ชุมชนที่ผลิตผ้าไหมมีการจำหน่ายผ้าไหมและเป็นตลาดขายผ้าที่คึกคักแห่งหนึ่งในภาคอีสาน
การออกเสียงของชาวบ้านเรียกชื่อบ้านว่า "บ้านข่าว" แต่เมื่ออกเสียงเป็นภาษาทางการทำให้เพี้ยนเป็น "บ้านเขว้า"
ชุมชนที่ผลิตผ้าไหมมีการจำหน่ายผ้าไหมและเป็นตลาดขายผ้าที่คึกคักแห่งหนึ่งในภาคอีสาน
บ้านเขว้าเป็นหมู่บ้านที่มีความเก่าแก่คนในชุมชนเชื่อว่าบ้านเขว้าเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการตั้งเมืองชัยภูมิ จากการสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนเชื่อกันว่ากลุ่มคนแรก ๆ ที่เข้ามาอยู่ที่บ้านเขว้านั้นเป็นกลุ่มพรานที่เข้ามาทำการคล้องช้างป่าเพื่อที่จะนำไปฝึก กลุ่มคนเหล่านี้มาจากบ้านข่าวนอกและบ้านข่าวในแถบจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเดินทางมาถิ่นบริเวณที่เป็นที่ตั้งของบ้านเขว้าในปัจจุบันเห็นว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์มาก ถึงขนาดมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพวกนายพรานมาถึงหนองในบริเวณบ้านเขว้าก็ถึงกับลงจับปลาจับได้มากจนต้องตัดเอาหัวปลาทิ้งไปแล้วกองหัวปลาไว้คนในชุมชน ช่วงต่อ ๆ มาจึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า “หนองหัวปลา” เมื่อเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์จึงได้เดินทางกลับไปบอกข่าวญาติพี่น้องของตนให้โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ ณ บริเวณนี้
นอกจากกลุ่มคนจากบ้านข่าวแล้วยังมีกลุ่มคนที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากโคราชเข้ามาอาศัยด้วยทำให้ชุมชนบ้านเขว้าเริ่มขยับขยายพื้นที่ใหญ่ขึ้นจนในที่สุดได้ยกฐานขึ้นเป็นอำเภอในปี พ.ศ. 2501 ช่วง พ.ศ. 2516 ด้วยการสนับสนุนของนายอำเภอบ้านเขว้า (นายอำเภอสมคิด จาปะเกษตร) และนายทองคำ อยู่วิเศษ ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอบ้านเขว้า ได้ติดต่อไปทางเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังเพื่อขอนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของชาวบ้านไปขายกับสำนักพระราชวัง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับมาจนกระทั่งสามารถจัดตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าไหมอำเภอบ้านเขว้า เพื่อทอผ้าส่งไปจำหน่ายให้กับสำนักพระราชวังได้อย่างต่อเนื่อง ใน พ.ศ. 2523 ก็ได้นำเข้าไปขายยังศูนย์ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ซึ่งมีผู้สนใจสั่งทอจำนวนมาก กระทั่งใน พ.ศ. 2530 ได้มีการส่งผ้าไหมบ้านเขว้าเข้าประกวดที่โครงการศิลปาชีพ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ แม้แต่ในปีต่อ ๆ มา ที่ส่งเข้าประกวดผ้าไหมบ้านเขว้าก็ได้รับรางวัลชนะเลิศอยู่เกือบทุกปีเช่นกัน ทำให้เทศบาลตำบลบ้านเขว้ามีนโยบายที่จะส่งเสริมให้บ้านเขว้าเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าไหมของภาคอีสาน ส่งผลให้อำเภอบ้านเขว้าเป็นที่รู้จักและเติบโตได้ด้วยผ้าไหม
บ้านเขว้าเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองของอำเภอบ้านเขว้า มีความหนาแน่นของตั้งบ้านเรือนรวมทั้งเป็นชุมขนาดใหญ่ คนในชุมชนส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าและเกษตรกรรมรวมทั้งมีการผลิตผ้าไหมเพื่อจำหน่าย
ประชากรในพื้นที่ของชุมชนบ้านเขว้าเป็นประชากรในวัฒนธรรมลาวอีสาน
ผ้าไหมมัดหมี่บ้านเขว้าเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาอย่างยาวนาน กระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2523 ได้มีการส่งผ้าไหมเข้าไปในศูนย์ศิลปาชีพสวนจิตรลดา ส่งผลให้มีการส่งเสริมผ้าในพื้นที่บ้านเขว้า จนกระทั่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2545 โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของบ้านเขว้าจึงถูกพัฒนาและได้ยกระดับผ้าไหมระดับ 5 ดาว ส่งผลให้ผ้าไหมกลายเป็นสินค้าสำคัญและสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น
คนในท้องถิ่นใช้ภาษาลาว (อีสาน) ในการสื่อสาร
สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านเขว้า. (2561). ศูนย์ส่งเสริมผ้าไหมจังหวัดชัยภูมิ เทศบาลตำบลบ้านเขว้า อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567. จาก https://bankhwao.go.th/
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดชัยภูมิ. (2564). ผ้าไหมบ้านเขว้า. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2567. จาก https://chaiyaphum.prd.go.th/