เยาวราช “ไชนาทาวน์แดนสยาม” ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ย่านการค้าเศรษฐกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ สวรรค์แห่งอาหารริมทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมมีชีวิตและถนนแห่งเรื่องราวของชาวไทยเชื้อสายจีน
“เยาวราช” เป็นนามที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเยาวราชนั้นมีความหมายว่า “พระราชาผู้ทรงพระเยาว์” ในที่นี้ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระรัชทายาทพระองค์แรกในรัชกาล การพระราชทานชื่อถนนสายนี้ว่า “ถนนเยาวราช” จึงมีนัยเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระรัชทายาทในขณะนั้น
เยาวราช “ไชนาทาวน์แดนสยาม” ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ย่านการค้าเศรษฐกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ สวรรค์แห่งอาหารริมทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในฐานะเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมมีชีวิตและถนนแห่งเรื่องราวของชาวไทยเชื้อสายจีน
“เยาวราช” เป็นชื่อถนนสายหนึ่งในเขตสัมพันธวงศ์ หากฐานะที่แท้จริงแล้ว เยาวราช คือ ชุมชนจีนโพ้นทะเลเก่าแก่ขนาดใหญ่ในเมืองไทย ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นย่านการค้าหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่จอแจด้วยผู้คนมากมายที่ต่างก็ล้วนเร่งรีบ วุ่นวาย การจราจรคับคั่งไปด้วยรถยนต์ รถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์ รถเข็นส่งสินค้า ทว่ากว่าจะมาเป็นย่านการค้าไชนาทาวน์ดังเช่นทุกวันนี้ เยาวราชแห่งนี้มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาร่วม 100 ปี นับตั้งแต่ในสมัยที่ชาวจีนโพ้นทะเลดั้งเดิมอพยพเข้ามาเพื่อทําการค้าขายและตั้งรกรากในแผ่นดินไทย บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรีจนกลายเป็นแหล่งชุมชนคนจีนขนาดใหญ่
แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น จึงย้ายราชธานีมาตั้งฝั่งพระนครในปัจจุบัน ชุมชนชาวจีนในครั้งนั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋วต้องอพยพขนย้ายกันอีกครามายังริมแม่น้ำทางทิศใต้ของพระนครที่ถูกเรียกว่า “สำเพ็ง” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนเยาวราชขึ้นในปี พ.ศ. 2435 จึงทำให้ถนนเยาวราชเป็นย่านหลักของชุมชนชาวจีน ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการในสมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงริเริ่มโครงการตัดถนน 18 สายในท้องถิ่นอำเภอสำเพ็ง เมื่อ พ.ศ. 2434 ที่ได้ดำริว่า “ไม่มีที่ใดเจริญกว่าแขวงสามเพ็ง ด้วยเป็นทำเลการค้าขายมีประโยชน์มากในที่นั้น แต่ประโยชน์ในที่นั้นดูบกพร่อง เหตุเพราะมีถนนน้อย และที่มีอยู่แล้วก้แคบเล็ก เป็นที่ขัดขวางทางไปมาของการค้าขายไม่พอแก่การเจริญ ซึ่งควรจะเกิดขึ้นได้อีกเป็นอันมาก”
ถนนเยาวราช จึงถือเป็นหนึ่งในถนนที่สร้างขึ้นตามโครงการตัดถนน 18 สาย เพื่อส่งเสริมการค้าขายในอําเภอสำเพ็ง โดยถนนสายนี้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2435 ในบริเณที่แต่เดิมเป็นชุมชนแออัดของชาวจีน และเต็มไปด้วยตรอกซอกซอยสกปรก รกรุงรัง เป็นพื้นที่ด้านหลังระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนสําเพ็ง การตัดถนนสายนี้ต้องใช้เวลานานถึง 8 ปี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระประสงค์ให้หลีกเลี่ยงบ้านเรือนของราษฎร แนวของถนนจึงมีลักษณะคดโค้งไปมา เมื่อตัดเสร็จพระราชทานชื่อถนนว่า “เยาวราช” (ขณะนั้นอาจเรียกว่า “ถนนยุพราช”) ซึ่งมีความหมายว่า “พระราชาผู้ทรงพระเยาว์” อันมีนัยถึงการเฉลิมพระเกียรติพระรัชทายาทพระองค์แรก คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตึกแถวสมัยใหม่สองข้างทางสําหรับให้เช่าทําการค้าขาย ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวจีนจํานวนมากได้เริ่มต้นกิจการค้าขายเป็นของตัวเอง โดยมีห้างร้านถาวรทันสมัย ส่งผลทําให้เกิดเป็นย่านการค้าใหม่ที่ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของอําเภอ จนกลายเป็นอําเภอที่เก็บภาษีอากรโรงร้านได้มากที่สุดในประเทศ ต่อมาถนนสายนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็น “ไชนาทาวน์” เมืองไทย เนื่องจากตลอดสายของถนนเป็นแหล่งทํามาหากินและที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีน ซึ่งนับได้ว่าเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ในช่วง พ.