Advance search

คอนข้าวสาร

กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติและกลุ่มผลิตศาลพระภูมิในท้องถิ่น

สารพัฒนา
วังแสง
แกดำ
มหาสารคาม
วุฒิกร กะตะสีลา
28 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
20 มิ.ย. 2024
วุฒิกร กะตะสีลา
27 มิ.ย. 2024
บ้านสารพัฒนา
คอนข้าวสาร

ชื่อชุมชนเดิมคือ บ้านคอนข้าวสาร มาจากการหาบคอนข้าวสารผ่านพื้นที่


ชุมชนชนบท

กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติและกลุ่มผลิตศาลพระภูมิในท้องถิ่น

สารพัฒนา
วังแสง
แกดำ
มหาสารคาม
44190
16.06628331
103.3670126
องค์การบริหารส่วนตำบลวังแสง

ประมาณปี พ.ศ. 2400 ได้แยกมาจากบ้านกกกอก (เดิมชื่อบ้านคอนข้าวสาร) มาเป็นบ้านคอนสาร ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 ในยุครัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เป็นแผนงานสร้างรายได้จากภาคเกษตร จึงมีการมองหาช่องทางว่าจะนำพืชชนิดใดมาให้เกษตรกรปลูก แล้วนำผลผลิตไปสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม "ปอ" จึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง คนในชุมชนบ้านคอนสารจึงได้มีการถากถางป่าเพื่อทำการปลูกปอ และมีนายฮ้อยเข้ามารับซื้อปอและข้าวถึงในหมู่บ้าน ทำให้สะดวกสบายในการซื้อขาย ชาวบ้านเล่าว่าเวลาลอกปอเสร็จแล้วจะมีการนำปอไปแช่ตามที่นาของตนหรือที่ ๆ มีน้ำขังอยู่ เพราะมีกลิ่นที่ค่อนข้างแรง 

ต่อมาในปี 2521 ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาภายในชุมชนมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาในชุมชนมากขึ้น จากการสัมภาษณ์ของคนในชุมชนเล่าว่า 

แม่จำได้ว่าสมัยแต่กี้ตอนน้อย ๆ ได้ไปขอเบิ่งหนังเรื่องดาวพระศุกร์อยู่บ้านพ่อสังวาลย์ บ้านวังแสง เป็นบ้านแรกที่มีโทรทัศน์(เพ็ญศรี ทองภู, สัมภาษณ์)

แม่กะได้ไปซื้อหม้อหุงข้าว พัดลมอยู่ในเมืองสารคาม ไปซื้ออยู่ร้านนาทีทอง เอาเงินที่เก็บสะสมไว้จากการขายข้าว ขายปอนี้ละไปซื้อ ฮ่า ฮ่า ๆ ๆ (แดง ถานโอภาส, สัมภาษณ์)

ประมาณปี พ.ศ. 2533 ได้มีการเวนคืนที่ดินจากการขยายถนนทำให้ผู้คนที่อยู่บริเวณถนนต้องเคลื่อนย้ายออกมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ก่อนปี พ.ศ. 2536 ผ้าเป็นเพียงเครื่องนุ่งห่มใช้กันเองในครัวเรือน คนในชุมชนมีการเลี้ยงหม่อนไหม ปลูกฝ้าย มีการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม นิยมทอผ้าลายค้อนาคสองหัว ลายกระเบื้อง ลายปลาซิว (หมี่โค่โร่) ย้อมผ้าไหมโดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นหรือที่เรียกว่าการย้อมสีธรรมชาติ เช่น ครั่งให้สีแดง ลิ้นฟ้าให้สีเหลืองอบเขียว เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2535 คนในชุมชนบางส่วนได้มีการทำศาลพระภูมิ เจดีย์ธาตุ ทำโรงงานเพื่อผลิต เริ่มจากการที่นายสำรวย มูริจันทร์เป็นผู้ริเริ่มทำคนแรก และคนที่ไปทำงานที่กรุงเทพมหานครได้กลับมาอยู่บ้านเพื่อมาทำศาลพระภูมิ และเจดีย์ธาตุ เพราะเห็นว่าขายได้ราคาดี มีทั้งหมด 5 ร้าน ส่งขายตามต่างจังหวัด ตามร้าน เป็นศาลที่ยังไม่ทาสี ทำให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 ได้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านคอนสาร มีสมาชิก 10 คนขึ้นไปและได้มีการอบรมการทอผ้าลายใหม่ การใช้สีในการย้อมที่ดีขึ้น และมีการเอาไม้บรรทัดมาตีตาราง ชาวบ้านเล่าว่า ผ้าคือสัญลักษณ์ของชุมชน คนในชุมชนบางส่วนได้มีการทำศาลพระภูมิ เจดีย์ทาส (พ.ศ. 2536-2537 ธาตุ เจดีย์ธาตุ และศาลพระภูมิเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539ประชากรมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นทำให้ยากต่อการปกครอง จึงแยกหมู่บ้านเป็น 2 หมู่บ้านได้แก่ บ้านคอนสาร(ม.2) และบ้านสารพัฒนา(ม.19) มีถนนแกดำ-มหาสารคาม เป็นถนนลูกรังดินทราย และมีนายบัวผัน ทองทะนา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ. 2547 กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านสารพัฒนาได้รับรางวัล OTOP 2 ดาว ลายพื้นบ้าน ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 ได้รับ OTOP 3 ดาว และปี พ.ศ. 2554 มีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เกิดขึ้น ได้แก่ ผ้าพันคอ ผ้าขาวม้า ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม ปี พ.ศ. 2560 เกิดถนนเส้นใหม่เชื่อมไปยังบ้านขอนแก่น เป็นถนนลาดคอนกรีตทางไปนาทำให้คนในชุมชนมีการขยายตัวไปตามที่นาของตนเอง

