บ้านอายิโก๊ะ ชุมชนของชาวมูเซอ กลุ่มชาติพันธ์ุที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน อีกทั้งด้วยประเพณีและวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ชาวมูเซอมีความสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
เดิมที่หมู่บ้านชื่อว่า "แอ๋มีโก่" เป็นภาษามูเซอแดงตามชื่อผู้นำชุมชนคือ นาย อานิโก่ จนต่อมาทางหน่วยราชการเข้ามาทำทะเบียนประวัติหมู่บ้าน แต่เกิดความคลาดเคลื่อนจนเป็นผลให้ บ้านแอ๋มีโก่ กลายมาเป็น "อายิโก๊ะ" ในปัจจุบัน
บ้านอายิโก๊ะ ชุมชนของชาวมูเซอ กลุ่มชาติพันธ์ุที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน อีกทั้งด้วยประเพณีและวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ชาวมูเซอมีความสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
จุดเริ่มต้นของหมู่บ้าน เกิดจากการที่นายอานิโก่และพรรคพวกรวมตัวกันเพื่อหาพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ เนื่องจากที่ตั้งเดิม คือ บ้านแม่ต๋ำน้อย ตำบลท่าก้อ อำเภอแม่สลวย จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ทำกินไม่เพียงพอ ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในการทำเกษตรและประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดก็พบพื้นที่แห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณบ้านพญาโกหาและบ้านป่าซ้อแสนพงษ์ เขตดอยเวียงผา โดยมีแม่น้ำแม่ยางมิ้นไว้ใช้ในการทำเกษตร แล้วจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "แอ๋มิโก่" ตามชื่อของนายอานิโก่ซึ่งเป็นภาษามูเซอแดง และถูกนับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบ้านพญากอง ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย
จนกระทั่งปี 2538 ทางการได้ออกสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติหมู่บ้าน แต่ด้วยความคลาดเคลื่อนทำให้เจ้าหน้าที่สะกดผิด และเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า "บ้านอายิโก๊ะ" จนในที่สุดปี พ.ศ. 2540 ทางหมู่บ้านได้รับการอนุมัติจากการกระทรวงมหาไทยให้จัดตั้งขึ้นมาเป็นหมู่บ้าน โดยให้แยกออกมาจากบ้านพญากอง และมีบ้านใหม่ห้วยตลาดและบ้านป่าซ้อแสนพงษ์เป็นบริวารจนถึงปัจจุบัน
บ้านอายิโก๊ะมีลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป็นภูเขาสูง ส่งผลให้การตั้งบ้านเรือนเป็นการสร้างตามเชิงเขา โดยมีแม่น้ำแม่ยางมิ้นไหลผ่าน และมีอาณาเขตติดต่อพื้นที่อื่น ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านยางแดง ตำบลป่าแดด อำเภอแม่สรวย
- ทิศใต้ ติดกับ ลำห้วยป่าซ้อ
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านพญาโกหา ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านป่าซ้อแสนพงษ์ ตำบลศรีถ้อย
ระบบสาธารณูปโภค
- ด้านการคมนาคม ผู้คนภายในหมู่บ้านมีวิธีการเดินทาง คือ การใช้รถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนบุคคล และรถโดยสารประจำทางในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ
- ระบบประปาภูเขา จำนวน 4 จุด
- ชุดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 98 ชุด
- เครื่องปั่นไฟ จำนวน 2 เครื่อง
- ปั้มน้ำมัน 1 แห่ง
- ร้านค้าชุมชน 5 แห่ง
- สถานศึกษาสังกัดอื่น 1 แห่ง
ข้อมูลสถิติประชากรทะเบียนราษฎร ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า ประชากรในชุมชนมีทั้งสิ้น 953 คน โดยแบ่งเป็น ชาย 503 คน หญิง 450 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมูเซอ หรือเรียกอีกชื่อว่า "ลาหู่"
ชาวมูเซอที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ดั้งเดิมแล้วมีถิ่นอาศัยอยู่แถวบริเวณที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ แต่ได้ทำการอพยพย้ายถิ่นฐานอยู่หลายครั้ง เนื่องจากปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง จนกระทั่งปัจจุบัน ชาวมูเซอ/ลาหู่กระจายตัวอยู่ตามบริเวณพื้นที่ชายแดนต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยจะอยู่เป็นชุมชนจำนวนมากบริเวณจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน และพบว่าบางกลุ่มมักจะอาศัยอยู่ร่วมกับคนไทย หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ
อีกทั้งกลุ่มที่พบมากที่สุดในประเทศไทยคือ กลุ่มชาวมูเซอแดง ซึ่งนับถือผีเป็นหลัก แต่ชาวมูเซอบางกลุ่มมีการนับถือศาสนาคริสตร์ร่วมด้วย มากไปกว่านั้นชาวมูเซอจะมีคติร่วมกันคือ "มูเซอทุกคน จะต้องช่วยเหลือ ผู้อื่นที่ต้องการความช่วยเหลือเพราะเป็นญาติพี่น้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่" แสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชน โดยลักษณะของการช่วยเหลือ คือ แม้บุคคลที่ไม่ใช้ญาติของตนเดือดร้อนก็มักจะได้รับความช่วยหรอ ทำให้ในชุมชนเกิดความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ฉ้นท์พี่น้อง รูปแบบการนับวงศาคณาญาติจึงกว้างออกไปเรื่อย ๆ
อีกทั้งรูปแบบการแต่งงานของชาวมูเซอจะเริ่มขึ้นในช่วงของเทศกาลปีใหม่ เนื่องจากผู้ชายในหมู่บ้านที่โสดจะมีเวลาว่างในการจับกลุ่มเพื่อออกไปหาสาวที่หมู่บ้านอื่น โดยมีวิธีการติดต่อคือ กลุ่มผู้ชายจะใช้เด็ก ๆ ในหมู่บ้านไปบอกกับผู้หญิงว่า พวกเขามาเที่ยวที่หมู่บ้านดังกล่าว เพื่อให้ผู้หญิงเตรียมกับข้าวไว้ต้อนรับ หากชอบคอคนไหนก็จะแยกไปคุยกัน
ลาหู่ในชุมชนบ้านอายิโก๊ะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่เป็นหลัก และมีการปลูกพืชหมุนเวียนบนพื้นที่ดินสำหรับการทำไร่ โดยพืชที่นิยมปลูกจะเป็นพืชที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการและเอกชน เพื่อสำหรับขาย เช่น มะเขือเทศ มันฝรั่ง ถั่วลันเตา ผักกาดหอม เสาวรส เป็นต้น และมีพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ชาวบ้านนิยมปลูกกันในชุมชน ดังนี้
- ข้าว พบว่าร้อยละ 80 ของข้าวที่ปลูกเป็นข้าวเจ้า และที่เหลือเป็นข้าวเหนียว เนื่องจากชาวบ้านยังคงนิยมบริโภคข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว อีกทั้งการปลูกข้าวจะเริ่มตั้งแต่ช่วง ปลายเดือนเมษา-สิ้นเดือนมิถุนายน โดยมีข้าวแต่ละพันธุ์แตกต่างกันไป คือ
