Advance search

ถิ่นข้าวเม่า เผ่าไทยพวน หลากล้วนประเพณี สตรีสดสวย ร่ำรวยวัฒนธรรม 

หมู่ที่ 1, 2, 3
บ้านโพธิ์ตาก
โพธิ์ตาก
โพธิ์ตาก
หนองคาย
อบต.โพธิ์ตาก โทร. 0-4248-3198
อังคณา ชาคำมี
23 ธ.ค. 2023
สฤษดิ์ ใจหาญ
26 ธ.ค. 2023
ศิวกร สุปรียสุนทร
27 มิ.ย. 2024
บ้านโพธิ์ตาก

ชุมชนบ้านโพธิ์ตาก เป็นกลุ่มชาวพวนได้อพยพครอบครัวมาจากบ่อแดนแก่นท้าว ประเทศลาว คราวเกิดสงครามจีนฮ่อเมื่อ พ.ศ. 2339 ชาวจีนฮ่ออพยพมาเรื่อย ๆ จนมาถึงต้นโพธิ์ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมอาณาบริเวณกว้างขวาง ให้ร่มเงาเป็นทำเลที่ดี จึงตั้งถิ่นฐานแล้วให้ชื่อว่า บ้านโพธิ์ตาก


ถิ่นข้าวเม่า เผ่าไทยพวน หลากล้วนประเพณี สตรีสดสวย ร่ำรวยวัฒนธรรม 

บ้านโพธิ์ตาก
หมู่ที่ 1, 2, 3
โพธิ์ตาก
โพธิ์ตาก
หนองคาย
43130
17.834424654873434
102.41512477397919
องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก

ชุมชนบ้านโพธิ์ตาก เป็นชาวไทยพวนที่อพยพครอบครัวมาจากบ่อแดนแก่นท้าว ประเทศลาว ในคราวเกิดศึกสงครามจีนฮ่อ ปี พ.ศ. 2339 มีการรุกรานรบพุ่งมาถึงมณฑลลาวพวนจึงได้อพยพผู้คนหนีศึกสงครามมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงต้นโพธิ์ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมอาณาบริเวณกว้างขวางมากให้ร่มเงาเป็นทำเลที่ดีกองเกวียนที่อพยพมาสามารถนำมาจอดพักใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ได้มากถึง 500 เล่มเกวียน จึงได้ตั้งถิ่นฐานที่นี่เรียกตนเองว่า ไทยพวน และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโพธิ์ตาก มีพ่อเฒ่าขันฤทธิ์ (หมื่นจันทร์) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

เมื่อปี พ.ศ. 2345 ไทยพวนโพธิ์ตากมีความผูกพันกับธรรมชาติมาแต่บรรพบุรุษ โดยมีปัจจัย 3 อย่าง ประกอบคือ ข้าว ฝ้ายและไม้ไผ่ ใช้เพื่อการดำรงชีวิตและการค้าขาย 

ปัจจัยแรก ได้แก่ ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของไทยพวนโพธิ์ตาก มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ ทุกบ้านจะปลูกข้าวไว้กินเองและทำข้าวเม่ากินเอง บ้างหาบไปขายยังหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อเป็นรายได้ ข้าวเม่า จึงเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของบ้านโพธิ์ตาก 

ปัจจัยที่สอง ได้แก่ ฝ้าย ผู้หญิงไทยพวนบ้านโพธิ์ตากจะปลูกต้นฝ้ายและนำฝ้ายมาทอผ้าใช้เอง 

ปัจจัยที่สาม ได้แก่ ไม้ไผ่ ทุกบ้านต้องปลูกไม้ไผ่รอบ ๆ บ้านไว้เพื่อใช้งานทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เครื่องมือจับสัตว์ ได้แก่ ลอบ ไซ แงบ สุ่มดักปลา ข้อง และยังมีเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กะซอน กระด้ง กระจาด กระบุง ชะลอม และสุ่มไก่ เป็นต้น

อาณาเขตชุมชนบ้านโพธิ์ตาก อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย มีพื้นที่ทั้งหมด 38 ตารางกิโลเมตร

