ยมจินดา ย่านเก่าแก่ของชุมชนใจกลางเมืองจังหวัดระยอง จากพื้นที่ชุมชนริมน้ำสู่การพัฒนาระบบการคมนาคมทางบก กับการเจริญเติมโตระบบเศรษฐกิจของชุมชนควบคู่กับพัฒนาการของจังหวัด และการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่
ยมจินดา ย่านเก่าแก่ของชุมชนใจกลางเมืองจังหวัดระยอง จากพื้นที่ชุมชนริมน้ำสู่การพัฒนาระบบการคมนาคมทางบก กับการเจริญเติมโตระบบเศรษฐกิจของชุมชนควบคู่กับพัฒนาการของจังหวัด และการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่
ชุมชนยมจินดาเกิดขึ้นพร้อมกับการตัดถนนยมจินดาซึ่งเป็นถนนสายแรกของเมืองระยอง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณ พ.ศ. 2443 เป็นถนนที่ผ่าใจกลางเมืองและวางตัวขนานไปกับแม่น้ำระยอง ทำให้ชุมชนยมจินดากลายเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย แหล่งการค้า รวมถึงแหล่งขนถ่ายสินค้าไปยังกรุงเทพฯ และหัวเมืองอื่น ๆ
เมื่อมีการตัดถนนยมจินดา แม่น้ำระยองซึ่งเคยเป็นเหมือนเส้นโลหิตสำคัญก็ถูกลดความสำคัญลง จากบ้านเรือนที่เคยหันหน้าเข้าแม่น้ำก็ปรับเปลี่ยนเป็นอาคารและตึกแถวที่หันหน้าเข้าหาถนน บางบ้านก็ใช้วิธีดีดและงัดบ้านทั้งหลังให้หน้าบ้านหันกลับมาฝั่งถนน และเมื่อผู้คนหันมาสัญจรทางบกมากกว่าทางน้ำ แม่น้ำระยองจึงแปรเปลี่ยนจากสถานะประตูรับแขกหน้าบ้านเป็นแค่คลองหลังบ้านเท่านั้น เมื่อการคมนาคมเริ่มสะดวก ความเจริญก็เข้ามาเคาะประตูบ้านเรือนในย่านนี้ ชุมชนยมจินดาจึงค่อย ๆ เติบโตและรุ่งเรืองสุดขีดในฐานะย่านการค้าที่สำคัญของระยองและภาคตะวันออก ในสมัยนั้น เจ้าสัวนายทุนมาปักหลักทำธุรกิจบนถนนยมจินดา คหบดีและเศรษฐีต่างท้องถิ่นก็มักจะมาจับจองที่ดินสำหรับสร้างบ้านเรือน รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ก็ทยอยมาเปิดที่นี่ อาคารพาณิชย์จึงเรียงรายเต็มสองฝั่งถนน ทั้งโรงหนัง โรงฝิ่น โรงสี ธนาคาร ร้านทอง ร้านยาจีน ร้านเครื่องเขียน และอู่ต่อเรือ เพราะเป็นถนนสายแรก ความเจริญทั้งหมดของเมืองระยองจึงกระจุกตัวอยู่ที่ถนนยมจินดา ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นย่านคนรวยไปโดยปริยาย บนถนนยมจินดาเองก็มีทั้งบ้านขุนนางและคหบดีให้เห็นอยู่หลายหลัง
ต่อมาเมื่อมีการเติบโตของเมือง และเกิดย่านการค้าแห่งใหม่ มีการตัดถนน เพิ่มเส้นทางการคมนาคม การสร้างอาคารพาณิชย์และแหล่งเศรษฐกิจเพิ่มเติมทำให้พื้นที่ย่านถนนยมจินดาเริ่มถูกลดบทบาทลง ในช่วงปี พ.ศ. 2516 เจ้าของธุรกิจการค้าในพื้นที่เริ่มย้ายออกไปจับจองพื้นที่ย่านศูนย์การค้าแห่งใหม่ เป็นพื้นที่ตลาดค้าขายทั้งแบบปลีกและส่ง เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ผู้คน ท่ารถขนาดใหญ่ของจังหวัดระยอง พื้นที่ย่านยมจินดาจึงเริ่มซบเซาลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประชากรในชุมชนจึงร่วมมือกันจัดตั้งกลุ่มชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่าระยองขึ้นในปี พ.ศ. 2550 เพื่อฟื้นฟูย่านการค้าเก่าแก่ ชุมชนถนนยมจินดา ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้พื้นที่ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และแสดงให้เห็นถึงมนต์เสน่ห์ของย่านเมืองเก่า วิถีชีวิตชุมชน อาคารและสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เพื่อสร้างเสริมศักยภาพชุมชนและผลักดันเป็นถนนคนเดินในเทศกาลต่างๆ และสนับสนุนให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
