ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านหัตถกรรมการจักสาน
มาจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของที่ตั้งชุมชนที่มีลำน้ำคดเคี้ยวไปมาเรียกกันว่า "กุดใส้จ่อ" และเมื่อได้ตั้งหมู่บ้านเรียกชื่อบ้านว่า "บ้านไส้จ่อ"
ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ด้านหัตถกรรมการจักสาน
หมู่บ้านไส้จ่อเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ก่อตั้งมาในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าจากคำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในหมู่บ้านเล่าต่อกันมาว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีการก่อตั้งมาได้ประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา โดยอาศัยเรื่องเล่าของชุมชนที่เล่าไว้ว่า มีพี่น้องสองครอบครัวอพยพมาจากทางทิศเหนือคนพี่มาตั้งบ้านเรือนที่ลำน้ำคดเคี้ยวไปมา ต่อมาเรียกกันว่า "กุดใส้จ่อ" และได้ตั้งหมู่บ้านเรียกชื่อบ้านว่า "บ้านไส้จ่อ" ส่วนผู้น้อยเป็นน้องอพยพไปทางทิศใต้อยู่ใกล้กับลำน้ำกุดนางใย ต่อมาได้เรียกว่า "บ้านนางใย"
จากคำบอกเล่าของผู้รู้ในชุมชนแสดงให้เห็นว่าการที่สองคนพี่น้องเลือกสถานที่ตั้งชุมชนต้องการพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ถ้าเป็นจริงดังคำบอกเล่าของผู้คนในชุมชนเป็นร่องรอยที่เชื่อมโยงของประวัติศาสตร์การตั้งชุมชนจึงประมาณการได้ว่าชุมชนมีความสอดคล้องกับก่อตั้งเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2408 สำหรับความสัมพันธ์ของทั้งสองหมู่บ้านได้ติดต่อไปมาหาสู่กันเป็นประจำ และมีลูกหลานมากขึ้นและอพยพไปตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่หลายหมู่บ้าน เมื่อก่อตั้งเป็นชุมชนวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างผู้คนในชุมชน การแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน ข้าวเเลกปลา ปลาแลกเกลือ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในสังคมเเบบพอยังชีพ
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ผู้คนในชุมชนปรับตัวจากสังคมชาวนา เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงการเข้ามาของ "พืชเศรษฐกิจ" จากนโยบายแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504-2509 ผู้คนในชุมชนหันมาปลูกปอ ซึ่งการปลูกปอเป็นสร้างรายได้ให้ผู้คนในชุมชนอย่างดี ผู้คนมีเงินปลูกบ้าน ส่งลูกร้านไปเรียนหนังสือ เเต่รายได้ที่ว่านั้นเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ 5-7 ปี เมื่อความนิยมปอลดลง การปลูกปอจึงค่อย ๆ หายไปจากชุมชน ต่อมาทางราชการจึงได้ยกฐานะเป็นตำบลกุดใส้จ่อ เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยแยกจากตำบลมะค่า มีการแบ่งเขตการปกครองตามกระทรวงมหาดไทย วิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนยังคงเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันเเละกัน
จนกระทั่งช่วง พ.ศ. 2535 จากนโยบายของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เศรษฐกิจเกิดการขยายตัวในภาคอุตสาหกรรม ผู้คนในชุมชนจึงผันตัวจากเเรงงานในภาคเกษตรกรรมเข้ามาสู่การเป็นแรงงานในสังคมเมืองใหญ่ เพื่อหาเงินมาหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว
ประมาณ พ.ศ. 2537 มหาวิทยาลัยมหาสารคามขยายพื้นที่เพิ่มจากในเมืองมหาสารคาม มาที่ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เปิดสถานที่เปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือ บางคนมาทำงานเป็นบุคลากรในมหาวิทยาลัย บางคนมาประกอบอาชีพค้าขายรอบ ๆ พื้นที่ของมหาวิทยาลัย
