ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านดอยปุย ชุมชนสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และชูภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีการดำรงชีวิต เพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนหมู่บ้านดอยปุย
เรียกตามชื่อของพื้นที่ตั้งเดิม คือ พื้นที่ดอยปุย
ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านดอยปุย ชุมชนสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม และชูภาพลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีการดำรงชีวิต เพื่อเป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนหมู่บ้านดอยปุย
หมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งดอยปุยหรือหมู่บ้านดอยปุย เป็นหมู่บ้านที่ก่อตั้งขึ้นโดยชนกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีข้อสันนิษฐานว่าชาวม้งมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตติดต่อระหว่างจีนและยุโรป โดยอาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง ซึ่งภายหลังได้อพยพลงมาทางใต้เพื่อหนีภัยการคุกคามจากรัฐบาลจีน โดยเข้ามาทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ใน 12 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ น่าน แพร่ พะเยา เชียงใหม่ เชียงราย เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร และสุโขทัย ปัจจุบันชาวม้งในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม โดยจำแนกตามลักษณะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ได้แก่ ม้งน้ำเงินหรือม้งเขียว และม้งขาว (ทรงวิทย์ เชื่อมสกุล, 2543 อ้างถึงใน สุนิสา ฉันท์รัตนโยธิน, 2543: 29)
สำหรับชาวม้งที่อาศัยอยู่ที่บ้านดอยปุย ตำบลสุเทพ เป็นชาวม้งน้ำเงินหรือม้งเขียว ประวัติความเป็นมาหมู่บ้านดอยปุยนั้นมีอยู่ 2 สำนวน
สำนวนแรกเขียนโดย นายยิ่งยศ หวังวนวัฒน์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านดอยปุย กล่าวว่าบ้านดอยปุยก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2489 โดยกลุ่มชาวม้งที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าดอยสุเทพเพื่อหลีกหนีโรคฝีดาษ ซึ่งดอยปุยเป็นภูเขาที่มีลักษณะเป็นป่าใหญ่อุดมสมบูรณ์ จึงเหมาะเป็นที่อาศัยให้พ้นจากโรคระบาด ระยะแรกเรียกชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านปางขมุ ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านดอยปุย ตามลักษณะพื้นที่ตั้งในภายหลัง ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ชาวม้ง 3 ครอบครัว ได้แก่ นายซงหลื่อ แซ่ว่าง, นายไซหลื่อ แซ่ลี และนายจู้สืบ แซ่ว่าง ได้เดินทางเข้ามาทำไร่และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านดอยปุย จากการที่หมู่บ้านดอยปุยอยู่ใกล้พื้นที่เมือง ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในพื้นที่ เริ่มจากมีชาวม้งและชาวจีนฮ่อจำนวน 30 ครอบครัว อพยพหนีภัยการปราบปรามยาเสพติดที่หมู่บ้านป่าคา ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานสมทบภายใต้การนำของ นายเลาป๊ะ แซ่ย่าง จากนั้นมีชาวม้งจากจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ตาก ที่ได้อพยพเคลื่อนย้ายครอบครัวมาแสวงหาพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านดอยปุยเช่นเดียวกัน
สำนวนที่สองจากการบอกเล่าของนายล่า เลาย่าง ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน เล่าว่าหมู่บ้านดอยปุยก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2496 โดยชาวม้งสามแซ่สกุล ได้แก่ กลุ่มสกุลแซ่ว่าง แซ่ย่าง และแซ่ลี ที่อพยพมาจากบ้านแม่สาใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหนีโรคฝีดาษและอหิวาตกโรคซึ่งพรากชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก กอปรกับขณะนั้นชาวบ้านมีความต้องการแสวงหาพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ ชาวม้งกลุ่มนี้จึงได้อพยพมาอยู่บริเวณดอยป่าคา อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาเกิดสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ดอยป่าคา ชาวม้ง กลุ่มนี้จึงได้เดินทางหลบหนีการปราบปรามมาอยู่ที่หมู่บ้านดอยปุยในปัจจุบัน