ศ. 2490-2500 ถนนเยาวราชได้กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจและความบันเทิงชั้นนําของเมืองไทย กล่าวคือ ครั้งเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถนนเยาวราชเจริญเฟื่องฟูสูงสุด กลายเป็นถนนสายหลักของชุมชนชาวจีนพร้อมทั้งก้าวขึ้นเป็นย่านธุรกิจชั้นแนวหน้าของเมืองไทย และเป็นศูนย์รวมความทันสมัยของกรุงเทพมหานครโดยเป็นที่ตั้งของตึกสูงที่สุดของประเทศถึง 3 แห่ง ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุด แหล่งรวมร้านค้าทองมาตรฐานสูงสุด ตัวแทนจําหน่ายสินค้าชั้นนําจากต่างประเทศ กิจการธนาคาร ตลอดจนห้างร้านขายของกิน และของใช้แบบจีนมากมาย ซึ่งหลายร้านได้ขยายกิจการสู่ระดับประเทศ โดยธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในย่านเยาวราช คือ ร้านขายทอง หรือนิยมเรียกกันว่า ห้างทอง ซึ่งมีตลอดแนวถนนเยาวราช จนทำให้เยาวราชได้ชื่อว่าเป็น “ถนนสายทองคำ” หลายร้านมีอายุเก่าแก่ เปิดตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปัจจุบันก็มีปรับให้ทันสมัยมากขึ้น แต่บางร้านก็ล้มหายไป นอกจากนี้ ยังมีภัตตาคารชั้นเลิศหลายแหล่ง มีโรงงิ้วหลายโรงที่สร้างขึ้นถาวรเหมือนโรงภาพยนตร์ อีกทั้งยังมีโรงน้ำชาเป็นสถานเริงรมย์แบบใหม่ เยาวราชจึงกลายเป็นแหล่งบันเทิงยอดนิยมของคนกรุงเทพมหานครในขณะนั้น
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีนิวไชนาทาวน์เกิดขึ้นหลายแห่ง และเยาวราชถูกจัดเป็นหนึ่งในพื้นที่ของเมืองเก่า ทว่า เยาวราชยังเป็นย่านการค้าสำคัญที่มีชีวิตชีวาตลอดวัน โดยช่วงกลางวันจะเป็นการค้าแบบดั้งเดิม ส่วนช่วงเย็นจนถึงค่ำคืนจะเป็นร้านอาหารในแบบสตรีตฟูด (Street Food) มีร้านอาหารริมข้างทางเรียงรายตลอดสองฝั่งถนน ซึ่งแต่ละร้านล้วนมีชื่อเสียงในเรื่องความอร่อย ในระยะหลังเยาวราชจึงมีความโดดเด่นในเรื่องอาหารการกินมาก จนได้รับการจัดอันดับจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นให้เป็น “สวรรค์แห่งอาหารริมทาง” นอกจากนี้ ยังมีภัตตาคารหรือร้านอาหารชื่อดังที่ได้รับความนิยมจากทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ บางร้านยังเป็นร้านที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในหนังสือคู่มือมิชลินไกด์ หรือที่เรียกกันว่าได้ดาวมิชลิน อีกทั้ง ยังคงมีตลาดขายของแห้งสไตล์จีนที่เป็นที่นิยมและหายากในพื้นที่อื่น ซึ่งความโดดเด่นเหล่านี้เป็จปัจจัยที่ทำให้เยาวราชสามารถดึงนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากทั่วโลกให้มาเยือน และไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนไทยก็นิยมมาลิ้มลองอาหารเมนูเด็ดที่เยาวราชด้วยเช่นกัน
ที่ตั้งและอาณาเขต
เยาวราช มีชื่อเดิมเรียกว่า “สําเพ็ง” ตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร อยู่ในเขตพื้นที่ของกลุ่มรัตนโกสินทร์ เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมที่สําคัญ มีย่านการค้าที่หนาแน่นอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้าง ลักษณะอาคารส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์ ตึกแถว อาคารใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งที่พักอาศัยของชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก
เยาวราช เป็นย่านชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทย และยังถือเป็นย่านธุรกิจการค้าขนาดใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสําคัญในกรุงเทพมหานคร ซึ่งการมีอยู่ของเยาวราชนั้นเริ่มจากพ่อค้าชาวจีนได้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาในช่วง พ.ศ. 2325 หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีมาตั้งยังฝั่งพระนคร แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนโยกย้ายจากบริเวณท่าเตียนไปอาศัยอยู่บริเวณตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส มหาวิหาร) ลงไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร) ชาวจีนก็ได้สร้างชุมชนของตัวเองขึ้น ทั้งยังได้สร้างย่านการค้าขายจนเติบโตกว้างขวางทางใต้ของพระนคร ได้แก่ ชุมชนตลาดสะพานหัน ตลาดเก่า ตลาดสําเพ็ง ตลาดวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) และตลาดน้อย ซึ่งก็คือ ย่านสําเพ็ง-เยาวราชในปัจจุบัน (พนิดา สงวนเสรีวานิช, 2560) โดยพื้นที่เยาวราชมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ถนนเจริญกรุง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนทรงวาด
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนตรีมิตร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ถนนราชวงศ์
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
ลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่บริเวณเยาวราช มีการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งเพื่อพาณิชยกรรม ที่พักอาศัย ศาสนสถาน สถาบันการศึกษา คลังสินค้า และอุตสาหกรรม แต่ส่วนมากจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินและอาคารในเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีทั้งการค้าปลีกและค้าส่ง โดยอาคารพาณิชย์แต่ละหลัง ชั้นล่างจะเปิดดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการค้าขายเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชั้นบนจะใช้เป็นที่สําหรับเพื่อพักอาศัยและเก็บของ โดยตัวอาคารส่วนใหญ่จะเป็นตึกแถว อาคารครึ่งปูนครึ่งไม้เกาะตัวตามแนวถนนเยาวราชและตามตรอกซอกซอยย่อยต่าง ๆ ที่แยกจากถนนเยาวราชออกไป ส่วนในเรื่องของรูปแบบของอาคารยังคงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม รวมถึงมีการออกแบบในรูปแบบสมัยใหม่ที่ยังคงรักษากลิ่นไอความเป็นเยาวราชได้อย่างลงตัว ถึงแม้อาคารบางหลังจะมีรูปแบการสร้างที่แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
เยาวราช ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนเก่าแก่ขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 พร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยชาวจีนอพยพที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นชาวแต้จิ๋ว เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่แถวพระบรมมหาราชวังเดิม เมื่อมีการสร้างพระบรมมหาราชวังใหม่ จึงให้ชาวจีนย้ายไปยังสำเพ็ง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนเยาวราชขึ้นในปี พ.ศ. 2435 จึงทำให้ถนนเยาวราชเป็นย่านหลักของชาวจีน
การประกอบอาชีพ
ประชากรส่วนใหญ่ของเขตสัมพันธวงศ์เป็นคนวัยทํางาน และยังมีประชากรแฝงที่เป็นคนต่างถิ่นจากภาคอีสานและจากพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครเป็นจํานวนมาก เนื่องจากสัมพันธวงศ์เป็นเขตที่มีสภาพเป็นแหล่งสร้างงานขนาดใหญ่ จึงจัดได้ว่าเป็นชุมชนของผู้มีรายได้สูง เนื่องจากมีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในเชิงธุรกิจ
ธุรกิจในเยาวราชนั้นมีความหลากหลายทั้งธุรกิจด้านการค้า การเงิน ธนาคาร ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านค้าเทปและซีดีสวดมนต์ ของเล่นเด็ก ชุดกี่เพ้า โคมไฟ ผ้าแดงมงคล เครื่องประดับ ปฏิทิน อาหารแห้ง โรงแรมที่พักต่าง ๆ และร้านทอง หรือนิยมเรียกว่า ห้างทอง ที่ถือเป็นธุรกิจที่โดดเด่นและสําคัญที่สุดในย่านเยาวราช ซึ่งตั้งอยู่ตลอดแนวถนนเยาวราชกว่า 130 ร้าน ถือได้ว่าเยาวราชเป็นย่านค้าทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นตลาดทองรูปพรรณทํามือที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนทําให้เยาวราชได้ชื่อว่าเป็น “ถนนสายทองคํา” และมีกระแสหมุนเวียนจากการค้าทองคํามากถึงวันละกว่าสิบล้านบาท หรือกว่าสามพันล้านบาทต่อปี ส่งผลทําให้ลักษณะทางเศรษฐกิจของเยาวราชตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงเป็นแหล่งการค้าขายใหญ่และศูนย์กลางทางการเงินที่สําคัญของกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ในปัจจุบันเยาวราชยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สําคัญของกรุงเทพมหานครอันเป็นผลจากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของเยาวราชในมุมมองการท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมจีนมีชีวิตซึ่งประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถานหลายศาสนา สถานที่ทางประวัติศาสตร์ แหล่งค้าขายสินค้าทั้งค้าปลีกและค้าส่ง แหล่งการเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนแหล่งรวมอาหารจีนที่มีชื่อเสียงระดับสากล เนื่องจากหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลมีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและ นักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยภายใต้ชื่อโครงการว่า “เรายกฮ่องกงมาไว้ที่นี่” รวมถึง “Amazing Chinatown Yaowarat” ซึ่งจัดขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2541-2542 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสําคัญที่ทําให้ถนนเยาวราชกลายเป็นย่านท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว โดยมีจุดขายคือวัฒนธรรมความเป็นจีน ความเชื่อ และอาหาร แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมผ่านเทศกาลต่าง ๆ ที่จัดขึ้นหมุนเวียนตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลกินเจ เทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ฯลฯ ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของเยาวราชแล้ว ทําให้สามารถผลักดันเยาวราชให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คึกคักที่สําคัญของกรุงเทพมหานคร และส่งผลให้เศรษฐกิจของเยาวราชเกิดการสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
การรวมกลุ่มชุมชนในพื้นที่เยาวราชมีหลายลักษณะ ตั้งแต่กลุ่มองค์กรชุมชนกลุ่มอาชีพทางการค้า กลุ่มวัฒนธรรมและศาสนา และกลุ่มบําเพ็ญประโยชน์ โดย ชัยยศ จิตเอกวิโรจน์ (2560 : 77-78) ได้กล่าวไว้ ดังนี้
