ชุมชนโบราณที่ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีตรวมทั้งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีดงเมืองเตย
นามของบ้านสงเปือยเล่ากันว่าได้มาจากที่ตั้งของหมู่บ้านเดิมเป็นป่าสูงโปร่งคือมีไม้สูงโปร่งข้างล่างมีหมู่ไม้เป็นย่อมๆอีกทั้งมีต้นเปือยขึ้นหนาแน่น เมื่อบรรพบุรุษรุ่นแรกเข้ามาหักร้างถางพงตั้งบ้านเรือน จึงนำเอานามหมู่ไม้มาตั้งเป็นชื่อบ้านว่า “สงเปือย”
ชุมชนโบราณที่ปรากฏหลักฐานการอยู่อาศัยมาตั้งแต่อดีตรวมทั้งเป็นที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีดงเมืองเตย
บ้านสงเปือยเป็นหมู่บ้านใหญ่และเก่าแก่บ้านหนึ่ง เป็นรุ่นเดียวกันกับบ้านตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร บ้านหนองแก อำเภอมหาชนะชัย บ้านสิงห์ท่า อำเภอเมืองยโสธร จากหลักฐานบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า กลุ่มชนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านสงเปือยรุ่นแรกคือชาวลาวมาจากเมืองเวียงจันทร์ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีว่าดังนี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2134 พระเจ้าหน่อแก้วกุมารโอรสของพระไชยเชษฐา เวียงจันทร์ได้กู้เอกราชจากพม่าได้และได้สร้างความเป็นปึกแผ่นของล้านช้างได้อีกครั้งหนึ่งและได้ส่งกำลังไปปราบปรามดินแดนต่าง ๆ ที่เป็นกบฏ ครั้นสิ้นสมัยของพระองค์ความยุ่งยากต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นอีกเนื่องจากมีการแย่งชิงราชสมบัติกัน ประมาณปี พ.ศ. 2180 ท้าวสุริยวงศาได้ชัยชนะในการสงครามแย่งชิงราชสมบัติและปกครองเมืองล้านช้าง หลังจากสมัยพระเจ้าสุริยวงศาแล้วอาณาจักรล้านช้างเกิดความวุ่นวายเกี่ยวกับการแย่งชิงราชสมบัติจนกระทั่งเจ้าไชยวงศ์เอ้ สามารถชิงราชสมบัติได้ สมัยนี้ลาวได้เกิดแตกแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหลวงพระบาง กลุ่มอาณาจักรเวียงจันทร์ กลุ่มอาณาจักรนครจำปาศักดิ์ ซึ่งต่างไม่ขึ้นแก่กัน ดังนั้นกองทัพไทยจากกรุงศรีอยุธยาจึงเข้ารุกรานและกวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลย บางกลุ่มก็นำเข้าเมืองหลวง บางกลุ่มได้นำเข้ามาในเขตไทย ชาวลาวกลุ่มหนึ่งในจำนวนหลังนี้ได้มายึดครองดินแดนบริเวณบ้านสงเปือยในปัจจุบัน และได้สร้างเป็นหมู่บ้านขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และอยู่ใกล้ดงเมืองเตยซึ่งเป็นเมืองร้างสมัยขอม มีหนองบึง น้ำท่าบริบูรณ์ ที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำชีและลำรำร่องบ่อ บริเวณนี้มีหมู่ไม้เปือยขึ้นหนาแน่นจึงนำเอานามหมู่ไม้มาตั้งชื่อบ้านว่า “บ้านสงเปือย”
สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าโอเมืองนครจำปาศักดิ์เป็นกบฏ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ส่งพระยามหากษัตริย์ศึกเจ้าพระยาสุรสีห์ไปปราบและเลยไปตีได้ถึงนครเวียงจันทร์ มีการกวาดต้อนผู้คนเข้ามามากมาย ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ทัพเวียงจันทร์ได้ยกทัพมากวาดต้อนผู้คนชาวลาวกลับแต่ไม่สำเร็จ ทัพไทยสามารถตีแตกทหารบางคนได้หลบหนี อาญาฮ้อยอินตราได้มาบวชเป็นพระเพื่อหลบหนีจากการถูกกวาดต้อนกลับเวียงจันทร์และได้ผ่านมาทางบ้านสงเปือยได้ทราบข่าวว่าญาติพี่น้องที่ถูกกวาดต้อนมาแต่คราวก่อนได้พาพรรคพวกมาตั้งอยู่ที่บ้านสงเปือยจึงพาพรรคพวกมาสมทบเข้าอีก บางพวกก็พาแยกไปตั้งสมทบที่บ้านสิงห์ท่ายโสธร บางกลุ่มก็แยกไปตั้งบ้านศรีฐาน บ้านศรีฐานกับบ้านสงเปือยจึงเป็นสายเครือญาติจนมาถึงปัจจุบัน บางกลุ่มก็แยกไปตั้งเป็นบ้านโคกกลาง ส่วนอาญาฮ้อย อินตรา ได้บวชจำพรรษาอยู่ที่บ้านสงเปือยจนมรณภาพ ลูกหลานได้สร้างบ้านแปงเมืองจนกระทั่งปัจจุบันสม(เดช ลีลามโนธรรม, 2538 : 29-31)
