Advance search

เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดพบวัตถุโบราณอย่างภาชนะดินเผา และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 

หมู่ที่ 13
เฮือนพรประกาย
บ้านเชียง
หนองหาน
อุดรธานี
ทต.บ้านเชียง โทร. 0-4223-5215
ชุมพร สิทธิบุญ
17 ธ.ค. 2023
พเยาว์ จันทรมงคล
20 ธ.ค. 2023
ปริญญ์ รุจิรัชกุล
28 มิ.ย. 2024
บ้านเชียง

ตั้งตามชื่อผู้นำชุมชน 4 คน ได้แก่ ท้าวเชียงใหญ่ ท้าวเชียงบุญมา ท้าวเชียงคะ ท้าวเชียงพิณ จึงกลายเป็นชื่อ "บ้านเชียงทั้งสี่" และในปัจจุบันถูกย่อให้เหลือเพียง "บ้านเชียง" 


เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งอารยธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดพบวัตถุโบราณอย่างภาชนะดินเผา และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 

เฮือนพรประกาย
หมู่ที่ 13
บ้านเชียง
หนองหาน
อุดรธานี
41320
17.4063275160303
103.243598788977
เทศบาลตำบลบ้านเชียง

บ้านเชียงเป็นชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวพวน อพยพมาตั้งถิ่นฐานเมื่อ พ.ศ. 2322-2335 ในการสร้างบ้านแปงเมืองได้มีผู้นำกลุ่ม 4 คน คือ ท้าวเชียงใหญ่ ท้าวเชียงบุญมา ท้าวเชียงคะ และท้าวเชียงพิณ เป็นผู้นำมาตั้งบ้านเรือนที่ดงตาว ด้วยการถากถางดงตาวและป่าละเมาะจัดตั้งเป็นคุ้มต่าง ๆ 10 คุ้ม

ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน 10 หมู่บ้าน โดยมีศูนย์กลางบริหารจัดการของชุมชนอยู่ที่ หมู่ที่ 9 บ้านศรีเชียงใหม่ซึ่งตั้งเป็นเทศบาลตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี คนรุ่นใหม่ใช้ภาษาไทยมากขึ้นทำให้ลาวพวนเดิมนั้นได้เปลี่ยนเป็นไทพวน

กรมศิลปากรได้ปรับปรุงแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นภายในวัดโพธิ์ศรีในบ้านเชียง  และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งแรกของไทย  ทำให้ทั่วโลกได้รับรู้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงและศึกษาการดำรงชีวิตของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปีจากศิลปะเครื่องปั้นดินเผาที่พบในบ้านเชียง

ต่อมาองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้จดทะเบียนให้โบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2535

อาณาเขต ทิศเหนือติดกับอำเภอทุ่งฝน ทิศใต้ติดกับตำบลหนองสระปลาและอำเภอไชยวาน ทิศตะวันออกติดกับตำบลบ้านยา ทิศตะวันตกติดกับตำบลหนองเม็ก

สภาพทางภูมิศาสตร์ บ้านเชียงตั้งอยู่บนเนินดินรูปไข่ วางตัวแนวทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ยาวประมาณ 1,500 เมตร กว้างประมาร 500 เมตร  บ้านเชียงมีพื้นที่โดยรวมทั้งหมด 1,800 ไร่ ทางทิศเหนือของหมู่บ้านมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ คือ บึงนาคำ

สภาพภูมิอากาศ โดยทั่วไปมีฝนตกน้อยและแห้งแล้ง ฤดูร้อนอากาศค่อนข้างร้อนมาก ส่วนฤดูหนาวค่อนข้างหนาวมาก อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 20–28 องศาเซลเซียส

ด้านสาธารณูปโภค ชุมชนมีไฟฟ้าใช้ทุกบ้านเรือน  โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานีใช้น้ำจากน้ำประปาในหมู่บ้าน รับผิดชอบดูแลการผลิตน้ำโดยองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเชียง

ด้านสาธารณสุข ชุมชนมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเชียง และอสม.ประจำหมู่บ้านคอยดูแลและให้คำแนะนำในด้านสุขภาพ