ประวัติหมู่บ้านดอยปุยจากสองสำนวนข้างต้น สามารถชี้ได้ว่าชาวม้งอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ดอยปุยก่อนการประกาศให้ดอยปุยเป็นป่าสงวน โดยเริ่มแรกเข้ามาอยู่ในเขตรอยต่อบริเวณอำเภอแม่ริม และอำเภอหางดง ซึ่งคาดว่าอาจเป็นหมู่บ้านแม่สาใหม่ในปัจจุบัน ก่อนย้ายมาอยู่ที่ดอยป่าคาบริเวณบ้านป่าคาใหม่ แล้วเคลื่อนย้ายต่อมาที่หมู่บ้านดอยปุยเมื่อประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 25 นอกจากชาวม้งและจีนฮ่อแล้ว ในปี พ.ศ. 2542 ยังมีการอพยพของชาวกะเหรี่ยงและชาวไทยพื้นราบเข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้านดอยปุย โดยคนพื้นราบนั้นเข้ามาทำการค้าขายเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่มีความชำนาญด้านการเพาะปลูกบนพื้นที่สูง ส่วนชาวกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานรับจ้างในสวนให้กับกลุ่มชาวม้งที่มีฐานะดี
สภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
หมู่บ้านดอยปุยอยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ 6,781 ไร่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองเชียงใหม่ บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอยู่ทางด้านลาดเขาทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาผีปันน้ำตอนบน มียอดเขาที่สำคัญ คือ ดอยสุเทพ ดอยปุย และดอยบวกห้า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลำน้ำแม่ปิง ดินในพื้นที่มีสีแดง ชั้นดินค่อนข้างลึก เนื้อดินร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง เนื่องจากมีปริมาณอินทรีย์ในวัตถุมาก มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำและระบายน้ำได้ดี แต่ถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากขาดพืชปกคลุมดิน
แหล่งน้ำสำคัญสำหรับใช้อุปโภคบริโภคของชาวบ้านดอยปุย คือ ลำห้วยสาขาของห้วยแม่ปาน ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน มีการต่อท่อพีวีซีเพื่อนำน้ำเข้ามาใช้ในหมู่บ้าน และติดตั้งสปริงเกอร์ในพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นสวนลิ้นจี่ โดยในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงที่มีการใช้น้ำมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้นลิ้นจี่เริ่มออกดอกและติดผล นอกจากนี้ยังมีน้ำประปาภูเขาและระบบประปาบาดาล โดยศูนย์ทรัพยากรน้ำบาดาล หมู่บ้านดอยปุยจึงเป็นหมู่บ้านที่น้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรเพียงพอตลอดทั้งปี
สำหรับพื้นที่ป่าไม้ในหมู่บ้านดอยปุยเฉลี่ยรวมมีพื้นที่มากกว่า 5,600 ไร่ ป่ารอบหมู่บ้านยังคงความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้มาก ทั้งการเปิดพื้นที่ป่าเพื่อการเพาะปลูก การเก็บพืชสมุนไพร หาฟืน นำไม้มาสร้างบ้าน นอกจากนี้ในพื้นที่ป่ารอบหมู่บ้านยังพบสัตว์ป่าน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก เช่น กวาง ลิง เก้ง ค่าง ไห่ป่า ชะนี หมูป่า กะรอก ฯลฯ ป่าโดยรอบหมู่บ้านดอยปุยสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1) ป่าเต็งรัง 980.97 ไร่ พบอยู่ทางตอนใต้ของน้ำตกศรีสังวาล ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง เป็นต้น 2) ป่าเบญจพรรณ 689.74 ไร่ พบอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยผาเจดีย์ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น แก่แซะ สารภีดอย มะเม่า เสี้ยวป่า และไผ่ชนิดต่าง ๆ 3) ป่าดิบเขา เป็นป่าที่พบมากที่สุด กินรวบพื้นที่ถึง 3,995.26 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 58.91 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยจะพบอยู่บริเวณตอนกลางของพื้นที่ขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงยอดดอยปุย พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ ก่อแป้น ก่อเดือย มณฑาหลวง จำปีป่า และสนสามใบ สืบเนื่องจากชุมชนชาวเขาเผ่าม้งเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะป่าดงดิบที่มีมากเกือบ 4,000 ไร่ กอปรกับสภาพที่ตั้งที่อยู่บนยอดดอยสูง ส่งผลให้หมู่บ้านดอยปุยมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี
การถือครองทรัพยากรธรรมชาติ
