Advance search

ชุมชนเก่าริมกุดนางใยและเป็นชุมชนแรกเริ่มตั้งเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2408

อภิสิทธิ์
ตลาด
เมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม
วุฒิกร กะตะสีลา
28 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
20 มิ.ย. 2024
วุฒิกร กะตะสีลา
27 มิ.ย. 2024
อภิสิทธิ์

ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญในท้องถิ่นคือ "หลวงอภิสิทธิ์สารคาม" นายอำเภอเมืองมหาสารคามคนแรก


ชุมชนเก่าริมกุดนางใยและเป็นชุมชนแรกเริ่มตั้งเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2408

อภิสิทธิ์
ตลาด
เมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม
44000
16.18025496
103.3121359
เทศบาลเมืองมหาสารคาม

ประวัติศาสตร์ของชุมชนอภิสิทธิ์มีการพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงโดยแบ่งยุคต่าง ๆ ได้ดังนี้

ยุคที่ 1 การตั้งถิ่นฐานครั้งแรก พ.ศ. 2408 ในอดีตชาวคุ้มกลางหรือคุ้มวัดอภิสิทธิ์ในปัจจุบันได้อพยพมาจากบ้านก้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งผู้นำในการอพยพชื่อว่า นายจัน เป็นผู้มีความรู้ทางโลกและเคยบวชเรียนมาก่อน เจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงแต่งตั้งให้นายจัน เป็นเพียขันแก้ว ซึ่งการอพยพครั้งนี้มีสาเหตุมาจากเมืองร้อยเอ็ดได้เกิดภาวะฝนแล้งเป็นเวลานานทำให้ทำไร่นาไม่ได้ เพียขันแก้วจึงได้ชักชวนญาติพี่น้องได้ 11 ครอบครัว พากันอพยพเพื่อหนีความแห้งแล้งมาตั้งบ้านเรือนและชุมชนแห่งใหม่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประมาณปี พ.ศ. 2358 เพียขันแก้วอพยพมาถึงพื้นที่ซึ่งเป็นบริเวณที่สูงปลอดภัยจากน้ำท่วมประกอบกับมีป่าไม้หนาแน่นเหมาะกับการทำนาและตั้งบ้านเรือน นอกจากนี้บริเวณดังกล่าวยังมีหนองน้ำ (กุดนางใย และห้วยคะคาง) เป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์สามารถนำมาอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านที่อพยพมาจึงได้หักร้างถางพงตั้งชุมชนขึ้นบนที่เนินแล้วตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านจาน” เนื่องมาจากนายจานจันซึ่งเป็นผู้นำในการอพยพมาตั้งบ้านหางใหม่นี้ ในการตั้งบ้านจานชาวบ้านได้ร่วมแรงกันก่อตั้งวัดประจำหมู่บ้าน “วัดบ้านจาน” มีการร่วมกันตั้งดอนปู่ตา โดยอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาสิงสถิตเพื่อคุ้มครองชาวบ้านจานให้อยู่เย็นเป็นสุข ดอนปู่ตาตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของวัดริมกุดนางใย ทุกปีชาวบ้านจะร่วมทำบุญเพื่อสักการะศาลปู่ตา

ยุคที่ 2 การตั้งถิ่นฐาน ปี พ.ศ. 2408-2544 ก่อนการตั้งเมืองมหาสารคามในปี พ.ศ. 2408 มีการตั้งชุมชนในบริเวณดังกล่าวอยู่แล้ว ภายหลังการตั้งเมืองของพระเจริญราชเดช (กวด) ได้มีการสร้างวัดเหนือและวัดใต้ขึ้นส่วนของวัดบ้านจานไม่มีอุโบสถพระเจริญราชเดชได้เป็นเจ้าศรัทธาพาราษฎรสร้างอุโบสถขึ้นแล้วให้ชื่อว่า “วัดกลาง” เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างวัดเหนือกับวัดใต้ พ.ศ. 2443 ข้าหลวงต่างพระองค์ได้ทรงปรึกษาราชการกับกรมการเมืองทรงเห็นว่าหัวเมืองลาวตะวันออกยังไม่มีอำเภอจึงดำรัสสั่งให้เมืองมหาสารคามมี 2 อำเภอ โดยใช้ห้วยคะคางเป็นเขตแดนฝั่งขวาของห้วยเป็นอำเภออุทัยสารคามและฝั่งซ้ายเป็นอำเภอปัจจิมสารคาม ปัจจุบันอำเภออุทัยสารคามคืออำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอปัจจิมสารคามคืออำเภอบรบือ อำเภอทั้งสองนี้ถือได้ว่าเป็นอำเภอแห่งแรกของเมืองมหาสารคาม แต่งตั้งให้ “ชานนเป็นหลวงสารคามกิจนิคมาภิบาล” นายอำเภออุทัยสารคาม และชาเนตเป็นหลวงสารคามการนิคม นายอำเภอปัจจิมสารคาม ทั้งสองถือได้ว่าเป็นนายอำเภอคนแรกของเมืองมหาสารคามซึ่งท่านหลวงสารคามกิจนิคมาภิบาลหรือหลวงอภิสิทธิ์สารคามมีความสำคัญกับชุมชนบ้านจานอย่างมากเพราะท่านเป็นคนบ้านจานโดยกำเนิด และเป็นผู้อุปถัมภ์วัดกลางและสร้างคุณูปการมากมาย

