Advance search

บ้านผาสวรรค์ ชุมชนพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายของกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบนพื้นที่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความสวยงาม

หมู่ที่ 3
บ้านผาสวรรค์
บ้านเพิ่ม
ผาขาว
เลย
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
26 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 มิ.ย. 2024
บ้านผาสวรรค์

ตั้งชื่อชุมชนตามทัศนียภาพของหน้าผาในบริเวณชุมชนที่มีความงดงาม


ชุมชนชนบท

บ้านผาสวรรค์ ชุมชนพหุวัฒนธรรมและความหลากหลายของกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบนพื้นที่สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีความสวยงาม

บ้านผาสวรรค์
หมู่ที่ 3
บ้านเพิ่ม
ผาขาว
เลย
42240
17.119977062906642
101.93213269114494
องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเพิ่ม

ชุมชนบ้านผาสวรรค์ เดิมชื่อบ้านกกกอก เนื่องจากบริเวณที่ตั้งชุมชนมีต้นมะกอกใหญ่ต้นหนึ่งขึ้นอยู่ ต่อมามีผู้คนอพยพมาจากต่างจังหวัด เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนในพื้นที่นี้จนกลายเป็นชุมชน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2518-2519 มีชาวบ้านจากอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้พาครอบครัวเข้ามาตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ชุมชน และทำการเกษตรเพื่อหาเลี้ยงชีพ ต่อมาในปี พ.ศ. 2520-2521 มีชาวบ้านจากพื้นที่ต่าง ๆ อพยพเข้ามาเพิ่มเติมจากหลายจังหวัด เช่น จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น สระบุรี หนองบัวลำภู ฯลฯ จนกลายเป็นกลุ่มชนที่มาจากหลายพื้นที่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกันในชุมชน โดยเรียกลักษณะการอยู่อาศัยของชุมชนที่มีความหลากหลายเช่นนี้ว่า “ไทครัว” ซึ่งชาวบ้านก็สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในบริเวณรอบ ๆ ต้นมะกอกใหญ่ ซึ่งเป็นชื่อชุมชนดั้งเดิม และในช่วงปี พ.ศ. 2522 พ่อใหญ่ประดิษฐ์ ศรจำเริญ ได้เสนอการเปลี่ยนชื่อชุมชนใหม่เป็น “บ้านผาสวรรค์” เพราะในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน บริเวณหน้าผาใกล้ชุมชนต้นไม้บนหน้าผาจะผลัดใบเปลี่ยนสีทำให้มีสีสันที่หลากหลายงดงาม มองดูคลายกับพื้นที่สรวงสวรรค์ตามจินตนาการที่มีเทพเทวดาอยู่ ชาวบ้านจึงได้เปลี่ยนชื่อชุมชนจากบ้านกกกอกเป็นบ้านผาสวรรค์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของที่ตั้งชุมชนบ้านผาสวรรค์ ตำบลบ้านเพิ่ม อำเภอผาขาว จังหวัดเลย เป็นพื้นที่ราบสูง ซึ่งมีภูเขาล้อมรอบชุมชน และทางด้านทิศตะวันตกมีแหล่งน้ำลำห้วยธรรมชาติไหลผ่านพื้นที่ชุมชน ชุมชนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอผาขาว ห่างจากที่ว่าการอำเภอเป็นระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร โดยชุมชนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านโนนสว่าง ตำบลโคกขมิ้น อำเภอวังสะพุง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านโนนสว่าง หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเพิ่ม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านมอดินแดง ตำบลบ้านเพิ่ม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านเพิ่ม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเพิ่ม

บ้านผาสวรรค์ ตำบลบ้านเพิ่ม อำเภอผาขาว จังหวัดเลย เป็นชุมชนชาวไทยอีสานที่มาจากหลายจังหวัดและอาศัยอยู่รวมกัน โดยสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 3 บ้านผาสวรรค์ ตำบลบ้านเพิ่ม อำเภอผาขาว จังหวัดเลย มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 886 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 440 คน ประชากรหญิง 446 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 304 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