ชุมชนบ้านเชียงอยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานี  55  กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข  22 (อุดรธานี-สกลนคร)  ตรงกิโลเมตรที่ 50 ก็จะถึงทางเข้าบ้านปูลู  มีป้ายบอกทางเข้ามายังชุมชนบ้านเชียง ตามทางหลวงหมายเลข 2225 อีกประมาณ 6 กิโลเมตรก็จะถึงชุมชนบ้านเชียง

ในอดีต ชาวพวนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกษัตริย์ปกครองตนเองเป็นอาณาจักรขนาดเล็ก มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองพวน เมืองเชียงขวางในประเทศลาว ต่อมาเกิดศึกสงครามระหว่างอาณาจักรสยามกับอาณาจักรล้านช้างจึงมีการอพยพของชาวพวนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1-3

ไทพวนบ้านเชียงที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มีบรรพบุรุษชาวพวนที่อพยพมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อเดินทางมาถึงดงดินที่มีต้นตาวปกคลุมโดยรอบ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงถากถางดงตาวเพื่อตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนเป็นหมู่บ้าน 

หลังจากนั้นมีผู้คนเดินทางเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่  และได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากที่เรียกกันว่าบ้านดงตาวมาเป็นบ้านเชียง โดยสันนิษฐานกันว่าการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านเชียง เพื่อเป็นการให้เกียรติและระลึกถึงท้าวเชียงทั้ง 4 คนซึ่งเป็นผู้นำในการก่อตั้งหมู่บ้าน 

ปัจจุบันชาวไทพวนบ้านเชียงมีจำนวนประชากรทั้งหมด 5,141 คน 1,634 ครัวเรือน แยกเป็นชาย 2,632 คน หญิง 2,509 คน  ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 103 คน/ตารางกิโลเมตรรายได้เฉลี่ย 58,750 บาท/คน/ปี

ไทยพวน

ชุมชนบ้านเชียงตั้งอยู่บนพื้นที่แหล่งอารยธรรมโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์  และได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การ UNESCO ทำให้ชุมชนมีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านโบราณวัตถุโดยเฉพาะภาชนะดินเผาเขียนสีลายเชือกทาบ ลายก้านขดก้นหอย

ชาวไทพวนได้นำมาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าของที่ระลึกภาชนะดินเผาลายเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียงรูปแบบต่างๆและกิจกรรมการท่องเที่ยวเสริมสร้างการเรียนรู้ถ่ายทอดโดยปราชญ์วัฒนธรรม นำเอาอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สืบเชื้อสายมาจากชาวลาวพวนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ไทพวน และมีสีประจำชุมชนของตนเองคือสีคราม

วิถีชีวิตชาวชุมชนบ้านเชียงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และมีการรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพในชุมชนตนเอง ได้แก่ กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี กลุ่มจักสาน กลุ่มอาหาร กลุ่มทอผ้า และกลุ่มของฝากของที่ระลึก เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง รายได้เฉลี่ย  58,750 บาทต่อคนต่อปี

วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมและศาสนา

  • กิจกรรมทางศาสนาถนนสายบุญ ใส่บาตรยามเช้าทุกวันอาทิตย์ที่ 1 และที่ 3 ของเดือน ณ ลานวัฒนธรรม
  • ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ ช่วงเดือนมกราคม
  • ประเพณีวันสงกรานต์ ช่วงเดือนเมษายน
  • ประเพณีเข้าพรรษา ช่วงเดือนกรกฎาคม
  • ประเพณีลอยกระทง ช่วงเดือนพฤศจิกายน
  • งานเฉลิมฉลองมรดกโลกบ้านเชียง ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นประจำทุกปี และจัดพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษชาวบ้านเชียงปู่ขุนเชียงสวัสดิ์ในช่วงเวลาดังกล่าว

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

  • กิจกรรมรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือกัน เดือนละ 1 ครั้ง ณ ลานวัฒนธรรม ทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง

1.นายชุมพร สุทธิบุญ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 อาศัยอยู่หมู่ที่ 13 ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี

  • รับราชการครู (เกษียณ) เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทพวนบ้านเชียงเป็นอย่างดี
  • อดีตรองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านเชียง 9 ปี
  • อุปนายกสมาคมการท่องเที่ยวชุมชนภาคอีสานเหนือ
  • ประธานวิสาหกิจโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง
  • ประธานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านเชียง