1) กลุ่มองค์กรชุมชน เป็นการรวมผู้คนที่พักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มชุมชนโดยได้จดทะเบียนกับสํานักพัฒนาชุมชน กรุงเทพมหานคร เช่น ชุมชนมิตรตลาดเก่า เป็นกลุ่มชุมชนบริเวณตลาดเก่า ชุมชนกรมภูธเรศ เป็นกลุ่มชุมชนบริเวณตลาดกรมภูธเรศ
2) กลุ่มอาชีพทางการค้า เป็นการรวมกลุ่มตามกิจกรรมการค้าที่เหมือนกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และร่วมมือประสานงานแก้ไขปัญหาของสมาชิก เช่น กลุ่มผู้ค้าทอง
3) กลุ่มวัฒนธรรมและศาสนา เป็นการรวมกลุ่มสมาคมของตระกูลต่าง ๆ เช่น การรวมกลุ่มศาลเจ้า มัสยิด โบสถ์คริสต์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เจาะจงว่าเป็นผู้อาศัยในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นกลุ่มศูนย์กลางที่ใหญ่สุดของประเทศไทย
4) กลุ่มบําเพ็ญประโยชน์ เป็นการรวมกลุ่มผู้ทําประโยชน์ต่อสังคม เพื่อคอยช่วยเหลือบุคคลทั่วไป เช่น สมาคมสงเคราะห์มิตรชัยภูมิ
เยาวราชมีวัฒนธรรมและประเพณีแบบจีนที่ปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนาน เนื่องจากเป็นชุมชนชาวจีนที่เก่าแก่ขนาดใหญ่ มีการอยู่ร่วมกันของผู้คนทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลามที่รวบรวมกลุ่มชาวจีนไว้มากที่สุดในกรุงเทพมหานคร จึงทําให้เกิดวัฒนธรรม ประเพณี หรือพิธีกรรมที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมความเป็นจีนซึ่งมีการสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบันจึงสามารถแบ่งเทศกาลที่เกิดขึ้นในเยาวราชได้ 4 เทศกาลหลัก ๆ ที่ยังคงมีการปฏิบัติอยู่ ดังนี้
1) เทศกาลตรุษจีน
เทศกาลตรุษจีน เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการเปลี่ยนศักราชใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของจีน อยู่ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำเดือนอ้าย ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ในอดีตช่วงเวลาดังกล่าว คือ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เป็นการเริ่มต้นของฤดูกาลแห่งการเพราะปลูกหลังจากที่ต้องเผชิญกับอากาศหนาวเย็นมาเป็นเวลานาน เทศกาลตรุษจีนจึงเป็นเทศกาลที่สําคัญของชาวจีน ซึ่งช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีกิจกรรมที่สําคัญ 3 วัน ได้แก่
- วันที่หนึ่ง หรือวันจ่าย เปรียบเหมือนวันสุกดิบของเทศกาล เป็นวันที่ชาวจีนจะเตรียมของและอาหารสําหรับเซ่นไหว้เทพเจ้า บรรพบุรุษ และผีไม่มีญาติ โดยก่อนหน้าวันจ่ายจะเป็นช่วงที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะทําความสะอาดบ้านเรือน ร้านค้า หิ้งบูชา เพื่อเตรียมต้อนรับปีใหม่ รวมทั้งมีวันที่ทําพิธีส่งเทพเจ้าที่หรือเจ้าเตากลับขึ้นสู่สรวงสวรรค์ตามความเชื่อที่ว่า เทพเจ้าที่เหล่านี้จะกลับไปรายงานความประพฤติหรือความเป็นไปของบรรดาสมาชิกครอบครัวที่ตนคุ้มครองดูแลอยู่
- วันที่สอง คือ วันไหว้หรือวันส่งท้ายปีเก่า เป็นวันที่ชาวจีนจะประกอบ พิธีกรรมไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และบรรพชน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าจะไหว้เจ้าที่ในบ้าน โดยชาวไทยเชื้อสายจีนจะมีการตั้งอาหารคาวหวานเพื่อบูชาพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ด้วย ส่วนช่วงกลางวันหรือก่อนเที่ยงจะตั้งโต๊ะเพื่อไหว้บรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วและช่วงบ่ายจะตั้งเครื่องเซ่นไหว้ที่พื้นเพื่อไหว้ผีไม่มีญาติ ซึ่งการเซ่นไหว้ในตอนบ่ายมีนัยความผูกพันกับชาวจีนที่อพยพโดยถือว่าเป็นการเรียกดวงวิญญาณที่รับเครื่องเซ่นไหว้ว่า “เจ๊กแปะ” (ลุงและอา) หรือ “เฮียตี๋” (พี่น้อง) มารับบุญ
- วันที่สาม ได้แก่ วันถือ วันเที่ยว หรือวันชิวอิก คือ วันเริ่มต้นปีใหม่ เป็นวันที่ชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนผู้อาวุโสหรือผู้ที่ตนเคารพรัก จะมีการแลกเปลี่ยนส้มกัน โดยผู้ไปเยี่ยมเยียนจะนําส้มไปมอบให้กับเจ้าบ้านเป็นการอวยพรให้โชคดีตามคําเรียกส้มในภาษาจีน ซึ่งพ้องกับเสียงกับคําว่า โชคดี จากนั้นเจ้าบ้านก็จะนําส้มของตนแลกเปลี่ยนกลับไปเป็นการอวยพรกลับคืน
2) เทศกาลไหว้พระจันทร์
เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็น 1 ใน 8 เทศกาลสําคัญตามปฏิทินจันทรคติของชาวจีน ซึ่งถือเป็นเทศกาลที่มีความสําคัญสําหรับชาวจีนมากเป็นอันดับสองรองจากเทศกาลตรุษจีน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ของจีน ในเทศกาลนี้จะมีการไหว้เจ้าที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน และบรรพบุรุษเหมือนเทศกาลอื่น ๆ แต่สําหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์จะมีพิธีกรรมพิเศษ คือ ในช่วงค่ำจะมีการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์กลางแจ้ง
เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลสําคัญอีกเทศกาลหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายจีน จะมีการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์อย่างสวยงาม บางชุมชนก็จะมีการประกวดโต๊ะไหว้ หรือจัดโต๊ะรวมของชุมชน มีการแสดง ร้องเพลง พบปะสังสรรค์กัน ในปัจจุบันยังคงมีการจัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ในช่วงค่ำคืนตามบ้านเรือนอยู่ แต่จะลดน้อยลงมากกว่าในอดีต โดยประเพณีการไหว้พระจันทร์จะเริ่มต้นตอนหัวค่ำซึ่งดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า พิธีการจะดําเนินต่อไปจนถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม บางบ้านอาจจะไหว้พระจันทร์ที่ลานหน้าบ้าน ดาดฟ้า โดยมีการตั้งโต๊ะ ทําซุ้มต้นอ้อย มีธูปเทียน กระดาษเงินกระดาษทองที่พับเป็น เงินตราจีน โคมไฟ และสิ่งของเซ่นไหว้ หลังเสร็จพิธีทุกคนในครอบครัวจะตั้งวงแบ่งกันกินขนมไหว้พระจันทร์ โดยขนมต้องนํามาหั่นแบ่งให้เท่ากับจํานวนคนในครอบครัว ห้ามเกินหรือขาด ซึ่งแต่ละชิ้นต้องมีขนาดที่เท่ากัน ขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี ความกลมเกลียวของคนในครอบครัว เป็นที่มาของรูปลักษณะของขนมไหว้พระจันทร์ที่ต้องทําเป็นก้อนวงกลมเท่านั้น
3) เทศกาลกินเจ
เทศกาลกินเจ เป็นหนึ่งในเทศกาลที่มีชื่อเสียงที่สุดของเยาวราช และเป็น 1 ใน 4 เทศกาลของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ภาคราชการในนามกรุงเทพมหานครและสํานักงานเขตสัมพันธวงศ์สนับสนุนการจัดงานผ่านสภาวัฒนธรรม นักการเมืองท้องถิ่น และประชาคมเยาวราช อาจเรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมความเป็นจีนที่สําคัญรองมาจากเทศกาลตรุษจีน
เยาวราชถือว่าเป็นแหล่งที่มีงานเทศกาลกินเจเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะ เป็นย่านที่มีโรงเจเก่าแก่อยู่เป็นจํานวนมาก รวมทั้งยังเป็นแหล่งอาหารและวัตถุดิบประกอบอาหารที่มีชื่อเสียง โดยเทศกาลกินเจจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 9 ตามปฏิทินจีนเป็นเวลา 9 วัน ซึ่งการเริ่มกินเจเชื่อว่าเกิดขึ้นมานานตั้งแต่เมื่อ 400 ปีที่แล้ว โดยสาเหตุที่ต้องกินเจ 9 วันนั้นมีสาเหตุมาจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่หล่อหลอมร่วมกับลัทธิขงจื๊อซึ่งมักเกี่ยวข้องกับดาวนพเคราะห์ โดยชาวจีนเชื่อว่า ดาวนพเคราะห์เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์และพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระราชาธิราชหรือดาวนพ เคราะห์ ซึ่งถือเป็นการสักการะพระราชาธิราชทั้ง 9 พระองค์ จึงเป็นที่มาของการถือศีลกินเจเป็นเวลาทั้งหมด 9 วัน
4) เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง
เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า เทศกาลตวนอู่ หรือ เทศกาลต่วนหงอ ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติ หรือ “โหงวเหว่ยโจ่ว” เป็นการระลึกถึงวันที่ชีหยวน กวีผู้รักชาติแห่งรัฐฉู่ กระโดดน้ำเสียชีวิต
ที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลไหว้บะจ่างของเยาวราชมีการจัดกิจกรรม “ท่องเที่ยวเยาวราช ชิมของดี เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง เขตสัมพันธวงศ์” เพื่อสืบสานตำนานไหว้บ๊ะจ่างอันเป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญของชาวจีน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน และเผยแพร่ความรู้ความน่าสนใจของวัฒนธรรมให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังตลอดจนนักท่องเที่ยว และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว “เยาวราช” ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ นิทรรศการความเป็นมาของเทศกาลการไหว้บ๊ะจ่างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชมการแสดงชุด “กังฟูส่าน” และ “ระบำไทยไมตรี” การแสดงศิลปะจีนย้อนยุค “ระบำเซียวบ๊ะจ่าง” สาธิตการทำบ๊ะจ่าง ชิมขนมไหว้บ๊ะจ่างหลายรสชาติจากร้านชื่อดังของเยาวราช มีการแสดงดนตรีสากล นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันกินขนมไหว้บ๊ะจ่างด้วย
“เยาวราช โรด” ท้องมังกรแห่งการค้า สวรรค์แห่งอาหารริมทางของนักท่องเที่ยว
