กะปิ ผลิตภัณฑ์สินค้าประจำชุมชนบ้านตะเคียนดำ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นกะปิที่มีรสชาติอร่อย
กะปิ ผลิตภัณฑ์สินค้าประจำชุมชนบ้านตะเคียนดำ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นกะปิที่มีรสชาติอร่อย
ชุมชนบ้านตะเคียนดํา เป็นชุมชนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของอําเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานมางประวัติศาสตร์หรือเอกสารทางวิชาการใดสามารถอธิบายถึงความเป็นมาและประวัติศาสตร์การอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่บ้านตะเคียนดำได้แน่ชัด แต่จากการตั้งข้อสังเกตบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านฝั่งทางทิศตะวันออกจะอยู่ติดกับริมชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย และทิศตะวันตกจะติดกับเทือกเขาหลวง อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่ถูกขบาบด้วยภูเขาและทะเล ลักษณะทางธรรมชาติดังกล่าวก่อให้เกิดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยในแถบที่ลาดเชิงเขาจะเป็นพื้นที่ป่าและเขตปลูกไม้สวนยางพารา ฯลฯ พื้นที่ชายทะเลเหมาะแก่การปลูกมะพร้าวและก่อตั้งชุมชนของชาวประมง อนึ่ง ชุมชนบ้านตะเคียนดำยังอยู่ในอาณาเขตของตำบลท่าศาลา ดินแดนเก่าแก่ซึ่งมีประวัติการสร้างบ้าน แปลงเมืองมายาวนาน เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณที่มีอายุนับพันปี เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านอาจมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริบทพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลสระแก้ว และบ้านเราะ อำเภอท่าศาลา
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลไทยบุรี
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลกะหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ทะเลอ่าวไทย
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
บ้านตะเคียนดำมีพื้นที่อยู่ในอาณาบริเวณของทะเลอ่าวไทยตอนล่าง อีกทั้งยังมีพื้นที่ติดกับเทือกเขาหลวง สถานที่ที่แหล่งน้ำสารพัดสายได้พัดพาเอาตะกอนแร่ธาตุเข้าสู่พื้นที่บริเวณนี้ เกิดเป็นตะกอนปากแม่น้ำซึ่งเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติที่สำคัญของสัตว์น้ำหน้าดินและสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ยังมีระบบนิเวศลักษณะเฉพาะที่เรียกว่าลมแปดทิศ คือ เมื่อลมปะทะเทือกเขาหลวงจะพัดย้อนกลับ ทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทาง สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี เป็นเหตุให้พื้นที่ชายหาดบ้านตะเคียนดำเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งทำการประมงที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ประชากร
ปัจจุบันหมู่บ้านตะเคียนดำ ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 926 คน โดยประชากรในหมู่บ้านสามารถจำแนกได้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ (ไทยพุทธ) และกลุ่มชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลาม (ไทยมุสลิม)
ความสัมพันธ์ภายในชุมชน
ชุมชนบ้านตะเคียนดํา เป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันเกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธ ถึงแม้ชาวบ้านที่เป็นไทยมุสลิมและไทยพุทธจะมีความคิด ความเชื่อที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ก็ไม่เคยมีข้อขัดแย้งกันในวัฒนธรรมและประเพณี เช่น เมื่อชาวบ้านมุสลิมมี การประกอบพิธีกรรมในวันฮารีรายอ (วันขึ้นปีใหม่ของศาสนาอิสลาม) และมีการเชือดวัว ชาวบ้านไทยพุทธก็จะมาร่วมในประเพณีด้วย รวมถึงชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลามก็มีการแบ่งปันเนื้อวัวให้แก่ชาวบ้านไทยพุทธที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในประเพณีที่จัดขึ้น หรือในงานศพของชาวไทยพุทธ ชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลามก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือเจ้าภาพในงาน สะท้อนให้เห็นว่า การดําเนินวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิมนั้น มีความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือกันและกัน อยู่ร่วมกันแบบญาติมิตร โดยเฉพาะการแบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ใครสามารถผลิตอาหารได้ในรูปแบบใด ก็นํามาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เป็นต้น
การเมืองการปกครอง