บ้านสงเปือยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งในใกล้กับลำน้ำชีประมาณ 5-6 กิโลเมตร มีป่าชุมชนคือ ป่าดงต่อ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มบริเวณใกล้เคียงบ้านสงเปือยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณดงเมืองเตยซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในชุมชน ดงเมืองเตยเป็นเมืองโบราณที่มีลักษณะเป็นเนินดินรูปค่อนข้างรีไม่สม่ำเสมอ มีคันดินขนาดเล็กอยู่รายรอบตัวเมืองทั้งด้านในและด้านนอกของคูเมือง ทางด้านทิศใต้มีคูเมืองซึ่งยังคงมีน้ำขังอยู่บางส่วนเรียกว่า “หนองปู่ตา”
บ้านสงเปือยประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาวที่อพยพเข้ามาหลายละรอก เช่น ในช่วงสมัยอยุธยา ในช่วงสมัยกรุงธนบุรี และในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์
ชุมชนรักษาฮีตคองตามรูปแบบของคนอีสานคือมีประเพณีตามฮีต 12
- เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
- เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
- เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
- เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
- เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
- เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
- เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
- เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
เมืองโบราณดงเมืองเตย ดงเมืองเตยเป็นเมืองโบราณที่มีลักษณะเป็นเนินดินรูปค่อนข้างรีไม่สม่ำเสมอ มีคันดินขนาดเล็กอยู่รายรอบตัวเมืองทั้งด้านในและด้านนอกของคูเมือง พบหลักฐานทางโบราณคดีในสมัยขอมหรือเขมรโบราณ มีโบราณสถานในศิลปะเขมรแบบเจนละสมัยพระเจ้าจิตรเสนและพบชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม และพบจารึกสมัยพระเจ้าจิตรเสน แหล่งโบราณคดีดงเมืองเตยได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 (เดช ลีลามโนธรรม, 2538 : 31)
คนในชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษาลาว (อีสาน) ในการสื่อสารและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
สมเดช ลีลามโนธรรม. (2538). การศึกษาพัฒนาการของชุมชนเมืองโบราณดงเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร. ปริญญาศิลปะศาสตร์บัณฑิต(โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศูนย์มานุษยวิทนาสิรินธร. (2563). แหล่งโบราณคดีดงเมืองเตย. ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย https://archaeology.sac.or.th/archaeology/
ปราสาทหินถิ่นแดนไทย. (2559). ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่พบภายในบริเวณเมืองโบราณดงเมืองเตย. Facebook. https://web.facebook.com/
ปราสาทหินถิ่นแดนไทย. (2559). ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม. Facebook. https://web.facebook.com/