- ข้าวเจ้าพันธ์ุหนัก (ใช้เวลาในการปลูกจนไปถึงช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 6 เดือน)
- ข้าวเจ้าพันธ์ุกลาง (ใช้เวลาในการปลูกจนไปถึงช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 5 เดือน)
- ข้าวเจ้าพันธุ์เบา (ใช้เวลาในการปลูกจนไปถึงช่วงเก็บเกี่ยวประมาณ 4 เดือน)
- ข้าวเหนียวพันธ์ุหนัก
โดยจะใช้วิธีการทำไร่แบบหมุนเวียนคือ ในผืนดินที่ใช้ปลูกข้าวจะไม่ถูกใช้ซ้ำเกิน 2 ปี และหากที่ดังกล่าวเคยถูกใช้ไปแล้วจะถูกทิ้งไว้อย่างน้อย 4 ปีเพื่อให้ที่ดังกล่าวมีแร่ธาตุที่เหมาะสม
- พริก ในชุมชนของชาวมูเซอ พริก ถือว่าเป็นส่วนประกอบหลักที่มักถูกใช้ในการประกอบอาหาร ในกลุ่มของชาวมูเซอแดงมักจะนิยมปลูกพริกชี้ฟ้าเป็นหลัก แหล่งปลูกพริกมักจะเป็นบริเวณที่มีต้นไม้หนาแน่น หรือป่าไผ่ และจะปลูกได้แค่ปีละครั้งเท่านั้น เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่า หากปลูกพริกซ้ำที่ผืนเดิม ใบจะหงิกงอและออกดอกได้น้อย แต่จะใช้วิธีปลูกพืชอื่นทดแทน และทิ้งให้ไร่พริกไว้ประมาณ 4-5 ปี เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์พอที่จะกลับมาปลูกซ้ำอีกครั้ง
- งา ชาวบ้านนิยมปลูกทั้งงาขาวและงาดำ เนื่องจากสามารถ เก็บ ปลูก เก็บรักษาได้ง่าย โดยมักจะปลูกวิธีเดียวกับพริก คือ การปลูกแซมตามป่าทึบหรือป่าไผ่ และสามารถปลูกได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น หลังจากเก็บเกี่ยวไร่งาจะถูกทิ้งเพื่อให้กลับไปเป็นป่า ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 6 ปี เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่า หากทิ้งช่วงไว้น้อยกว่า 6 ปี อาจทำให้งาไม่มีเมล็ด
นอกจากนั้น ในชุมชนยังประกอบไปด้วยองค์กรอื่น ๆ ที่มีหน้าในการสนับสนุนและช่วยเหลือชุมชน คือ
- องค์การบริหารส่วนตำบลศรีถ้อย
- ชุดปฏิบัติการณ์พิเศษ ดอยเวียงผา
- โรงเรียนเวียงผาวิทยา (ห้องเรียนสาขาอายิโก๊ะ)
- องค์กรแพลนมหาชน
- อุทยานป่าไม้ต้นน้ำแม่ยางมิ้น
- โรงพยาบาลส่งเสริมตำบลแม่ศรีถ้อย
นายจะสี่ ปะกู่ : ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9
นาย นันทิภาคย์ จะแฮ : ผู้ช่วยผู้ใหญ่ย้านหมู่ 9
นาย ลาวปัน โปถะ : ปู่จอง
นาย จะลา ปะนุ : ปู่จอง
หมายเหตุ
ปู่จอง (บางพื้นที่ออกเสียงว่า ปู่จ๊อง) เป็นผู้นำทางด้านความเชื่อ พิธีกรรม ที่คนในชุมชนให้ความเคารพนับถือ ซึ่งเชื่อกันว่าปู่จองสามารถติดต่อสื่อสารกับพระเจ้าหรือผี หรือสิ่งเหนือธรรมชาติอื่น ๆ ได้
ทุนวัฒนธรรม
ในพื้นที่ของชุมชนบ้านอายิโก๊ะมีประเพณีที่สำคัญต่อคนในชุมชนดังนี้
เทศกาลฉลองปีใหม่ลาหู่ (มูเซอ) หรือเขาะเจ๊าเว