เมื่อ พ.ศ. 2434 ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการดำรัสให้กรมโยธาธิการสร้างสถนนขึ้นใหม่ พระราชทานนามว่า “ถนนเยาวราช” ซึ่งมีลักษณะคดโค้งไปมาคล้ายมังกร เนื่องจากไม่ประสงค์ให้รื้อถอนตึก อาคาร บ้านเรือนของราษฎร โดยส่วนส่วนหัวของมังนั้นอยู่บริเวณวงเวียนโอเดียนซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างถนนเยาวราชและถนนเจริญกรุง ส่วนบริเวณท้องมังกรนั้นเป็นทำเลทองที่มีผู้คนพลุกพล่าน มีธุรกิจการค้าสำคัญกระจุกรวมกันอยู่ทั้งห้างทอง ร้านค้า ร้านอาหาร ฉะนั้น การเปรียบถนนเยาวราชเป็นเสมือนท้องมังกรก็ด้วยถนนสายนี้นอกจากจะอยู่ใจกลางเยาวราชแล้ว ยังถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของไชนาทาวน์แห่งกรุงเทพมหานครนี้ด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงเสียไม่ได้เมื่อพูดถึงถนนเยาวราช คือ สตรีตฟูดของเยาวราช เยาวราชถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีน และคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะทำธุรกิจค้าขาย ธนาคาร ร้านทอง รวมถึงร้านอาหาริมทาง (Street Food) มาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งหนึ่งในเอกลักษณ์ของเยาวราชที่โดดเด่นไม่แพ้อาคารสถาปัตยกรรมจีน ธุรกิจห้างทอง หรือป้ายไฟหลากสีสันที่ส่องแสงสว่างอวดโฉมในยามค่ำคืน คือ อาหารสตรีตฟูด พ.ศ. 2561 กรุงเทพมหานครได้รับเลือกจาก CNN ให้เป็นเมืองแห่งอาหารริมทาง (Street Food) อันดับหนึ่งของโลกโดยเฉพาะในย่านเยาวราช หรือไชนาทาวน์ การมีชื่อเสียงในเรื่องสตรีตฟูดถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในถนนเยาวราช โดยเฉพาะเมื่อยามพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า เหล่านักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมักจะออกมานั่งรับประทานอาหารริมทางที่ตั้งอยู่ตลอดแนวถนนเยาวราช ถนนเยาวราชนี้จึงเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของบรรดานักท่องเที่ยวที่มาเยือนดินแดนไชนาทาวน์แห่งกรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมเก่าย่าน “เยาวราช”
ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนเยาวราช มีจุดเริ่มต้นจากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา บริเวณวงเวียนโอเดียน นับว่าเป็นถนนสายแรกที่มีตึกสูงที่สุดของไทย 7 ชั้น และ 9 ชั้น ทั้งสองฝั่งเรียงรายด้วยห้างทอง ภัตตาคารหรู โรงแรม และโรงภาพยนตร์ และเนื่องจากเยาวราชเป็นย่านของชุมชนชาวจีนมาตั้งแต่อดีต ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมจึงมีความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากย่านอื่นอย่างเห็นได้ชัด อาคารส่วนใหญ่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมจีน เป็นอาคารตึกแถวที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป โดยในปัจจุบันยังคงมีการอนุรักษ์เอกลักษณ์ความดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมเก่านี้ไว้ให้คงอยู่
ตึกแถวเก่าย่านเยาวราชสะท้อนคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ช่วงรัชกาลที่ 4 ตึกแถวเยาวราชมี 2 ชั้นประดับลวดลายปูนปั้น ได้รับอิทธิพลจากสไตล์เรอแนซ็องส์ นีโอคลาสสิก และปอลลาเดียน ซึ่งเป็นที่นิยมในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สองฝั่งถนนเยาวราชมีการพัฒนาไปมาก ตึกแถวอาคารพาณิชย์มีหลายชั้น รวมถึงการออกแบบที่มีความทันสมัยมากขึ้น จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อาคารใหม่ ๆ เริ่มแรับเปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมให้เรียบง่าย ใช้เหล็ก กระจก และคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นวัสดุหลัก
สถาปัตยกรรมเก่าแก่ในย่านเยาวราชที่ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้คนนึกถึงเป็นลำดับแรก ๆ เมื่อมาเยือนเยาวราช คือ ศาสนสถาน “วัดมังกรกมลาวาส” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “วัดเล่งเน่ยยี่“ วัดจีนเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2414 เป็นวัดจีนที่ผู้คนนิยมมากราบไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นที่พึ่งทางจิตใจของผู้คนในย่านเยาวราช ตึกพิพิธภัณฑ์ทองคำ ห้างทองตั้งโต๊ะกัง ตึกพิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นตึก 7 ชั้นที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฮอลันดา แต่ภายในตกแต่งและใช้เฟอร์นิเจอร์แบบจีน นอกจากนี้ ยังมี MRT สถานีวัดมังกร ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเยาวราช แม้ว่าจะไม่ใช่สถาปัตยกรรมเก่าแก่เช่นวัดเล่งเน่ยยี่ ทว่า ภายใน MRT สถานีวัดมังกรนี้ได้รับแรงบัลดาลใจมาจากวัดเล่งเน่ยยี่ ทั้งตกแต่งลวดลายประแจจีน มังกร และดอกบัว รวมถึงการเน้นโทนสีแดงที่เป็นสีมงคลของจีน ภายนอกมีรูปแบบสถาปัตยกรรมจีน-โปรตุเกส หรือชิโนโปรตุกีสที่กลมกลืนไปกับย่าน และผสมผสานความเก่าใหม่ได้อย่างลงตัว
ภาษาพูด : จีนแต้จิ๋ว ไทย
ภาษาเขียน : จีน ไทย
พัฒนาการทางเศรษฐกิจของเยาวราชตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
