Advance search

บ้านเมืองบัว

ชุมชนโบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือยุคโลหะตอนปลาย มีโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมร(กู่เมืองบัว) สิมหรืออุโบสถในวัฒนธรรมลาว มีความเชื่อเรื่องผีที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนและข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

หมู่ที่1 หมู่ที่2 หมู่ที่5 หมู่ที่6 หมู่ที่10 และหมู่ที่11
เมืองบัว
เมืองบัว
เกษตรวิสัย
ร้อยเอ็ด
วุฒิกร กะตะสีลา
10 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
25 เม.ย. 2023
วุฒิกร กะตะสีลา
25 เม.ย. 2023
บ้านเมืองบัว

ชุมชนบ้านเมืองบัวตั้งชื่อบ้านตามทรัพยากรธรรมในชุมชนที่มีในพื้นที่ ซึ่งมีสระน้ำหรือหนองน้ำจำนวนมากและมีบัวแดงอยู่ตามสระเป็นจำนวนมากจึงตั้งชื่อชุมชนว่าบ้านเมืองบัว


ชุมชนชนบท

ชุมชนโบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือยุคโลหะตอนปลาย มีโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมร(กู่เมืองบัว) สิมหรืออุโบสถในวัฒนธรรมลาว มีความเชื่อเรื่องผีที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนและข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

เมืองบัว
หมู่ที่1 หมู่ที่2 หมู่ที่5 หมู่ที่6 หมู่ที่10 และหมู่ที่11
เมืองบัว
เกษตรวิสัย
ร้อยเอ็ด
45150
วิสาหกิจชุมชน โทร. 09-3324-9049, อบต.เมืองบัว โทร. 08-9844-2714
15.604144736457151
103.59540127327821
เทศบาลตำบลเทศบาลตำบลเมืองบัว

ชุมชนบ้านเมืองบัวเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่อยู่ในภาคอีสานระหว่างลุ่มแม่น้ำชีทางตอนเหนือและลุ่มแม่น้ำมูลทางตอนใต้  มีพื้นที่ประมาณ 2,107,690 ไร่  มีประชากรประมาณ798,070คน(สำนักงานสถิติจังหวัดมหาสารคาม, 2560:6;สำนักงานสถิติจังหวัดร้อยเอ็ด,2560:5; สำนักงานสถิติจังหวัดยโสธร,2559: 3; สำนักงานสถิติจังหวัดสุรินทร์,2559: 3; สำนักงานสถิติจังหวัดศรีสะเกษ,2559:3)  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลครอบคลุมพื้นที่บางส่วนใน จังหวัดคือ จังหวัดมหาสารคาม (อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล และอำเภอยางชุมน้อย) และจังหวัดยโสธร (อำเภอค้อวัง และอำเภอมหาชนะชัย)  ในอดีตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมขังเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก และแห้งแล้งในเวลาหน้าแล้ง รวมทั้งดินเป็นดินเค็ม ดังนั้นพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอดีตจึงไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ และมีลักษณะเป็นทุ่งโล่ง นอกจากนั้น พื้นที่ดังกล่าวยังมีความเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันท่ามกลางความหลากหลายในด้านต่าง ๆ  จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏในพื้นที่ชุมชนบ้านเมืองบัว มีการตั้งถิ่นฐานและที่อยู่อาศัยเป็นชุมชนโบราณในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายซึ่งนักวิชาการเรียกว่า “วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้”เมื่อประมาณ 4,000-1,500 ปีมาแล้วและมีการอยู่อาศัยต่อมาจนกระทั่งได้รับอิทธิพลในวัฒนธรรมเขมรที่ขยายอำนาจเข้ามาในพื้นที่แถบภาคอีสานในปัจจุบัน จึงได้ปรากฏหลักฐานของโบราณสถานในวัฒนธรรมเขมรต่อเนื่องในพื้นที่ด้วย ไม่เพียงเท่าเมื่อวัฒนธรรมเขมรเริ่มเสื่อมลง กลุ่มคนในวัฒนธรรมลาวเริ่มมีอิทธิพลในพื้นที่แถบภาคอีสานมีการอพยพโยกย้ายผู้คนกระจัดกระจายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อพยพมาจากนครจำปาสักของลาวในปัจจุบันได้ พื้นที่ของชุมชนบ้านเมืองได้รับอิทธิพลลาวมาจากกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

การขยายตัวของชุมชนบ้านเมืองบัวในช่วงการปกครองด้วยระบบเจ้าเมือง ตั้งแต่พ.ศ.2416 เป็นไปอย่างช้าๆเห็นได้จากเดิมทีชุมชนบ้านเมืองบัวเมื่อเริ่มมีกลุ่มเครือญาติของเจ้าเมืองซึ่งอพยพตามเจ้าเมืองมาอาศัยพื้นที่บ้านเมืองบัว โดยมีการตั้งหลักปักฐานตามบริเวณคุ้มสีกและโนนกลางบ้านในระยะนี้มีคนอพยพโยกย้ายเข้าออกหมู่บ้านมากขึ้น เมื่อมีจำนวนคนเพิ่มขึ้นจึงขยายชุมชนออกไปอยู่ทางคุ้มส้มโฮงซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านแต่ไม่หนาแน่นนัก การขยายตัวของชุมชนบ้านเมืองบัวเป็นไปแบบช้าๆปัจจัยมาจากหลายๆด้าน ทั้งเรื่องการอพยพโยกย้ายเข้าออกอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่มีความแน่ชัดในการตั้งหลักปักฐานบางคนมาเพื่อเยี่ยมญาติพี่น้อง ดังนั้นจึงมีเพียงแค่การเริ่มขยับขยายชุมชนออกไปอย่างเบาบางผู้คนส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวตามคุ้มสีกและโนนกลางบ้านเท่านั้น

การขยายตัวของชุมชนบ้านเมืองบัวจากระบบราชการในช่วง พ.ศ.2451-2509 ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองแบบเทศาภิบาลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ส่งผลให้เมืองเกษตรวิสัยลดฐานะลงมาเป็นอำเภอเกษตรวิสัยและมีนายอำเภอเป็นผู้ปกครอง ชุมชนบ้านเมืองบัวมีผู้คนอาศัยหนาแน่นขึ้นโดยเฉพาะบริเวณคุ้มส้มโฮง มีการสร้างวัดแห่งที่2 ของหมู่บ้านคือวัดศรีอริยวงศ์ รวมทั้งยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเมืองบัวมีการสร้างโรงเรียน ถนน ตลาด มีการติดต่อและทำการค้ากับชุมชนรอบข้าง ส่งผลให้หมู่บ้านเมืองบัวพัฒนาอย่างชัดเจนทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงการเป็นอยู่ของผู้คนที่เริ่มขยับขยายออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ของชุมชน ทั้งด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือมากขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเศรษฐกิจที่เริ่มมีพ่อค้าฃภายนอกเข้ามาในชุมชนอีกทั้งยังมีพ่อค้าในชุมชน เช่น ร้านนายกิมเหม่ง ณ อุบล พ่อค้าเร่อย่างนายปฐม เจริญราช ส่งผลให้เกิดการค้าที่เชื่อมโยงกับภายนอกชุมชนโดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ เช่น เกษตรวิสัย สุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้หมู่บ้านเมืองบัวพัฒนาในลักษณะนี้เป็นมาจากระบบการปกครองในราชการ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจการค้าและการจัดการความเชื่อเรื่องผีทั้งสามอย่างนี้ร่วมด้วยกัน

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของบ้านเมืองบัวประมาณพ.ศ.2510-2547ซึ่งเป็นผลมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่2 ส่งผลให้บ้านเมืองบัวมีการพัฒนาในด้านต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นการคมนาคม ไฟฟ้า น้ำประปา การสาธารณสุข การปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้านดีขึ้นตามลำดับ ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้บ้านเมืองบัวพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดคือเหตุการณ์ “ทุ่งกุลาแตก”ได้ทำให้คนในหมู่บ้านเข้าสู่สังคมการเกษตรแบบทุนนิยมมากขึ้นพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ข้าวหอมมะลิเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของคนในชุมชน มีการนำต้นยูคาลิปตัสและต้นกระถินณรงค์มาปลูกในพื้นที่คูคันนา การขุดลอกคูคลองทั้งลำน้ำเสียวน้ำเตา การพัฒนาของภาครัฐช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนบ้านเมืองบัวอย่างชัดเจนจนกระทั่งปัจจุบัน

การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนการสร้างตัวตัวตนและสำนึกร่วมของคนในชุมชนตั้งแต่ พ.ศ.2548-2565 เริ่มต้นจากการชำระประวัติศาสตร์บ้านเมืองบัวในโครงการเมธีวิจัย พ.ศ.2548  โครงการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยชุมชนท้องถิ่นได้ดำเนินการในเขตทุ่งกุลาร้องไห้  มีชุมชนหลายชุมชนได้เข้าร่วม และบ้านเมืองบัว ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย  ผู้นำสำคัญคนหนึ่งของบ้านเมืองบัวในการสืบค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือนายไพจิตร วสันตเสนานนท์ เกิดการตื่นตัวของผู้คนในเขตทุ่งกุลาร้องไห้และเกิดการวิจัยในพื้นที่ต่างมากมายรวมทั้งเกิดเครือข่ายการพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ในด้านต่าง ๆ ทั้งการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ ตำนาน เรื่องเล่า การรื้อฟื้นประเพณีต่าง ๆ ในแต่ละชุมชนและเกิดหลักสูตรท้องถิ่นทุ่งกุลาร้องไห้ ต่อมาเกิดกิจกรรมการรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า หนองน้ำทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังมีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ด้วยพื้นที่บ้านเมืองบัวตั้งอยู่ระหว่างลำน้ำสองสายคือลำน้ำเสียว และลำน้ำเตา  เนื่องจากเป็นเมืองโบราณจึงมีคันดินคูน้ำรอบพื้นที่ ปัจจุบันคูน้ำหลายแห่งตื้นเขินจนกลายเป็นพื้นดินแต่อีกหลายแห่งยังคงสภาพเป็นหนองน้ำ ซึ่งมีหนองน้ำในหมู่บ้าน 9 แห่งและหนองน้ำบริเวณทุ่งอีก 25 แห่ง  พื้นที่ป่าที่เหลืออยู่สองแห่งคือป่าที่ดอนกู่ และที่ “โพนหนามแท่ง” มีเหตุการณ์การขโมยเทวรูปศักดิ์สิทธิ์จากดอนกู่ส่งผลให้เกิดการคัดค้านการขุดแต่งโบราณสถานกู่เมืองบัวของกรมศิลปากรเนื่องจากความเชื่อที่เข้มข้นเกี่ยวกับเรื่องผีของผู้คน อีกทั้งยังมีการฟื้นฟูประเพณีสรงกู่ให้มีเชื่อเสียงและปรับเข้ากับความเชื่อเรื่องผีของคนในชุมชน กล่าวคือมีการเริ่มนำผีเจ้าปู่ประจำคุ้มต่าง ๆ เข้ามาร่วมในพิธรสรงกู่ร่วมกันเกิดกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดศรีอริยวงศ์เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนและเป็นพื้นที่เก็บเรื่องราว วัตถุ ประวัติศาสตร์ของชุมชน จากเหตุการณ์หรือปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนจึงส่งผลให้คนในชุมชนเกิดสำนึกรักษ์ท้องถิ่นและมีความสามัคคีในชุมชนค่อนข้างสูง อีกทั้งในช่วงพ.ศ.2556 มหาวิทยาลัยมหาสารคามเข้ามาช่วยกระตุ้นสำนึกในท้องถิ่นผ่านการดำเนินโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในพื้นที่ชุมชนบ้านเมืองบัว โดยเฉพาะสาขาวิชาประวัติศาสตร์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ลงไปจัดกิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดนิทรรศการ ปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ เก็บข้อมูลวิจัยต่าง ๆ 

จากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านเมืองบัว ตำบลเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด เห็นได้ว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี ประเพณีความเชื่อและพลังของคนในชุมชนชน ชุมชนบ้านเมืองบัวเป็นชุมชนที่มีความสามัคคีกันค่อนข้างสูงอันเนื่องมาจากการสร้างอัตลักษณ์ การสร้างประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยยึดโยงผู้คนให้รวมกลุ่มกัน รวมทั้งการสร้างสัญลักษณ์ของชุมชนผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นคือผีปู่ตาและพิธีสรงกู่ การกลับมารื้อฟื้นประเพณีเก่าแก่ของชุมชน การอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนรวมถึงการสร้างพิพิธภัณฑ์วัดศรีอริยวงศ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชน ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามของคนในชุมชนเพื่อสร้างพลังของชุมชนจนประสบความสำเร็จและกลายเป็นชุมชนที่มีส่วนร่วมต่อกันในทุกๆด้านกล่าวได้ว่า “ความสามัคคีของคนในชุมชนบ้านเมืองบัวคือพลังที่ช่วยขับเคลื่อนชุมชนให้พัฒนาต่อไปในอนาคต”

อาณาเขตของบ้านเมืองบัว

  • ทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีเขตติดต่อกับบ้านหัวดงกำแพง
  • ทิศเหนือติดเขตตำบลเกษตรวิสัย มีลำน้ำเสียวเป็นเขตกั้นแดน
  • ทิศใต้เป็นทุ่งกุลาร้องให้มีพื้นที่ติดกับบ้านโพนท่อนบ้านโพนฮาดและบ้านดงครั่งน้อย มีลำน้ำเตาไหลผ่านและมีครองน้ำ(ฮ่องเหมือง)
  • ทิศตะวันออกมีเลิงสีก(คลองสีก) เป็นแนวล้อมรอบและเป็นคูเมืองเก่าสมัยโบราณ ห่างออกไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรเป็นลำน้ำเสียวไหลบรรจบกับลำน้ำเตา ต่อมาในยุคปัจจุบันได้ตัดถนนเพื่อการสัญจรโดยตัดผ่านคลองน้ำโบราณจึงกลายเป็นหนองน้ำที่รายรอบชุมชนดังที่เห็นในปัจจุบัน
  • ทิศตะวันตกติดกับชายทุ่งกุลาร้องไห้ โพนหนามแท่ง บ้านสำราญหมู่ 3 ตำบลเมืองบัว ด้านนี้พื้นที่จะเป็นที่ราบ มีหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ คือหนองส้มโฮง

ตระกูลในชุมชนบ้านเมืองบัว

  • กลุ่มญาติพี่น้องพระศรีเกษตราธิไชย (สินลา) และแม่หนุ่มหม่อมตู้ต้นตระกูลสังขศิลา
  • กลุ่มน้องชายพระศรีเกษตราธิไชย และเจ้านายเมืองร้อยเอ็ด ท้าวจันทร์ ต้นตระกูลอุปชิต
  • กลุ่มท้าวสิงห์ ต้นตระกูลศิริสิงห์
  • กลุ่มพ่อขุนจำเริญ ต้นตระกูลเจริญสุข
  • กลุ่มพ่ออุดมทรัพย์ ต้นตระกูลอุดมทรัพย์
  • กลุ่มพ่ออ่อน พ่อเหลา ต้นตระกูลหาพันธุ์
  • กลุ่มพ่อจำปา แม่ทาทิพย์ ต้นตระกูลจำปาทิพย์
  • กลุ่มพ่อไชยจากบ้านราชธานี ร้อยเอ็ด ต้นตระกูลไชยราช
  • กลุ่มพ่อจำเริญ จากบ้านราชธานี ต้นตระกูลเจริญราช (น้องชายนายไชย)
  • กลุ่มพ่อสิมา พ่อเชียงลุน ต้นตระกูลกองพิธี
  • กลุ่มพ่อสุโพธิ์ ต้นตระกูลอาจสุโพธิ์
  • กลุ่มพ่อศรีสุรักษ์ ต้นตระกูลพิรุณ
  • กลุ่มพ่อลา ต้นตระกูลกลางราช
  • กลุ่มพ่อไชยปัญญา ต้นตระกูลออมอด
  • กลุ่มขุนหาญข้อง และยังมีผู้ตามมาอีกมาก เช่น กลุ่มนามสกุลยามโสภา มาตรศรี พิเนตร นาดี และดำงาม
  • ที่สำคัญอีกกลุ่ม คือ กลุ่ม พ่อลา อุดมคำ และกลุ่มพ่อพวง ไกรษร มาจากเมืองอุบลราชธานีและสุรินทร์

