ชุมชนเก่าแก่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กับการสืบทอดภูมิปัญญาการตีมีดอรัญญิก อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญและอยู่คู่ชุมชนมานานนับหลายร้อยปี
ชุมชนเก่าแก่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กับการสืบทอดภูมิปัญญาการตีมีดอรัญญิก อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญและอยู่คู่ชุมชนมานานนับหลายร้อยปี
ชาวบ้านไผ่หนองเดิมอาศัยอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว และอพยพเข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 2 โดยชาวบ้านเป็นกลุ่มคนตีมีดดั้งเดิมตั้งแต่อยู่ที่เวียงจันทน์ เมื่อย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยจึงได้หาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานและเอื้อต่อการประกอบอาชีพดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาติดตัวมาด้วย
การเข้ามาของชาวบ้านจากเวียงจันทน์นำโดย “นายเทา” เป็นผู้นำกลุ่ม เมื่อมาถึงบริเวณที่ตั้งชุมชนปัจจุบัน พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีป่าไผ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีหนองน้ำในบริเวณเดียวกัน ทั้งยังมีแม่น้ำไหลผ่าน คือ แม่น้ำป่าสัก จึงเป็นที่ที่เหมาะแก่การตั้งรกราก เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต และเป็นวัตถุดิบสำคัญของช่างตีเหล็ก โดยชาวบ้านจะนำต้นไผ่มาเผาเป็นถ่านเพื่อใช้ก่อไฟในการเผาเหล็ก เพราะถ่านจากไม้ไผ่จะให้ความร้อนที่สูงกว่าไม้ชนิดอื่น ๆ และใช้ไผ่ในการทำเป็นด้ามของมีด พะเนิน ค้อน ฯลฯ ชาวบ้านจึงได้ตัดสินใจสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยที่นี่ และตั้งชื่อชุมชนว่าบ้านต้นโพธิ์-ไผ่หนอง ตามลักษณะพื้นที่ ซึ่งในปัจจุบันแยกเป็นสองหมู่บ้าน นอกจากอาชีพช่างตีเหล็กแล้วชาวบ้านยังเป็นช่างทองอีกด้วย โดยผู้ที่มีพละกำลังมากจะเป็นช่างตีเหล็ก ส่วนผู้ที่มีความละเอียดประณีตจะเป็นช่างทอง และชาวบ้านก็ยึดอาชีพนี้ในการทำมาหากินเรื่อยมา
ต่อมาในราว พ.ศ. 2365 อาชีพช่างทองก็เริ่มลดบทบาทและสูญหายไปในที่สุด คงเหลือแต่อาชีพช่างเหล็กที่ยึดเป็นอาชีพหลัก ในสมัยรัชกาลที่ 3 อาชีพช่างตีเหล็กบ้านไผ่หนองมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกล เป็นที่ยอมรับในผลงานและฝีมีการตีเหล็กของคนทั่วไป ตลอดจนขุนนาง และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และนายเทาผู้นำชุมชนก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนนราราชบริรักษ์” และชาวบ้านก็ยึดอาชีพตีเหล็กเรื่อยมาในทุกยุคทุกสมัย และเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์เสด็จทอดพระเนตรการตีมีดที่บ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์ หรือชุมชนตีมีดอรัญญิกอยู่หลายครั้ง ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จทอดพระเนตรในปี พ.ศ. 2519 และ 2531 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จทอดพระเนตรในปี พ.ศ. 2537 โดยทุกพระองค์ทรงสนับสนุนการตีเหล็ก ทรงแนะนำ ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพของชุมชนตีมีดอรัญญิกให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ทำให้อาชีพช่างตีเหล็กยังคงอยู่คู่กับชุมชนสืบมา
