ชุมชนชาวญ้อที่อพยพจากประเทศลาวและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
ที่มาของคำว่า บ้านยาง คือบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นยางจำนวนมากเป็นป่าและเป็นที่อยู่อาศัยของนก เมื่อนกขับถ่ายของเสียลงมาบนต้นไม้ จึงมีการเรียกต่อท้ายชื่อบ้านว่า “บ้านยางขี้นก”
ชุมชนชาวญ้อที่อพยพจากประเทศลาวและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
สภาพทั่วไปของชุมชนบ้านยาง หมู่ที่ 8,9,18,21 ประวัติชุมชนบ้านยาง บ้านยาง มีจำนวนทั้งหมด 4 หมู่ 8,9,18,21 เดิมบ้านยางเป็นหมู่ 11 ของตำบลคันธารราษฎร์ และแยกตัวออกมาตั้งเป็นชุมชนบ้านยางหมู่ 9 เป็นหมู่บ้านแรกที่แยกออกจากหมู่ 11 ตำบลคันธารราษฎร์ และ และมีหมู่ 8,18,21 ตามมาปัจจุบันมี 4 หมู่แยกออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ในการแยกตัวออกมาเพื่อของบประมาณเพื่อมาพัฒนาหมู่บ้าน
ชื่อบ้านนามเมือง “บ้านยาง” ที่มาของคำว่า บ้านยาง คือบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นยางจำนวนมากเป็นป่าและเป็นที่อยู่อาศัยของนก เมื่อนกขับถ่ายของเสียลงมาบนต้นไม้ จึงมีการเรียกต่อท้ายชื่อบ้านว่า “บ้านยางขี้นก” ในอดีตที่ผ่านมาบ้านยาง ได้แยกตัวออกมาจากบ้านท่าขอนยาง เมื่อ พ.ศ. 2382 ด้านการปกครองหมู่บ้าน นายรกเสน ศรีใส และ นายเมิง วงศ์สิลา เป็นผู้ใหญ่บ้านตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 คนเป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ ญ้อ
สำหรับบริเวณที่ตั้งหมู่บ้าน จุดแรกอยู่บริเวณกลางหมู่บ้าน มีการสร้างศาลปู่ตาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก กลุ่มคนตระกูลแรกที่พามาตั้งหมู่บ้านคือ ตระกูล“ศรีใส” บ้านยางเป็นชาวญ้อเพราะแยกตัวออกมาจากบ้านท่าขอนยาง เนื่องจากการหมู่บ้านยางเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว สำเนียงการพูดภาษาญ้อ จึงมีการเหยียดชาติพันธุ์และการพูดสำเนียงภาษาญ้อได้ค่อยๆลดลงไปตามกาลเวลา
ด้านการคมนาคมในหมู่บ้านยาง ตั้งแต่ปี 2511-2517 เส้นทางการคมนาคมมีข้อจำกัด ไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร เพราะเส้นทางส่วนใหญ่ยังเป็นทางเกวียน ดินทราย จนกระทั้งในสมัยนายกคึกฤทธิ์ ปราโมช พ.ศ. 2518 มีนโยบายเงินผัน เกิดการจ้างงานระหว่างรัฐบาล-ผู้คน ทำให้เกิดการสร้างถนน ขุดคลอง ถนนที่เกิดขึ้นในขณะนั้นคือเส้นทางบ้านเปลือยมาถึงกันทรวิชัย บ้านยางและบ้านเปลือยมีถนนเชื่อมต่อกัน และพ.ศ. 2520 มีถนนไปยังบ้านวังบัว
สภาพแวดล้อมชุมชนบ้านยาง ในอดีตเคยมีแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะบ่อน้ำที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้ถูกถมไปแล้ว น้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ต้องเดินทางนำน้ำที่บ้านน้ำใส แม้ว่าปี พ.ศ. 2524 ได้มีการนำโอ่งเข้ามาใช้ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคน้ำที่บริโภคยังคงต้องไปตักที่บ้านน้ำใสเหมือนเดิม เมื่อปี2552 น้ำประปาได้เข้ามาในหมู่บ้าน ส่งผลให้คนไม่ต้องเดินทางไปตักน้ำชีวิตสะดวกสบายขึ้น
ปี 2523 ไฟฟ้า เข้ามาทำให้คนบ้านยาง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีไฟส่องสว่างในเวลา สิ่งที่ตามมาคือ วิทยุและโทรทัศน์ ทำให้ได้รับข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของผู้คนอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ มีป่าชุมชนและตั้งผีปู่ตาเพื่อปกปักษ์รักษาตามธรรมเนียมของวัฒนธรรมลาว
ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ญ้อที่อพยพเข้ามาจากประเทศลาวในปัจจุบัน ซึ่งได้แยกครัวเรือนออกมาจากบ้านท่าขอนยาง ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
ญ้อชุมชนรักษาฮีตคองตามรูปแบบของคนอีสานคือมีประเพณีตามฮีต 12
- เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
- เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
- เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
- เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
- เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
- เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
- เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
- เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
- กลุ่มจักสานเสื่อกกบ้านยาง
ภาษาพูดญ้อ แต่ด้วยการกลืนกลายทางวัฒนธรรมส่งผลให้ภาษาญ้อเริ่มค่อย ๆ เลือนหายไป ภาษาพูดส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงเป็นภาษาอีสาน (ลาว)
การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและเศรษฐกิจ ด้านสังคม/เศรษฐกิจของบ้านยาง ผู้คนส่วนใหญ่ทำนาเป็นหลัก ลักษณ์ทางภูมิศาสตร์บริเวณบ้านยางเป็นเนิน รอบๆข้างเป็นทุ่งนา นอกจากการทำนาที่เป็นอาชีพหลัก จากคำบอกเล่าของผู้คนจากการทำเวทีผู้คน (สนทนากลุ่ม) พบว่า ในปี 2486 หมู่บ้านยางมีการผลิตสินค้า คือขวาน และนำไปขายที่อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ช่างทำขวานมีจำนวน 5 คน คือ ช่างบุญมี แพงไกลยน, ช่างอื้ม เหล่าพร, พ่อใหญ่ปือ, ช่างมาง รัตถา และช่างกัน โดยเดินทางไปรับเอาไม้ และเหล็กจากรางรถไฟ มาจากอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อทำเป็นขวาน และนำไปขาย โดยวิธีการค้าขายนั้น คือการเดินขายซึ่งใช้เวลาในการเดินขายประมาณ 14-15 วัน สถานที่ที่เคยนำขวานไปค้าขาย เช่น อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดสกลนคร การเดินทางไปค้าขายส่วนมากนิยมไปกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน ราคาขวานในขณะนั้นราคาเล่มละ 13 บาท และต่อมาช่วง พ.ศ. 2507-2508 ช่างทำขวานเริ่มลดลง เพราะเทคโนโลยีเข้ามา และช่างรุ่นแรกๆได้เสียชีวิต ประกอบกับไม่มีผู้สืบทอดกิจการการค้าขวาน ทำให้การขายขวานก็ลดจำนวนลง และสิ้นสุดอาชีพการขายขวานของชุมชนบ้านยางเมื่อ พ.ศ. 2530
ช่วงปี พ.ศ. 2502 มีร้านค้าร้านแรก เป็นของพ่อเชี้ยง เนื่องขวัญขวา ได้นำสินค้าเบ็ดเตล็ด อาทิเช่นน้ำมันก๊าด ขายข้าวเปลือก ส่วนพ่อเปรม สิ่งคำป้อม เป็นคนรับซื้อข้าวเปลือยจากบ้านยางเอาไปขายน้องหมู่บ้าน เช่น บ้านปะทาย
และในปี พ.ศ. 2559 มีสินค้าหัตถกรรม OTOP เข้ามาในชุมชน ได้แก่ การทำเสื่อกก ไม้กวาดทางมะพร้าว หมวกที่ทำจากไหล พรมเช็ดเท้า ผู้คนที่มีทักษะฝีมือได้ร่วมกลุ่มกันผลิตสิ่งของต่างๆ และได้ส่งสิ่งของไปขายที่ศูนย์ OTOP อำเภอบรบือ
โครงการการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนและส่งเสริมพัฒนาทักษะของคนในชุมชนเพื่อสร้างช่องทางและศักยภาพในการเพิ่มรายได้หมุนเวียนแก่ชุมชนในตำบลขามเฒ่าพัฒนา อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
นายพรหม นาสุวรรณ, สัมภาษณ์, นายวุฒิกร กะตะสีลา ผู้สัมภาษณ์
นางหนูกัน บัวเมือง, สัมภาษณ์, นายวุฒิกร กะตะสีลา ผู้สัมภาษณ์
นายประยุทธ ณุวรณ์, สัมภาษณ์, นายวุฒิกร กะตะสีลา ผู้สัมภาษณ์
นางหนูกัน บัวเมือง, สัมภาษณ์, นายวุฒิกร กะตะสีลา ผู้สัมภาษณ์