      กลุ่มอาชีพที่สำคัญของชุมชนที่โดดเด่นคือกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อหมู่ที่11 ที่ใช้ความเชื่อเรื่องผีเจ้าพ่อศรีนครเตาในการจัดการและดูแลโคเนื้อในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว รวมทั้งมีการตั้งกลุ่มจัดการขยะกลุ่มอาชีพสานกระเป๋าโคมไฟจากขยะพลาสติกหมู่ที่15

  • เดือนมกราคม             บุญคูณลาน,บุญคุ้ม,บุญกุ้มข้าว
  • เดือนกุมภาพันธ์         บุญข้าวจี่
  •  เดือนมีนาคม              บุญพะเหวด
  • เดือนเมษายน            บุญสรงน้ำ,สรงกรานต์
  • เดือนพฤษภาคม        บุญบั้งไฟ,ทำบุญหลักบ้าน(บือบ้าน),บุญสรงกู่ 
  • เดือนมิถุนายน             บุญเบิกบ้านเบิกเมือง,บุญซำฮะ บุญคุ้ม 
  • เดือนกรกฎาคม           บุญเข้าพรรษา 
  • เดือนสิงหาคม             บุญข้าวประดับดิน 
  • เดือนกันยายน             บุญข้าสาก 
  • เดือนตุลาคม                บุญออกพรรษา,แข่งเรือยาว
  •  เดือนพฤศจิกายน       แข่งเรือยาว,บุญกฐิน,ลอยกระทง
  •  เดือนธันวาคม              บุญเข้ากรรม “บุญเดือนอ้าย”

  •   นายไพจิตร วสันตเสนานนท์ อายุ 71 ปี

 อดีตครูโรงเรียนบ้านเมืองบัววิทยาคาร ปราชญ์ชาวบ้านผู้นำในการพัฒนาหมู่บ้านทั้งด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิถีชีวิตชุมชน รื้อฟื้นและพัฒนาประเพณีสรงกู่ให้มีชื่อเสียงรวมทั้งการสร้างพลังของชุมชนผ่านงานวิจัยในชุมชน นายไพจิตร วสันตเสนานนท์ อดีตครูโรงเรียนเมืองบัววิทยาคาร อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รวบรวมผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนร่วมกันให้ข้อมูล และเขียนประวัติศาสตร์บ้านเมืองบัว โดยจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม  ชื่อว่า “ตำราอีสานตำนานเมืองบัว” กิจกรรมการรักษา ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า หนองน้ำทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังมีการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ด้วยพื้นที่บ้านเมืองบัวตั้งอยู่ระหว่างลำน้ำสองสายคือลำน้ำเสียวและลำน้ำเตา  เนื่องจากเป็นเมืองโบราณจึงมีคันดินคูน้ำรอบพื้นที่ ปัจจุบันคูน้ำหลายแห่งตื้นเขินจนกลายเป็นพื้นดินแต่อีกหลายแห่งยังคงสภาพเป็นหนองน้ำ ซึ่งมีหนองน้ำในหมู่บ้าน 9 แห่งและหนองน้ำบริเวณทุ่งอีก 25 แห่ง  พื้นที่ป่าที่เหลืออยู่สองแห่งคือ ป่าที่ดอนกู่ และที่ “โพนหนามแท่ง”ซึ่งในอดีตเป็นป่าช้าของชุมชนมีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่

