ชุมชนชนบทที่ได้รับผลกระทบกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและแรงงานในภาคโรงงาน
บ้านหัวขัวมีความหมายว่า หัวสะพาน เพราะในภาษาอีสานโบราณคำว่า "ขัว" มีความหมายว่า สะพาน ดังนั้น บ้านหัวขัว จึงมีความหมายว่า บ้านหัวสะพาน
ชุมชนชนบทที่ได้รับผลกระทบกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและแรงงานในภาคโรงงาน
บ้านหัวขัวเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ และมีสภาพค่อนข้างทุรกันดารในอดีต บ้านหัวขัว มีความหมายว่า หัวสะพาน เพราะในภาษาอีสานโบราณคำว่า "ขัว" มีความหมายว่า สะพาน ดังนั้นบ้านหัวขัวจึงมีความหมายว่า บ้านหัวสะพาน บ้านหัวขัวเดิมชื่อ บ้านดอนโป้ ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งผู้ที่มาตั้งบ้านดอนโป้คนแรก คือ นางเก้า บุดสี, นายสม ลาโยธี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2481 จึงย้ายมาตั้งหมู่บ้านใหม่ เนื่องจากหมู่บ้านดอนโป้เดิมนั้นอยู่ห่างไกลจากถนนการคมนาคมไม่สะดวก ส่วนบริเวณที่มาตั้งบ้านเรือนใหม่นี้การคมนาคมสะดวกและอยู่ใกล้กับลำห้วยซึ่งมีสะพานข้ามห้วยในการคมนาคมสัญจร จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านหัวขัว" ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของชุมชนบ้านหัวขัวคือ นายสี บุญละคร
ก่อน ปี พ.ศ. 2540 ชุมชนบ้านหัวขัวประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำนา การทำนาของชาวบ้านหัวขัวแต่ก่อนเป็นการทำนาโดยพึ่งแรงงานจากสัตว์ เช่น วัว ควาย อุปกรณ์การเกษตรต่าง ๆ ก็ผลิตหรือหาซื้อตามหมู่บ้านใกล้เคียง อาทิ ไถ คราด และอุปกรณ์อื่น ๆ การทำนาของชาวบ้านหัวขัวพึ่งพาอาศัยธรรมชาติคือ น้ำฝน หรือแหล่งน้ำใกล้เคียงคือ บึงกุย ชาวบ้านหัวขัวมีการเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานและเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่ หมู อีกทั้งยังมีการปลูกผักสวนครัวไว้กินเองในครัวเรือน การประกอบอาชีพที่เรียบง่ายและไม่เร่งรีบในการทำงานทำให้ชีวิตของชาวบ้านหัวขัวนั้นเรียบง่ายตามไปด้วย เมื่อว่างจากการทำนาชาวบ้านก็ได้ทำการทอผ้า ทอเสื่อ หรือทำการประมง การทอผ้าและทอเสื่อของชาวบ้านเป็นอาชีพเสริมที่ทำกันในทุกครัวเรือน บ้างทอไว้ใช้เองบ้างทอไว้เป็นของทำบุญ และทอไว้เพื่อจำหน่าย
เมื่อรัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการสร้างเสริมรายได้ให้กับประชาชน เช่น การมีนโยบายต่าง ๆ ในการรองรับผลผลิตทางการเกษตรของประชาชน เช่น การประกันราคาข้าว สิ่งเหล่านี้ทำให้ผลผลิตของชาวบ้านดีขึ้น อาชีพเสริมยามว่างของชาวบ้านก็ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ อาชีพของชาวบ้านกลายเป็นอาชีพที่เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทั้งอาชีพการเกษตรและอุตสาหกรรม
โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนบ้านหัวขัวเป็นหมู่บ้านที่มีโรงงานใหญ่ตั้งอยู่นั้นคือโรงงานเย็บผ้า (ปัจจุบันเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์) โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านเรือนของประชาชน การผลิตผ้าในโรงงานเป็นการผลิตผ้าเพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ เป็นสินค้ายี่ห้อดังที่ผลิตในประเทศ โรงงานแห่งนี้ได้สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนนี้ได้พอสมควร เพราะโรงงานแห่งนี้คนงานส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชนบ้านหัวขัว แต่คนงานอีกกลุ่มหนึ่งคือคนงานจากที่อื่น เช่น คนในจังหวัดร้อยเอ็ด คนในอำเภอวาปีปทุม อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอนาดูน เป็นต้น ซึ่งการที่มีคนจากภายนอกมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเกิดผลดีและผลเสีย ผลดีคือ การที่ชาวบ้านได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นทั้งรายได้จากการค้าขาย รายได้จากการรับส่งคนงาน และรายได้จากการสร้างหอพักให้คนงานของโรงงานได้อาศัย สิ่งเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากการมีโรงงานอุตสาหกรรมในชุมชน ผลเสียที่ได้รับนั้นก็มีมากเช่นเดียวกันเนื่องจากการที่มีคนเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นจำนวนมากจึงเกิดปัญหาต่าง ๆ ทั้ง ยาเสพติด อุบัติเหตุ อาชญากรรม ปัญหาน้ำเสียของโรงที่ไหลเข้าสู่ชุมชน มลพิษจากการเผาเศษผ้าในโรงงานทำให้คนในชุมชนเสียสุขภาพ ทั้งผลดีและผลเสียเหล่านี้มาพร้อมกับโรงงานอุตสาหกรรมเย็บผ้า
อีกโรงงานแห่งหนึ่งที่ตั้งในชุมชนหัวขัวนี้คือ โรงงานผลิตปลาร้า ซึ่งเป็นโรงงานขนาดเล็กที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่ผลิตปลาร้าสด และปลาร้าทรงเครื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะปลาร้าเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูงและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังได้ส่งออกต่างประเทศ ผลดีของการมีโรงงานปลาร้าในหมู่บ้านคือ คนงานในการผลิตปลาร้านั้นส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านในชุมชนช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้มาก และโรงงานแห่งนี้ยังได้ช่วยสนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้านและวัดวาอารามในหมู่บ้านและยังได้ช่วยส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน
โรงงานอุตสาหกรรมทั้งสองโรงงานได้สร้างรายได้ให้กับประชาชนชาวบ้านหัวขัวได้ในระยะหนึ่ง แต่ก็ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนเช่นกัน สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับนโยบายการพัฒนาท้องถิ่นของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลเป็นตัวกำหนดนโยบายและกำหนดเส้นทางในการเดินหน้าพัฒนาท้องถิ่นให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ จากการที่ได้เข้าไปสัมภาษณ์คนในท้องถิ่นชุมชนบ้านหัวขัวแล้วเห็นว่าชาวบ้านมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ
บ้านหัวขัว หมู่ที่ 8 ตำบลแก้งแก อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอโกสุมพิสัย ห่างจากตัวอำเภอ ระยะทาง 3 กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดมหาสารคาม ประมาณ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 1,121 ไร่ แบ่งออกเป็น
- พื้นที่ทำนา 597 ไร่
- พื้นที่ทำไร่ 330 ไร่
- ที่อยู่อาศัยประมาณ 194 ไร่
ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนบ้านหัวขัวมีลักษณะเป็นเนิน ซึ่งบ้านเรือนของผู้คนก็ตั้งอยู่บนที่เนิน และอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำจึงทำให้ชุมชนบ้านหัวขัวเป็นบ้านที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านคุ้มใต้ หมู่2 ตำบลหัวขวาง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านดอนตูม หมู่ที่5 ตำบลเหล่า
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสุขสวัสดิ์ หมู่ที่10 ตำบลแก้งแก
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บึงกุย ตำบลหัวขวาง
แหล่งน้ำ
- บ่อน้ำตื้นส่วนตัว 20 บ่อ
- บ่อบาดาลส่วนตัว 5 บ่อ
- บ่อน้ำสาธารณะ 2 บ่อ
บึงกุย เป็นแหล่งขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งแหล่งน้ำแห่งนี้ติดกับชุมชนบ้านหัวขัว และเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญทั้งทางด้านการเกษตร การคมนาคม การประมง ด้านการเกษตรนั้นชาวบ้านส่วนมากใช้น้ำจากบึงกุยทั้งการทำนา ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ การคมนาคมนั้นบึงกุยเป็นช่องทางคมนาคมที่สำคัญมากเพราะบึงกุยเป็นแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งได้เชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนหลาย ๆ อำเภอ เช่น อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอนาเชือก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ด้วย ด้านการประมงชาวบ้านใช้แหล่งน้ำบึงกุยนี้เป็นที่หากิน เพราะมีปลาเป็นจำนวนมาก
ห้วยวังเลา เป็นแหล่งที่มีขนาดเล็กหากเทียบกับบึงกุย แต่ห้วยวังเลาก็เป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านได้ใช้มานาน ซึ่งแหล่งน้ำแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งที่ชาวบ้านใช้ในการเกษตรเป็นส่วนมาก อาทิเช่น การทำนา การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงสัตว์ การประมง
ส่วนใหญ่เป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาว อีกทั้งยังมีประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
1.กองทุนหมู่บ้าน จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 มีสมาชิก 67 คน
2.กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านหัวขัว กิจกรรมสานกระติบข้าว ตะกร้า ทอเสื่อกก ทำพรมเช็ดเท้า เปลนอน ไม้ถูพื้น จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.2546 สมาชิก 40 คน
3.กลุ่มผู้ใช้น้ำ สมาชิก 51 คน
4.กลุ่มทำนา สมาชิก 34 คน
ชุมชนรักษาฮีตคองตามแบบของคนอีสาน คือ ประเพณีตามฮีตสิบสอง
- เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
- เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
- เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
- เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
- เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
- เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
- เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
- เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
คนในชุมชนใช้ภาษาอีสาน (ลาว) ในการสื่อสารและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
ชุมชนบ้านหัวขัวเป็นชุมชนชนบทที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในละแวกใกล้เคียงชุมชน ส่งผลกระทบไปถึงการดำรงชีวิตที่แต่ก่อนพึ่งพาธรรมชาติและทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก แต่การพัฒนายังส่งผลไปยังรายได้ของคนในชุมชนในปัจจุบัน โรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งผลมากที่สุดทางด้านการคมนาคมขนส่งในปัจจุบันคือ โรงงานน้ำตาลที่ในช่วงเปิดรับซื้ออ้อยจะมีรถบรรทุกผ่านถนนหน้าหมู่บ้านทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง