ตลาดหัวรอ พื้นที่เก่าแก่บนยุทธศาสตร์สำคัญทางประวัติศาสตร์รอบเก่าเมืองเก่า ย่านเศรษฐกิจโบราณที่มีพัฒนาการร่วมกันกับสังคมเมือง จากกรุงศรีอยุธยาสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตลาดหัวรอ พื้นที่เก่าแก่บนยุทธศาสตร์สำคัญทางประวัติศาสตร์รอบเก่าเมืองเก่า ย่านเศรษฐกิจโบราณที่มีพัฒนาการร่วมกันกับสังคมเมือง จากกรุงศรีอยุธยาสู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พื้นที่บริเวณชุมชนตลาดหัวรอมีพัฒนาการและการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำและลำคลองตัดผ่าน จึงเป็นทำเลที่ตั้งสำคัญของชุมชนในอดีตที่ใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ประกอบกับบริเวณนี้มีการสร้าง “ทำนบรอ” เป็นสะพานที่ใช้ในการข้ามน้ำไปยังเกาะเมืองอยุธยา ที่มีหลักฐานการสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในช่วงราวปี พ.ศ. 2099 และได้รับการทำนุบำรุงเพื่อการใช้งานเรื่อยมา สะพานนี้ใช้สำหรับสัญจรไปมาเข้าออกเมืองอยุธยาเรียกว่า “หัวรอ” จนกลายเป็นพื้นที่ชุมทางสำคัญที่เกิดเป็นชุมชนหนาแน่น มีการเข้ามาค้าขายสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำ เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า ข่าวสาร และข้อมูลระหว่างผู้คนในชุมชน สังคมรอบนอก และหัวเมืองอื่นที่แวะเวียนผ่านเข้ามา ในบริเวณเดียวกันนี้ยังเป็นที่ตั้งของป้อมมหาชัย ที่ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ป้อมมหาชัยและทำนบรอเดิมได้ถูกรื้อออกไปจึงไม่มีปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน แต่พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยอย่างคับคั่ง แม้ช่วงกรุงแตกประชากรจะแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ก็ได้อพยพกลับมาเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย โดยเข้ามาตั้งบ้านเรือนตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลองดังเดิม เนื่องจากบริเวณตลาดหัวรอเป็นชุมทางแม่น้ำที่สามารถเดินทางไปยังหัวเมืองอื่น และขนย้ายสินค้าส่งต่อไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ พื้นที่ดังกล่าวจึงมีความเจริญเติบโตและพัฒนาเรื่อยมาพร้อมกับพัฒนาการทางสังคมเมืองพระนครศรีอยุธยา
ตลาดหัวรอเริ่มปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนจากเดิมเป็นพื้นที่โรงบ่อนเบี้ยมาก่อน มีห้องแถวไม้หลังคามุงจากเป็นย่านตลาดขนาดย่อม ลูกเพลิงไหม้เสียหายในปี พ.ศ. 2440 นายอากรบ่อนเบี้ยจึงขออนุญาตสร้างบ่อนใหม่ มีห้องแถว 22 ห้อง ในปี พ.ศ. 2443 มีการสร้างห้องแถวเป็น 152 ห้อง และเพิ่มเป็น 226 ในปี พ.ศ. 2458 เนื่องจากมีพัฒนาการทางระบบการคมนาคมขนส่งทางบกที่เจริญมากขึ้นการเข้ามาของผู้คนจึงมีความสะดวกรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย จนกลายเป็นชุมชนขยายและมีประชากรหนาแน่น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง พัฒนาการด้านระบบสาธารณูปโภคหลากหลายด้าน โดยเฉพาะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ในช่วงที่ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481-2484) พื้นที่พระนครศรีอยุธยาได้รับงบประมาณในการสนับสนุนการพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก รวมไปถึงช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม วาระที่ 2 (พ.ศ. 2491-2500) มีการส่งเสริมพัฒนาเมือง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดำเนินนโยบายการคมนาคมขนส่งทางบก การเดินทางโดยรถยนต์จึงมีความสะดวกรวดเร็ว การค้าในพื้นที่จึงทำให้ตลาดหัวรอกลายมาเป็นตลาดบกอย่างเต็มตัว มีการปรับปรุงตลาด สร้างตึกแถว อาคารพาณิชย์ให้กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาจับจอง กลายเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญอีกแห่งหนึ่งควบคู่กับเมืองพระนครศรีอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน
ย่านตลาดหัวรอ ที่ตั้งชุมชนอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 9 ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณหัวมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองอยุธยา มีเนื้อที่ทั้งหมด 4,667 ตารางวา หรือประมาณ 10 ไร่ 3 งาน ในบริเวณแม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกัน เป็นบริเวณชุมชนสังคมเมืองที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจ การคมนาคม ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณูปการที่ครบครัน โดยพื้นที่ย่านตลาดหัวรอมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองเมือง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ โรงแรมอยุธยาธานี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ คลองมหาไชย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ วัดแม่นางปลื้ม
ตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประชากรในชุมชนย่านตลาดหัวรอส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน มีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 9 ตลาดหัวรอ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 534 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 221 คน ประชากรหญิง 313 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 209 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
จีนย่านตลาดหัวรอเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจเก่าแก่แห่งหนึ่งที่อยู่คู่กับเมืองพระนครศรีอยุธยามาอย่างยาวนาน ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จะประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขาย การพาณิชยกรรม การขายสินค้าและบริการ เป็นย่านพาณิชยกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับคนในพื้นที่ โดยกิจกรรมเกี่ยวกับการค้าขายหรือการบริการในพื้นที่ชุมชนย่านนี้มีความแตกต่างและหลากหลายตามลักณษะและประเภทของสินค้าและผู้ใช้บริการ ส่วนใหญ่กิจกรรมด้านพาณิชยกรรมที่พบได้ในชุมชนมากที่สุดจะเป็น การเปิดอาคารพาณิชย์เป็นร้านค้า และการใช้พื้นที่ในลักษณะของหาบเร่แผงลอย มีทั้งร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายผ้าเมตร เครื่องเรือน เรื่องนอน สังฆภัณฑ์ ของใช้ภายในครัวเรือน ร้านอาหาร เครื่องเทศ พืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารสด หรือในลักษณะประเภทการบริการต่างๆ ได้แก่ ร้านนวด ร้านเสริมสวย ร้านซ่อม ร้านถ่ายเอกสาร ร้านขายยา ฯลฯ ซึ่งตลาดหัวรอเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญของชุมชนและบริเวณใกล้เคียงรอบนอก
นอกจากนี้ย่านชุมชนตลาดหัวรอยังมีการเปิดตลาดสินค้าที่เป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกพ่อค้าแม่ค้านำสิ่งของมาวางขายเป็นตลาดนัดบริเวณลานหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม เรียก “ตลาดหน้าวังจันทรเกษม” โดยจะเปิดทุกวันตั้งแต่ช่วงเวลา 17.00 – 23.00 น.
ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ชุมชนย่านตลาดหัวรอเป็นกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยในพื้นที่มาตั้งแต่อดีต และมีการสร้างศาลเจ้าแม่ต้นจันขึ้นไว้เป็นศูนย์รวมศรัทธาและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ และผู้คนบริเวณตลาดหัวรอ ซึ่งสัมพันธ์กับวิถีวัฒนธรรม และประเพณีเทศกาลต่าง ๆ ของชาวบ้านในพื้นที่และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของคนในชุมชน โดยมีประเพณีเทศกาลที่สำคัญประกอบด้วย
งานงิ้ว เป็นการแสดงมหรสพอุปรากรจีนหรือการแสดงงิ้ว เพื่อเป็นการสักการะศาลเจ้าแม่ต้นจัน โดยจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในทุก 6 เดือน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนกันยายน จะจัดขึ้นติดต่อกันประมาณ 5 วัน บริเวณริมถนนอู่ทอง ตั้งแต่เวลา 19.00-23.00 น. และมี 1 วันที่เป็นวันไหว้เจ้าใหญ่ที่จะแสดงงิ้วตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นไป
ประเพณีทิ้งกระจาด เป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญอีกประเพณีหนึ่งของชุมชนชาวจีนย่านตลาดหัวรอ และชาวบ้านในชุมชนโดยรอบ ซึ่งเป็นกิจกรรมการมอบสิ่งของให้กับผู้ยากไร้ เป็นการทำบุญ แบ่งปันสิ่งของ โดยประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม หรือ วังจันทรเกษม หรือ วังหน้า ตั้งอยู่ถนนอู่ทอง ริมแม่น้ำป่าสักมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเมืองใกล้ตลาดหัวรอ วังจันทรเกษมปรากฏหลักฐานพงศาวดารว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชประมาณ พ.ศ. 2120 เพื่อให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเคยใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระยุพราชและพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ เมื่อคราวเสียกรุงในปี พ.ศ. 2310 วังนี้ได้ถูกข้าศึกเผาทำลายเสียหายมากและถูกทิ้งร้าง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัตยาและพลับพลาจตุรมุขไว้เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยาและพระราชทานนามว่า “พระราชวังจันทรเกษม” เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2436
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นที่ทำการของมณฑลกรุงเก่าเมื่อ พ.ศ. 2442 และจนกระทั่งเมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าจึงได้จัดสร้างอาคารที่ทำการภาคบริเวณกำแพงทางด้านทิศตะวันตกต่อกับทิศใต้ แล้วย้ายที่ว่าการมณฑลจากพระที่นั่งพิมานรัตยามาตั้งที่อาคารที่ทำการภาคในขณะนั้น กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาดูแลและจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษมจนกระทั่งปัจจุบัน
โบราณสถานโบราณวัตถุที่น่าสนใจในพระราชวังจันทรเกษม
กำแพงและประตูวัง ปัจจุบันก่อเป็นกำแพงอิฐมีใบเสมา มีประตูด้านละ 1 ประตู รวม 4 ด้าน
พลับพลาจตุรมุข ตั้งอยู่ใกล้ประตูวังด้านทิศตะวันออก เป็นพลับพลาเครื่องไม้ มีมุขด้านหน้า 3 มุข ด้านหลัง 3 มุข เดิมใช้เป็นท้องพระโรงสำหรับออกงานว่าราชการและเป็นที่ประทับ ต่อมากลายเป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุ เรียกว่า อยุธยาพิพิธภัณฑสถาน ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่มีอยู่เดิมภายในพระราชวังนี้
พระที่นั่งพิมานรัตยา จัดแสดงประติมากรรมที่สลักจากศิลา เป็นเทวรูปและพระพุทธรูปนาคปรก ศิลปะสมัยลพบุรี พระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยา พระพิมพ์ และเครื่องไม้แกะสลัก
พระที่นั่งพิสัยศัลลักษณ์ หรือ หอส่องกล้อง เป็นหอสูงสี่ชั้น ใช้เป็นที่ประทับทอดพระเนตรดวงดาว
ตึกที่ทำการภาค จัดนิทรรศการถาวร 5 เรื่อง คือ เรื่องศิลปะสถาปัตยกรรมอยุธยา เครื่องปั้นดินเผาสินค้านำเข้าและส่งออกที่สำคัญของอยุธยา อาวุธยุทธภัณฑ์ ศิลปวัตถุพุทธบูชาและวิถีชีวิตริมน้ำชาวกรุงเก่า
กัมปนาท เหล่าอุตสาหะ (2559). การพัฒนาพื้นที่ย่านตลาดหัวรอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. (ม.ป.ป.). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567, จาก https://ww2.ayutthaya.go.th/travel/
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม:Chantharakasem National Museum. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.facebook.com/media/
มิวเซียมไทยแลนด์. (2562). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567, จาก https://www.museumthailand.com/th/museum/Chantharakasem-National-Museum
Kapok. (2565). ชี้พิกัดของกินตลาดหัวรอ อยุธยา ชุมทางของอร่อยในราคาไม่แพง. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567, จาก https://travel.kapook.com/