ชาวบ้านหมู่บ้านดอยปุยไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการถือครองพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ในอาณาเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ดอยปุย แต่มีการยึดหลักระบบกรรมสิทธิ์ตามแบบกรรมสิทธิ์ของบุคคล แม้ว่าที่ดินจะไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทว่าได้มีการขายกรรมสิทธิ์ ซึ่งมักเป็นการซื้อขายระหว่างกลุ่มเครือญาติสายแซ่ตระกูลเดียวกัน
ชาวม้งบ้านดอยปุยมีความเชื่อเกี่ยวกับการถือครองทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกันกับชาวม้งในพื้นที่อื่น คือ เชื่อว่าพื้นที่ป่าและที่ดินทุกแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่ การใช้พื้นที่เพื่ออยู่อาศัยหรือทำการเกษตรจึงต้องทำพิธีขออนุญาตจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน ชาวบ้านดอยปุยมีคติว่าที่ดินในหมู่บ้านเป็นของส่วนรวม จะใช้พื้นที่ตรงไหนก็ย่อมได้หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์อนุญาต
สถานที่สำคัญ
โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 สร้างโดยตำรวจตระเวนชายแดนจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 5 (ค่ายดารารัศมี) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2501 ทำการเปิดสอนครั้งแรกใน พ.ศ. 2502 โดยให้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสงเคราะห์ 11 (บ้านดอยปุย)” ต่อมาในปี 2507 ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ว่า “โรงเรียนดอยปุย” แต่ชาวบ้านติดป้ายชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนพ่อหลวงอุปถัมภ์” เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความภาคภูมิใจว่าหมู่บ้านดอยปุยได้รับความสนใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพิเศษ
สำนักสงฆ์ดอยปุย หรือวัดดอยปุยวิโรจนาราม เป็นสำนักสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2512 จากการที่มีสำนักสงฆ์ในหมู่บ้าน ชาวม้งบางคนได้นำลูกหลานเข้ามาบวชเป็นสามเณรเพื่อรับการศึกษา เพราะนอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการศึกษาของบุตรแล้ว การนับถือศาสนาพุทธยังเป็นการแสดงให้หน่วยงานราชการเห็นว่าชาวม้งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาให้ความสนใจกับหมู่บ้านซึ่งเป็นชุมชนชาติพันธุ์มากขึ้น แต่ถึงกระนั้นกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านดอยปุยกับสังนักสงฆ์นับว่าค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากระยะทางที่อยู่ห่างไกลจากพื้นที่หมู่บ้าน ทว่าภายในสำนักสงฆ์ดอยปุยมีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ส่งผลให้กิจกรรมและกิจนิมนต์ต่าง ๆ ของสำนักสงฆ์มาจากบุคคลภายนอก รายได้ที่ได้จากกิจนิมนต์ส่วนหนึ่งจะมอบเป็นกองทุนอาหารกลางวันแก่โรงเรียนพ่อหลวงอุปถัมภ์ และสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาแก่ลูกหลานชาวม้งในหมู่บ้าน โดยเฉพาะม้งที่นับถือศาสนาพุทธ ได้แก่ กลุ่มแซ่ว่างในสายสกุลหวังวัฒนา และแซ่ลีบางคน
ประชากร
หมู่บ้านดอยปุยมีประชากรทั้งสิ้น 279 ครัวเรือน จำนวน 1,408 คน ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง ปกาเกอะญอ จีนฮ่อ และคนพื้นเมือง โดยชาวม้งคือประชากรกลุ่มใหญ่ในชุมชน
ระบบเครือญาติ
ชาวม้งบ้านดอยปุยมีระบบสายตระกูลแบบ “ปิตาโลหิต” หรือชายเป็นใหญ่เช่นเดียวกับชาวม้งทั่วไป เมื่อหญิงสาวชาวม้งแต่งงานกับสามี จะถือว่าทั้งร่างกายและจิตวิญญาณของหญิงสาวกลายเป็นสมาชิกตระกูลฝ่ายชายโดยสมบูรณ์ ชาวม้งมีข้อห้ามว่าผู้ที่อยู่ในแซ่ตระกูลเดียวกันห้ามไม่ให้แต่งงานกันเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นพี่น้องกัน แม้ว่าจะไม่ได้สืบโลหิตสายเดียวกันก็ตาม ปรากฏการณ์นี้เป็นการสร้างเสริมปฏิสัมพันธ์เครือญาติของชาวม้ง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีญาติมากขึ้น ซึ่งเป็นผลให้มีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้นด้วย ซึ่งภายในหมู่บ้านดอยปุยมีแซ่ตระกูลใหญ่ 4 สาย ได้แก่ ตระกูลว่างบน ตระกูลว่างล่าง ตระกูลลี และตระกูลย่าง
1.ตระกูลว่างบน เป็นกลุ่มที่สืบเชื้อสายมาจากนายซงหลื่อ และนายเซากี๋ ชาวม้งตระกูลว่างบนส่วนใหญ่จะใช้ชื่อไทย และใช้สกุล “หวังวนวัฒน์” พี่น้องสายตระกูลนี้ให้การนับถือศาสนาพุทธทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเหมือนและจุดร่วมเดียวกัน
2.ตระกูลว่างล่าง ตระกูลนี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมใด ๆ กับตระกูลว่างบน แต่มีการกล่าวอ้างว่าทั้งสองตระกูลมี “ผีบรรพบุรุษ” ร่วมกัน ชาวม้งว่างล่างใช้นามสกุล “เลาว้าง” และ “หวังวนพัฒน์”
3.ตระกูลลี สืบเชื้อสายมาจากหนุตั่ว เจ้อไซ และป้างเฉ่อ ซึ่งเป็นชาวม้งขาว แต่เมื่อมาอยู่รวมกลุ่มในชุมชนที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นม้งลาย ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นม้งลายตามสภาพแวดล้อม ทว่ายังคงรักษาไว้ซึ่งพิธีกรรมทางศาสนาผี ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นม้งขาวเอาไว้
4.ตระกูลย่าง (ตระกูลหยาง) เป็นตระกูลที่มีเครือญาติกว้างขวางมากที่สุด มีฐานะ และการศึกษาดีที่สุดในหมู่บ้านดอยปุย เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากดอยป่าคาเพื่อหลีกหนีการปราบปรามยาเสพติดของเจ้าหน้าที่รัฐมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดอยปุย ชาวม้งตระกูลย่างมีข้อบังคับที่สมาชิกทุกคนในสายตระกูลต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด คือ ห้ามกินหัวใจสัตว์ อันเนื่องมาจากคำสาปแช่งจากบรรพบุรุษ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าชาวม้งกลุ่มสายตระกูลย่างสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน
ปกาเกอะญอ, ม้ง, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)การประกอบอาชีพ
ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านดอยปุยประกอบอาชีพค้าขาย โดยเปิดเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม อาหาร เครื่องดื่ม และเสื้อผ้า รองลงมา คือ ทำการเกษตร รับร้างทั่วไป และรับราชการ ส่วนเกษตรกรชาวบ้านดอยปุยส่วนใหญ่ทำสวนลิ้นจี่เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว และปลูกพืชอื่น ๆ ได้แก่ สตรอวเบอร์รี ข้าวโพด พลับ กาแฟ ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายในชุมชน สมาชิกในชุมชนมีรายได้เฉลี่ยบุคคล 35,000 บาท/คน/ ปี และมีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 175,000 บาท/ครัวเรือน/ปี
การที่ชาวม้งบ้านดอยปุยส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการการค้าขายเป็นอาชีพหลัก เป็นผลสืบเนื่องมาจากพื้นที่หมู่บ้านอยู่ใกล้ตัวเมือง ใกล้ตลาด และอยู่ใกล้หน่วยงานราชการของรัฐ ทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงโอกาสในการทำงานนอกภาคการเกษตรมากกว่าชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเขตเมือง กอปรกับบ้านดอยปุยตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่ ไม่สามารถบุกเบิกพื้นหรือขยายพื้นที่เพื่อทำการเกษตรและการเพาะปลูกได้ อันมีสาเหตุมาจากนโยบายการจัดการพื้นที่ป่าของกรมอุทยานฯ
สำหรับชาวม้งบ้านดอยปุยบางส่วนที่เดินทางออกไปทำงานนอกชุมชน ส่วนใหญ่ออกไปทำงานในหมู่บ้านใกล้เคียง โดยเฉพาะการทำเกษตรที่หมู่บ้านแม่ใน อำเภอแม่ริม โดยชาวม้งกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เพาะปลูก และกลับเข้ามาในหมู่บ้านเมื่อมีงานพิธีกรรมที่สำคัญ หรือช่วงที่สิ้นสุดฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว สืบเนื่องจากบริเวณใกล้เคียงหมู่บ้านดอยปุยมีสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศ และพระธาตุดอยสุเทพวรวิหาร ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงได้ออกไปรับจ้างเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยลานจอดรถที่พระธาตุดอยสุเทพ และบางส่วนออกไปขับรถรับจ้างพานักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้านดอยปุย นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านที่ออกไปทำงานรับจ้างและค้าขายในเขตเมืองเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ต่างจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ฯลฯ โดยนำสินค้าจากชุมชนและจังหวัดเชียงใหม่ไปขายให้กับนักท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ
องค์กรชุมชน
1. กลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม : มีการดำเนินงานในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ชาวเขา ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2527 โดยนายยิ่งยศ หวังวนวัฒน์ พ่อหลวงบ้านดอยปุยในขณะนั้น (ผู้ใหญ่บ้าน) มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ รูปภาพ หรือของเก่าอื่นใดที่แสดงถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีของชาวม้งให้แก่นักท่องเที่ยวได้เข้าชม รายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์จะนำไปบริจาคช่วยเหลือทุนอาหารกลางวันเด็กนักเรียน และงานพัฒนาหมู่บ้าน
2. กลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : ภายหลังความสำเร็จของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือพิพิธภัณฑ์ชาวเขา ปี พ.ศ. 2529 ชาวบ้านดอยปุย 6 คน ซึ่งเป็นเจ้าของสวนลิ้นจี่ทำเลดีทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ได้ร่วมทุนกันเปลี่ยนแปลงสวนลิ้นจี่ให้กลายเป็นสวนดอกไม้ และพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง โดยใช้ชื่อว่า “สวนน้ำตก” เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ซึ่งได้รับผลตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง
3. กลุ่มแม่บ้านและแม่ค้า : ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2540 มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับกลุ่มแม่บ้านชาวม้งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการส่งเสริมบทบาทในการสร้างรายได้ให้แก่สตรี โดยการรวมตัวกันผลิตสินค้าที่ประยุกต์จากผ้าลายปักพื้นบ้าน ทอผ้าใยกันชง ตำข้าวซ้อมมือ และช่วยเหลือกลุ่มผู้นำชุมชนในการจัดการดุแลระเบียบภายในหมู่บ้าน
4. กลุ่มสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน : เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในชุมชน มีพันธกิจ คือ เป็นสถาบันการเงินของสมาชิกในชุมชนชาวเขาเผ่าม้งบ้านดอยปุย
5. กลุ่มการศึกษา : มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่โรงเรียนพ่อหลวงอุปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการสนับสนุน วางแผน ประเมินผล และเผยแพร่ผลงานของนักเรียนในโรงเรียน โดยการจัดตั้งคณะกรรมการโรงเรียน ที่มีทั้งบุคลากรของโรงเรียน บุคลากรชุมชน และผู้ปกครอง เข้าดำเนินการร่วมกัน
นอกเหนือจากกลุ่มที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว สมาชิกชุมชนบ้านดอยปุยได้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มผู้ปลูกกาแฟอาราบิก้า กลุ่มผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มผู้ปลูกผลไม้ (ลิ้นจี่) กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัย กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ และกลุ่มหัตถกรรมผ้าเขียนเทียน
ปฏิทินการปลูกพืช
อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
- มีดด้ามสั้น (เจ๊าะปลึ่) : ใช้ประกอบอาหาร และมักนิยมพกติดตัวเวลาออกล่าสัตว์
- มีดด้ามยาว (เม้าจั๊ว) : มีดด้ามยาวอาจเรียกได้ว่าเป็นมีดคู่ชีพของชาวม้ง เนื่องจากเป็นมีดที่ใช้ในการทำเกษตร สะดวกต่อการดายหญ้า
- ขวาน (เต่า) : ใช้สำหรับผ่าฟืน ตัดต้นไม้ที่มีลักษณะคล้ายต้นปาล์ม ใช้เป็นอุปกรณ์ในการตีมีด หัวขวานทำจากเหล็ก ส่วนด้ามทำจากไม้
- ปืนแก๊สม้ง (ปลอย่าง) : มีลักษณะคล้ายปืนยาว ทำจากขลุ่ยไม้ ใช้ดินเป็นกระสุน ทำขึ้นเพื่อใช้ยิงสัตว์เล็ก เช่น นก เป็นต้น
- ธนูม้ง (เน่ง) : ทำจากไม้และเส้นหวาย ใช้สำหรับยิงสัตว์ขนาดเล็ก เช่น นก กระรอก เป็นต้น
- ครกกระเดื่อง : เป็นอุปกรณ์สำหรับตำข้าวเปลือก
- เครื่องโม่ข้าวโพด : ใช้สำหรับการโม่ข้าวโพด และเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์เลี้ยง ทำจากหินอัคนีที่มีความแข็งแรงตัดเป็นวงกลม 2 อัน วางซ้อนทับกัน เจาะรูตรงกลาง ด้านข้างทำเป็นด้ามจับให้สามารถหมุนได้
ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม
ศาสนา