       บ้านเมืองบัวเป็นชุมชนโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานมานานประมาณ 4,000-1,500 ปีมาแล้ว ซึ่งยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้และคูน้ำรอบเมืองโบราณ

  • โบราณสถานในวัฒนธรรมเขมร (กู่เมืองบัว) อายุประมาณพุทธศตวรรษที่18

  • ประเพณีสรงกู่บ้านเมืองบัวที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน

  • ความเชื่อเรื่องผีที่โดดเด่นและทำให้ผู้คนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

  • ลำน้ำเสียว

  • ลำน้ำเตา

  • ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

ภาษาไทยและใช้ภาษาท้องถิ่นในการสื่อสาร



      การพัฒนาของชุมชนด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะด้านโบราณคดีถือเป็นชุมชนที่มีหลักฐานทางโบราณคดีที่น่าสนใจ ทั้งวัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่2 ของชุมชนโบราณทั้งโบราณสถานที่ปรากฏ 2 แห่ง 

การก่อสร้างสิม เรื่องเล่าและตำนานการเกิดทุ่งกุลาร้องไห้

“โพนขี้นกอินทรี” คือ ซากฟอสซิลหอยน้ำจืดที่จับตัวกันแน่น พบมากในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้โดยเฉพาะอำเภอสุวรรณภูมิและอำเภอเกษตรวิสัยเพราะแต่เดิมพื้นที่บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้เมื่อประมาณ 2-3 ล้านปีมาแล้วเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ สมัยก่อนชาวบ้านจะนำเอาโพนขี้นกอินทรีมาบดละเอียดและผสมกับ “ยางบง” ซึ่งเป็นยางไม้ชนิดหนึ่งในท้องถิ่นที่มีความเหนียวเมื่อผสมทั้งสองเข้าด้วยจะนำเอาไปฉาบตามผนังโบสถ์วิหารหรือสิมในวัฒนธรรมลาว(แทนปูนซีเมนต์) พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่พบสิมโบราณในสมัยวัฒนธรรมลาวส่วนใหญ่จะมีการใช้โพนขี้นกอินทรีในการฉาบ เพราะในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้พบโพนขี้นกอินทรีเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังปรากฏนิทานตำนานทุ่งกุลาร้องไห้ที่เกี่ยวกับโพนขี้นกอินทรีของคนในแถบทุ่งกุลาร้องไห้ โดยนายไพจิตร วสันตเสนานนท์เล่าว่า มีเมืองเมืองหนึ่งชื่อเมืองจำปานาคบุรีมีพระธิดานามว่า นางแสนสี และมีเมืองบูรพานครมีพระโอรสนามว่า ท้าวฮาดคำโปง ได้ลักพาตัวนางแสนสีขณะล่องแพในทะเลสาบ เจ้านครจำปานาคบุรีจึงให้พญานาคสูบน้ำในทะเลสาบออกให้หมด หลังจากนั้น กุ้ง หอย ปู ปลา ตายส่งกลิ่นเหม็นไปถึงพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้นกอินทรีสองผัวเมียมากิน กุ้ง หอย ปู ปลา เหล่านั้นให้หมด เมื่อนกอินทรีกินจนหมดก็ถ่ายมูลออกมากองใหญ่ซึ่งทุกวันนี้เรียกว่า “โพนขี้นก”

ไพจิตร วสันตเสนานนท์. (2550). ตำราอีสานตำนานเมืองบัว. แสงงามการพิมพ์.

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ, ส. ม. (2559). นานาทัศนะท้องถิ่นอีสาน. มาตาการพิมพ์.

สุกัญญา เบาเนิด. (2553). โบราณคดีในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้. หจก.ศิริธรรมออฟเซ็ท.

สุจิตต์ วงเทศน์. (2546). ทุ่งกุลา “อาณาจักรเกลือ” 2500 ปี จากยุคแรกเริ่มล้าหลัง ถึงยุคมั่งคั่งข้าวหอม. มติชน.