ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนวัฒนธรรม
บริเวณก่อตั้งชุมชนมีเนินต้นเขวาและรอบ ๆ เนินมีน้ำล้อมรอบจึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านเขวากลาง"
ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนวัฒนธรรม
บ้านเขวากลางหมู่ที่ 2 ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม จากบันทึกของผู้ใหญ่บ้านที่ได้มาคือหลักฐานการจดบันทึกของบรรพชนไว้เพื่อความทรงจำและเผยแพร่ต่อสาธารณะ สรุปใจความได้ว่า ชาวบ้านเขวากลางได้อพยพมาจากบ้านหนองเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด มีการกหยุดเพื่อตั้งหลักชั่วคราวในท้องถิ่นหลายแห่งในยุคอีสานสุดท้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านเขวากลางแห่งนี้ เมื่อได้มาตั้งถิ่นฐานแล้วมีการสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นที่เคารพบูชาของคนในหมู่บ้าน โดยมีการตั้งชื่อวัดว่า “วัดแก้วสว่าง” เพื่อให้สมาชิกของชุมชนได้ทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา
บ้านเขวากลางมีพื้นที่ประมาณ 1,118 ไร่ มีพื้นที่ทำการเกษตร รวมถึงแหล่งน้ำ ธรรมชาติ เช่น หนิง บึง บ่อน้ำตื้น เป็นต้น ประมาณ 1,056 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยรวมทั้งที่สาธารณะของชุมชน 62 ไร่ ชาวบ้านสร้างบ้านด้วยรูปแบบเรือนอีสานคือ มีใต้ถุนสูง และมีอาชีพทำนา และทำสวน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ป่าชุมชน
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านเขวาใหญ่หมู่ที่ 1
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านเขวาน้อย
- ทิศตะวันตก ติดกับ วัดแก้วสว่าง
กลุ่มทำผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเขวากลางมีการทอเสื่อกกภายในครัวเรือน เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่รอบนอกมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จึงเป็นทางเลือกสำหรับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยที่จะนำโครงการมาพัฒนาชุมชน โดยการนำกลุ่มทอเสื่อแปรรูปเสื่อกกออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มช่องทางการขายสินค้า
ชาวบ้านเขวากลางโดยมากมีอาชีพทำนาเป็นหลัก และมีการเลี้ยงสัตว์ เมื่อว่างเว้นจากการทำนาก็มีการทอผ้าหรือทอเสื่อเพื่อใช้ในครัวเรือน
ชาวบ้านเขวากลาง ได้ดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรมไทยอีสาน ไม่มีข้อขัดแย้งซึ่งกันและกันและอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข ประเพณีของชาวบ้านส่วนใหญ่ เกี่ยวเนื่องกับงานบุญ ส่วนประเพณีอื่น ๆ ชาวบ้านเริ่มไม่มีกิจกรรมร่วมกันและเริ่มไม่มีการจัดขึ้น เช่น การสู่ขวัญเด็กแรกเกิด การสู่ขวัญวัวควาย การไหว้ผีตาแฮก เป็นต้น แต่การปลงศพมีการดำเนินการวัฒนธรรมเดิมอย่างเคร่งครัด โดยต้องหันหัวศพไปทางทิศตะวันตกเสมอ ตั้งแต่เริ่มงานจนถึงพิธีเผาศพ และยังมีการฝังศพอยู่ แต่ปัจจุบันวิธีการฝังศพเริ่มหายไปเนื่องจากมีเตาเผา หรือเมรุ อยู่ภายในวัดเพื่อความสะดวก การหันหัวศพก็เป็นความเชื่อว่าหากผู้ตายไปได้ไปผุดไปเกิด ก็จะได้พบความสว่างไสวในชีวิตโดยเร็วและจะได้มีชีวิตที่ดี
ภาษาที่ใช้ในชุมชนใช้ภาษาอีสานเป็นส่วนมากเนื่องจากบรรพบุรุษเป็นกลุ่มคนลาวอพยพมา ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาอีสาน และมีการใช้ภาษากลางในการติดต่อราชการได้
การทำผลิตภัณฑ์ชุมชนสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ทำให้คนในชุมชนที่เป็นผู้สูงอายุและเป็นผู้เกษียณอายุราชการมีรายได้และมีความสุขในการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้กัน
สำเนียง เจริญผล. (2545). การวิเคราะห์ชุมชนบ้านเขวากลาง หมู่ที่ 2 ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. รายงานกระบวนการการศึกษาพัฒนาชุมชน.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
U2T ตำบลเขวาใหญ่ อำเภอกันทรวิชัย. (2566). ผ้าขาวม้า มหาสารคาม ผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้า. Facebook. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567. จาก https://www.facebook.com/