บ้านผาสวรรค์ ตำบลบ้านเพิ่ม อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ประชากรในชุมชนที่มาจากหลายพื้นที่ของจังหวัดในภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งชาวบ้านจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีพื้นฐานทางด้านการทำการเกษตร ดังนั้นอาชีพหลักของชาวบ้านผาสวรรค์ที่ยังคงทำเพื่อจุนเจือครอบครัวจะเป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม การเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ตามฤดูกาล การทำนา การทำสวน หรือปลูกพืชไร่ พืชผักสวนครัว ปลูกยางพารา ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำสวนผักหวาน ทำสวนผลไม้ หลากหลายชนิด เช่น แก้วมังกร มะม่วง ทำปศุสัตว์ในระดับครัวเรือน เลี้ยงเป็ด ไก่ไข่ หมูขุน ฯลฯ อาชีพอื่น ๆ ได้แก่ อาชีพทอผ้า จักสาน ค้าขาย รับราชการ นอกจากนี้ชาวบ้านก็จะมีการออกไปหารับจ้าง เป็นการรับจ้างทั่วไป งานใช้แรงงาน งานทำสวน ฯลฯ เพื่อเป็นรายได้เสริมที่นำมาใช้จ่ายในแต่ละครัวเรือน

บ้านผาสวรรค์ ตำบลบ้านเพิ่ม อำเภอผาขาว จังหวัดเลย เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายของกลุ่มคนจากพื้นที่ต่าง ๆ หลายจังหวัด หลายสำเนียงภาษาในแต่ละท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างกัน แต่ชาวบ้านก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง มีบริบทของวิถีชีวิตท้องถิ่นอีสานที่คล้ายคลึงและสามารถปรับตัวเข้าหากันได้เป็นอย่างดี มีความเชื่อในพระพุทธศาสนา เข้าวัดทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา ยึดวิถีปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมจารีตอีสาน ฮีต 12 คอง 14 และงานบุญประเพณีต่าง ๆ อยู่ด้วยความรักสามัคคี สมัครสมานกลมเกลียวกันระหว่างสมาชิกในชุมชน ประเพณีต่าง ๆ ที่เป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ บุญเข้ากรรม บุญคูนลาน บุญข้าวจี่ บุญมหาชาติ บุญสงกรานต์ บุญบั้งไฟ บุญซำฮะ บุญข้าวสาก บุญออกพรรษา บุญกฐิน บุญลอยกระทง ฯลฯ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

แหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1.ถ้ำผาสวรรค์ เดิมชื่อถ้ำผาช้างน้อย เนื่องจากถ้ำแห่งนี้มีหินก้อนหนึ่งอยู่ภายใน ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายช้างน้อยนอนอยู่ และบริเวณภายนอกถ้ำเป็นที่ราบบรรจุคนได้ประมาณ 2,000 คน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ำมหัศจรรย์ วัดถ้ำผาสวรรค์

2.ฝายหลวง เป็นคลองน้ำขนาดเล็กที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี ชาวบ้านในชุมชนจึงของบประมาณจากรัฐบาลในการทำฝายกักเก็บน้ำขนาดกลางเพื่อใช้ในการเกษตร

3.วังเดือนห้า แหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากฝายหลวงลงมาตามคลองน้ำแล้วสู่จุดกักเก็บน้ำเป็นแอ่งขนาดใหญ่ มีน้ำขังอยู่ตลอดทั้งปีในช่วงเดือนห้าที่แห้งแล้งที่สุดก็ยังมีน้ำให้คนในชุมชนใช้ได้ตลอดปี จึงเรียกว่า วังเดือนห้า

4.อ่างหนองผำ อ่างกักเก็บน้ำขนาดเล็กสามารถกักเก็บน้ำได้ 30,000 ลูกบาตรเมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2535

5.ห้วยหินโง่น แหล่งน้ำธรรมชาติที่มีตาน้ำผุดขนาดใหญ่อยู่ใต้ก้อนหินใหญ่ ชาวบ้านได้พากันเคลื่อนย้ายหินออกจากตาน้ำผุด คนในชุมชนจึงเรียกว่าฝายหินโง่น (โง่น ภาษาถิ่นคือ การจะล่มหรือเอียง) ปัจจุบันทางการได้มาขุดลอกเป็นคลองน้ำขนาดใหญ่

6.ห้วยหิน ห้วยน้ำที่ไหลผ่านด้านท้ายหมู่บ้านเป็นห้วยขนาดกว้าง 25 เมตร ยาว 250 เมตร

บ้านผาสวรรค์ ตำบลบ้านเพิ่ม อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ชุมชนมีความหลากหลายของผู้คนจากหลายพื้นที่ ดังนั้นภาษาก็มีความแตกต่างและหลากหลายเช่นกัน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ที่ท่องเที่ยว วัดถ้ำผาสวรรค์. (2561). สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2567, จาก https://www.facebook.com/

วิรัตน์ แก้วก่า. (2562). ศักยภาพชุมชนเพื่อพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านผาสวรรค์ ตำบลบ้านเพิ่ม อำเภอผาขาว จังหวัดเลย: รายงานฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.