บ้านดอยปุยเป็นชุมชนที่สมาชิกภายในชุมชนมีการนับถือศาสนาหลากหลาย โดยปรากฏการนับถือศาสนาของชาวม้งบ้านดอยปุยทั้งสิ้น 4 ศาสนา ได้แก่ ความเชื่อดั้งเดิมหรือศาสนาผี ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ตามลำดับ กลุ่มที่นับถือศาสนาผี หรือในภาษาม้ง เรียกว่า “ดลั๊งคัว” ส่วนใหญ่เป็นคนในตระกูลแซ่ย่าง แซ่ลี แซ่หาง แซ่โซ้ง และแซ่เฒ่า ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธจะมีการทำพิธีตัดผี โดยจะนิมนต์ระสงฆ์มาสวด แล้วนำพระพุทธรูปเข้ามาตั้งแทนที่หิ้งบูชาตามความเชื่อดั้งเดิม แล้วยกเลิกการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาผี กลุ่มตระกูลนี้ ได้แก่ ตระกูแซ่ว่าง หรือหวังวนวัฒน์ กลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้แก่ คนในตระกูลแซ่ลี และตระกูลแซ่ย่าง ส่วนผู้นับถือศาสนาอิสลามในหมู่บ้านดอยปุยคือชาวจีนฮ่อ
ความเชื่อ
ชาวม้งบ้านดอยปุยมีความเชื่อเกี่ยวกับการนับถือผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ และผีบ้านผีเรือน ผีบ้านผีเรือนตามความเชื่อของชาวม้งมีอยู่หลายประเภท เช่น ซือก๊ะ เป็นผีบ้านผีเรือนที่มีอำนาจมากที่สุด ผู้คอยคุ้มครองดูแลทุกอย่างในบ้าน ซึ่งทุกบ้านจะต้องมีหิ้งบูชาซือก๊ะ ต้าโครงเป็นผีที่อาศัยอยู่ในที่นอนคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลาน หิ้งท่าแน้ง หรืออัวแน้ง หรือผีทรง ผีประเภทนี้จะมีเฉพาะบ้านที่มีคนในครอบครัวเป็นคนทรงหิ้งผียาสมุนไพรทำหน้าที่ให้ยารักษาอาการเจ็บป่วยของชาวบ้าน โดยผู้รับการรักษาจะให้ค่าตอบแทนคนทรงเป็นกระดาษเงิน ธูป หรือสตางค์แดง ถือเป็นการปลงคาย
นอกจากความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษแล้ว ชาวม้งยังมีคติความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติในป่า และความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าสูงสุด สำหรับอำนาจเหนือธรรมชาติในป่า หรือที่ชาวม้งเรียกว่า “เซ้ง” มีอยู่หลายประเภท เช่น เจ้าที่เจ้าทาง ผีป่า ผีดิน ผีน้ำ และเทพเจ้าประจำฮวงจุ้ย ซึ่งชาวม้งนิยมไปบนบานให้ดูแลคุ้มครองตระกูล เมื่อครบปีจะกลับมาแก้บน ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าสูงสุด ชาวม้งเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของวิญญาณบรรพชน ผู้คัดเลือกดวงวิญญาณชาวม้งที่กระทำความดีให้อาศัยอยู่กับเย่อโซ๊ะ หรือเทพเจ้าผู้ปกครองดินแดนอันหนาวเหน็บตามความเชื่อ และส่งดวงวิญญาณให้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ หรือเกิดใหม่มาเป็นมนุษย์ ส่วนวิญญาณชั่วจะต้องเดินทางลงนรกไปกับยมบาล และเกิดใหม่เป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเย่อ
ประเพณี
ในรอบหนึ่งปีชาวม้งจะมีประเพณีสำคัญ ที่ทำให้ชาวม้งภายในชุมชนได้กลับมาพบปะสังสรรค์กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา คือ ประเพณีปีใหม่ ตลอดระยะเวลาการเฉลิมฉลองทั้ง 3 วัน คนในชุมชนทุกคนจะหยุดพักจากกิจกรรมการทำงานทุกสิ่งอย่าง เพื่อเข้าร่วมงานตามประเพณี จะมีการประกอบพิธีปัดรังควาน เลี้ยงผีบ้านผีเรือน ผีบรรพบุรุษ และมีกิจกรรมการละเล่นที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเก่าแก่ของชาวม้ง ได้แก่ การเล่นลูกช่วง เป็นกิจกรรมการละเล่นที่ทำให้หนุ่มสาวในชุมชนได้มีโอกาสพูดคุยทำความรู้จักกัน โดยหญิงสาวจะเอาลูกช่วงที่ทำจากเศษผ้ามามอบให้กับชายหนุ่มที่ตนชอบ และปรารถนาจะโยนช่วงด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วชายหนุ่มมักจะไม่ปฏิเสธ หากฝ่ายใดทำลูกช่วงตกจะต้องเสียสิ่งของที่นำมาพนัน แต่ฝ่ายชายมักจะมีข้อต่อรองให้หญิงสาวมาใกล้ชิดสัมผัสกับตนมาก ๆ จึงจะยอมรับสิ่งของที่ตนได้มาเพราะชนะการเล่นลูกช่วง
ประเพณีปีใหม่ของชาวม้งบ้านดอยปุยไม่ใช่เพียงการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่เพื่อความสนุกสนานครื้นเครงเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงออกถึงการมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงใหม่ มีการติดป้ายประกาศโฆษณาระบุถึงงานปีใหม่ม้งบริเวณทางขึ้นดอยสุเทพเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้าน
พิธีกรรม
ชาวม้งบ้านดอยปุยมีการประกอบพิธีกรรมอันเกิดจากความเชื่อต่าง ๆ ทั้งความเชื่อเรื่องผี ความเชื่อเรื่องการบนบาน การปัดรังควาน การดูฤกษ์ยาม การอยู่กรรม ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับวิถีการดำรงชีวิตของชาวม้งทั้งสิ้น