ยุคที่ 3 การตั้งถิ่นฐาน (ชุมชนอภิสิทธิ์) ปี พ.ศ. 2445-2469 หลวงอภิสิทธิ์สารคามได้นำราษฎรจัดสร้างทำนบกั้นน้ำท้ายกุดนางใย เรียกว่าฝายกุดนางใยถือเป็นระบบชลประทานครั้งแรกของเมืองมหาสารคาม การสร้างฝายกุดนางใยทำให้เกิดการกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้งไม่ให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคทั้งนี้เนื่องจากมีการขยายตัวของชุมชนและมีผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่มากขึ้น ปี พ.ศ. 2446 มีการสร้างสะพานไม้ข้ามห้วยคะคางต่อมาเกิดการชำรุดและซ่อมแซมสะพานขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2456 ทำให้การเดินทางระหว่างชุมชนสะดวกขึ้นและมีการขยายครอบครัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ

ยุคที่ 4 การตั้งถิ่นฐาน ปี พ.ศ. 2475-2478 ในช่วงดังกล่าวนี้สภาพบ้านเรือนมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทั้งนี้เกิดจากการคมนาคมที่สะดวก จำนวนประชากรหนาแน่นขึ้น ต่อมาความเจริญของเมืองมหาสารคามเกิดขึ้นด้านทิศใต้ของเมือง หลวงอังคนานุรักษ์ (สมถวิล เทพาคำ) ผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามได้ดำริให้ขุดคลองในปี พ.ศ. 2477 โดยครั้งนี้ต้องใช้คนช่วยขุดคลองจำนวนมากด้วยประสงค์ที่จะให้เมืองมหาสารคามมีน้ำล้อมรอบ เพื่อเอาไว้ใช้ยามฉุกเฉินเวลาเกิดอัคคีภัยและนำไปใช้สอยในบ้านเรือน ซึ่งถือเป็นการขยายตัวของเมืองมหาสารคามซึ่งเป็นการขุดคลองเชื่อมกับกุดนางใย (คลองสมถวิล) (ทวีศิลป์ สืบวัฒนะและคณะ, 2546, น.139-142)

ชุมชนอภิสิทธิ์เป็นชุมชนเก่าแก่ของเมืองมหาสารคามตั้งอยู่บริเวณริมกุดนางใยแหล่งน้ำสำคัญของเมืองมหาสารคามตั้งแต่แรกตั้งเมือง ปี พ.ศ. 2408

คนในชุมชนอภิสิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว ซึ่งเป็นผู้คนที่อพยพมาจากเขตเมืองร้อยเอ็ด แต่ในปัจจุบันมีประชากรแฝงที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กุดนางใย เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวจังหวัดมหาสารคาม ลักษณะเป็นลำน้ำปลายด้วนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางไหลของลำน้ำสายหลักและมีน้ำขังตลอดปี ภาษาอีสานจึงเรียกแหล่งน้ำลักษณะดังกล่าวว่า “กุด” กุดนางใยเชื่อมต่อกับลำห้วยคะคางมีท่าน้ำอยู่สองท่า คือ ท่ากกติ้ว (ด้านหลังวัดอภิสิทธิ์) และท่าจ่า (อยู่ทิศตะวันออกคือบ้านนางใยในปัจจุบัน) ท่าน้ำนี้ชาวบ้านได้มาล้างหน้าหลังจากไปเผาศพที่ป่าช้าหนองหอย (บริเวณวัดป่าประชาบำรุง) ฝั่งน้ำทั้งสองด้านจะเชื่อมด้วยสะพานไม้ มีศาลาที่พักคนเดินทางทั้งสองฟากสะพาน บริเวณสะพานกุดนางใยจะเรียกว่าตีนบ้าน ใช้เป็นที่สร้างฐานเพื่อจุดบั้งไฟและมีเสาหงส์ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งเดิม ชาวบ้านใกล้เคียงได้ใช้ประโยชน์จากกุดนางใยในการทำการเกษตร เช่น รดน้ำผัก ต้นยาสูบและพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ปลูกริมกุดซึ่งก่อนที่จะตักน้ำนั้นต้องบอกกล่าว “ญาพ่อปู่นางใย” ก่อนเสมอ (ศาลตั้งอยู่หลังวัดอภิสิทธิ์) เนื่องจากเชื่อว่าญาพ่อปู่เป็นผู้ดูแลรักษากุดและป้องกันไม่ให้จระเข้ที่มีอยู่อย่างชุกชุมในกุดทำร้ายเอาได้ เพราะเป็นบริวารของท่าน ดังนั้นในช่วงที่ยังไม่มีการสร้างสะพานข้ามกุดนางใยนั้นเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้านที่อยู่ฝั่งทางด้านทิศตะวันออกหากต้องการเดินทางเข้ามาในตัวเมืองมหาสารคามมักจะใช้เส้นทางอ้อมมาทางด้านศาลปู่ตาบ้านจานแทน (ริมกุดนางใยด้านทิศเหนือ) ซึ่งเป็นทางเกวียนเล็ก ๆ สามารถเดินทางต่อไปยังบ้านลาดบ้านเกิ้งได้ ครั้นต่อมามีการสร้างสะพานขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2446 สมัยพระเจริญราชเดช (อุ่น) เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่3 และสร้างศาลาพักริมทางแก่ผู้สัญจรไปมาด้วย

เล่ากันว่าช่วงก่อนปี พ.ศ. 2408 มีจระเข้อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและชอบขึ้นมานอนเกยฝั่งกุดนางใยเพื่ออาบแดดอยู่เป็นประจำทั้งยังดุร้ายอีกด้วย กระทั่งว่าหากมีผู้สัญจรผ่านไปมาไม่ทราบว่ามีจระเข้อาศัยอยู่ในกุดแห่งนี้ไม่ทันระวังตัวก็มักจะถูกจระเข้ทำร้ายเอาได้ เป็นที่หวาดหวั่นของผู้สัญจรไปมาอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับพญาจระเข้ใหญ่ของกุดนางใยที่น่าตื่นเต้นและเป็นสีสันแก่ผู้รับฟังเป็นอย่างยิ่ง ครั้งพญาสารคามคณาภิบาล (ทิพย์ โรจน์ประดิษฐ 2462-2466) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เกณฑ์บรรดานักโทษในเรือนจำจังหวัดไล่ล่าจระเข้ในกุดนางใยอยู่หลายวันเพื่อลดจำนวนจระเข้ให้น้อยลง ต่อมาหลังจากเกิดอุทกภัยใหญ่ในช่วง พ.ศ. 2480 จระเข้บางส่วนได้หนีไปตามน้ำกอปรกับภายหลังห้วยคะคางได้ตื้นเขินทำให้ไม่ปรากฏว่ามีจระเข้ในห้วยคะคางและกุดนางใยอีกเลยทิ้งไว้แต่เรื่องเล่าที่หลงเหลืออยู่ปัจจุบันเท่านั้น (พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม, 2551, น.5-6)

วัดอภิสิทธิ์และพระธาตุพนมจำลอง วัดอภิสิทธิ์เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองมหาสารคามเดิมชื่อวัดบ้านจานและช่วงตั้งเมืองมหาสารคาม พ.ศ. 2408 เจ้าเมืองมหาสารคามตั้งเป็นวัดกลาง เป็นสถานที่เปิดสอนพระธรรมวินัยตามหลักสูตรส่วนกลางและสอนหนังสือไทย วิชาลูกคิดเป็นครั้งแรกของเมืองมหาสารคามและมีผู้คนเข้าเรียนมากมาย เมื่อรัฐมีนโยบายเปลี่ยนชื่อวัดทั่วราชอาณาจักร จังหวัดมหาสารคามจึงนำชื่อของหลวงอภิสิทธิ์สารคามมาตั้งชื่อวัดใหม่ว่า “วัดอภิสิทธิ์”

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ และคณะ. (2546). ข้อมูลชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามระยะที่ 2โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมือง ศูนย์รวม เผยแพร่และจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ฝ่ายวิชาการเทศบาลเมืองมหาสารคาม

พิพิธภัณฑ์เมืองมหาสารคาม. (2551). สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองมหาสารคาม. เทศบาลเมืองมหาสารคาม