แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด พื้นที่แห่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษา ทุนชุมชนกับการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด พื้นที่แห่งการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษา ทุนชุมชนกับการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ในพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
ชาวบ้านถ้ำลอดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ ก่อนที่จะเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านถ้ำลอดปัจจุบัน ชาวบ้านเคยมีการอพยพย้ายถิ่นฐานอยู่หลายครั้งเนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านปัจจัยธรรมชาติ แหล่งทรัพยากรในการดำรางชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ อาหาร รวมไปถึงปัจจัยด้านความเชื่อที่มีผลต่อการเลือกที่ตั้งชุมชนด้วย ในช่วงสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวไทใหญ่มีการอพยพไปอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศพม่า และเมื่อสถานการณ์สงบลงชาวบ้านก็ย้ายกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้ง ต่อมามีกลุ่มทหารจากเชียงใหม่มาเกณฑ์เด็กในชุมชนไปเรียนแต่ชาวบ้านเกรงว่าลูกหลานจะถูกจับไปเป็นทหารจึงต้องโยกย้ายไปยังประเทศพม่าอีก แต่ก็ถูกทหารพม่ากดขี่รีดไถ จึงต้องกลับมายังประเทศไทยโดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านปางคามและบ้านไม้ล้น เมื่ออยู่ได้ช่วงหนึ่งทรัพยากรธรรมชาติก็เริ่มร่อยหรอ จึงพากันย้ายไปอยู่ที่บ้านหัวลาง และมีชาวบ้านย้ายมาสมทบเพิ่มเติมทำให้ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ ในปี พ.ศ. 2512 จึงมีกลุ่มชาวบ้านย้ายมาอยู่ที่บ้านหมากโอซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของบ้านถ้ำลอด แต่อยู่ได้เพียงปีเดียวก็เกิดน้ำท่วม ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมบ้านเรือนจึงย้ายขึ้นไปอยู่พื้นที่สูงบริเวณบ้านเก่า และบ้านห้วยผาเผือก โดยเป็นชุมชนที่อยู่รายรอบบริเวณบ้านถ้ำลอดซึ่งแบ่งเป็นบ้านเหนือ และบ้านใต้ ชาวบ้านบุกเบิกพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่ทำกิน ทำไร่ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ และหาของป่า
ต่อมาในปี พ.ศ. 2521-2522 จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีการพัฒนาตัดเส้นทางรถจากบ้านสบป่องเข้ามายังบ้านถ้ำลอดเป็นระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ทำให้การเดินทางเข้าสู่ถ้ำลอดสะดวกขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 กรมป่าไม้ได้ทำการสำรวจพื้นที่บริเวณอำเภอปางมะผ้าและได้จัดตั้งให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่วนอุทยาน ในช่วงนี้ชาวบ้านถ้ำลอดถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ห้ามไม่ให้ถางป่า ทำไร่ ปลูกพืช รวมทั้งเข้าป่าหาของป่าด้วย และมีการยึดพื้นที่ทำกิน แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยังคงเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าบ้าง แม้บางครั้งจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือกอื่นเพราะชีวิตเคยพึ่งพิงธรรมชาติและป่ามาโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2533 ได้มีการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอดขึ้น และมีการเปลี่ยนชื่อของถ้ำลอด จากเดิมที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำหลวง” (หรือถ้ำใหญ่) มาเป็นถ้ำน้ำลอด ในปี พ.ศ. 2535 กลุ่มผู้หญิงที่หิ้วตะเกียงนำเที่ยวจึงได้รวมตัวกันปรึกษากับผู้นำหมู่บ้านในขณะนั้นคือ กำนันมณี เสลาสุวรรณ เกี่ยวกับปัญหาการแย่งนักท่องเที่ยวจนเกิดการก่อตั้ง “กลุ่มคิวตะเกียง” ขึ้น โดยมีสมาชิกเริ่มแรกเป็นผู้หญิงชาวไทใหญ่ในหมู่บ้านประมาณ 20 คนเข้าเป็นสมาชิก และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอนถึงปัจจุบัน
ลักษณะทางกายภาพของภูมิศาสตร์พื้นที่หมู่บ้านตั้งอยู่บนที่ราบเนินเขา ริมน้ำลาง แบ่งออกเป็นบ้านถ้ำลอดเหนือและบ้านถ้ำลอดใต้ ระหว่างเนินเขาทั้งสอง มีลำน้ำสายเล็ก ๆ คือ ลำห้วยแห้งอ่อน (หรือห้วยแห้งน้อย) ในทางธรณีวิทยาของพื้นที่โดยรอบของบ้านถ้ำลอด แบ่งระหว่างชุดหิน 2 ชุด คือ ชุดหินปูนทางด้านตะวันตกของลำน้ำลาง และหินตะกอนเนื้อหยาบอยู่ทางด้านตะวันออกของลำน้ำ หมู่บ้านถ้ำลอดตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของรอยเลื่อน สภาพธรณีสัณฐานที่ปรากฏจึงเป็นลักษณะของภูมิประเทศแบบคาสต์อันได้แก่ หลุมยุบ และธารน้ำมุด เป็นต้น บริเวณโดยรอบของหมู่บ้านมีที่ราบตะพักลำน้ำกระจายอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสองฝั่งลำน้ำลางแต่ไม่ได้มีขนาดกว้างใหญ่มากพอที่จะทำการเกษตรแบบนาที่ลุ่มที่ใช้เลี้ยงคนทั้งหมู่บ้านได้ ลักษณะตำแหน่งที่ตั้งของบ้านถ้ำลอดเหนือมีลักษณะเป็นขอบของแนวเลื่อนของชั้นหิน ส่วนบ้านถ้ำลอดใต้ตั้งอยู่บริเวณขอบของหลุมยุบซึ่งความลาดชันไม่สูงมากนัก แต่ก็ทำให้พื้นที่บางส่วนมีก้อนหินปูนที่หลงเหลือจากการถล่มของถ้ำกระจายอยู่ทั่วไป โดยพื้นที่ตั้งชุมชนมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอนและทางหลวงหมายเลข 1095
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านลุกข้าวหลาม ตำบลปางมะผ้า
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองผาจ้ำ ตำบลปางมะผ้า
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านบ่อไคร้ ตำบลปางมะผ้า
บ้านถ้ำลอด ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 1 บ้านถ้ำลอด ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,106 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 555 คน ประชากรหญิง 551 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 424 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
ไทใหญ่บ้านถ้ำลอด ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก เกษตรกรอาศัยพื้นที่ราบเชิงเขา พื้นที่เชิงเขาในการเพาะปลูก โดยส่วนมากจะเป็นการเพาะปลูกพืชไร่ โดยพืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกตัวอย่างเช่น การทำข้าวนา การทำข้าวไร่ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม ถั่วแดง ถั่วลิสง งาขาว งาดำ สับปะรด พริกขี้หนูเม็ดเล็ก หรือพริกขี้หนูสวน ฟักทอง เป็นต้น นอกจากนี้ประชากรบ้านถ้ำลอดบางส่วนจะประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป และด้วยพื้นที่ชุมชนเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ และถูกผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว รายได้จากการบริการนักท่องเที่ยว การนำชมสถานที่ต่าง ๆ จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี
แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด
แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดเป็นเพิงผาขนาดเล็กของเขาหินปูน ลักษณะเพิงผาเป็นชะโงกผางุ้ม ใต้เพิงผาเป็นพื้นราบแคบ ๆ มีความกว้างประมาณ 4-5 เมตร ยาวประมาณ 30 เมตร ความสูงของเพิงผาประมาณ 30 เมตร สภาพพื้นเพิงผามีก้อนหินปูนขนาดใหญ่ตกกระจายอยู่ทั่วไปไม่หนาแน่นนัก มีโบราณวัตถุต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ตามผิวดิน ได้แก่ เครื่องมือหิน กระดูกสัตว์ เศษภาชนะดินเผา ถัดจากพื้นที่ราบลงไปเป็นพื้นที่เอียงลาดลงไปที่ราบด้านล่าง พื้นเพิงผาสูงกว่าพื้นราบด้านล่างประมาณ 3 เมตร พื้นที่โดยรอบเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ห่างออกไปประมาณ 800 เมตร ถัดจากแหล่งโบราณคดีถ้ำลอดในภูเขาหินปูนลูกเดียวกัน เป็นแหล่งโบราณคดีในวัฒนธรรมโลงไม้
สภาพธรณีวิทยาลักษณะธรณีวิทยาสัณฐานของแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดตั้งอยู่บนธรณีสัณฐานแบบแอ่งยุบเปิด มีรูปร่างเกือบครึ่งวงกลม นอกจากนี้บริเวณเพิงผาดังกล่าวยังเป็นเพิงผาเพียงแห่งเดียวที่มีพื้นที่ราบใต้เพิงผา ลักษณะการเกิดผานี้อาจเกิดจากการเลื่อนหรือยุบตัวของหินปูนในบริเวณนี้ในอดีต โดยก่อนที่จะมีการยุบตัวคาดว่าพื้นที่นี้น่าจะมีลักษณะเป็นโพรงถ้ำใหญ่ แล้วยุบตัวจนมีการสะสมตะกอนในแอ่งดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งจากการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ด้วยคลื่นสั่นสะเทือน (Seismic) พบว่าใต้พื้นที่ราบด้านล่างเพิงผา (หรือบริเวณสนามฟุตบอล) มีโพรงถ้ำอยู่มากมาย
ปัจจุบันแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด ตั้งอยู่ภายในศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของอำเภอปางมะผ้า มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ ถ้ำน้ำลอด ซึ่งเป็นถ้ำที่มีลำน้ำลางไหลผ่านเข้าไปในตัวถ้ำ นักท่องเที่ยวสามารถนั่งแพเข้าไปในถ้ำได้ ภายในยังแบ่งออกเป็นถ้ำเสาหิน ถ้ำตุ๊กตา ซึ่งมีหินงอกหินย้อยสวยงาม และถ้ำผีแมน ที่เป็นแหล่งโบราณคดีที่มีโลงไม้อยู่ภายใน ส่วนแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดนั้นตั้งอยู่นอกถ้ำน้ำลอดแต่ไม่ไกลกันนัก
เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ฉะนั้นภาษาที่ใช้สื่อสารกันภายในชุมชนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจะยังคงสื่อสารด้วยภาษาไต และมีการใช้ภาษาไทยถิ่นเหนือหรือคำเมือง และภาษาไทยกลางสำหรับสื่อสารกับคนภายนอก
ผีแมน. (2556). ปางมะผ้าหมายถึงอะไร? ประวัติบ้านถ้ำลอด. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2567, จาก https://www.gotoknow.org/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2565). เพิงผาถ้ำลอด. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2567, จาก ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย https://archaeology.sac.or.th/archaeology/
สิทธิพงษ์ ดิลกวณิช. (2545). การถ่ายทอดความรู้ทรัพยากรถ้ำสู่ท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาโจทย์วิจัย ชุมชนบ้านถ้ำลอดและบ้านเมืองแพม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำลอด. (2566). ถ้ำลอด. สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2567, จาก https://thumlodsao.go.th/