Advance search

กาดหลวง

ชุมชนย่านธุรกิจการค้าเก่าแก่ที่อยู่ควบคู่กับพัฒนาการของเมืองเชียงใหม่ ตลาดสินค้าพื้นเมืองฝากตะวันตกริมฝั่งแม่น้ำปิงพื้นที่สำคัญในการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่

ช้างม่อย
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
28 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
31 พ.ค. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 มิ.ย. 2024
ตลาดวโรรส
กาดหลวง


ชุมชนย่านธุรกิจการค้าเก่าแก่ที่อยู่ควบคู่กับพัฒนาการของเมืองเชียงใหม่ ตลาดสินค้าพื้นเมืองฝากตะวันตกริมฝั่งแม่น้ำปิงพื้นที่สำคัญในการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่

ช้างม่อย
เมืองเชียงใหม่
เชียงใหม่
50300
18.790990
99.000768
เทศบาลนครเชียงใหม่

ชุมชนย่านการค้าริมฝั่งแม่น้ำปิงเริ่มก่อตัวขึ้นจากการเข้ามาของพ่อค้าชาวจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบกับเชียงใหม่เป็นหัวเมืองสำคัญที่มีการติดต่อค้าขายกับกรุงเทพฯ จึงมีการเดินเรือสินค้าเข้ามาค้าขายและทำให้เกิดเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการมาพร้อมกับเมืองเชียงใหม่ โดยปรากฏการตั้งงถิ่นฐานของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนในเมืองเชียงใหม่อย่างชัดเจนในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา แต่เดิมพื้นที่ย่านเศรษฐกิจสำคัญและชุมชนจะตั้งอยู่ในฝากด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง เนื่องจากเป็นพื้นที่เทียบท่าการสัญจรทางน้ำซึ่งเป็นการคมนาคมหลักในอดีต

ต่อมาเกิดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ มีการขูดรีดกลุ่มพ่อค้าประชาชน ทำให้ผู้คนต้องอพยพข้ามฝากมาตั้งบ้านเรือนในฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง ตลาดวโรรสหรือกาดหลวงจึงเริ่มก่อตัวขึ้นในราวปี พ.ศ. 2432 พร้อมกับชุมชนกาดต้นลำไย ซึ่งเดิมเป็นแหล่งเลี้ยงช้างและที่อาบน้ำช้างของเจ้าหลวง มีการสร้าง “เฮือนแป” เป็นห้องแถวสำหรับให้คนงานอาศัยอยู่ เมื่อมีประชากรย้ายเข้ามาจึงมีการขายเฮือนแปเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับกลุ่มคนจีนและชาวพื้นเมืองที่อพยพมาได้เช่าอาศัย

เมื่อชุมชนกาดหลวงมีความหนาแน่นมากขึ้นพ่อค้าแม่ค้าจึงได้น้ำสินค้ามาวางขายตามร่มไม้บ้าง หาบเร่บ้าง จนพัฒนาการเป็นพื้นที่ตลาดที่ค่อยๆ ขยายตัวและเติบโตมากขึ้น มีการสร้างอาคารร้านค้าเรียงรายตามฝั่งถนน ประกอบเจ้าดารารัศมีมีแนวคิดในการปรับพื้นที่บริเวณเดียวกันนี้ให้เป็นพื้นที่โล่งกว้าง “ข่วงเมรุ” ตามแบบอย่างท้องสนามหลวงของกรุงเทพฯ และทรงเล็งเห็นว่าพื้นที่ตลาดเติมมีการเติมโตทางเศรษฐกิจพื้นที่บางส่วนของข่วงเมรุจึงถูกพัฒนาไปเป็นตลาดข่วงเมรุหรือตลาดวโรรส ปัจจุบัน มีการสร้างอาคาร ห้องแถวเพิ่มเติมและมีผู้ค้าในตลาดร่วม 500 ราย ทั้งการคมนาคมทางบกมีความเจริญขึ้นพื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นคิวรถประจำเมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น 

ช่วงปี พ.ศ. 2464 การคมนาคมทางรถไฟเข้ามาถึงเมืองเชียงใหม่พัฒนาการของสังคมและย่านตลาดจึงมีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มีกลุ่มพ่อค้าคนไทย ชาวพื้นเมืองเข้ามาปักหลักค้าขายอย่างหนาแน่น ช่วงหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี พ.ศ. 2496 พื้นที่ย่านการค้าแถบนี้มีพัฒนาการเป็นตลาดที่สมบูรณ์อาคารไม้เก่าแก่ที่ทรุดโทรมถูกปรับให้เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีการขน ส่งสินค้าจากรอบนอกเข้ามาในพื้นที่ เป็นที่เปลี่ยนถ่ายและกระจ่ายสินค้าพื้นเมืองและสินค้าอื่นๆ

