
การทำไม้กวาดมือเสือ
มีป่าไม้ต้นยางเป็นส่วนใหญ่ จึงเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน
การทำไม้กวาดมือเสือ
บ้านยางได้ก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2351 โดยมีพ่อใหญ่ขอนิ้วนำลูกหลานอพยพมาจากจังหวัดร้อยเอ็ด มาเห็นทำเลอันสมบูรณ์จึงได้ตั้งถิ่นฐานขึ้นในบริเวณนี้ซึ่งเป็นป่าใหญ่มีต้นยางใหญ่รอบหมู่บ้านต่อมา พ.ศ. 2380 ได้ตั้งชื่อว่าบ้านยางโดยมีพ่อใหญ่ขอนิ้วเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เมื่อเป็นชุมชนวิถีชีวิตของผู้คนหาอยู่หากินแบบพึ่งพาธรรมชาติ ทำนาเลี้ยงครอบครัว เเต่ถ้าเกิดประสบปัญหาภัยเเล้ง ผู้คนในชุมชนจึงนำสิ่งของที่มี เช่น ปลาร้า เกลือ ผลไม้ เดินทางออกจากชุมชนไปยังพื้นที่ในเมืองมหาสารคาม ร้อยเอ็ด เพื่อนำสิ่งของเหล่านี้ไปแลกข้าวเพื่อมาหล่อเลี้ยงตนเองเเละคนในครอบครัว
ส่วนสถานที่สำคัญที่เป็นสิ่งที่ผู้คนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้น คือ วัดพระธาตุศรีบ้านยาง สถานที่รวมจิตใจศูนย์กลางทางศาสนาของชุมชน นอกจากนับถือศาสนาเเล้วผู้คนในชุมชนยังให้ความสำคัญเเละนับถือผีปู่ตาที่เป็นผีบรรพบุรุษคอยดูเเลรักษาผู้คนในชุมชนให้ปฏิบัติตนตามกติกาของชุมชน
ในส่วนของการทำมาหากินของผู้คนในชุมชนที่ได้ชื่อว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้จากงานฝีมือทางด้านหัตถกรรม คือ การทำไม้กวาด ที่เป็นภูมิปัญญาส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่เริ่มทำตั้งเเต่ในช่วงทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา การค้าขายไม้กวาดในช่วงเเรก คือ การเดินเร่ขายไปยังชุมชนต่าง ๆ ต่อมาได้ใช้รถเร่ไปยังต่างจังหวัด ปัจจุบันกลุ่มพ่อค้าไม่ต้องเร่ขายอีกต่อไปแล้ว เพราะมีกลุ่มพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงชุมชน ตลอดระยะเวลาจาก 2520 เป็นต้นมาอาชีพค้าขายไม้กวาดยังคงเป็นอาชีพที่สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนเเละเป็นรายได้ที่สร้างความมั่งคั่งให้กับชุมชนแห่งนี้
สภาพแวดล้อมชุมชนมีลักษณะเหมือนกับโครงสร้างทางสังคมในหมู่บ้านอื่น ๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยทั่วไป คือ การดำรงอยู่แบบเครือญาติ อยู่แบบพี่น้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เคารพผู้อาวุโส ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นคุ้ม ๆ
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านเอียด หมู่ที่ 5 ตำบลเขวา อำเภอเมือง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหนองหูลิง หมู่ที่ 7 ตำบลมิตรภาพ
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านนกกระโดก หมู่ที่ 2 ตำบลมิตรภาพ
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านประดู่ หมู่ที่ 21 ตำบลมิตรภาพ
จากแผนพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2567 ของเทศบาลตำบลมิตรภาพ ได้ระบุจำนวนครัวเรือน และจำนวนประชากรเพศชาย/หญิง ปี พ.ศ. 2567 ไว้ดังนี้ จำนวนครัวเรือนมีจำนวนทั้งหมด 154 หลังคาเรือน จำนวนประชากรชาย 256 คน จำนวนประชากรหญิง 279 คน รวมทั้งสิ้น 535 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว
ในชุมชนมีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มพัฒนาชุมชนทำไม้กวาดมือเสือ กลุ่มทำไม้กวาดทางมะพร้าว กลุ่มไม้ถูพื้น เป็นสินค้าส่งออกของชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารชุมชน และกลุ่มปลูกไผ่แปลงใหญ่
วัฒนธรรมของชุมชนบ้านมะกอก ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีอีสาน ฮีต 12 คลอง 14 รักษาไว้เป็นอย่างดี
- เดือนมกราคม งานปีใหม่ บุญเข้ากรรม
- เดือนกุมภาพันธ์ บุญกองข้าว
- เดือนมีนาคม บุญพระเวส
- เดือนเมษายน งานสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
- เดือนมิถุนายน บุญชำระบ้าน
- เดือนกรกฎาคม เข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
- เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
- เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
- เดือนพฤษภาคม บุญกฐิน
- เดือนธันวาคม บุญทอดผ้าป่า
เนื่องจากภายในชุมชนมีดอนปู่ตา ชาวบ้านร่วมกันทำเลี้ยงปู่ตา เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนการทำนา ปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้าน ทำบุญในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี และทำบุญเบิกบ้านในช่วงเดือนมิถุนายน
1.นายสังข์ ทับธานี ปราชญ์ชาวบ้านด้านวัฒนธรรม ประเพณี เมื่อมีงานประเพณี นายสังข์เป็นแกนนำในการทำพิธี
ในพื้นที่มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่าต้นยางและต้นไผ่ ชาวบ้านนำไผ่ที่มีมาจัดทำไม้กวาดมือเสือเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน
ชุมชนใช้ภาษาอีสานสื่อสารกันระหว่างผู้คนในชุมชน
การหารายได้เสริมของชุมชนจากการไม้กวาดมือเสือ ชาวบ้านเริ่มทำไม้กวาดมือเสือช่วงทศวรรษ 2520 จากการไปรับไม้กวาดมือเสือจากหมู่บ้านอื่นนำไปเร่ขายตามชุมชนต่าง ๆ จึงเรียนรู้วิธีทำและสอนกันเองภายในชุมชน การทำไม้กวาดมือเสือสร้างรายได้แก่ชุมชนปีละ 80,000-100,000 บาท เดิมชาวบ้านทำนาและปลูกพืชเศรษฐกิจ หลังจากฤดูทำนาชาวบ้านบางส่วนออกไปทำงานในเมืองหรือต่างจังหวัด ขณะเดียวกันการทำไม้กวาดมือเสือถือเป็นรายได้หลักของบางครอบครัว จึงไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานในเมือง
เทศบาลตำบลมิตรภาพ. (ม.ป.ป.). แผนพัฒนาชุมชนบ้านยาง หมู่ที่ 6 เทศบาลตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม. เทศบาลตำบลมิตรภาพ
นายสัมฤทธิ์ สอนใจ, ผู้ใหญ่บ้าน อายุ 51 ปี บ้านยาง ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม, สัมภาษณ์
กรมการพัฒนาชุมชน. (2563). ไม้กวาดมือเสือ,ไม้ถูพื้น. https://www.otoptoday.com/