ใน พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการดำรัสให้กรมโยธาธิการสร้างสถนนขึ้นใหม่สายหนึ่งระหว่างถนนเจริญกรุงและถนนสำเพ็ง ตั้งแต่ต้นป้อมมหาไชยตัดไปทางตะวันออกเฉียงใต้เข้าบรรจบเจริญกรุงตรงสะพานวัดสามจีน พระราชทานชื่อว่า “ถนนเยาวราช” โดยในการตัดถนนนั้นให้หลบหลีกไม่ให้มีการทำลายตึกและบ้านเรือนของราษฎร เป็นเหตุให้แนวถนนเยาวราชมีความโค้งไปมา รูปร่างคล้ายตัวมังกร มีส่วนหัวอยู่บริเวณวงเวียนโอเดียน และส่วนกลางที่เปรียบเสมือนท้องมังกรถือเป็นทำเลทองเยาวราช เนื่องจากบริเวณนี้เป็นแหล่งรวมธุรกิจการค้าสำคัญกระจุกอยู่ทั้งร้านทอง ร้านอาหาร และร้านค้าสำคัญ ๆ ของเยาวราช โดยบทบาทสำคัญของเยาวราชที่มีต่อกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ บทบาททางเศรษฐกิจและการค้าของชาวจีน จากอดีตที่เรียกว่า “การค้าสำเภา” และในเวลาต่อมาก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นการค้าที่เรียกว่า “ทุนขนาดกลาง” และ “นายทุนใหญ่” ตามลำดับ
กิจกรรมการค้าที่เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงให้กับเยาวราช คือ ธุรกิจประเภทค้าทองคำที่เฟื่องฟูกระทั่งเยาวราชได้รับขนานนามว่าเป็น “ถนนสายทองคำ” นอกจากธุรกิจค้าทองแล้ว เอกลักษณ์ที่โดเด่นของเยาวราชนั้นคงหนีไม่พ้นภัตตาคารและร้านอาหารต่าง ๆ ทั้งอาหารแห้ง เครื่องยาจีน หมูแผ่น หมูหย็อง เป็นต้น ในอดีตเยาวราชนอกจากจะเป็นถนนสายการค้าแล้วยังมีบทบาทเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่มีกิจกรรมโดดเด่นมากมาย เช่น โรงงิ้วซึ่งอยู่คู่กับศาลเจ้า แต่ภายหลังถูกแทนที่ด้วยโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมาก เห็นได้จากจำนวนของดรงภาพยนตร์ในสมัยนั้นที่มีมากถึง 7 แห่ง แต่ปัจจุบันถูกลดความนิยมลงจนเหลือเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
จะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งของเยาวราชนับตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ความเจริญและมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในอดีตหลายอย่างก็เริ่มลดความนิยมลง อย่างไรก็ตาม กลิ่นไอที่หลงเหลือมาจากอดีตและยังคงสร้างชื่อเสียงให้กับเยาวราชอย่างต่อเนื่อง คือ ความสำคัญในฐานะของการเป็นย่านการค้า แหล่งรวมธุรกิจร้านค้า ร้านอาหารมากมายที่มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และบางส่วนก็เกิดขึ้นใหม่ เช่น ร้านค้าส่ง ร้านค้าปลีก รวมถึงห้างสรรพสินค้า โรงแรม และกิจกรรมการค้าที่เกิดขึ้นทั้งกลางวันและยามราตรี ในเวลากลางวันนั้นเยาวราชจะเต็มไปด้วยร้านค้า แผงลอยตามทางเดินเท้า และเป็นแหล่งสัญจรไปมาของทั้งรถและผู้คนอย่างคับคั่ง แต่เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืดลงเยาวราชแห่งนี้จะยิ่งทวีด้วยสีสัน ป้ายโฆษณาถูกตกแต่งด้วยไฟหลากสี โดยเฉพาะร้านทองที่ทุกร้านต้องมีการวางโครงเหล็กประดับไฟโลโกทั้งตัวอักษรภาษาจีนและภาษาไทย อันถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไชนาทาวน์สายนี้ นอกจากนี้ ทางเท้าทั้ง 2 ฝั่ง ยังเกิดกิจกรรมที่แตกต่างไปจากเวลากลางวัน ผู้คนมากมายมักออกมานั่งตามร้านอาหารที่เปิดอยู่ตามริมถนนซึ่งได้รับความนิยมจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ประการหนึ่ง ด้วยชุมชชนแห่งนี้เป็นชุมชนชาวจีนขนาดใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เอกลักษณ์หนึ่งของเยาวราชจึงเป็นสิ่งที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีน อีกทั้งยังถือเป็นศิลปวัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนา คือ วัด และศาลเจ้า ซึ่งแม้ปัจจุบันจะไม่มีการสร้างวัดและศาลเจ้าขึ้นใหม่ในย่านเยาวราช ทว่า วัดและศาลเจ้าเดิมที่มีอยู่ต่างก็ได้รับการบูรณะ รักษา และอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมอยู่
กรรณิกา สงวนสินธุกุล. (2560). การออกแบบอาคารประเภทโรงแรมโดยแสดงอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่สอดคล้องกับมรดกชุมชนเมืองและความเป็นไปได้ทางการตลาด: กรณีศึกษาถนนเยาวราช. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชนินท์ ขจรจำนรรจ์. (2555). การสื่อสารเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเยาวราช. วิทยานิพนธ์วารสารศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชัยยศ จิตเอกวิโรจน์. (2560). แนวทางการออกแบบเพื่อปรับปรุงพื้นที่สาธารณะบริเวณตลาดเก่าเยาวราช. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นรุตม์ คุปต์ธนโรจน์. (2558). ย่านไชน่าทาวน์เยาวราช: พื้นที่นำเสนออัตลักษณ์เชิงซ้อนของวัฒนธรรม ความเป็นจีนในสังคมไทยร่วมสมัย. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นันทนิตย์ วานิชาชีวะ และคณะ. (2562). โครงการพัฒนาข้อเสนอโครงการ เรื่อง “การสำรวจศักยภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม : กรณีศึกษาย่านเยาวราช - เจริญกรุง”. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
นารา บุตรพลอย. (2554). “ศึกษาแนวทางการสนับสนุนกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาย่านเยาวราชและพื้นที่เกี่ยวเนื่องเขตสัมพันธวงศ์ ระยะที่ ๑”. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ผู้จัดการออนไลน์. (2566). กินเจเยาวราช 2566 ยกระดับมาตรฐานอาหารเจแบบสตรีทฟูดสู่สากล 14–23 ตุลาคม นี้. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://mgronline.com/
พนิดา สงวนเสรีวานิช. (2560). “เยาวราช 2017” บนความเปลี่ยนแปลง. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.matichon.co.th/
พรรณปพร จอบุญ. (2562). การปรับตัวของชาวจีนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมือง: กรณีศึกษาเยาวราช กรุงเทพมหานคร. สารนิพนธ์การผังเมืองบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
รัชนี ผันนะทัย. (2562). บทเรียนของความสำเร็จในการบริหารจัดการ หาบเร่แผงลอย กรณีศึกษา : เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
รุ่งนภา พิมมะศรี. (2565). เยาวราช : ถนนทองคำ ศูนย์กลางการค้าทองของไทย ทำไมใครๆ ก็ไปซื้อ-ขายทองที่เยาวราช. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://plus.thairath.co.th/
วรชัย โรจนพรทิพย์. (2548). ความสัมพันธ์ระหว่างเอกลักษณ์และการพัฒนาการท่องเที่ยว เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศุภกิจ พิทักษ์บ้านโจด. (2564). เสน่ห์อาคารเก่าย่านเยาวราช. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://becommon.com/
เสี่ยวจิว. (2554). ตัวตนคนแต้จิ๋ว. มติชน.
เสี่ยวจิว. (2567). “เยาวราช” พิพิธภัณฑ์ (มี) ชีวิตจีนโพ้นทะเล. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.silpa-mag.com/
อารีญา ไชยวัลย์. (2563). เรื่องเล่า ‘เยาวราช’ สามยุค จาก 10 สถานที่กลิ่นอายไทยจีนถิ่นมังกร. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://urbancreature.co/
อังคณา นาคเกิด. (2562). ย่านเก่าเยาวราช. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://urbancreature.co/
Aichan. (2565). วันเดียว เดินเที่ยวกรุงเทพ กับ 12 พิกัด ที่เที่ยวเยาวราช ต้องเช็กอิน. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://travel.trueid.net/
BLT Bangkok. (2565). ท่องเยาวราชผ่าน 4 เรื่องราวใน 4 แผนที่วัฒนธรรมย่านเยาวราช จากทีมวิจัยม.ศิลปากร. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.bltbangkok.com/
Chinatown Yaowarach ไชน่าทาวน์ เยาวราช. (2567). สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://web.facebook.com/
DDproperty. (2562). รู้จักย่านเยาวราชแบบเจาะลึก. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.ddproperty.com/
Gourmetandcuisine. (2562). เชคอิน MRT วัดมังกร สถานีที่ชิคที่สุด พร้อม 5 คาเฟ่สุดเท่ที่ต้องไป!. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.gourmetandcuisine.com/
Heamarat Chimchavee. (2567). ถนนเยาวราช เมืองบ้าป้าย ที่กลายเป็นเสน่ห์แห่งร็อคสตาร์. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://dsignsomething.com/
Kapook. (ม.ป.ป.). พิกัด 13 สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ย่านเยาวราช ขอพรเสริมดวงให้ครบทุกด้าน. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://travel.kapook.com/
Kapook. (ม.ป.ป.). เรื่องน่ารู้ วัดเล่งเน่ยยี่ ศาสนสถานชื่อดังใจกลางกรุง. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://travel.kapook.com/
MGR Online. (2555). เที่ยวเยาวราช อิ่มอร่อยบ๊ะจ่าง ในงาน “เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง” เยาวราช. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://mgronline.com/
MGR Online. (2557). ไหว้พระจันทร์สุดคลาสสิก ที่ “ชุมชนเจริญไชย” เยาวราช. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://mgronline.com/
Palo (น้องพะโล้). (2566). รวมร้านเด็ดย่านเยาวราช ประจำปี 2023 9 ร้านเด็ดเยาวราชที่ต้องกินสักครั้งในชีวิต ประจำปี 2566. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.makesend.asia/
Setthaphong Matangka. (2562). ย้อนประวัติศาสตร์ถนนเยาวราชและอาหารริมทาง (Street Food). สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.thetsis.com/
Thai PBS. (2567). “ตรุษจีนเยาวราช 2567” นักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติคึกคัก. สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.thaipbs.or.th/
wong nai. (2565). สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.wongnai.com/
wong nai. (2567). สืบค้น 27 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.wongnai.com/