ในปี พ.ศ. 2562 กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านสารพัฒนา ได้รับรางวัล OTOP 4 ดาว มีการทอลายไข่มดแดงซึ่งเป็นลายประจำอำเภอแกดำ มีบรรจุภัณฑ์ภายนอกทำให้มีราคาเพิ่มขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีสมาชิกในกลุ่มจำนวน 25 คน ได้รับเงินสนับสนุน 2,500 บาท ต่อคน กลุ่มลูกค้าที่มาซื้อผ้าส่วนใหญ่คือกลุ่มราชการตามหน่วยงานต่าง ๆ สั่งทำตามออเดอร์ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการกระจายรายได้ภายในชุมชน เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้นส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนมีผลที่ดีตามมา

ชุมชนบ้านสารพัฒนาเป็นชุมชนอีสานที่ตั้งหมู่บ้านตามลักษณะของการพึ่งพาธรรมชาติ มีหนองน้ำสำคัญของชุมชนเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค มีป่าชุมชนใกล้กับวัด

ประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านสารพัฒนาเป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมไทย-ลาว

กลุ่มอาชีพผลิตศาลพระภูมิ ตามความเชื่อของคนไทยเรานับตั้งแต่อดีตมีความเชื่อว่าตาม  ดิน น้ำ ภูเขา ต้นไม้ และอาคารบ้านเรือน มีผีเจ้าที่เจ้าทาง ปกปักรักษาอยู่ บวกกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู ทำให้เกิดการพัฒนาพิธีการอัญเชิญผีเจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประทับในศาล (ศาลพระภูมิ, ศาลเจ้าที่) เพื่อปกป้องคุ้มครองดูแล รักษาสถานที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ให้มีความเป็นสิริมงคล เจริญก้าวหน้าในทุกสถานจึงนิยมตั้งศาลพระภูมิเจ้าที่ บ้านสารพัฒนา ตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพทำศาลพระภูมิ ส่งตามต่างจังหวัดและตามร้านต่าง ๆ หรือรับทำตามออเดอร์ที่กลุ่มลูกค้าสั่ง มีกระบวนการทำที่ประณีตและวิจิตรอย่างมาก ทำให้เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชุมชนที่มองเห็นได้ตามข้างทางของถนนเส้นสารคาม-สารพัฒนา

ชุมชนรักษาฮีตคองตามรูปแบบของคนอีสานคือมีประเพณีตามฮีต 12

  • เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
  • เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
  • เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
  • เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
  • เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
  • เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
  • เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
  • เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
  • เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
  • เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
  • เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง 
  • เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่ 

อีกทั้งยังมีบุญใหญ่ของชาวตำบลวังแสงในการถวายเทียนในเทศกาลเข้าพรรษา ณ กู่โนนพระหรือกู่ตะคุ ซึ่งเป็นงานใหญ่ระดับตำบลที่คนในตำบลทุกคนต้องเข้าร่วม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านสารพัฒนา กลุ่มทอผ้าไหมมัดหมี่บ้านสารพัฒนาตำบลวังแสง อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนที่มีความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการทอผ้าไหมมัดหมี่และผ้าฝ้ายพื้นเมือง ที่มีการพัฒนาลวดลายสีและคุณภาพของผลิตภัณฑ์มาโดยตลอดจนในปัจจุบัน ได้รับรางวัล OTOP 4 ดาว โดยมีลวดลายเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ ลายไข่มดแดง ลายค้อนาคสองหัว ลายกระเบื้อง ลายปลาซิว เป็นต้น

หนองคู หนองคูเป็นหนองน้ำที่คนในชุมชนใช้จับสัตว์น้ำ หาปลาเพื่อดำรงชีวิตและจำหน่าย มีประเพณีลงปลา ขายปลา 3 ปี ครั้ง มีกติกาห้ามจับปลาจับกุ้งเมื่อลงปลาใหม่ ไม่มีการกำหนดวันในการจัดประเพณีลงปลา แล้วแต่การตกลงกันของคนในชุมชน มีการแจกใบปลิวเพื่อการประชาสัมพันธ์ เงินที่ได้จากการจัดประเพณีลงปลาเข้ากองกลางของชุมชน

คนในชุมชนใช้ภาษาลาวอีสานในการสื่อสารในชีวิตประจำวันและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2565). โครงการวิจัย จากต้นทุนแหล่งน้ำสู่กลุ่มศิลปวัฒนธรรมหนองแกดำ. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.).