บ้านไส้จ่อ หมู่ที่ 4 ตั้งอยู่ในตำบลกุดไส่จ่อ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ห่างจากอำเภอกันทรวิชัย ประมาณ 13 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดมหาสารคาม ประมาณ 22 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านไส้จ่อ หมู่ 11 ตำบลกุดใส้จ่อ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหนองคู หมู่ 1 ตำบลกุดใส้จ่อ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านโคกประสิทธิ์ ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านดอนเป้า หมู่ 5 ตำบลกุดใส้จ่อ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันแบบพึ่งพาอาศัยกันเเละกันผ่านระบบเครือญาติ โดยมีจำนวนครัวเรือน 105 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 376 คน แยกเป็นเพศชาย 189 คน เพศหญิง 187 คน
บ้านไส้จ่อ มีพื้นที่ 491.65 ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการทำนา ทำไร่ ปลูกไม้ผล มีแหล่งน้ำสาธารณะ คือ หนองกอย เป็นหนองน้ำที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการหาสัตว์น้ำ ไว้ใช้บริโภคในครัวเรือนและขายเป็นรายได้เสริมและยังมีการเย็บหมอน มุ้งไก่ และจักสาร
บ้านไส้จ่อจะมีบุญประเพณี ฮีต 12 คอง 14 คือ
- เดือนอ้าย บุญพระสงฆ์ บุญเข้ากรรม
- เดือนยี่ บุญคูนลาน บุญประทายข้าวเปลือก
- บุญเดือน 3 บุญข้าวจี่ บุญกุ้มข้าวใหญ่
- บุญเดือน 4 บุญผะเหวดเทศมหาชาติ บุญขึ้นบ้านใหม่นิยมทำในเดือน มีนาคมถึงพฤษภาคม
- บุญเดือน 5 บุญสงกรานต์ตบประทาย เอาทรายใส่ถังภาชนะเล็ก ๆ แล้วไปคว่ำให้เป็นรูปทรงคล้ายเจดีย์มีความเชื่อว่าเป็นการบูชาแม่น้ำทำแล้วให้อยู่เย็นเป็นสุข
- บุญเดือน 6 บุญบั้งไฟ บุญบวชนาค บุญขึ้นบ้านใหม่
- บุญเดือน 7 บุญเบิกบ้าน บุญชำฮะ
- บุญเดือน 8 บุญเข้าพรรษา
- บุญเดือน 9 บุญข้าวประดับดิน
- บุญเดือน 10 บุญข้าวสาก เอาอาหารคาวอาหารหวานห่อใส่กระทงใบตองแล้วเอาไปไว้ธาตุช่วงเที่ยงถึงตอนบ่ายค่อยไปเก็บจากธาตุแล้วเอาไปไว้นาเชื่อว่าเป็นการทำบุญให้บรรพบุรุษปู่แฮกย่าแฮกอยู่ที่นาเจ้าที่เจ้าทาง
- บุญเดือน 11 บุญออกพรรษา บุญข้าวทิพย์ ตักบาตรเทโว
- บุญเดือน 12 บุญกฐิน ลอยกระทง
1.นางทองปาน สุขชารี ชำนาญด้าน เย็บปัก จักสาน
ภูมิปัญญาที่เป็นงานหัตถกรรมการจักสานชนิดต่าง ๆ เสื่อที่เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน
การใช้ภาษา คนในหมู่บ้านจะใช้ภาษาท้องถิ่น คือ ภาษาอีสาน ส่วนภาษากลางจะใช้ในกรณีที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานทางราชการเป็นส่วนใหญ่
ภูมิปัญญาเครื่องจักสาน เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับผู้คนในชุมชนในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถนำมาพัฒนาเป็นอาชีพหลักได้ เนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนยังผูกพันกับการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงมีสภาวะที่เป็นหนี้ครัวเรือนที่มาจากการลงทุนในภาคเกษตร ซึ่งเป็นปัญหาที่ผูกพันกับผู้คนในชุมชนมาเป็นระยะเวลานาน
ด้านวัฒนธรรมที่ผู้คนในชุมชนมีส่วนร่วมกัน คือ ประเพณีบุญสงกรานต์ ที่เป็นงานบุญประเพณีที่ลูกหลานที่เดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัดได้เดินทางกลับบ้านอยู่กับครอบครัว เเละประกอบพิธีกรรมตามจารีตของชุมชนเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองเเละครอบครัว
นายสัน บุรมรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านไส่จ่อ (ผู้ให้สัมภาษณ์), นายธนวิทย์ สิงห์โสด (ผู้สัมภาษณ์) ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน บ้านไส่จ่อ หมู่ 4 ตำบลไส่จ่อ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, 21 พฤษภาคม 2567
องค์การบริหารส่วนตำบลกุดใส้จ่อ. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐาน ประวัติ/สภาพทั่วไป. https://www.goodsaijor.go.th/