พื้นที่ชุมชนเก่าบริเวณย่านถนนยมจินดา ที่ตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณริมฝั่งแม่น้ำระยอง ถนนยมจินดา ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองเก่าที่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นชุมชนเก่าในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี มีเนื้อที่ราว 0.11 ตารางกิโลเมตร ลักษณะทางกายภาพของภูมิศาสตร์ชุมชนเป็นพื้นที่เปิดโล่งริมฝั่งแม่น้ำ มีซอยถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนยมจินดาไปถึงฝั่งแม่น้ำระยองได้ มีแนวกลุ่มอาคารเก่าที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นเรียงรายต่อเนื่องไปตลอดสองฝั่งถนนยมจินดา และแสดงให้เห็นถึงความเป็นย่านการค้า และชุมชนเก่าแก่อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมทางด้านระบบคมนาคมขนส่ง ระบบสาธารณูปโภค และระบบสาธารณูปการ ซึ่งบริเวณชุมชนย่านถนนยมจินดามีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนชุมพล
- ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่แม่น้ำระยอง
- ทิศตะวัยออก ติดต่อกับ ถนนตากสินมหาราช
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนภักดีบริรักษ์
ชุมชนย่านถนนยมจินดา ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีประชากรอยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน โดยประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นคนพื้นถิ่นเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำระยอง และประชากรอีกส่วนหนึ่งจะเป็นกลุ่มคนจีน คนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาทำการค้าขายในพื้นที่เมืองเก่าระยอง และตั้งถิ่นฐานมาจนถึงปัจจุบัน โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 19,651 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 9,242 คน ประชากรหญิง 10,373 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 8,752 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
จีนเดิมพื้นที่ชุมชนย่านถนนยมจินดา ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความคึกคักเป็นอย่างมาก ประชากรในพื้นที่ทำอาชีพด้านการค้าขายและมีรายได้ที่ดีจากการขายสินค้า แต่หลังจากการเกิดย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ของจังหวัดระยอง กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าก็โยกย้ายไปยังแหล่งการค้าแห่งใหม่ด้วย ทำให้พื้นที่ถนนยมจินดาถูกลดบทบาทและซบเซาลง ภายหลังชาวบ้านจึงผลักด้านพื้นที่ชุมชนซึ่งเป็นย่านเมืองเก่าโดยดึงศักยภาพและมนต์เสน่ห์ของเมืองมาสนับสนุนให้กลายเป็นพื้นที่แหล่งท่องเชิงวัฒนธรรม ควบคู่กับการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน เป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชากรในพื้นที่ และผลักดันให้เกิดรูปแบบการค้าในท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้และสร้างอาชีพกับชุมชนอีกครั้ง
รูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวในวันธรรมดา เป็นการค้าขายตามปกติของชาวบ้าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นร้านเก่าแก่ดั้งเดิมที่อยู่คู่กับย่านถนนยมจินดามาอย่างยาวนาน ร้านค้าส่วนมากที่เปิดใช้ช่วงวันธรรมดาจะเป็นร้านอาหาร ขนมหวาน เครื่องดื่ม ร้านส้มตำ ฯลฯ และผู้ที่แวะเวียนเข้ามาสามารถแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในพื้นที่ได้ เช่น ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าโจซือกง พิพิธภัณฑ์เมืองระยอง อาคารสถาปัตยกรรมเก่า เป็นต้น
รูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และงานเทศกาลสำคัญ รูปแบบการค้าประเภทนี้จะจัดขึ้นในบางสัปดาห์ โดยจะมีการปิดถนนยมจินดาเพื่อเปิดเป็นถนนคนเดินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ทุกวันศุกร์และวันเสาร์ของสิ้นเดือน จะมีการจัดงาน street food งานภูมิบุรี งานอนุรักษ์มรดกไทย ฯลฯ จะมีการนำสินค้าชุมชนและการออกร้านของร้านค้าภายนอกเข้ามาจำหน่าย ทั้งสิ้นค้าพื้นเมือง ของที่ระลึก อาหารท้องถิ่น และการแสดงทางวัฒนธรรม
พิพิธภัณฑ์เมืองระยอง
พิพิธภัณฑ์ภัณฑ์เมืองระยองตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บริเวณถนนยมจินดา เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมรูปภาพ เรื่องราว และประวัติศาสตร์พื้นที่ถนนยมจินดา และเรื่องราวในจังหวัดระยอง เกิดจากความตั้งใจเดิมของกลุ่มชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองเก่าระยองให้เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล สิ่งของ ทั้งภาพถ่ายโบราณหาชมยาก ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งแสดงความเป็นอยู่ของผู้คนชาวเมืองระยองในอดีต
รูปแบบสถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมประเภทศาสนา มีสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจีน ศาลจะมีรูปทรงอาคารคล้ายศาลเจ้าจีน แต่เดิมสร้างด้วยไม้ ต่อมาจึงปรับปรุงให้เป็นอาคารปูน แต่ยังคงรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมแบบเดิม ได้แก่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าโจซือกง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ ที่ชาวระยองให้ความเคารพ สร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยน ลักษณะอาคารเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนฮกเกี้ยนโบราญ ภายในและภายนอกมีการตกแต่งหลังคาและพนังด้วยตุ๊กตาปูนปั้นจีน ประดับด้วยกระเบื้องศิลปะ ฮกเกี้ยนตามเทพนิยายจีน มีการแกะสลักประดับตามขื่อหลังคา คาน ช่องลมและแท่นบูชาอย่างงดงาม
รูปแบบสถาปัตยกรรมประเภทที่พักอาศัย ในเขตพื้นที่ชุมชนเก่าถนนยมจินดาส่วนใหญ่เป็นอาคารห้องแถวไม้เป็นตึก 2 ชั้น มีทั้งอาคารไม้เดิมและที่สร้างขึ้นใหม่ รวมไปถึงอาคารสมัยใหม่ที่สร้างจากคอนกรีต 1-2 ชั้นตั้งอยู่ในบริเวณถนนยมจินดาเช่นกันแต่พบในจำนวนที่น้อย
รูปแบบสถาปัตยกรรมประเภทพาณิชยกรรม ในเขตพื้นที่ชุมชนเก่าถนนยมจินดา ส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์กึ่งที่พักอาศัย มีลักษณะเป็นอาคารแถวไม้ อาคารตึกแถวสองชั้น และอาคารครึ่งไม้ครึ่งคอนกรีต ลักษณะการใช้งานเป็นร้านค้า ร้านกาแฟ วัสดุและการก่อสร้างบางอาคารพัฒนาจากไม้สู่การก่ออิฐ และโครงสร้างตอนกรีตเสริมเหล็ก เช่น อาคารรูปแบบชิโนโปรตุกีส เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมยุโรปและศิลปะจีน หน้าต่างงวงโค้งเกือกม้า หัวเสาแบบดริก หรือไอโอนิก (แบบม้วนก้นหอย) และคอรินเทียน (มีใบไขนาดใหญ่ประดับลาย) บริเวณช่องระบายอากาศ ระเบียง ประตู หน้าต่าง เป็นต้น
รุ้งทราย จันทร์มา (2562). การพัฒนาพื้นที่ย่านการค้าชุมชนเก่า: กรณีศึกษาถนนยมจินดา จังหวัดระยอง. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง.
พิมพ์พญา เจริญศิริพันธ์. (2564). พาเดินเท้าสำรวจสถาปัตยกรรมเก่าแก่ร้อยปีบนถนนยมจินดา ย่านเก่าที่ได้ชื่อว่าเป็น Beverly Hills แห่งระยอง. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2567, จาก https://adaymagazine.com/