หมู่บ้านตะเคียนดำเป็นหมู่บ้านที่นับได้ว่าการเมืองการปกครองหรือการเมืองภาคประชาชนในชุมชนมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนร่วมกัน ตลอดจนการเลือกตัวแทนชาวบ้านให้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำในการพัฒนาชุมชนด้วยกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างก็ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งตัวแทนชาวบ้านเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำชุมชนเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ชาวบ้านตะเคียนดำจะเดินทางมาเลือกตั้งกันอย่างหนาแน่น เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเข้มแข็งทางการเมืองภาคประชาชนในชุมชนตะเคียนดำ อาจเป็นผลจากบทเรียนจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งสาเหตุหลักสําคัญก็มาจากการเลือกตั้งผ่านตัวแทนในการเข้ามาร่วมพัฒนาชุมชน ทว่า การพัฒนาจากโครงการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่สามารถนําพาชุมชนบ้านตะเคียนดำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชาวบ้านได้ ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความตื่นตัวทางการเมือง แสวงหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ตนเองได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้แทนหรือผู้นำ และสามารถตรวจสอบโครงการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนโดยตรง
การประกอบอาชีพ
ชาวบ้านตะคียนมีลักษณะการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ภายใต้การดำเนินวิถีชีวิตโดยพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ โดยอาชีพเกษตรกรรมและการประมงเป็นอาชีพหลักที่พบมากที่สุดในบ้านตะเคียนดำ อาชีพเกษตรกรรมจะพบมากในกลุ่มของชาวบ้านไทยพุทธ อาทิ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ทํานา ทําไร่ ทําสวน ส่วนชาวบ้านมุสลิมก็จะประกอบอาชีพประมงและอาชีพเสริมที่เกิดขึ้นในชุมชน อาทิ การเป็นเจ้าของธุรกิจแพปลา อาชีพค้าขายสัตว์ทะเล การปอกเนื้อปูส่งขายโรงงาน การเป็นลูกจ้างใน โรงงานปอกปูใกล้ชุมชน การรับจ้างถักทออวน เป็นต้น
นอกจากเกษตรกรรมและการประมงแล้ว ชาวบ้านตะเคียนดำยังมีการรวมกลุ่มทำกะปิ โดยชาวบ้านไทยมุสลิมมีหน้าที่ไปจับกุ้งเคยมาจากทะเล จากนั้นส่งต่อให้ชาวบ้านไทยพุทธเป็นผู้นำกุ้งเคยไปแปรรูปเป็นกะปิ จนทําให้ชุมชนบ้านตะเคียนดําได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ชุมชนที่มีกะปิรสชาติอร่อย” ซึ่งชาวบ้านได้วางแผนถึงการขับเคลื่อน “กะปิ OTOP ตะเคียนดํา" เพื่อนําไปวางจําหน่ายในตลาดภายนอกชุมชน เพราะขณะนี้กะปิบ้านตะเคียนดำได้รับความสนใจจากผู้คนต่างถิ่น รวมถึงเป็นที่ต้องการของตลาด และมีชาวบ้านภายนอกชุมชนเข้ามาติดต่อขอซื้อกะปิจากชาวบ้านในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง ในพื้นที่ชุมชนบ้านตะเคียนดํา มีการกระจายสินค้าที่ได้จากทรัพยากรธรรมชาติทางด้านภูเขา ป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมากถึง 17 ตลาดท้องถิ่น 15 แพชุมชน ต่างประเทศ 6 ประเทศ เป็นเศรษฐกิจที่โตมากเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านตะเคียนดําจึงเปรียบเสมือน “นิคมเศรษฐกิจยั่งยืน” คือ เป็นการพิจารณาตัวเลขทางเศรษฐกิจสําหรับชุมชนชายฝั่ง พบว่า 1 ชุมชน เท่ากับ 1 นิคม เพียงแต่ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรม เพราะนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง ไม่สามารถจ้างงานได้มากขนาดนี้ มีอุตราการจ้างงานเกือบพันคน มีเงินหมุนเวียนปีละ 100 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นการจ้างงานที่ยั่งยืน (ประสิทธิ์ชัย หนูนวล และคณะ, 2554: 19 อ้างถึงใน โรณี โต๊ะสัน, 2556: 83-84)
เนื่องจากบ้านตะเคียนดำตั้งอยู่ในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล บริเวณหมู่หมู่บ้านจึงมีชายหาดโล่งกว้าง สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ตกดินและทัศนียภาพที่งดงามของทะเลอ่าวไทย ชาวบ้านได้นำเอาต้นทุนดังกล่าวมาพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวชุมชนรูปแบบโฮมสเตย์ต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้านตะเคียนดำให้มีความครึกครื้น
กลุ่มชุมชน
กลุ่มประมงพื้นบ้าน : การจัดตั้งกลุ่มประมงพื้นบ้านเป็นรูปแบบของการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงด้วยกัน โดยเฉพาะการสะสมเงินร่วมกัน และหากสมาชิกภายในกลุ่มเดือดร้อน ก็จะนําเงินส่วนนั้นไปให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งยังมีงบประมาณที่ได้จากการประสานงานไปยังหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่คือ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าขึ้น ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ชาวบ้านจะนำไปใช้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ : จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีในผลผลิตทางการเกษตร ให้หันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ชาวบ้านทำขึ้นใช้เอง ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี
วิถีการดําเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชนที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง จะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเลา 6 โมงเช้า เป็นช่วงที่ชาวบ้านเริ่มออกทะเลไปหาปลา เรือประมงทุกลำออกสู่ทะเล ส่งผลให้บรรยากาศในชุมชนเกิดความเงียบเหงา และจะกลับเข้าฝั่งอีกครั้งประมาณ 11-12 นาฬิกา ช่วงนี้บรรยากาศภายในชุมชนมีความคึกคัก มีเสียงรถวิ่งไปมา เสียงตะโกนโหวกเหวกของชาวบ้านสนทนา ระหว่างกันเพื่อนําสัตว์ทะเลไปขาย เมื่อถึงช่วงบ่ายจะเป็นเวลาของการพักผ่อนตามอัธยาศัย จนกระทั่งในช่วงเย็นภายในชุมชนก็จะมีความคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาแม่บ้านจะออกจากบ้านมาจับจ่ายซื้อของ แต่อาหารส่วนใหญ่แทบจะไม่ต้องซื้อ เพราะวัตถุดิบเกือบทุกอย่างสามารถหาได้ภายในชุมชน ทําให้วิถีการดําเนินชีวิตของชาวบ้านค่อนข้างเรียบง่าย ขณะเดียวกันผู้ชายในหมู่บ้านก็จะมีการเตรียมอุปกรณ์ดักจับสัตว์ทะเลที่ริมทะเล เพื่อเตรียมไว้สําหรับจับสัตว์ทะเลในวันต่อไป และในช่วงเวลากลางคืนประมาณ 2 ทุ่มเป็นต้นไป บรรดากลุ่มผู้ชายภายในหมู่บ้านมักจะมานั่งแลกเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ และพูดคุยสัพเพเหระกันที่ร้านน้ำชาประจำชุมชน และเมื่อถึงช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่มครึ่ง ภายในชุมชนจะตกอยู่ภายใต้ความเงียบอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากชาวบ้านต้องพักผ่อนเพื่อเก็บแรงไว้ไปจับสัตว์ทะเลในช่วงเช้าวันถัดไป
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษายาวี (ติดต่อสื่อสารภายในชุมชน) และภาษาไทยกลาง (ติดต่อราชการ)
ภาษาเขียน : ภาษาไทยกลาง
การรวมตัวคัดค้านโครงการธุรกิจเหมืองแร่
โครงการธุรกิจเหมืองแร่ของนายทุนจากภายนอกเป็นโครงการพัฒนากระแสหลักอันดับต้น ๆ ที่ได้เข้ามาในหมู่บ้านตะเคียนดำ ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ เหมืองแร่ได้สร้างความเดือดร้อน สร้างมลภาวะทางเสียงและอากาศ รวมถึงสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันประท้วงคัดค้านบริษัทเหมืองแร่ และทําหนังสือร้องเรียนเพื่อยื่นเรื่องไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแลและรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดแก่ชาวบ้านอย่างจริงจัง อาทิ มาตรการ การดูแลและป้องกันความปลอดภัย มาตรการการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ชาวบ้านรอบเหมืองแร่ควรได้รับ แม้ว่าการรวมตัวเคลื่อนไหวของชาวบ้านในชุมชนบ้านตะเคียนดําที่ผ่านมา จะทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตําบลท่าขึ้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจําตําบล ได้เข้ามาตรวจสอบแก้ไขปัญหา และดูแลมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด ต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในชุมชน ได้แก่ วิถีชีวิต สุขภาพ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภายในชุมชนแล้วก็ตาม ทว่าจนแล้วจนรอด ในชุมชนก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลและแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างจริงจัง
การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
เหตุการณ์การคัดค้านการก่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินของชาวบ้านตะเคียนดำมีความคล้ายคลึงกับการคัดค้านโครงการเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นหนึ่งในโครงการการพัฒนาที่ถูกกําหนดโดยรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยร่วมกับบริษัทเอกชนจากต่างประเทศหรือบริษัทเชฟรอน หรือที่เรียกว่า “แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard)” ทําให้มีการรวมตัวเคลื่อนไหวของชาวบ้านตะเคียนดำร่วมกับประชาชนในพื้นที่อําเภอท่าศาลา ในการเป็นการเจรจาต่อรอง และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ตนและชุมชน เพื่อให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ที่ไม่ใช่มีสิทธิเพียงการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังต้องการสิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิการเจรจาต่อรองเพื่อรับหรือปฏิเสธโครงการการพัฒนา (โรณี โต๊ะสัน, 2556: 81-82) ซึ่งเหตุการณ์การรวมตัวเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินในครั้งนี้มีส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนให้แก่ชาวบ้านตะเคียนดำ ทั้งยังเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ระบอบการเมืองการปกครองภาคประชาชนในหมู่บ้านตะเคียนดำมีความเข้มข้นและเข้มแข็งในปัจจุบัน
ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ประชาชนในจังหวัดสามารถนําผลผลิตจากทรัพยากรมาผลิตเป็นสินค้าเพื่อทําการค้าขาย ส่งผลให้สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครศรีธรรมราชมีรายได้มาจากการค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะการค้าทางทะเล ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราชถึง 300 ล้านบาทต่อปี และสามารถสร้างงาน ให้กับคนพื้นที่ได้ถึง 5,000 คน (Greenpeace, 2012 อ้างถึงใน ศิโรณี โต๊ะสัน, 2556: 73)
ศิโรณี โต๊ะสัน. (2556). การสร้างความรู้โดยชุมชนในบริบทการเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน: กรณีศึกษาชุมชนบ้านตะเคียนดำ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
หาดบ้านตะเคียนดำโฮมเสตย์. (2565). โฮมสเตย์หาดบ้านตะเคียนดำ. [ออนไลน์]. ค้นคืนเมื่อ 23 เมษายน 2566 , จาก https://www.facebook.com/