ส่วนที่มาของคำว่า “มีดอรัญญิก” สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนมีตลาดร้านค้าอยู่ที่บ้านอรัญญิกที่อยู่ไม่ไกลออกไป ซึ่งช่างเหล็กบ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์จะนำมีดที่ตีแล้วไปขายที่นั่น เมื่อมีคนมาซื้อและเห็นว่ามีดใช้งานได้ดี จึงมีการบอกต่อกลับไปว่าหากจะซื้อมีดให้ไปซื้อที่อรัญญิก จนกลายเป็นที่มาของมีดอรัญญิก ซึ่งความเป็นจริงแล้วชุมชนที่ตีมีดและกลุ่มช่างเหล็กทั้งหลายนั้นอยู่ที่บ้านไผ่หนองและบ้านต้นโพธิ์
บ้านไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตการปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเทศบาลตำบลอรัญญิก ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลบ้านหลวง อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี และตำบลวังแดง อำเภอท่าเรือ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลแม่ลา และตำบลบ้านชุ้ง อำเภอนครหลวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลปากท่า อำเภอท่าเรือ และตำบลพระแก้ว อำเภอภาชี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลบ้านนา อำเภอมหาราช ตำบลบ้านขล้อ อำเภอบางปะหัน และตำบลแม่ลาอำเภอนครหลวง
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 7 ชุมชนบ้านไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 697 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 336 คน ประชากรหญิง 361 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 277 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
บ้านไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นชุมชนช่างตีเหล็กมาตั้งแต่แรกเริ่ม และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวบ้าน ทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการสร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น เป็นทั้งมรดกภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ และช่วยสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ อีกทั้งอาชีพการตีเหล็กของชาวบ้านไผ่หนอง รวมไปถึงบ้านต้นโพธิ์ ยังได้รับการส่งเสริม ผลักดัน และพัฒนาเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายตลาดสินค้า และศักยภาพด้านอื่น ๆ จากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานราชการทั้งภายในและหน่วยงานภายนอกต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในการยึดอาชีพช่างตีเหล็กเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ในการดูแลครัวเรือนมาจนถึงปัจจุบัน
บ้านไผ่หนอง ตำบลท่าช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีวิถีชีวิตตามแบบประเพณีวัฒนธรรมตามเทศกาลสำคัญของขนบธรรมเนียมไทย และวันสำคัญทางพุทธศาสนา ได้แก่ การเข้าวัดทำบุญ วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา-ออกพรรษา วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ การทำบุญข้าวสลาก งานบุญมหาชาติ งานบุญกฐิน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีขนบธรรมเนียมที่สำคัญของชุมชนที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกปีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับอาชีพช่างตีเหล็กที่เป็นอาชีพหลักของชุมชน คือ การ “ไหว้ครู” โดยชาวบ้านจะจัดพิธีไหว้ครูในช่วงหลังวันสงกรานต์ ในวันข้างขึ้นเดือน 6 ที่ตรงกับวันพฤหัสบดี ซึ่งชาวบ้านจะประชุมและตกลงกันเพื่อเลือกวันตามข้อกำหนดดังกล่าว ในวันงานชาวบ้านจะเครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วมาจัดไว้ที่ลานพิธี และจะมีการปั้นเตาเผาใหม่ในช่วงนั้นด้วย และจะมีเครื่องบูชาต่าง ๆ เป็นขันธ์ห้า บูชาพระพุทธ ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน บูชาพระภูมิ แม่ธรณี พระวิษณุกรรม สายสิญจน์ เครื่องประดับ ขนมต้ม จัดแต่งเป็นพาขวัญ ดอกไม้ เครื่องสังเวย หมู ไก่ สุรา หมากพลู และจะทำพิธีสวดโองการเชิญเทพเจ้า ทำการบูชา ขอพร เมื่อปักธูปและธูปหมดดอกแล้วผู้ใหญ่จะไปเสสัง หรือการลาเครื่องสักการะ และจะเรียกทุกคนมาผูกกรวยดอกไม้ติดกับเครื่องมือต่าง ๆ ในพิธี เจิมด้วยแป้งกระแจะหอม ปิดทองคำเปลว และทุกคนจะต้องดื่มสุราที่นำมาไหว้ เพราะถือเป็นน้ำอมฤตจากครูบาอาจารย์ และผู้ใหญ่จะผูกข้อมือให้ลูกหลานเพื่อความเป็นสิริมงคล
การทำมีดอรัญญิก
อาชีพทำมีดอรัญญิก หรืออาชีพช่างตีเหล็ก เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ และชาวบ้านยังคงรักษาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นทุนที่สำคัญของชุมชนในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น การทำมีดของบ้านไผ่หนอง-ต้นโพธิ์ หรือชุมชนตีมีดอรัญญิก เป็นการประกอบอาชีพช่างตีเหล็กและช่างตีมีดในลักษณะของอุตสาหกรรมในระดับครัวเรือน กล่าวคือ เป็นการทำงานในระบบครอบครัวโดยมีพ่อ แม่ ลูก บุคคลในครอบครัวช่วยกันทำงานตั้งแต่ก่อนรุ่งสางไปจนถึงช่วงหลังตะวันตกดิน แต่ละครอบครัวจะช่วยกันทำงานไปเรื่อย ๆ ตามขั้นตอน มีเวลาพักทานข้าวแล้วกลับมาทำงานต่อ วนเวียนไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการในแต่ละวัน โดยอาชีพช่างตีเหล็กจะต้องมีความแข็งแรงและอดทน เพราะต้องอยู่กับหน้าเตาเผาที่ร้อนระอุตลอดเวลา และใช้กำลังในการเหวี่ยงค้อนลงบนพะเนินเหล็ก การตะไบ การกลึง เหล็ก และตามมีดอยู่ทุกขณะของการทำงาน
วัสดุในการทำมีด
- เหล็กพืด เหล็กปลอก เหล็กแหนบ
- ไม้สำหรับทำเป็นด้ามมีด เช่น ไม้ไผ่ ไม้ประดู่ ไม้แดง ฯลฯ
เครื่องมือในการทำมีด
- สูบสำหรับเป่าลม มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ สูบยืนแบบสูบคู่ สูบนอน และสูบพัดลม
- ทั่ง มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ทั่งใหญ่ และทั่งเล็ก สำหรับตีมีดตามขนาด
- ค้อน มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ พะเนิน สำหรับตีเหล็กขนาดใหญ่ในการขึ้นรูปหุ่นที่ต้องการ
- คีมจับเหล็ก ใช้จับเหล็กที่เผาแล้วมาวางบนพะเนิ
- เตาไฟ ปั้นจากดินเหนียวและแกลบ ใช้เผาเหล็ก
- เถาวัลย์เปรียง นำมาทุบปลายข้างหนึ่งสำหรับพรมน้ำเพิ่มระดับความแรงของไฟในเตา
- ขอไฟ สำหรับแงะ หรือใส่รูเตาเพื่อถ่ายเทอากาศ
- เลื่อยตัดเหล็ก สำหรับตัดเหล็กใหญ่
- เหล็กสกัด ใช้ตัดเหล็กให้เป็นท่อนตามขนาด
- ตะไบ มี 2 ชนิด คือ แบบหยาบและแบบละเอียด สำหรับแต่งมีดให้เรียบคม
- เหล็กขูด ใช้สำหรับขูดใบมีดให้คมและบาง
- วิน หรือสว่าน ใช้เจาะรูด้ามมีด
- ลวดเหล็ก ใช้ทำหมุดเพื่อยึดด้ามมีดให้แน่น
- ถ่านไม้ไผ่ สำหรับก่อไฟเผาเหล็ก
- หินลับมีด ประกอบด้วยหินหยาบและหินละเอียด
- กระดาษทราย ใช้ขัดมีดและด้ามมีด
- น้ำมันมะพร้าว ใช้ทามีดเพื่อป้องกันสนิม
- เลคเกอร์ ใช้ทาด้ามมีดให้เงางาม
