาฝั่ง. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.maeyuam.go.th/

Thaipbs. (2565). เที่ยวโรงพักท่าตาฝั่ง (เก่า) สาละวิน. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.thaipbs.or.th/