การเลี้ยงผี : การทำบุญเลี้ยงผีเป็นพิธีกรรมสำคัญที่จะต้องทำทุกครั้งที่ชาวม้งมีความปรารถนาต้องการกระทำสิ่งใด ถือเป็นการบอกกล่าวผีบรรพชนที่ล่วงลับ รวมถึงผีต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องให้รับทราบ เช่น เมื่อจะมีการเดินทางไปต่างถิ่น จะต้องทำการเลี้ยงผีบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางให้รับทราบ เพื่อให้ท่านช่วยดูแลคุ้มครอง
การบนบาน : พิธีกรรมการบนบานของชาวม้งจะบนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพเจ้าบนฟ้า เพื่อไหว้วอนขอให้คุ้มครองดุแลสรรพสิ่ง เช่น ไร่นา สวน ครอบครัว เมื่อการบนบานประสบผลสำเร็จได้ตามที่หวังก็จะมีพิธีกรรมการแก้บน โดยถือคติว่าใช้สิ่งใดบน ยามแก้บนก็ต้องใช้สิ่งนั้น
ทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
1. การรักษาโรค
ชาวม้งมีความเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นผลมาจากการกระทำของผี เนื่องจากผู้ป่วยได้ไปทำสิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ผี ฉะนั้นจึงต้องมีพิธีกรรมการรักษาโรคด้วยการจัดการหรือทำการเจรจากับผี การจะทำพิธีกรรมการรักษาได้จะต้องพิจารณาจากอาการของผู้ป่วยเพื่อเลือกวิธีการรักษาได้ถูกต้อง
การทำผี หรือการลงผี (การอั๊วเน้ง) : เป็นวิธีการรักษาโดยการเรียกขวัญ เมื่อเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากขวัญในตัวสูญหายไป โดยพ่อหมอจะสื่อสารกับผี ผู้ป่วยต้องไปนั่งอยู่ข้างหลังพ่อหมอ แล้วผูกข้อมือ ตัวแทนพ่อหมอจะนำหมูมาไว้ข้างหลังผู้ป่วยเพื่อรอรับคำสั่งฆ่าหมูจากพ่อหมอ จากนั้นนำกัวะมาจุ่มกับเลือดหมูพร้อมปะที่หลังผู้ป่วย แล้วจึงนำกัวะที่จุ่มเลือดหมูไปเซ่นไหว้ที่ผนังอันที่ศูนย์รวมของบูชา
การรักษาคนตกใจ (การไซ่เจง) : เป็นการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการตัวเย็น มือเท้าเย็น ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการที่ผีทำให้ขวัญในตัวหล่นหายไป มีวิธีการรักษาด้วยการนำขิงมานวดบริเวณเส้นประสาท ทำซ้ำ 3 ครั้ง เป็นเวลา 3 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นต้องหาวิธีอื่นมารักษาต่อ เช่น อั๊วเน่ง เป็นต้น
การรักษาด้วยการเป่าน้ำ (การเช้อแด้ะ) : ใช้รักษาคนป่วยที่มีอาการร้องไห้ไม่หยุด และตกใจมากเป็นพิเศษโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยพ่อหมอหรือแม่หมอจะนำผู้ป่วยไปนั่งใกล้กองไฟ เอาถ้วยหนึ่งใบใส่น้ำมาวางไว้ข้าง ๆ แล้วจะใช้ตะเกียบคีบก้อนถ่านที่กำลังลุกไหม้ขึ้นมาวนบนหัวผู้ป่วยพร้อมท่องคาถาไปด้วย วนเสร็จก้จะเอาก้อนถ่านใส่ในถ้วยที่เตรียมไว้ ทำซ้ำเช่นเดิม 3 รอบ แล้วนำมือชุบน้ำในถ้วยมาลูบตัวผู้ป่วย จะทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลง
2. การทำห่วงคอ
ห่วงคอ หรือสร้อยคอม้ง เป็นเครื่องประดับของหญิงสาวชาวม้ง ทำจากทองคำขาว ผู้หญิงม้งจะนิยมใส่ห่วงคอในวันปีใหม่ หรือวันสำคัญต่าง ๆ อีกทั้งยังถือเป็นหัตถกรรมงานฝีมืออีกอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวม้งชุมชนดอยปุย ซึ่งห่วงคอม้งมีขั้นตอนและวิธีการทำ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 นำแผ่นทองขาวมาวัดขนาดห่วงคอ จำนวน 5 ห่วง เรียงตามขนาดจากใหญ่ไปเล็ก โดยห่วงเล็กที่สุดจะอยู่ด้านในสุด
ขั้นตอนที่ 2 นำแผ่นทองขาวมาตอกสลักลวดลายดอกไม้ต่าง ๆ โดยจะนำมาตอกบนชันไม้เพื่อป้องกันไม่แผ่นเงินเกิดการเคลื่อนที่และชำรุด
ขั้นตอนที่ 3 นำห่วงคอที่ตอกลายเรียบร้อยแล้วมาดัดให้โค้งเพื่อที่จะสามารถเชื่อมห่วงแต่ละอันเข้าด้วยกันได้ โดยจักเรียงห่วงที่ที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นฐานแล้วลดหลั่นขนาดเข้ามาเรื่อย ๆ จนครบ 5 ห่วง จากนั้นเชื่อมห่วงคอให้ติดกันเป็นแผ่น จัดทำกระดุมให้แผ่นห่วงคอคล้องกันได้
ขั้นตอนที่ 4 นำห่วงคอไปล้างด้วยน้ำกรด ขีดให้เรียบร้อย ชุบด้วยเงิน แล้วนำไปล้างด้วยน้ำกรดอ่อนอีกครั้งเพื่อเพิ่มความขาวและความเงาให้กับห่วงคอ
ทุนทางกายภาพ