นับว่าเป็นเทศกาลที่สำคัญอย่างยิ่งต่อชาวมูเซอ เนื่องจากเป็นช่วงที่สมาชิกในหมู่บ้านจะกลับมารวมตัวกันหลังจากเสร็จสิ้นภาระของแต่ละคน โดยกำหนดการในการจัดมักจะจัดขึ้นในช่วง มกราคม-มีนาคม แต่มักจะจัดไม่ตรงกันในแต่ละปี โดยจะอิงจากการที่คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ละเว้นจากการทำไร่ทำนา และมีเวลามากพอที่จะกลับมายังหมู่บ้าน ภายในช่วงของเทศกาลจะมีการเชือดหมูดำเพื่อสำหรับใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้าอื่อซา
นอกจากเนื้อหมู ชาวลาหู่จะนำข้าวเหนียวนึ่งมาตำแล้วปั้นเป็นก้อนกลม ๆ เรียกว่า "อ่อผุ" หรือ "ข้าวปุ๊ก" เพื่อนำไปถวายเช่นกัน แล้วจึงค่อยนำเนื้อหมูมาปรุงเพื่อแจกจ่ายกันต่อไป อีกทั้งในช่วงเวลาของเทศกาลจะมีการละเล่นที่แตกต่างกันไป เช่น ผู้ชายจะเล่นขว้างลูกข่าง ส่วนผู้หญิงจะเล่นโยนลูกสะบ้า (ทำมาจากผ้าและมีแกลบอยู่ข้างใน)
แต่หากมีหมู่บ้านของชาวมูเซอที่อยู่ใกล้เคียงกันจัดงานฉลองปีใหม่ขึ้นพร้อมกัน ก็จะมีพิธีกรรมเพิ่มขึ้นมา เรียกว่า "ออรี้เตดะเว" แปลว่า การเดินทางไปเยี่ยมหมู่บ้านอื่นพร้อมห่อเนื้อหมู และออผุ เพื่อนำไปทำบุญกับเพื่อนบ้าน พร้อมกับมีการรดน้ำดำหัวผู้อาวุโสและมีการเต้นรอบลานพิธีของหมู่บ้านที่ไปเยือน และหมู่บ้านที่มีผู้มาเยือนก็จะใช้วิธีเดียวกันในการตอบแทน
พิธีมอเลเว (บวชป่า)
เป็นพิธีที่แสดงออกถึงการขอบคุณเจ้าป่า เจ้าเขา ที่ให้ทรัพยากรแก่ชาวบ้านในการดำรงชีพ ลักษณะของพิธีกรรมคือ คนในชุมชนจะออกไปเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร แล้วจึงไปรวมตัวกันที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชนซึ่งเป็นป่าที่ชาวบ้านใช้สำหรับการทำพิธี โดยผู้ชายในหมู่บ้านจะช่วยกันสร้างศาลเจ้าที่ด้วยไม้ไผ่ ส่วนกลุ่มผู้หญิงจะช่วยกันเตรียมอาหาร ครั้นเมื่อพร้อมทุกคนจะช่วยกันนำ ข้าวสาร ไก่ น้ำ หรืออาหารอื่น ๆ มาถวาย พร้อมกับมีผู้นำทางความเชื่อเป็นผู้นำกล่าวพิธีกรรม
ประเพณีก่อทราย
ประเพณีก่อทราย หรือภาษาท้องถิ่นเรียกว่า "แซก่อ" เป็นประเพณีดั้งที่สืบทอดต่อกันมา เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับสิ่งต่าง ๆ ที่ล่วงลับไปจากการทำไร่ เช่น การฆ่าสัตว์ทั้งเจตนาและไม่เจตนาในระหว่างการทำไร่ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าหากทำพิธีแล้วจะไม่เป็นบาป ทั้งยังส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามได้ดี โดยจะมีพ่อหมอ หรือผู้อาวุโสในหมู่บ้านคอยนำท่องบทสวด หลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรม ชาวบ้านจะเก็บเมล็ดพันธ์ุที่ถูกใช้ในพิธีมาไว้ที่บ้าน
การละเล่น
ในชุมชนมีการละเล่นต่าง ๆ ที่ชาวบ้านนิยมเล่นกันในช่วงของเทศกาล ดังนี้
ก่า เคอะ เว
เป็นการละเล่นรูปแบบหนึ่ง โดยจะมีแคนเป็นอุปกรณ์ในการละเล่น ซึ่งจะมีผู้ที่ชำนาญการเป่าแคนคอยเป่านำ แล้วจะมีการเต้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้พระเจ้าอื่อซาทราบว่า ชาวลาหู่/มูเซอ กำลังจะจัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่ให้ และเป็นการขอให้พระเจ้าอวยพรคนในชุมชน
การเล่นลูกข่าง (ค่อซือ)
เป็นการละเล่นที่นิยมเล่นกันในช่วงปีใหม่ของชาวมูเซอ โดยมีวิธีการเล่นคือ นำเชือกที่ใช้สำหรับการเหวี่ยงลูกข่างมามัดรอบไม้ แล้วจึงทำการพันลูกข่าง (ที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง) แล้วโยนไปยังเป้าหมาย แล้วจึงดึงเชือกคืนทันที เพื่อให้ลูกข่างหมุน หากลูกข่างของเราไปโดนอีกฝ่ายจะถือว่าชนะ
การโยนผ้า (แข่ปุกสื่อบาดะเว)
เป็นการละเล่นโยนผ้าของหนุ่มสาวในช่วงปีใหม่ หรือการกินวอ มีวิธีการเล่นคือ จะแบ่งฝ่ายสำหรับชายและหญิง และตั้งกติกาว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับผ้าที่โยนไปให้ไม่ได้ จนครบแต้มที่กำหนด ฝ่ายนั้นต้องถูกริบของใช้ แต่จะคืนกันเมื่อช่วงของการกินวอจบลง
ชาวลาหู่/มูเซอ ใช้ภาษาลาหู่ในการติดต่อสื่อสารกันในหมู่บ้าน หรือกับชาวมูเซอกลุ่มอื่น ๆ ได้ โดยภาษาลาหู่ เป็นภาษาในกลุ่มทิเบตพม่า มีเพียงภาษาพูดเท่านั้น ไม่สามารถเขียนได้
ในชุมชนชนมีปัญหาที่พบดังนี้
- ผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษาและไม่สนใจ
- ปัญหาเด็กนักเรียนออกลางคัน
- ผู้ใหญ่อายุเกิน 40 อ่าน เขียน ภาษาไทยไม่ได้
วิธีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนโดยส่วนใหญ่มีการยึดโยงกับป่าไม้เป็นหลัก ส่งผลให้ปัญหาหลักที่มักจะพบคือ ปัญหาการใช้ที่ดินของชาวบ้านในการทำเกษตรกรรม คือ การล้มไม้แล้วเผาป่า (Slash and burn) วิธีการดังกล่าวส่งผลให้ดินเสื่อมสภาพไวมากขึ้น และเมื่อดินเสื่อมก็จะย้ายไปทำไร่ที่อื่นโดยใช้วิธีเดียวกันกับข้างต้น ส่งผลให้สภาพแวดล้อมรอบข้าง สัตว์ และพืชพันธ์ุต่าง ๆ ค่อย ๆ ลดลงไป
ในชุมชนมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ
น้ำตกห้วยหาญ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในบ้านอายิโก๊ะ โดยใช้วิธีเดินเท้าจากบ้านอายิโก๊ะไปประมาณ 5 กิโลเมตร น้ำตกมีลักษณะเป็น 4 ชั้น
นันธิดา จันทร์เปล่ง. (2565). ข้อมูลพื้นฐาน ประชากรบ้านอายิโก๊ะ หมู่ที่9 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเชียงราย. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567, จาก : https://pubhtml5.com/xjoo/dqba/basic/#google_vignette
กลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่ายกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ. (ม.ป.ป). บ้านอายิโก๊ะ หมู่ที่9 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567, จาก : https://www.xn--b3c3da.com/home/pdf/village/1031/
อภิชาติ ภัทรธรรม. (2552). มูเซอ. วารสารการจัดการป่าไม้, 3(5), 127-142. ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567, จาก : https://kukrdb.lib.ku.ac.th/journal/index.php?/JFM/
บ้านอายิโก๊ะ ซิตี้ . (2566). พิธีกรรมมอเลเว (บวชป่า) ของชนเผ่าลาหู่. สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567 จาก : https://www.facebook.com/
บ้านอายิโก๊ะ ซิตี้ . (2566). ประเพณีกินวอหรือการเฉลิมฉลองปีใหม่ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2567 จาก :https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid