Advance search

ชุมชนแรกเริ่มตั้งแต่สร้างเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2408

โพธิ์ศรี
ตลาด
เมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม
วุฒิกร กะตะสีลา
28 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
20 มิ.ย. 2024
วุฒิกร กะตะสีลา
26 มิ.ย. 2024
โพธิ์ศรี


ชุมชนแรกเริ่มตั้งแต่สร้างเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2408

โพธิ์ศรี
ตลาด
เมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม
44000
16.1843082
103.3134542
เทศบาลเมืองมหาสารคาม

ชุมชนคุ้มวัดโพธิ์ศรีเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่การตั้งเมืองมหาสารคามในปี พ.ศ. 2408 โดยการนำของท้าวมหาชัย (กวด) และท้าวบัวทองพร้อมกลุ่มคนที่แยกครัวออกมาจากเมืองร้อยเอ็ดประมาณ 7,000 คน และมีใบบอกลงไปยังกรุงเทพมหานครขอตั้ง “บ้านลาดกุดยางใหญ่” ขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวมหาชัย (กวด) บุตรของอุปฮาด (สิงห์) เมืองร้อยเอ็ด เป็น “พระเจริญราชเดช” เจ้าเมืองมหาสารคามคนแรก ให้ท้าวบัวทองบุตรอุปฮาด (ภู) เมืองร้อยเอ็ดเป็น “อัครฮาด” ให้ท้าวไชยวงศา (ฮึง) บุตรของพระขัติยะวงษา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด ลำดับที่2 เป็นอัครวงศ์ และให้ท้าวเถื่อน บุตรของพระขัติยะวงษา (จันทร์) เป็น “วรบุตร” ขึ้นกับเมืองร้อยเอ็ดและเมืองมหาสารคามต้องประมูลส่วยส่งไปยังเมืองร้อยเอ็ดเป็นเงินปีละ 35 ชั่ง (เติม วิภาคพจนกิจ, 2530 : 216)

ในระยะแรกของการตั้งเมือง ผู้นำหรือเจ้าเมืองเลือกบริเวณที่เป็นโรงเรียนหลักเมืองในปัจจุบันเนื่องจากเป็นเนินสูงและได้ลงเสาหลักเมืองไว้โดยหวังว่าจะขยายเมืองไปจรดห้วยคะคางทางทิศตะวันตก (คือบริเวณชุมชนศรีสวัสดิ์ในปัจจุบัน) และทิศตะวันออกจะขยายไปจนถึงบริเวณกุดนางในและหนองกระทุ่ม จึงได้ตั้งวัดดอนเมืองขึ้นมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดข้าวเฮ่า(ข้าวฮ้าว) ปัจจุบันคือวัดธัญญาวาส อยู่มาประมาณ 6 เดือนเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดอนขาดแคลนน้ำจึงย้ายมาตั้งทิศตะวันออกคือบริเวณกุดนางใย(ยางใหญ่/นางใย)และหนองกระทุ่ม (คุ้มอภิสิทธิ์,คุ้มวัดโพธิ์ศรี) ซึ่งเวลานั้นได้มีชุมชนจำนวนหนึ่งตั้งอยู่แล้ว (ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ และคณะ, 2546 : 98)

นับตั้งแต่ตั้งเมืองมหาสารคามขึ้นมานั้น บริเวณหนองกระทุ่มหรือคุมโพธิ์ศรีเป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอาศัยและทำมาหากินอยู่ค่อนข้างมาก โดยอาศัยเป็นกระจุกกระจายตัวไปทางแถบบ้านจาน (วัดกลาง) ซึ่งมีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่แล้วโดยมี “เดินบ้านใหญ่” เป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมของชุมชน เช่น งานบุญต่าง ๆ โดยระยะการตั้งเมืองแรกเริ่มบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการ ไม่ว่าจะเป็น จวนเจ้าเมืองคนที่1 (พ.ศ. 2408-2421) ซึ่งนอกจะเป็นที่พักอาศัยแล้วยังเป็นศาลาว่าการเมืองด้วย โดยมีโรงพักตั้งอยู่ทางทิศเหนือและคุกตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจวนเจ้าเมือง บริเวณหนองกระทุ่มไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางในการว่าราชการในช่วงตั้งเมืองแรกเริ่ม ในช่วงหลังจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งเข้ามาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2490 ก่อนจะมีการขยายเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2515 ในปี พ.ศ. 2535 สำนักงานตำรวจมีการขอใช้พื้นที่สร้างแฟลตตำรวจเพื่อใช้ให้เจ้าหน้าที่อยู่อาศัย คุ้มโพธิ์ศรีย่านพาณิชย์แห่งแรกของเมืองมหาสารคาม ในช่วงแรกของการตั้งเมืองก่อน พ.ศ. 2457 ตามสองข้างทางของถนนเจริญราชเดชตั้งแต่สุดถนนนครสวรรค์ซึ่งเป็นทางสี่แยกหรือเรียกในอดีตว่า “สี่แยกขุนแสงทัพ” และเป็นย่านที่เรียกว่า “ตลาดสี่กั๊ก” ปรากฏเป็นอาคารพาณิชย์หรือที่เรียกว่าตึกดินตั้งอยู่หลายสิบคูหาเรียกว่า "ตึกดิน" ตึกดินของคนจีนที่สร้างเรียงกันลงมาจนถึงหน้าวัดโพธิ์ (วัดโพธิ์ศรี) (เรื่องเดียวกัน :108-109)

จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของชุมชนโพธิ์ศรีตั้งแต่แรกตั้งเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2408 เป็นต้นมาเป็นศูนย์กลางของเมืองมหาสารคามทั้งด้านการปกครองและเศรษฐกิจ ซึ่งปรากฏทั้งพื้นที่ว่าราชการเมืองที่อยู่ในละแวกนั้นรวมทั้งร่องรอยของตึกดินของพ่อค้าชาวจีนที่ตั้งเรียงรายบริเวณตลาดสี่กั๊กมาจนถึงบริเวณหน้าวัดโพธิ์ศรี แต่เมืองได้ขยายตัวออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลคือการย้ายที่ว่าราชการออกไปตามโฮงเจ้าเมืองคนที่ 2 และ 3 ซึ่งห่างออกจากพื้นที่เดิมไปไม่มากนักปัจจุบันคือพื้นที่ของชุมชนอภิสิทธิ์ แต่การเปลี่ยนแปลงของเมืองมหาสารคามครั้งสำคัญคือการย้ายที่ว่าการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบบเทศาภิบาลในช่วงปี พ.ศ. 2455 เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดย้ายที่ว่าการเมืองออกไปทางทิศตะวันตกของเมืองส่งผลให้พื้นที่ศูนย์กลางความเจริญของเมืองย้ายออกไปด้วย

อาณาเขตของชุมชนโพธิ์ศรี

  • ทิศเหนือ ข้ามบริเวณห้วยคะคางเป็นทุ่งนาของชาวบ้านคุ้มโพธิ์ศรีและจดเขตบ้านลาด ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ห่างจากคุ้มโพธิ์ศรีประมาณ 10 กิโลเมตร
  • ทิศใต้ มีแนวถนนนครสวรรค์แบ่งเขตกับคุ้มอภิสิทธิ์และคุ้มนาควิชัย
  • ทิศตะวันออก มีวัดป่าประชาบำรุงเป็นแนวกั้นโดยติดกับที่ทำกินของคนชุมชนอุทัยทิศ
  • ทิศตะวันตก จดกับคุ้มวัดมหาชัยและคุ้มสามัคคี
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มผลิตข้าวเม่าบ้านชุมชนโพธิ์ศรี เป็นกลุ่มที่ผลิตข้าวเม่าจำหน่ายในพื้นที่เมืองมหาสารคามโดยเฉพาะการหาบเร่ขายข้าวเม่าตามสถานีขนส่ง เป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนชานเมืองมหาสารคามในปัจจุบัน

ชุมชนรักษาฮีตคองตามรูปแบบของคนอีสานคือมีประเพณีตามฮีต 12

  • เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
  • เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
  • เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
  • เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
  • เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
  • เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
  • เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
  • เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
  • เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
  • เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่  
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

การทำข้าวเม่า ข้าวเม่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของผู้คนในคุ้มโพธิ์ศรีเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะการนำข้าวเม่าไปจำหน่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองมหาสารคาม เช่น สถานีขนส่งจังหวัดมหาสารคาม ตลาดสดเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งเป็นการขายแบบเร่ขาย ทั้งนี้อาชีพการผลิตข้าวเม่าของชุมชนโพธิ์ศรีเป็นรายได้หลักของคนเมืองโดยเฉพาะคุ้มโพธิ์ที่ไม่มีพื้นที่ในการประกอบทำเกษตรจึงใช้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาก่อให้เกิดรายได้และสร้างชื่อเสียงในปัจจุบัน

ตึกดินอาคารพาณิชย์แห่งแรก ตึกดินเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนสร้างขึ้นเมื่อคนจีนได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนค้าขายในเมืองมหาสารคามและได้นำเอลักษณะการปลูกสร้างบ้านเรือนแบบจีนเข้ามาด้วย ตึกดินมีลักษณะเป็นห้อง ๆ คล้ายห้องแถวร้านค้าในปัจจุบัน จำนวนประมาณ 4-5 ห้องในแต่ละล็อก บางแห่งอาจจะสร้างติดกัน 8-10 ห้อง ตามฐานะทางเศรษฐกิจของเจ้าของ ซึ่งแต่ละล็อกจะเว้นช่องว่างระหว่างล็อกไว้ประมาณ 1.50 เมตร เรียกว่า “กรอก” หรือ “ตรอก” ใช้เป็นเส้นทางเข้าออกและลำเลียงสินค้าต่าง ๆ ไปด้านหลังตึกดิน ภายในตัวตึกดินนิยมสร้างเป็นตึกชั้นเดียวไม่ยกพื้น พื้นดินอัดแน่นหรือปูด้วยอิฐผนังที่ก่อด้วยก้อนดินดิบโดยต่อ “เล่าเต๊ง” หรือชั้นลอยเพื่อไว้เก็บสินค้า ส่วนด้านหน้าของตึกดินมักเปิดโล่งตลอดแนวประตูที่เรียกว่า “ประตูหน้าถัง” เป็นแบบใช้ถอดสอดร่อง ภายหลังนิยมทำบานหน้าถังติดบานพับที่เรียกว่า “ฝาเพี้ยม” ปัจจุบันสภาพตึกดินในจังหวัดมหาสารคามหาดูได้ยากมากที่ยังพอมีเหลืออยู่ก็คือตึกดินของอาจารย์ชื่นชัย วรามิตร อยู่บริเวณถนนเจริญราชเดช ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของคนเชื้อสายจีนในอดีตที่เข้ามาค้าขายเมื่อแรกตั้งเมืองมหาสารคามและวางระบบเศรษฐกิจการค้าที่เป็นรากฐานของเมืองมหาสารคามจนถึงปัจจุบัน (พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม, 2551:12)

คนในชุมชนใช้ภาษาอีสานในการสื่อสาร

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

เติม วิภาคย์พจนกิจ. (2530). ประวัติศาสตร์อีสาน. (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ และคณะ. (2546). ข้อมูลชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามระยะที่ 2. โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมือง ศูนย์รวม เผยแพร่และจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ฝ่ายวิชาการเทศบาลเมืองมหาสารคาม

พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม. (2551). สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองมหาสารคาม. เทศบาลเมืองมหาสารคาม