ช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นปีแรก มุ่งเน้นการพัฒนาระการสัญจรทางบกเป็นหลักทำให้สังคมเมืองและย่านการค้าอย่างกาดหลวงยิ่งมีการพัฒนาและเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2511 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในย่านกาดหลวง จากตลาดต้นลำไยสู่ตลาดวโรรส อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้ากว่า 2,000 ครัวเรือน รับบาลจึงพิจารณาให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตควบคุมไฟไหม้และถูกเวนคืนพื้นที่ ทำให้พื้นที่ตลาดวโรรสจากเดิม 6 ไร่ เหลือเพียง 4 ไร่

หลังจากนั้นมีการปรับปรุงโครงสร้างอาคารใหม่ในรูปแบบตะวันตก เป็นอาคารสูง 2-3 ชั้น มีบันไดเลื่อนตรงกลาง ด้านล่างเป็นตลาดสด ขายพืชผัก ผลไม้ ของใช้ในชีวิตประจำวัน ชั้นสองเป็นสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกาย และชั้นสามขายอหารทั่วไป และทำพิธีเปิดตลาดในปี พ.ศ. 2515 และยังคงเป็นย่านการค้าที่เป็นแหล่งสำคัญที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางระบบเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

ย่านกาดหลวงหรือตลาดวโรรส ที่ตั้งชุมชนเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลช้างม่อย อยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันตก อยู่ในเขตพื้นที่สำคัญทางระบบเศรษฐกิจของเมือง มีความเจริญก้าวหน้าและมีระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณูปการที่ครบครัน ทั้งสถานศึกษา สถานีตำรวจ สถานพยาบาล จุดจอดรถประจำทาง และการบริการสาธารณะอื่นๆ โดยพื้นที่ย่านตลาดวโรรสมีอาณาเขตดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนช้างม่อย
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตรอกเล่าโจ๊ว
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนวิชยานนท์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนข่วงเมรุ

กลุ่มคนดั้งเดิม เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่อดีต โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ไก้แก่ ชาวจีน ชาวพื้นเมือง และชาวซิกข์ โดยกลุ่มชาวจีนและชาวพื้นเมืองจะประกอบอาชีพด้านการขายอาหาร และสินค้าประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนชาวซิกข์หรือที่นิยมเรียกว่านายห้างจะขายสินค้าจำพวกผ้าเมตรที่ส่งมาจากโรงงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่มาแต่เดิมและรับช่วงต่อจากครอบครัว

กลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนภายนอกนพื้นที่ใกล้เคียงที่โยกย้ายเข้ามาหลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ในย่านกาดหลวง เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ จึงเลือกเข้ามาประกอบอาชีพและกิจกรรมเกี่ยวกับการค้าภายในพื้นที่ย่านนี้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประชากรกลุ่มนี้จะเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพค้าขายเพียงอย่างเดียว โดยมีลักษระไปเช้าเย็นกลับ คือประกอบการค้าภายในพื้นที่แต่ไปพักอาศัยในพื้นที่รอบนอก

ย่านกาดหลวงหรือตลาดวโรรส เป็นชุมชนย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ มีความหนาแน่นของการอยู่อาศัย และความพลุกพล่านของผู้คน ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จะประกอบอาชีพด้านการค้าขาย เป็นพื้นที่ที่มีความเจริญรุ่งเรือง มีความพร้อมทางระบบการขนส่งทางบก ทำให้เป็นย่านการค้าที่มีระบบเศรษฐกิจที่ดี และมีชื่อเสียงสำหรับนักท่องเที่ยวและชาวเมืองเชียงใหม่เอง เป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะตลาดสินค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ ก่อนให้เกิดตลาดขนาดย่อมในบริเวณโดยรอบ

โดยประชากรทั้งภายในและรอบนอกตลาดจะทำการค้าขาย มีทั้งรับสินค้าจากกลุ่มพ่อค้าคนกลางเข้ามาขายในตลาดวโรรส และพ่อค้ารอบนอกก็จะรับสินค้าจากย่านกาดหลวงหรือตลาดวโรรสไปขายอีกทอดหนึ่ง ทั้งในรูปแบบการค้าแบบขายปลีกและชายส่ง ซึ่งสินค้าที่ขายในพื้นที่มีความหลากหลาย ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาง พืชผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารสำเร็จรูป อาหารพื้นเมือง ของฝาก ย่านร้านทอง ร้านขายผ้า สังฆภัณฑ์ เป็นต้น