- ตมเกลือ ทำจากกินเหนียวผสมเกลือ ใช้ทามีดเพื่อกันไฟจับเวลาชุบ
- ตราสำหรับตอกที่ใบมีด
- เครื่องกลึง สำหรับกลึงด้ามมีด
- เครื่องขัดหรือปัดมีด
- ใบมีดตัดเหล็ก
การทำมีดอรัญญิกของช่างตีเหล็กจะมีขั้นตอนและวิธีการที่แตกต่างและคล้ายคลึงกัน รวมถึงระยะเวลาที่มากน้อยต่างกันไปตามแต่ลักษณะและประเภทของมีดแต่ละชนิด โดยการตีเหล็กเพื่อทำมีดอรัญญิกจะแบ่งประเภทของมีดเป็นสองลักษณะหลัก ๆ คือ การทำมีดเล็กและการทำมีดใหญ่ โดยมีเล็ก ประกอบด้วย มีดพับ มีดโต๊ะ มีดคว้าน มีดปอกผลไม้ มีดหั่นผัก หั่นเนื้อ เจียนหมาก ควั่นอ้อย มีดพก มีด 2 เขี้ยว ฯลฯ โดยมีดเล็กจะใช้เหล็กพืด หรือเหล็กปอกในการตี และการทำมีดขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น มีดโต้ มีดหัวตาล มีดหัวเสียม มีดขอ มีดดาบ มีดเสือ มีดหมู มีดบังตอ มีดตอก มีดเหน็บ มีดครัว มีดหวดถางนา มีดตาละป๋า มีดปาดตาล มีดตัดจาก เคียวเกี่ยวข้าว ขอชักไม้ เป็นต้น ซึ่งจะใช้เหล็กแหนบรถยนต์ และเหล็กพืดหนา นำมาตัดเป็นท่อนในการตี
พิพิธภัณฑ์มีดอรัญญิก
ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเป็น 3 ส่วน เริ่มจากส่วนที่ 1 นำเสนอประวัติความเป็นมาของชุมชนตีมีดอรัญญิก และภาพประวัติศาสตร์ “เคียวเกี่ยวข้าว จากฟ้าปกดิน” อันเป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาเกี่ยวข้าวในแปลงนาประวัติศาสตร์ทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2539 พร้อมภาพถ่ายของครูพยงค์ ผู้ทำเคียวเกี่ยวข้าวถวายในหลวง รัชกาลที่ 9 และเรื่องราวความปลาบปลื้มใจหาที่สุดมิได้ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้ตนรักษาการตีมีดอรัญญิกอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะนี้ไว้มิให้สูญหายไป รวมทั้งได้จัดแสดงเคียวเกี่ยวข้าวรูปทรงต่าง ๆ ต่อมาเป็นนิทรรศการวิถีชีวิตของชาวบ้านในหมู่บ้านต้นโพธิ์และหมู่บ้านไผ่หนอง ริมแม่น้ำป่าสัก พร้อมจัดแสดงเครื่องใช้ไม่สอยในชีวิตประจำวัน
ส่วนที่ 2 กว่าจะมาเป็นมีดอรัญญิก จัดแสดงภาพถ่ายขั้นตอนการตีมีดแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งจัดแสดงเครื่องมือโบราณต่าง ๆ ในการตีเหล็ก ขึ้นรูปทรงมีดแต่ละประเภทของชาวเวียงจันทน์เมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา จากนั้นเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทอดพระเนตรการตีมีดที่ชุมชนแห่งนี้ รวมทั้งนิทรรศการพิธีไหว้ครูบูชาเตา
ส่วนที่ 3 มีดอรัญญิกในยุคปัจจุบัน โดยจัดแสดงตัวอย่างมีด 4 ประเภท ได้แก่ มีดทำครัว มีดเกษตร มีดเดินป่า และมีดสวยงาม ผลิตภัณฑ์ชุดสแตนเลสบนโต๊ะอาหารสวยงามประณีต รวมทั้งนิทรรศการเชิดชูเกียรติ “ครูเตา” ของชุมชนตีมีดอรัญญิกจากอดีตถึงปัจจุบัน
ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
ธัชพร ฤกษ์ฉาย. (2558). การวิเคราะห์คุณค่าและการดำรงอยู่ของภูมิปัญญาการทำมีด : กรณีศึกษาหมู่บ้านอรัญญิก อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ปาวรี ไพบูลย์ยิ่ง. (ม.ป.ป.). หมู่บ้านหัตถกรรมตีมีด พิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งบ้านอรัญญิก. วัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2567, จาก http://article.culture.go.th/
สถาบันส่งเสริมศิลปกรรมไทย. (2563). มีดอรัญญิก. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2567, จาก https://www.sacit.or.th/