Advance search

บ้านมะยิง

บ้านมะยิง ชุมชนเครื่องปั้นดินเผาที่มีการสืบทอดภูมิปัญญามานานกว่า 100 ปี 
บ้านมะยิง
โพธิ์ทอง
ท่าศาลา
นครศรีธรรมราช
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 เม.ย. 2023
บ้านมะยิง


ชุมชนชนบท

บ้านมะยิง ชุมชนเครื่องปั้นดินเผาที่มีการสืบทอดภูมิปัญญามานานกว่า 100 ปี 
บ้านมะยิง
โพธิ์ทอง
ท่าศาลา
นครศรีธรรมราช
80160
อบต.โพธิ์ทอง โทร. 0-7552-1761
8.592172159
99.92639
องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ทอง

บ้านมะยิง เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลโพธิ์ทอง ตำบลเกิดใหม่ที่แยกตัวมาจากตําบลหัวตะพานเดิม ประชากรในตำบลส่วนมากจะอพยพจากถิ่นที่อยู่อื่น ส่วนใหญ่มาจากตําบลหัวตะพานและชุมชนดั้งเดิม คือ ชุมชนบ้านโคก ประชากรกลุ่มนี้คือประชากรที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองสตูล (ไทรบุรี) จากคําบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวมุสลิมในเขตพื้นที่ตําบลโมคลานและตําบลโพธิ์ทองเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ชาวมุสลิมในตําบลโพธิ์ทองและตําบลโมคลาน เป็นลูกหลานสืบเชื้อสายมาจาก “ปาลิมอ เจ๊ะเต๊ะ” แม่ทัพเมืองสตูลที่ถูกกวาดต้อนพร้อมเครือญาติและทหารบางส่วนมายังเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อคราวเจ้าเมืองไทรบุรีไม่ยอมอ่อนข้อต่อไทย โดยมาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกที่ทุ่งบ้านใหญ่ ตําบลโมคลานและสืบเชื้อสายอยู่ในเขตตําบลโมคลานและตําบลโพธิ์ทองในปัจจุบัน ส่วนที่มาของชื่อตําบล กล่าวขานกันมาว่ามีที่ดอนอยู่ที่หนึ่ง ซึ่งมีต้นโพธิ์ทองต้นใหญ่ต้นหนึ่งได้ให้ร่มเงาและที่พักอาศัยถาวรจนถึงปัจจุบันนี้ เมื่อแยกจากตําบลหัวตะพานจึงได้ชื่อตําบลว่า “ตําบลโพธิ์ทอง”

ส่วนประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านมะยิงนั้นไม่มีปรากฏแน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร และมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อใด แต่มีปรากฏหลักฐานว่าพื้นที่ชุมชนบ้านมะยิง เป็นชุมชนเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่อดีต โดยมีการบรรยายว่า ในเขตอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ห่างจากโบราณสถานมาทางทิศเหนือราว 100 เมตร มีลำน้ำสายหนึ่งชื่อ “คลองโต๊ะแน็ง” หรือ “คลองควาย” หรือ “คลองโมคลาน” ห่างจากคลองโต๊ะแน็งมาทางเหนือราว 1 กิโลเมตร มีลำน้ำสายหนึ่งชื่อ “คลองชุมขลิง” หรือ “คลองยิง” หรือ “คลองมะยิง” คลองทั้งสองนี้ไหลผ่านสันทรายลงสู่อ่าวไทยทางทิศตะวันออก ระหว่างคลองทั้งสองสายเป็นพื้นที่ชุมชน ชุมชนแห่งนี้ทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่โบราณ และมักจะเรียกกันว่า “แหล่งทำเครื่องปั้นดินเผาโมคลาน” หรือ “แหล่งทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านยิง” (ในอดีตคือพื้นที่ตำบลหัวตะพาน และตำบลโมคลาน) ภายหลังมีการแบ่งเขตการปกครองใหม่ ได้แยกตำบลหัวตะพานเป็นตำบลโพธิ์ทอง และชุมชนโมคลานที่ทำเครื่องปั้นดินเผา ปัจจุบัน คือ บ้านมะยิง หมู่ที่ 6 ตำบลโพธิ์ทอง (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช, 2549: 36 อ้างถึงใน ธีรภัทร อินทะวงศ์, 2563: 13) 

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศบริเวณที่ตั้งบ้านมะยิง ตำบลโพธิ์ทอง สามารถจำแนกได้ 3 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มระหว่างสันทราย บริเวณนี้มีน้ำกร่อยท่วมขังตลอดทั้งปี มีพืชพรรณธรรมชาติ เช่น เสม็ด กก ฯลฯ ขึ้นอยู่เป็นหย่อม ๆ พื้นที่บางส่วนถูดดัดแปลงเป็นนาข้าว ทางด้านทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่มีความราบเรียบ ดินมีสภาพเป็นดินเหนียว หรือร่วนเหนียวปนทราย ระบายน้ำได้ดี เหมาะแก่การนำมาทำเครื่องปั้นดินเผา ส่วนพื้นที่ตั้งหมู่บ้านที่เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยมีลักษณะเป็นพื้นที่สันทราย ขนานกับถนนสายท่าศาลา-อู่ตะเภา บริเวณโดยรอบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าว หรือทำเป็นสวนผลไม้

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศบริเวณชุมชนบ้านมะยิง จัดเป็นเขตอากาศแบบร้อนชื้น มีฝนตกชุกตลอดทั้งปี สำหรับฤดูกาลจำแนกออกเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม โดยในช่วงพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ช่วงนี้ฝนตกไม่มากนัก เนื่องจากมีเทือกเขาบรรทัดปะทะไว้ สําหรับในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงนี้จะมีฝนตกหนักกว่าช่วงแรกบางครั้งจะได้รับอิทธิพลจากพายุที่ก่อตัวจากทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงเดือนที่ฝนมากเป็นพิเศษ ส่วนฤดูแล้ง เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ในช่วงนี้จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะมีฝนตกบ้างแต่น้อยมาก อากาศโดยทั่วไปร้อนชื้น และจะร้อนที่สุดประมาณเดือนมีนาคม 

ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ทอง ระบุว่า หมู่ที่ 6 บ้านมะยิง มีจำนวนครัวเรือน 194 ครัวเรือน ประชากร 788 คน แบ่งเป็นชาย 389 คน และหญิง 399 คน ประชากรในหมู่บ้านมีทั้งชาวไทยพุทธ และชาวไทยมุสลิม 

ชาวบ้านชุมชนบ้านมะยิงมีการประกอบอาชีพที่หลากหลาย ทั้งการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ ค้าขาย และวิสาหกิจเครื่องปั้นดินเผา ดังนี้

  • การเกษตร : เป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในชุมชน การเกษตรของชาวบ้าน ได้แก่ การทำนา สวนมะพร้าว พืชผัก ยางพารา และสวนผลไม้

  • ประมง : การประมงในหมู่บ้านมะยิงส่วนใหญ่เป็นการทำประมงน้ำจืด บริเวณแหล่งน้ำตามธรรมชาติในที่ราบลุ่มทางทิศตะวันตก และบริเวณที่ราบลุ่มระหว่างสันทรายทางทิศตะวันออก บางครอบครัวขุดบ่อปลาในที่ดินส่วนตัวเพื่อเลี้ยงปลาไว้จำหน่ายโดยเฉพาะ โดยปลาที่ชาวบ้านนิยมเลี้ยง คือ ปลายน้ำจืด ได้แก่ ปลาดุก ปลานิล ปลาช่อน ส่วนที่ราบลุ่มน้ำกร่อยทางด้านทิศตะวันออกมีการเลี้ยงกุ้งกุลาดําเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีการทําประมงน้ำเค็ม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการทําประมงชายฝั่งหรือการทําประมงขนาดเล็ก

  • ปศุสัตว์ : การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือน สัตวที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ โคพื้นเมือง โคเนื้อ สุกร เป็ด ไก้ แพะ เป็นต้น

  • วิสาหกิจเครื่องปั้นดินเผา : การผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านมะยิงอยู่ในรูปของผู้ผลิตรายเล็ก ที่ใช้แรงงานในครัวเรืองเป็นหลัก ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน เน้นที่ประโยชน์ใช้สอย เช่น หม้อยักษ์ สวด หวด) โอ่งน้ำ กระถาง ฯลฯ และบางส่วนเป็นผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กสําหรับเป็นของที่ระลึก กรรมวิธีการผลิตส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นก่อน เครื่องมือเครื่องใช้ในการทํางานสร้างขึ้นและประยุกต์จากวัตถุดิบที่หาได้ในชุมชน ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจชุมชน มีหน้าร้านและส่วนรับรองบริเวณทางเข้าชุมชน ทำให้ผุ้สัญจรผ่านไปมาสามารถมองเห็นหน้าร้านวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงได้ชัดเจน  

ชุมชนบ้านมะยิง ตําบลโพธิ์ทอง ส่วนใหญ่นิยมตั้งบ้านเรือนในพื้นที่ไร่สวนของตนเอง เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร การสร้างบ้านในพื้นที่สวนจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าผลผลิตทางการเกษตร ป้องกันไม่ให้ถูกลักขโมย ภายในบริเวณบ้านมีการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ขุดบ่อปลา เลี้ยงไก่ เพื่อเป็นอาหาร เมื่อเหลือจากการบริโภคในครัวเรือนจึงจะนำออกไปจำหน่าย 

1.นางจำเป็น รักษ์เมือง หรือป้าเอียด ช่างทำเครื่องปั้นดินเผาชุมชนบ้านมะยิง ประธานกลุ่มเครื่องปั้นดินเผากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านมะยิง

ทุนทางภูมิปัญญา

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง  กระบวนการทําเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง มี 4 ขั้นตอน คือ การเตรียมวัตถุดิบ (เตรียมดิน) การปั้นขึ้นรูป การตกแต่ง และการเผา ซึ่งสามารถอธิบายถึงกระบวนการทำเครื่องปั้นดินเผาในขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • การเตรียมดิน และวัตถุดิบ : ดินที่ใช้สำหรับทำเครื่องปั้นดินเผามีอยู่ 2 ประเภท คือ ดินเหนียว และดินทราย ดินเหนียว ได้จากดินในท้องนาเขตบ้านมะยิง ในพื้นที่ที่เป็น “ทุ่งน้ำเค็ม” อยู่บริเวณที่ราบลุ่มทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านและจากบริเวณใกล้เคียง แต่ปัจจุบันจะซื้อจากพ่อค้าคิดเป็นรถบรรทุกขนาดเล็ก (รถ 6 ล้อ) ส่วนดินทรายต้องเป็นทรายละเอียดจากบริเวณสันทรายในตําบลท่าศาลา และบริเวณลําคลองในหมู่บ้าน หรือรับซื้อจากพ่อค้ารถบรรทุกเล็ก รถละ 1,100 บาท หรือบางครั้งไปขุดด้วยตนเองในคลองมะยิง แล้วนำมาทําการคัดเลือกเศษใบไม้ รากไม้ กรวด ออกให้หมด จากนั้นจึงนําวัตถุดิบที่หามาได้มาผสมกันและหมักไว้ เพื่อเตรียมดินปั้นที่ใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ขึ้นรูป

  • การปั้นขึ้นรูป : การปั้นหรือการขึ้นรูป นับเป็นขั้นตอนที่สําคัญของช่างปั้น การปั้นรูปภาชนะต่าง ๆ ของช่างบ้านมะยิง ใช้วิธีขึ้น รูป 2 แบบ คือ การปั้นขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ซึ่งใช้กับภาชนะที่มีขนาดเล็ก เช่น แจกัน หม้อแกง กระถางต้นไม้ และการขึ้นรูปแบบขด ใช้กับภาชนะที่มีขนาดใหญ่ เช่น ไห เพล้ง กระถางขนาดใหญ่ หม้อยักษ์ เป็นต้น

  • การตกแต่งชิ้นงาน : เมื่อได้รูปภาชนะตามจํานวนที่ต้องการแล้ว ช่างปั้นจะปล่อยทิ้งไว้หรือนําไปตากแดดอ่อน ๆ จนแห้งหมาด แล้วนําไปเก็บไว้ในที่ร่มเพื่อตกแต่งรูปทรงต่อไป สําหรับชนิดที่ต้องทําลวดลาย เช่น หม้อ เผล้ง และสวด (หวด) กระถางต้นไม้ ก็จะนํามาตีลวดลายในวันรุ่งขึ้น ลักษณะการสร้างลายมีกรรมวิธีในการสร้างที่สําคัญ 4 วิธี คือ ขูดขีดลาย ฉลุลาย และกดลาย เมื่อสร้างลายได้แล้ว หากยังไม่ได้รูปทรงสมบูรณ์ตามต้องการก็จะใช้มือช่วยตกแต่งเล็กน้อยจนพอใจ เสร็จแล้วเก็บตากลมไว้เตรียมเผาต่อไป

  • การเผา : การเผาเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง ยังมีลักษณะเป็นการเผาแกร่งแบบดั้งเดิม และยังไม่ปรากฏการเผาเคลือบแต่อย่างใด โดยก่อนทําการเผาจะต้องมีการเซ่นสังเวยเตาเผาด้วย เชื่อว่าการเซ่นสังเวยจะช่วยให้ผลงานที่ได้สมบูรณ์ไม่เสียหาย

การเซ่นสังเวย จะดําเนินการก่อนการเอาเครื่องปั้นดินเผาเข้าเผาในเตาเผา โดยมีความเชื่อ ตามประสบการณ์ว่า หากลืมเซ่นสังเวย เครื่องปั้นดินเผาที่เผาในเตาจะแตกเกือบหมด พิธีการเซ่นสังเวยประกอบด้วย การจุดธูป 3 ดอก ปักไว้ที่บนหัวเตา (เหนือช่องใส่ไฟ) ชาวบ้านมะยิงจะมีการเซ่นสังเวยเตาเผาปีละครั้ง ช่วงระยะเวลาไม่แน่นอนแล้วแต่ความสะดวก

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษายาวี (ใช้ติดต่อสื่อสารภายในชุมชน) และภาษาไทยกลาง (ติดต่อราชการ)

ภาษาเขียน : อักษรไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ในอดีตผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงเป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการของคนจากหมู่บ้านใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยคนจากหมู่บ้านใกล้เคียงมักจะนำสินค้าอื่น เช่น ใต้เสื่อ น้ำมันยาง ข้าวเปลือก และข้าวสาร แลกเปลี่ยนกับเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง ต่อมา เมื่อความสามารถในการผลิตเพิ่มมากขึ้น ก็ได้มีการนำเครื่องปั้นดินเผาส่งลงเรือไปแลกเปลี่ยน และขายตามท่าหัวเมืองต่าง ๆ เล่ากันว่าในสมัยนั้นชาวบ้านมะยิงมีเรือสําเภาอยู่ลําหนึ่ง รับผิดชอบนําสินค้าจากบ้านมะยิงไปขายยังเมืองท่าต่าง ๆ เช่น ท่าศาลา หัวไทร และปากพนัง สินค้าสําคัญของบ้านมะยิงในสมัยนั้น ได้แก่ หม้อดิน น้ำตาลมะพร้าว และมันเทศ

ต่อมา เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ชาวบ้านมะยิงก็ได้นำเครื่องปั้นดินเผาใส่รถเข็น ใส่เกวียน นําไปขายตามตลาดนัด สินค้าสําคัญของบ้านมะยิงในขณะนั้น ได้แก่ โอ่งใส่น้ำ และหม้อต้มยา ในเวลาต่อมา มีพ่อค้าคนกลางจากศาลาบางปู มารับซื้อสินค้าเครื่องปั้นดินเผาจำพวกกระถางต้นไม้จากบ้านมะยิงเป็นำนวนมาก แต่ผ่านไปไม่นานชาวบ้านมะยิงต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้พ่อค้าที่เคยเข้ามารับซื้อสินค้าจากบ้านมะยิงต้องหยุดซื้อสินค้าไป

หลังจากการจัดตั้งกลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง (วิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง) กลุ่มฯมีศักยภาพที่จะรับซื้อสินค้าจากสมาชิกได้บางส่วน ในช่วงแรกซื้อได้เฉพาะสินค้าสำเร็จรูป และสินค้าสุก ส่วนประเภทสินค้าดิบไม่สามารถรับซื้อได้ แต่ภายหลังจากการสร้างเตาเผาของกลุ่ม ปัจจุบันกลุ่มฯสามารถรับซื้อสินค้าจากสมาชิกได้ทั้งหมดตามเงินทุนที่มีอยู่ โดยมีตลาดสำคัญ คือ ศูนย์จำหน่ายเครื่อปั้นดินเผาบ้านมะยิงที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน และมีกลุ่มลูกค้าประจำจากต่างอำเภอ เช่น อำเภอทุ่งสง อำเภอปะเหลียน รวมถึงหน่วยงานราชการ และลูกค้ารายย่อยจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ที่แวะเวียนเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาจากกลุ่มวิสาหกิจชุนชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงอย่างต่อเนื่อง 

กลุ่มเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ค้นคืนเมื่อ 23 เมษายน 2566 , จาก  https://www.lovethailand.org/

ทวี ประหยัด. (2557). “ดินเผาบ้านมะยิง” สืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมสู่สินค้าโอท็อป. [ออนไลน์]. ค้นคืนเมื่อ 23 เมษายน 2566 , จาก https://ref.codi.or.th/public-relations/

ธีรภัทร อินทะวงศ์. (2563). การศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์กลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร.