เจริญกรุง ย่านสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ศูนย์รวมของสถาปัตยกรรมอายุนับ 100 ปีที่หลอมหลวมวิถีชีวิตผู้คนผ่านการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งไทย จีน พุทธ คริสต์ และอิสลาม
เมื่อครั้งถนนเจริญกรุงสร้างเสร็จใหม่ ๆ เรียกกันทั่วไปว่า “ถนนใหม่” ชาวจีนเรียก “ซินพะโล้ว” ส่วนชาวตะวันตกเรียกว่า “นิวโรด” (New Road) แปลว่า ถนนตัดใหม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
เจริญกรุง ย่านสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ศูนย์รวมของสถาปัตยกรรมอายุนับ 100 ปีที่หลอมหลวมวิถีชีวิตผู้คนผ่านการผสมผสานวัฒนธรรมทั้งไทย จีน พุทธ คริสต์ และอิสลาม
เล่าย้อนกลับไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นยุคสมัยที่ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในสยามมากขึ้น มีการก่อสร้างโบสถ์คริสต์ โรงพยาบาล โรงเรียนตามแบบตะวันตก ห้างร้านต่าง ๆ ขึ้นมากมาย ความเจริญทางการค้าทำให้เกิดการก่อสร้างถนนเจริญกรุงซึ่งเป็นถนนสายแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2404 ซึ่งสาเหตุมาจากการที่พระองค์ได้ทรงรับฎีกาจากชาวยุโรปที่เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินสยามสมัยนั้นว่า “ชาวยุโรปเคยขี่ม้า เที่ยวตากอากาศ ได้ความสบายไม่มีไข้ เข้ามาอยู่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่ม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนือง ๆ” เมื่อได้ทราบความในหนังสือแล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหมเป็นแม่กอง และพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง เป็นนายงาน สร้างถนนจากวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม ผ่านสำเพ็ง บางรัก ถึงบางคอแหลม
ถนนเจริญกรุงแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ถนนเจริญกรุงในเขตกำแพงเมือง เริ่มจากบริเวณหน้าวัดพระเชตุพลวิมลมังคลารามจนถึงสะพานดำรงสถิตย์ ต่อกับถนนเจริญกรุงตอนนอกกำแพงเมืองจนถึงตำบลดาวคะนอง เมื่อครั้งถนนเจริญกรุงสร้างเสร็จใหม่ ๆ ใน พ.ศ. 2407 ยังไม่ได้รับพระราชทานนาม จึงเรียกกันทั่วไปว่า “ถนนใหม่” ชาวจีนเรียก “ซินพะโล้ว” ส่วนชาวตะวันตกเรียกว่า “นิวโรด” (New Road) แปลว่า ถนนตัดใหม่ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า “ถนนเจริญกรุง” ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง
ภายหลังสร้างถนนเจริญกรุง ก็มีการสร้างถนนสายสำคัญอื่น ๆ ตามมาอีกหลายสาย เช่น ถนนสีลม ถนนสาทร (เดิมเรียก ถนนเจ้าสัวยม) ถนนสุรวงศ์ ถนนประมวญ ถนนปั้น ฯลฯ พื้นที่ตามแนวการตัดผ่านของถนนมีชาวตะวันตกเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะแถบบางรัก นอกจากนี้ยังมีชาวลาวและทวายเข้ามาประกอบอาชีพทำสวน ทำนาบริเวณสองฝั่งคลองสีลมและตามแนวถนนสีลมตั้งแต่ศาลาแดงถึงถนนเดโช และตั้งแต่ถนนประมวญถึงถนนเจริญกรุง รวมถึงชาวอิสลามที่เข้ามาประกอบอาชีพเลี้ยงโคและแพะอยู่ริมคลองซอยประดิษฐ์ ส่งผลให้มีวัดแขก หรือวัดพระศรีมหาเทวีตั้งอยู่ริมถนนปั้น และมัสยิดมีรุซุดดีนอยู่ในซอยประดิษฐ์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของชาวฮินดูและอิสลามที่หลงเหลือเป็นหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากตามแนวถนนเจริญกรุงนี้มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น โดยเฉพาะแถบบางรักที่ถือเป็นย่านการค้าและย่านที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตก ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีทั้งชาวลาว ชาวทวาย ชาวอิสลาม และชาวจีนมลายู หรือที่เรียกว่า “จีนบาบ้า” ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำการค้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกแถวทั้งสองฝั่งถนนขึ้นเพื่อให้พ่อค้าชาวจีนและชาวตะวันตกได้เช่าดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทำให้ถนนเจริญกรุงมีความเจริญรุ่งเรืองมากจากการที่ถนนได้ตัดผ่านย่านการค้าที่สำคัญของประเทศอย่างสำเพ็งและบางรัก
อาณาเขต
อาณาเขตของเจริญกรุงตามการแบ่งของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ปี 2565 มีพื้นที่คาบเกี่ยวพื้นที่หลายแขวงในเขตบางรัก ซึ่งตามปกติแล้วพื้นที่เจริญกรุงจะถูกแบ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่ โซน 1 เจริญกรุง-สำเพ็ง-พาหุรัด-สะพานเหล็ก-วังบูรพา โซน 2 เจริญกรุง-เยาวราช โซน 3 เจริญกรุง-สี่พระยา-ท่าเรือสาทร-บางรัก และโซน 4 เจริญกรุง-ยานนาวา
- โซน 1 เจริญกรุง-สำเพ็ง-พาหุรัด-สะพานเหล็ก-วังบูรพา เป็นพื้นที่ย่านการค้าของชาวจีนที่เกิดขึ้นมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นแหล่งรวมสินค้าสารพัดรูปแบบ และยังเป็นย่านค้าขายของชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย นำผ้า อุปกรณ์ตัดเย็บ สารพัดสิ่งมาขายย่านนี้
- โซน 2 เจริญกรุง-เยาวราช พื้นที่ที่อยู่คู่ขนานกัน แต่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ขาด โดยบริเวณนี้มีสถานที่สำคัญอย่าง วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2414 วัดนี้ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์รวมของชาวไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น แต่คนไทยและชาวต่างชาติจากทั่วโลกจำนวนมากต่างก็ให้ความศรัทธาต่อวัดเล่งเน่ยยี่ พื้นที่เจริญกรุงโซน 2 นอกจากจะได้รับอิทธิพลมาจากย่านเยาวราชแล้ว ยังเติบโตด้วยตัวเองด้วย
- โซน 3 เจริญกรุง-สี่พระยา-ท่าเรือสาทร-บางรัก เป็นริมแม่น้ำเจ้าพระยาจุดที่สำคัญที่สุด เพราะแวดล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บริษัทห้างร้านของชาวต่างชาติฝั่งตะวันตกที่เริ่มเข้ามาทำการค้ากับประเทศไทย สถานที่ราชการ จุดเชื่อมเรือจากฝั่งธนบุรีไปยังฝั่งพระนคร และโรงแรมหรูริมแม่น้ำ โดยย่านบางรัก นับเป็นจุดยอดนิยมที่สุดของพื้นที่โซนนี้ และโรงแรมหรูริมแม่น้ำก็กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ย่านบางรัก รวมทั้งมีบริษัทห้างร้านของต่างชาติเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นผลมาจากพื้นที่นี้เคยเป็นที่ตั้งของอดีตสถานกงสุลอังกฤษประจำประเทศไทย (อาคารไปรษณีย์กลางบางรักในปัจจุบัน) ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ย่านชิดลม-เพลินจิต จึงเป็นย่านที่ชาวต่างชาติรู้จักกันมาก
- โซนที่ 4 เจริญกรุง-ยานนาวา เป็นเจริญกรุงที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่าย่านเจริญกรุงเท่าไรนัก แต่เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้ยังมีบางส่วนที่ติดกับโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่โซนนี้จึงมีโรงแรมริมแม่น้ำ บริษัทเดินเรือ บริษัทค้าขายขนส่งสินค้าทางเรือชาติตะวันตกเข้ามาเปิดกิจการ ตั้งบริษัทอยู่บริเวณนี้จำนวนไม่น้อยเช่นกัน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
เนื่องจากเจริญกรุงเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมของกรุงเทพมหานครตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ทําให้มีสิ่งปลูกสร้างและอาคาร ตึกแถวกว่า 3,000 หลัง โดยมีการใช้ประโยชน์อาคารหลายประเภทกระจายตัวอยู่ทั้งประเภทพาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยกึ่งพาณิชยกรรม (Mixed Use) สถาบันการศึกษา สถาบันราชการ อาคารสาธารณูปโภคอย่างโรงบําบัดน้ำ รวมถึงโกดังสินค้า แต่ส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์อาคารประเภทที่อยู่อาศัยมากที่สุด
อาคารประเภท Mixed Use มักเป็นคูหาตึกแถวความสูง 3 ชั้น มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ตลอดแนวยาวตามถนนเจริญกรุง สําหรับกิจกรรมประเภทพาณิชยกรรมแบบเดี่ยวมักเป็นอาคารพาณิชยกรรมขนาดใหญ่ เช่น โรงแรมที่มีชื่อเสียงในระดับโลกซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาเกือบทั้งหมด เช่น นอกจากนั้นจะเป็นกิจกรรมประเภทศูนย์การค้า เช่น ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าจําหน่ายสินค้าสร้างสรรค์ อาคารแสดงนิทรรศการประเภทวัตถุโบราณ งานหัตถกรรม สินค้าประมูลและสินค้าหายาก
สําหรับศาสนสถานมีความหลากหลายทางศาสนา เนื่องจากประวัติความเป็นมาของย่านที่ยาวนานตั้งแต่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองท่าน้ำ ทําให้เกิดจุดเปลี่ยนถ่ายประชาชนทั่วทุกสารทิศที่จะเดินทางเข้ามายังสยาม เช่น วัดม่วงแค มัสยิดฮารูณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ ศาลเจ้าเจียวเองเบี้ยว ความหลากหลายทางศาสนานี้เองส่งผลให้ย่านเจริญกรุง เขตบางรัก มีจุดเด่นทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์และมักถูกใช้เป็นเนื้อหาประชาสัมพันธ์ย่านเจริญกรุงให้กับผู้เยี่ยมเยือนและเหล่านักท่องเที่ยวเสมอมา (เบญจมินทร์ ปันสน, 2562 : 77-78)
เขตบางรักเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครที่มีชุมชนหลากหลายภาษาและวัฒนธรรมมาตั้งแต่อดีต ทั้งยังอยู่ใกล้กับศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ คือ โรงภาษี ธนาคาร บริษัทห้าง ร้านต่าง ๆ ริมน้ำเจ้าพระยา และอยู่ตรงข้ามกับชุมชนชาวไทยที่มีมาแต่ครั้งสถาปนากรุง ต่อมาเมื่อสร้างถนนและคลองสีลมเชื่อมถนนเจริญกรุง-แม่น้ำเจ้าพระยากับคลองถนนตรง-ถนนตรง การเดินทางติดต่อกับพื้นที่ตอนในจึงสะดวกขึ้น ทั้งริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับริมถนนเจริญกรุงยังมีการให้สัมปทานเดินรถรางบนถนนเจริญกรุงและถนนสีลมด้วยแล้ว เขตบางรักจึงเป็นบริเวณที่ผู้คนหลากกลุ่มหลายเชื้อชาติทั้งไทย จีน แขก และชาวตะวันตกนิยมเข้ามาพักอาศัย
ถนนเจริญกรุง เป็นถนนอีกสายหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเจริญทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่ส่งผลมายังปัจจุบัน โดยนอกจากถนนเจริญกรุงจะเป็นถนนสายแรกของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นพื้นที่แรกเริ่มของการพัฒนาเมืองแบบสมัยใหม่อีกด้วย โดยในปี 2453 มีการพัฒนาตึกแถว ตลาดร้านค้า และระบบราง จะเรียกว่าเป็นศูนย์กลางความเจริญหรือ CBD ของกรุงเทพมหานครในสมัยนั้นก็ว่าได้
สำหรับย่านเจริญกรุงที่ถึงแม้จะอยู่ในทำเลใจกลางเมืองใกล้กับสีลม-สาทรเพียงชั่วอึดใจ แต่เจริญกรุงนั้นยังคงส่องประกายของความเป็นสมัยใหม่และความร่วมสมัยซึ่งเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพมหานครไว้ได้อย่างครบถ้วน และในปัจจุบันกำลังมีแผนการพัฒนาย่านจากหลายหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้เจริญกรุงกลายเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งแรกของกรุงเทพมหานครอีกด้วย
ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจริญกรุงมีธุรกิจเกิดใหม่มากมายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีการออกแบบร้านและเมนูที่แตกต่างไปจากเดิมที่มีนักลงทุนหน้าใหม่กว่าครึ่งเป็นชาวยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบการเสพผลงานศิลปะ เช่น ฝรั่งเศส และอิตาลี โดยธุรกิจเกิดใหม่มักอยู่ในอาคารเก่าอย่างโรงงานหรือโกดัง โดยปรับปรุงอาคารและพื้นที่ภายใน แต่ยังรักษาโครงสร้างเดิมไว้ ซึ่งบ่งชี้ชัดว่า เจริญกรุงกำลังกลายเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์ที่มีเสน่ห์มาจากสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และลักษณะเฉพาะตัวของย่านความเจริญเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ทั้งนี้ นักลงทุนใหม่เกือบร้อยละ 100 ตั้งใจดึงดูดลูกค้าด้วยศักยภาพของย่านเจริญกรุงทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ส่งผลต่อการคมนาคมและทัศนียภาพที่งดงามและเป็นเอกลักษณ์
ปัจจัยสําคัญที่ดึงดูดผู้ประกอบการสร้างสรรค์เข้ามาลงทุนในย่านเจริญกรุง คือ รากเหง้าวัฒนธรรมของย่านที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ ๆ ได้ โดยธุรกิจประเภทหนึ่งที่ถือว่ามีความโดเด่นมากในย่านเจริญกรุงไม่แพ้การค้า ห้างร้าน ที่พัก โรงแรม คอนโดมิเนียม คือ การประกอบธุรกิจประเภทมรดกวัฒนธรรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์โบราณ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และสภาพสังคมของย่านเจริญกรุงที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งในย่านเจริญกรุงมีธุรกิจประเภทงานฝีมือหัตถกรรมที่มีการดําเนินการมาตั้งแต่อดีต ตลอดจนโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด รวมถึงเทศกาลหรืองานเฉลิมฉลองตามความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนการใช้งานของอาคารเก่าภายในย่านให้เป็นร้านอาหาร บาร์ และโฮสเทล เพื่อให้สามารถตอบสนองวิถีชีวิตของคนสมัยใหม่ผนวกกับวัฒนธรรมดั้งเดิมในพื้นที่ให้มีความสอดคล้องกัน อีกประเภทหนึ่ง คือ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทศิลปะ ซึ่งภายในย่านเจริญกรุงมีธุรกิจอาร์ตแกลเลอรีหลายแห่งที่จัดแสดงผลงานภาพวาด งานศิลปะ รูปปั้น และวัตถุโบราณ รวมถึงการแสดงดนตรีตามร้านอาหารและบาร์ต่าง ๆ และประเภทสุดท้ายที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ อุตสาหกรรมประเภทงานสร้างสรรค์ตามลักษณะงานอในกลุ่มการออกแบบ เช่น ธุรกิจเพชรพลอย เครื่องเงิน และเครื่องประดับที่มีมายาวนานเต็มสองฝั่งถนนเจริญกรุงจนเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของย่าน
ภาษาพูด : ภาษากลาง
ภาษาเขียน : ไทย
มนต์เสน่ห์เหนือกาลเวลาของย่านเก่าเจริญกรุงสู่การพัฒนาย่านสร้างสรรค์
ย่านสร้างสรรค์ คือ พื้นที่ที่ใช้ศักยภาพของคนในพื้นที่และระบบนิเวศสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเพิ่มมูลค่าจากสินทรัพย์ในพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของพื้นที่ การจะเป็นย่านสร้างสรรค์ได้นั้นต้องมีปัจจัยในการขับเคลื่อนพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างคนในและคนนอกพื้นที่ รวมถึงมีกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รองรับกับย่านโดยเฉพาะ เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้สามารถพัฒนาเป็นย่านสร้างสรรค์ได้จริง (กมลกานต์ โกศลกาญจน์, 2559)
ร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของย่านเจริญกรุงในอดีตนั้นยังปรากฏให้เห็นอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของย่าน ทั้งเส้นรถรางที่เคยถูกใช้เป็นขนส่งสาธารณะ อาคารสถาปัตยกรรมจากสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างอีสท์เอเชียติกที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นตัวแทนของการค้าทั้งในและต่างประเทศ หรืออาคารศุกลสถาน (โรงภาษีชักสาม) อาคารสไตล์ยุโรปที่แสดงให้เห็นถึงการใช้งานจากอดีต ย่านแห่งนี้คือพื้นที่ที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา
แม้จะผ่านเวลามานับร้อยปี แต่วันนี้เจริญกรุงก็ยังคงคึกคักไม่ต่างจากครั้งอดีตที่เป็นศูนย์รวมความเจริญของเมืองซึ่งคราคร่ำไปด้วยพ่อค้าวาณิชและนักเดินทางจากต่างชาติ และปัจจุบันย่านแห่งนี้ก็มีเสน่ห์ชวนให้คนทุกวัยหลงใหลอยู่ แถมยิ่งนานวันเสน่ห์ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นจากการผสมผสานความเจริญที่แสนคลาสสิกเมื่อครั้งวันวานกับความศิวิไลซ์ของยุคใหม่ทาบทับลงมา ปัจจัยเหล่านี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้ในปัจจุบันพื้นที่ย่านเจริญกรุงแห่งนี้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแรงจากความคิดสร้างสรรค์ อย่างการเกิดขึ้นของร้านค้าหรือร้านอาหารที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ แกลเลอรี โฮสเทลร่วมสมัย หรือกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายจิลเวลรี และย่านแห่งนี้เองที่เต็มไปด้วยศักยภาพในการพัฒนาให้เกิดเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งแรกของกรุงเทพมหานครได้จริง
ประการหนึ่งที่สำคัญอันเป็นปัจจัยนำพาย่านเจริญกรุงสู่การเป็นย่านสร้างสรรค์ คือ ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ดังที่ทราบแล้วว่าเจริญกรุงเป็นย่านที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ไม่ว่าจะเป็นชาวไทย จีน แขก และตะวันตก เมื่อเจริญกรุงเป็นย่านพหุวัฒนธรรมมานานนับร้อยปี สิ่งหนึ่งที่เป็นไฮไลท์ของย่าน คือ อาหารการกินที่สามารถพบได้ทั้งอาหารไทย อาหารจีน อาหารตะวันตก อาหารมุสลิม ล้วนแล้วแต่ถูกรวบรวมไว้ที่เมืองเก่าเจริญกรุงแห่งนี้ และด้วยลักษณะความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของย่านนี้นี่เอง มิใช่เฉพาะเพียงแต่เรื่องอาหารเท่านั้น แต่ศาสนสถานต่าง ๆ ก็เป็นอีกลัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าย่านเจริญกรุงมีความหลากหลายของเชื้อชาติและความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นวัด โบสถ์ มัสยิด และศาลเจ้า ซึ่งสามารถพบได้ตลอดแนวถนนและตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ในย่าน นอกจากนี้ เจริญกรุงยังเต็มไปด้วยเสน่ห์ของงานศิลป์ซึ่งมั่งคั่งอยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นงานปฏิมากรรมหรืองานสถาปัตยกรรม รวมถึงงานสตรีตอาร์ตสวย ๆ มากมายที่เข้ามาสร้างสีสันใหม่ ๆ ให้กับย่านด้วย
กมลกานต์ โกศลกาญจน์. (2559). เจริญกรุง มองย่านเก่าด้วยแนวคิดใหม่. สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.gqthailand.com/
กมลพร สุนทรสีมะ และเมธี ศรีวิไล. (2563). COLOUR OF CHAROENKRUNG: กิน เที่ยว ถ่ายรูปสตรีทอาร์ต ย่านสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ. สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://happeningandfriends.com/
โกสินทร์ รัตนประเสริฐ. (2555). สิ่งแรกในสยาม. ยิปซี.
จารุวรรณ ลาภพานิช. (2564). องค์ประกอบของย่านสร้างสรรค์กับคนทำงาน กรณีศึกษา ย่านเจริญกรุง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นักร้องบ้านนอก. (2564). เดินชิล เจริญกรุง - บางรัก : One Day Trip. สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://travel.trueid.net/
เบญจมินทร์ ปันสน. (2562). แนวทางการสนับสนุนให้ย่านเจริญกรุงเป็นศูนย์กลางคิด - ผลิต - ขาย สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร. วิทยานิพนธ์การผังเมืองมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
รุจิรา รัตนธรรม. (2562). ชุมชนกับการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์: กรณีศึกษาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ย่านเจริญกรุง. สารนิพนธ์การผังเมืองบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สรัล ตั้งตรงสิทธิ์. (2562). การออกแบบเรขศิลป์โดยใช้แนวคิดปฏิสัจนิยมสำหรับอัตลักษณ์ย่านสร้างสรรค์ กรณีศึกษา ย่านเจริญกรุง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ฮุยเฟน อึง. (2559). การศึกษาตัวชี้วัดความสำเร็จของย่านสร้างสรรค์ กรณีศึกษาโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร.
สารนิพนธ์การผังเมืองบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.Altitude. (ม.ป.ป.). 5 เสน่ห์ข้ามกาลเวลาของย่านเจริญกรุง. สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.altitude.co.th/
Bangkokriver. (ม.ป.ป.). Street Art: วิลส์ (Vhils). สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.bangkokriver.com/th/
Brandbuffet. (2560). ผ่าแผน TCDC พลิกฟื้น “เจริญกรุง” จากย่านเก่า สู่ “ย่านความคิดสร้างสรรค์” แลนด์มาร์คกรุงเทพ. สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.brandbuffet.in.th/
Ddproperty. (2562). รู้จักย่านเจริญกรุงแบบเจาะลึก. สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.ddproperty.com/
Terrabkk. (2561). “เจริญกรุง” เส้นเลือดใหญ่เชื่อมต่อศูนย์กลางเศรษฐกิจสีลม-สาทร-เยาวราช. สืบค้น 28 พฤษภาคม 2567, จาก https://www.terrabkk.com/