  • ทิศเหนือ ติด บ้านกาหม ต.โพนทอง และบ้านศูนย์กลาง ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย
  • ทิศใต้ ติด ลำห้วยทอนตรงข้ามบ้านนางิ้ว ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี
  • ทิศตะวันออก ติด ลำห้วยโมง ตรงข้ามบ้านกรวด ต.นาข่า อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
  • ทิศตะวันตก ติด ลำห้วยโมงข้ามบ้านคำด้วง ต.คำด้วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 

สภาพทางภูมิประเทศ โดยทั่วไปเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย มีเนื้อที่ทั้งหมด 13,894 ไร่ ใช้ทำเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกพืชไร่ ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกไม้ผล เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

สภาพภูมิอากาศ แบบร้อนชื้น มี 3 ฤดู ฤดูร้อนช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม และฤดูหนาวเริ่มกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 

ทรัพยากรธรรมชาติ มีพื้นที่ป่าไม้ มีเนื้อที่ 488 ไร่ เป็นป่าเบญจพรรณ ประกอบด้วยป่าพลัดใบรอพื้นฟูสภาพและป่าผลัดใบสมบูรณ์ พื้นที่แหล่งน้ำ มีเนื้อที่ 679 ไร่ ประกอบด้วยแม่น้ำ ลำห้วย ลำคลอง หนองบึง อ่างเก็บน้ำและคลองชลประทาน

การเดินทาง การเดินทางมาที่ชุมชนโพธิ์ตาก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดหนองคาย 54 กิโลเมตร เดินทางสะดวก ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และมีเส้นทางหลวงตัดผ่าน เส้นทางกลางใหญ่-ศรีเชียงใหม่ ระยะทาง 33 กิโลเมตรสำหรับผู้ที่เดินทางไปจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

ด้านสาธารณูปโภค มีไฟฟ้าใช้ทุกบ้านเรือน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยอำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย ใช้น้ำจากน้ำประปาส่วนภูมิภาคอำเภอบ้านผือ และประปาหมู่บ้าน

ด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลโพธิ์ตาก โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพธิ์ตาก และ อสม.ประจำหมู่บ้านคอยดูแลและให้คำแนะนำในด้านสุขภาพ

เมื่อปี พ.ศ. 2339 เกิดศึกสงครามจีนฮ่อ มีการรุกรานและรบพุ่งมาถึงลาวพวน ทำให้เกิดการอพยพชนเผ่าต่างๆจากถิ่นฐานอื่น เช่น บ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดเลย รวมทั้งจากเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พวนบ้านโพธิ์ตาก หมู่ที่ 1,2,3 จะเป็นกลุ่มหนึ่งที่เรียกตนว่า ไทยพวน ได้อพยพครอบครัวมาจากบ่อแดนแก่นท้าวประเทศลาวมาเรื่อย ๆ จนมาพบต้นโพธิ์ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมไปทั่วอาณาบริเวณกว้างขวางมาก ให้ร่มเงาเป็นทำเลที่ดี กองเกวียนที่อพยพมาสามารถนำมาจอดพักใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ได้มากถึง 500 เล่ม จึงได้ตั้งถิ่นฐานแล้วให้ชื่อหมู่บ้านว่าบ้านโพธิ์ตาก เมื่อปี พ.ศ. 2345 มีพ่อเฒ่าขันฤทธิ์ (หมื่นจันทร์) เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ในจำนวน 6 คน ได้แก่ พ่อเฒ่าสาย พ่อเฒ่าเชียงกลม พ่อเฒ่าหมื่นอินทร์ พ่อเฒ่าศรีจันทร์ พ่อเฒ่าขรรทฤทธิ์ พ่อเฒ่าขุนหลวงประสิทธิ์ ซึ่งนับได้ว่าบ้านโพธิ์ตากได้ผ่านเวลามาถึงปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2566 ได้กว่า 221 ปีแล้ว