ย่านกาดหลวงหรือตลาดวโรรส เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของกลุ่มประชากร ถึงแม่วิถีชีวิตส่วนใหญ่ด้านการประกอบอาชีพจะเป็นไปในลักษระเดียวกันคือการประกอบธุรกิจกการค้า แต่ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้างตามลักษระของแต่ละกลุ่มคน ทั้งความเชื่อในพุทธสาสนา บรรพบุรุษ หรือเทพเจ้า โดยกลุ่มคนในพื้นที่มีอยู่ 3 เชื้อสายหลัก ประกอบด้วย กลุ่มคนไทย/คนพื้นเมือง คนจีน และคนอินเดีย โดยคนไทยและคนพื้นเมืองอยู่อาศัยในพื้นที่มาตั้งแต่อดีต มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับพุทธสาสนา มีวัดเป็นศูนย์กลางความเชื่อและศูนย์รวมศรัทธาชุมชน 

ส่วนกลุ่มคนจีนส่วนใหญ่เป็นคนจีนแต้จิ๋วเข้ามาในพื้นที่เพื่อการค้าขายวิถีวัฒนธรรมเป็นแบบชาวจีน มีความเชื่อเรื่องเทพเจ้าและมีวันสำคัญต่างๆ ตามปฏิทินจีน ศาสนสถานสองแห่ง คือ ศาลเจ้ากวนอู และศาลเจ้าปุง เถ่ากง ที่นอกจากจะเป็นศูนย์รวมศรัทธาของกลุ่มชาวจีนแล้ว คนไทยพื้นเมืองในพื้นที่ยังให้ความเคารพศรัทธาด้วยเช่นเดียวกัน และกลุ่มชาวอินเดียในพื้นที่อพยพมาจากรับปัญจาบทางตอนเหนือของอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานและค้าขายเช่นเดียวกับชาวจีน นับถือศาสนาซิกข์บางส่วนนับถือนิกายนามธารี มีวัดนามธารีเป็นศูนย์กลางความเชื่อและใช้ในการประกอบศาสนกิจ        

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
  • สถาปัตยกรรมย่านกาดหลวง/ตลาดวโรรส

รูปแบบสถาปัตยกรรมในบริเวณพื้นที่ย่านกาดหลวงหรือตลาดวโรรสมีลักษณะเฉพาะและโดดเด่น สวยงาม และมีความหลากหลายตามลักษณะการใช้งาน ประกอบด้วย

กลุ่มอาคารตึกแถว เดิมมีการก่อสร้างด้วยวุสดุที่ทำจากไม้แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้จึงมีการปรับโครงสร้างใหม่โดยใช้วัสดุที่คงทนต่อการถูกไฟไหม้ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กไม่มีหลังคาตามแบบสมัยใหม่ มีความสูงตั้งแต่ 2-5 ชั้น

อาคารศาสนสถานแบบจีน ศาลเจ้าปุงเถ่ากง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง เป็นศาลหลักเมืองของชาวจีนแห่งแรกในเมืองเชียงใหม่ เดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ต่อมามีการบูรณะต่อเติมประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น และจิตกรรมแบบสถาปัตยกรรมจีนโบราณ มีสีสันที่ฉูดฉาดทำให้โดดเด่นกว่าอาคารโดยรอบ

อาคารเพื่อการพาณิชยกรรม การก่อสร้างอาคารตลาดวโรรสมีการออกแบบตัวอาคารเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังภายนอกเป็นซีเมนต์บล็อกมีลิ้นกันฝน หลังคาออกแบบเป็นฟันเลื่อยเพื่อการถ่ายเทแสงสว่างและการระบายอากาศที่ดี มีช่องว่าตรงกลางอาคารของตลาดเพื่อให้สัมพันธ์กับพื้นที่ในแต่ละชั้น รวมไปถึงชั้นใต้ดิน มีระเบียงทางเดิน และทางลาดทีละครึ่งชั้นเพื่อความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ตลาดวโรรส 'กาดหลวง' เจียงใหม่ / Waroros Market, Chiang Mai. (2554). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567จาก https://www.facebook.com/WarorosMarket/?locale=th_TH

ตลาดวโรรส 'กาดหลวง' เจียงใหม่ / Waroros Market, Chiang Mai. (2567). สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567จาก https://www.facebook.com/WarorosMarket/?locale=th_TH

สรวิศ เกียรติภัทราภรณ์ (2562). การพัฒนาพื้นที่ย่านกาดหลวง จังหวัดเชียงใหม่. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.