ชุมชนชาวเขาเผ่าม้งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อยู่ห่างจากตัวเมืองไม่มากนัก ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน เมื่อมองลงไปจากพื้นที่หมู่บ้านจะมองเห็นวิวทิวทัศน์ของภูเขาหรือดอยลูกอื่น ๆ อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ อากาศเย็นตลอดทั้งปี ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นต้นทุนที่ชาวเขาเผ่าม้งบ้านดอยปุยได้รับมาจากธรรมชาติ ซึ่งชาวม้งบ้านดอยปุยได้นำเอาทุนทางธรรมชาติที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอด โดยการนำเอาวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวม้งมาเป็นจุดเด่นร่วมกับทัศนียภาพของชุมชน ดำเนินการพัฒนาเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านดอยปุยให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศให้มาเยี่ยมชม ซึ่งรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวภายในชุมชนถือเป็นรายได้หลักของชาวม้งบ้านดอยปุย
ทุนทางเศรษฐกิจ
ชาวม้งบ้านดอยปุยอาศัยแหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)
ภาษาพูด : ภาษาม้ง ภาษาไทยกลาง
ภาษาเขียน : ชาวม้งไม่มีภาษาเขียน แต่มีการยืมอักษรโรมันมาใช้เทียบแทนการออกเสียง
ปัจจุบันชาวม้งรุ่นใหม่ในหมู่บ้านดอยปุยใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสารมากกว่าภาษาม้งซึ่งเป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงชุมชนบ้านดอยปุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมจำนวนมาก ชาวม้งจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาไทยกลางเพื่อสื่อสารกับกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งหากสภาวการณ์ทางภาษาของชาวม้งบ้านดอยปุยเป็นเช่นนี้ต่อไป เป็นที่น่าสังเกตว่าเยาวชนชาวม้งรุ่นต่อไปอาจไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาม้งได้อีกต่อไป
สืบเนื่องจากชุมชนชาวเขาเผ่าม้งมีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมในชุมชน ทำให้ภายในชุมชนเกิดความขัดแย้งเกี่ยวกับผลประโยชน์จากรายได้ที่ได้จากการท่องเที่ยว อันเกิดจากการขาดจัดการชุมชนที่เป็นระบบระเบียบ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องสิ่งปฏิกูล ที่จอดรถ และห้องสุขาที่ได้มาตรฐานสำหรับนักท่องเที่ยว อนึ่งรายได้หลักส่วนหนึ่งของชาวม้งบ้านดอยปุยที่ได้มาจากการเกษตรโดยการปลูกพืชเศรษฐกิจ คือ ลิ้นจี่ ทว่าเนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ด้านการจัดการแปลงและผลผลิตที่เหมาะสม ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ประสบปัญหาลิ้นจี่ให้ผลผลิตเว้นปี ไม่มีคุณภาพ ราคาตกต่ำ และมีตลาดรองรับน้อย เนื่องจากเกษตรกรขาดความรู้ด้านการจัดการแปลงและผลผลิตที่เหมาะสม
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
บ้านม้งดอยปุย จ.เชียงใหม่ ต้นแบบพื้นที่ใช้งานวิจัยแก้ฝุ่น
Active Journey สื่อสร้างสรรค์ที่จะพาลงพื้นที่ไปสำรวจและทำความรู้จัก บ้านม้งดอยปุย ชุมชนต้นแบบ ภายใต้โครงการวิจัยจัดการพื้นที่ป่าและแนวทางการสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนช่วยดูแลรักษาป่าด้วยระบบตอบแทนคุณนิเวศน์ กับ สกสว. เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน
กรรณิการ์ วงษ์ยะลา. (2559). การศึกษาชนเผ่าม้งเพื่อออกแบบชุดผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน (กรณีศึกษาชนเผ่าม้ง ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่). วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะมหาบัณฑิต สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ลีศึก ฤทธิ์เนติกุล ยิ่งยศ หวังวนวัฒน์ และไตรภพ แซ่ย่าง. (2544). การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์กับการอยู่รอดของชุมชนชาวม้งบ้านดอยปุย อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ (รายงานการวิจัย). สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. (2562). ข้อมูลพื้นฐานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดอยปุย ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://www.hrdi.or.th
สุนิสา ฉันท์รัตนโยธิน. (2546). ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของชุมชน: กรณีศึกษาหมู่บ้านดอยปุย ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
อรอุษา พรมอ๊อด และนภัทร น้อยบุญมา. (2567). บ้านม้งดอยปุย จ.เชียงใหม่ ต้นแบบพื้นที่ใช้งานวิจัยแก้ฝุ่น. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566. จาก https://theactive.net/video/