ต้นตระกูลสำคัญของชาวไทยพวนบ้านโพธิ์ตาก หมู่ที่ 1,2,3 ได้แก่ ตระกูลสุทธิดี คือผู้ใหญ่วง สุทธิดี ตระกูลคำภูแก้ว คือผู้ใหญ่แหวน คำภูแก้ว ตระกูลบุญธรรม คือพ่อตู้พุด บุญธรรม ตระกูลเข็มพรหมมา คือพ่อตู้เหรียญ และแม่ตู้เฟื้อย เข็มพรหมมา ตระกูลสมสุข คือกำนันศรีจันทร์ และยายแปลง สมสุข ตระกูลคำสวัสดิ์ คือนายเฝือน และนางแก่น คำสวัสดิ์ และตระกูลจิตติพิมพ์ คือพ่อตู้สมเกตุ และแม่ตู้สุพี จิตติพิมพ์

ปัจจุบันชาวไทพวนโพธิ์ตากมีจำนวนประชากรทั้งหมด 4,018 คน 1,299 ครัวเรือน แยกเป็น ชาย 2,036 คน หญิง 1,955 คน

ไทยพวน

ชาวไทยพวนโพธิ์ตากมีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเองได้ รักอิสระ ว่างจากการทำนาก็จะทำงานหัตถกรรม ทอผ้าครามและมัดหมี่

วิถีชีวิตชาวชุมชนโพธิ์ตากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพในชุมชนตนเอง ได้แก่ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การผลิตสินค้าชุมชน ธุรกิจชุมชนการทำน้ำดื่มของชุมชน พัฒนาระบบการตลาดสินค้าในชุมชนขายสินค้าออนไลน์ การท่องเที่ยวชุมชนนวัตวิธีไทยพวน เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและศาสนา กิจกรรมประเพณีโบราณ 12 ข้อ (ฮีต 12 คอง 14)

  • อ้าย เดือน 1 (ธันวาคม) ขึ้น 15 ค่ำ บุญเข้ากรรม นิยมไปเข้ากรรมอย่างพระ
  • ยี่ เดือน 2 (มกราคม) บุญปีใหม่หรือบุญคุณลาน
  • เดือน 3 (กุมภาพันธ์) ขึ้น 15 ค่ำ บุญข้าวจี่หรือบุญกำฟ้า
  • เดือน 4 (มีนาคม) บุญมหาชาติหรือบุญผะเหวด
  • เดือน 5 (เมษายน) บุญตรุษสงกรานต์ บุญสรงน้ำ ก่อพระทราย แห่ข้าวพันก้อน
  • เดือน 6 (พฤษภาคม) บุญบั้งไฟ
  • เดือน 7 (มิถุนายน) บุญซำฮะ
  • เดือน 8 (กรกฎาคม) บุญเข้าพรรษา แห่ต้นเทียน
  • เดือน 9 (สิงหาคม) บุญข้าวประดับดิน
  • เดือน 10 (กันยายน) บุญข้าวสาก
  • เดือน 11 (ตุลาคม) บุญออกพรรษา บุญกฐิ
  • เดือน 12 (พฤศจิกายน) บุญลอยกระทง หรือเลี้ยงขึ้น

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ ชาวไทยพวนโพธิ์ตากมีการรวมกลุ่มกันสร้างอาชีพในชุมชน ได้แก่ 

  • กลุ่มนาแปลงใหญ่ นาปี นาปรัง ผลิตข้าว และข้าวเม่า
  • กลุ่มปลูกยางพารา
  • กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองและทำผลิตภัณฑ์จากผ้า
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้ ไม้ไผ่ หวาย แกะสลักและจกสาน
  • กลุ่มของที่ระลึก งานฝีมืออื่น ๆ

1.นางประดิษฐ์พร เครือเพียกุล

เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2495 อาศัยอยู่หมู่ที่ 1 บ้านโพธิ์ตาก ต.โพธิ์ตาก อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • ด้านภาษาถิ่นไทยพวน                                
  • ด้านฮีตครองประเพณีไทยพวน 
  • ด้านสมุนไพร
  • ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยพวน

ทุนชุมชนทางวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น

"ถิ่นข้าวเม่า เผ่าไทยพวน หลากล้วนประเพณี สตรีสุดสวย ร่ำรวยวัฒนธรรม" คำขวัญของชาวตำบลโพธิ์ตากนั้นบ่งบอกถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงลูกหลานในปัจจุบัน การถือหลักปฏิบัติตามฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นหลักปฏิบัติแล้วยังมีประเพณีกำฟ้าและแห่ข้าวพันก้อนที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ ภาษาพูดนอกจากจะใช้ภาษาพวนกะเลอทั่วไปแล้วยังมีภาษาสระแอซึ่งเป็นภาษาประจำกลุ่มและมีใช้ในเผ่าพวนบ้านโพธิ์ตากเผ่าเดียวในประเทศไทย

ทุนชุมชนทางเศรษฐกิจ

ชาวชุมชนโพธิ์ตากได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ และได้รับงบประมาณสนับสนุนในการทำกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ของชุมชนจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก สนับสนุนที่ทำการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโพธิ์ตาก สถาบันการพัฒนาชุมชน (พอช.) สนับสนุนโครงการบ้านพอเพียงชนบท (งบซ่อมแซมบ้านผู้เดือดร้อน) และโครงการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโพธิ์ตาก สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองคายสนับสนุนโครงการการท่องเที่ยวนวัตวิถีไทยพวน เป็นต้น

ภาษาที่ใช้พูด ชาวไทยพวนโพธิ์ตาก นอกจากจะใช้ภาษาพูดพวนกะเลอเหมือนกับเผ่าไทยพวนโดยทั่วไปแล้ว ยังมีภาษาสระแอซึ่งเป็นภาษาประจำเผ่าและมีใช้เฉพาะในเผ่าไทยพวนบ้านโพธิ์ตากเผ่าเดียวในประเทศไทย

ภาษาที่ใช้เขียน ใช้ภาษาไทยน้อยและตัวอักษรธรรมอีสานร่วมกับชาวลาวและชาวอีสานเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนที่ยิ่งใหญ่และน่าภาคภูมิใจยิ่งนัก แต่ภาษาเขียนที่ละเลยในปัจจุบันต้องมีการส่งต่อให้ลูกหลานและคนรุ่นหลังสืบทอดให้คงอยู่คู่ไทยพวนไปตลอดกาล


  • เกษตรกรขาดการรวมตัว ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย ไม่มีการวางแผนด้านการผลิต
  • ขาดการส่งเสริมด้านการเกษตรจากภาครัฐอย่างจริงจัง
  • ไม่มีตลาดกลางในชุมชนเพื่อกำหนดราคากลางในการจำหน่ายสินค้า

แนวทางวิธีการแก้ไขปัญหา

รวมกลุ่มอาชีพเกษตรกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือกันร่วมกำหนดราคากลางสินค้าไม่ขายตัดราคากัน และปลูกพืชหมุนเวียนประสานหน่วยงานองค์กรภาครัฐมาให้ความรู้แก่คนในชุมชนในการทำการเกษตรสมัยใหม่ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยรวมถึงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในชุมชนและนำคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักและสร้างรายได้ในชุมชนให้มากขึ้น


ประชาชนวัยทำงานออกไปทำงานในกรุงเทพและต่างประเทศ


ปัญหาฝนแล้งและมีน้ำไม่เพียงพอในการทำการเกษตร จึงส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่แน่นอน

 
  • รางวัลชนะเลิศชุมชนชวนเที่ยว Amazing Thailand จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
  • ชุมชนไทยพวนโพธิ์ตากได้สืบสานวิถีชีวิตชนเผ่าสืบต่อกันมารุ่นต่อรุ่น อนุรักษ์และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชน ตลอดจนผู้ที่มาเยี่ยมชมศึกษาดูงานหรือการท่องเที่ยว เช่น การจักสาน การทอผ้าพื้นเมือง การทำข้าวเม่า และการทำอาหารพื้นถิ่นไทยพวน เป็นต้น

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ ไทพวน ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

ชมรมไทยพวนโพธิ์ตาก. (ม.ป.ป.). โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยพวนบ้านโพธิ์ตาก. ม.ป.ท.

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโพธิ์ตาก. (ม.ป.ป.). บ้านโพธิ์ตาก. ม.ป.ท.

อบต.โพธิ์ตาก โทร. 0-4248-3198