ทุนวัฒนธรรม

ชุมชนบ้านเชียงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามโดดเด่นที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทพวนที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชม ได้แก่ วัดสันติวนาราม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน ศูนย์เรียนรู้ปั้นหม้อบ้านเชียง กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านเชียง และกลุ่มอาหารพื้นถิ่นของชุมชน

ทุนเศรษฐกิจ

ชุมชนบ้านเชียงได้รับงบประมาณสนับสนุนในการทำกิจกรรมโครงการต่าง ๆ ของชุมชนจากหลากหลายหน่วยงาน เช่น กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารออมสิน ธกส. ธอส. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

ภาษาพูด

ชาวไทพวนบ้านเชียงใช้ภาษาตระกูลไท-กะได ( Tai-Kadai language family ) เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาวทั่วไป มีวงศ์คำศัพท์ร่วมกับภาษาลาวมากกว่าภาษาไทยและมีสำเนียงใกล้เคียงกับภาษาไทยกลางมากกว่าภาษาไทลาวอื่น ๆ สำนวนและสำเนียงชาวพวนนั้นในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน สำหรับภาษาไทพวนบ้านเชียงนั้นมีความโดดเด่นคล้ายคลึงกับภาษาที่ใช้ในหลวงพระบาง

ภาษาเขียน

แต่เดิมนั้นชาวพวนเคยใช้ภาษาไทยน้อยและตัวอักษรธรรมอีสานร่วมกับชาวลาวและชาวอีสานดังปรากฏในจารึกเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ตำรายา ตำราสะเดาะเคราะห์ นิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมอักษรไทยน้อยที่แพร่หลาย เช่น เรื่องจำปาสี่ต้น สีธนมโนราห์ แก้วหน้าม้า การะเกด สังข์สินไชย ขูลูนางอั้ว เป็นต้น และยังมีวรรณกรรมประเภทอื่น ๆ ได้แก่ นิทานพื้นบ้าน เพลงกล่อมเด็ก ผญา สำนวนโวหาร รวมทั้งคำสอนซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้มีผลต่อจารีตประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวไทพวน


การเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันทำให้ต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และเตรียมความพร้อมรับการใช้ดิจิทัลในอนาคต หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนมาใช้ดิจิทัลแทนการทำงานแบบเดิม ชาวชุมชนบ้านเชียงที่ประกอบกิจการในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่าไม่ทันต่อการเปลี่ยนเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวไกลไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาต้องปรับตัวในการบริหารจัดการ ดังนี้

  1. บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการสืบทอด
  2. มีผู้สูงวัยในชุมชนส่วนใหญ่
  3. การปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลทำได้ช้า
  4. คนรุ่นใหม่ขาดความรู้ความเข้าใจความเป็นมาของรากเหง้าตนเอง
  5. คนรุ่นใหม่ไปทำงานในต่างถิ่น

แนวทางวิธีการแก้ไขปัญหา ชุมชนมีการรวมกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยเหลือกัน เดือนละ 1 ครั้ง ประสานงานกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาให้ความรู้แก่คนในชุมชน และนำคนรุ่นใหม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักให้เข้าใจความเป็นมาในรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเองให้มากขึ้น

ชุมชนบ้านเชียงได้รับรางวัลหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมอันดับที่ 1 ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ตามรอยดินดำอารยธรรมบ้านเชียงหมู่บ้านแห่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ ชมวิถีชีวิตชาวไทพวนที่นำภาชนะดินเผาเขียนสีลายเชือกทาบมาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สินค้าของที่ระลึกภาชนะดินเผาลายเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี รูปแบบต่างๆและกิจกรรมการท่องเที่ยวเสริมสร้างการเรียนรู้ถ่ายทอดโดยปราชญ์วัฒนธรรม นำอัตลักษณ์ชุมชนมาพัฒนาสร้างสรรค์สู่สากล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวน ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. (2566). เที่ยวชุมชน ยลวิถี. กรุงเทพฯ : มติชนจำกัด

นายชุมพร สุทธิบุญ, สัมภาษณ์

พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านเชียง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ทต.บ้านเชียง โทร. 0-4223-5215