Advance search

บ้านเขาตาวเป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรขนาดใหญ่ของตำบลเขาขาว ผลผลิตที่ส่งออกจากบ้านเขาขาวมีปริมาณมากถึงวันละ 3 ตัน โดยเฉพาะถั่วฝักยาวที่มีชื่อเสียงมากในด้านความสด สวย และฝักใหญ่ยาว

เขาตาว
เขาขาว
ทุ่งสง
นครศรีธรรมราช
วิสาหกิจชุมชนโทร. 0-7547-9149, อบต.เขาขาว โทร. 0-7575-7568
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 เม.ย. 2023
บ้านเขาตาว

ตั้งตามชื่อของภูเขาที่ล้อมรอบหมู่บ้าน คือ เขาตาว” 


ชุมชนชนบท

บ้านเขาตาวเป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตรขนาดใหญ่ของตำบลเขาขาว ผลผลิตที่ส่งออกจากบ้านเขาขาวมีปริมาณมากถึงวันละ 3 ตัน โดยเฉพาะถั่วฝักยาวที่มีชื่อเสียงมากในด้านความสด สวย และฝักใหญ่ยาว

เขาตาว
เขาขาว
ทุ่งสง
นครศรีธรรมราช
80110
8.208815694
99.50479
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว

ประวัติความเป็นมาของบ้านเขาตาว ไม่ค่อยปรากฏเป็นหลักฐานเอกสารที่แน่นอน มีเพียงการบอกเล่าสืบสืบต่อกันมาจากผู้อาวุโสในหมู่บ้านว่า บ้านเขาตาวในอดีตเดิมเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ทั้งช้าง เสือ หมูป่า ฯลฯ กลุ่มคนที่อพยพมาก่อตั้งบ้านเขาตาวกลุ่มแรกอพยพมาจากบ้านโคกบก บ้านควนกรด บ้านโคกหาร ซึ่งอยู่ใกล้กับตลาดทุ่งสง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จํานวนครัวเรือนที่มาด้วยกันครั้งแรก 7 ครัวเรือน ผู้นําชาวบ้านคือนายเอียด รัตนบุรี ต้นตระกูลรัตนบุรี (ตระกูลเก่าแก่ในหมู่บ้านเขาตาว อีกทั้งยังเป็นนามสกุลที่ใช้กันมากที่สุดในบ้านเขาตาวในปัจจุบัน) นายเอียดมองว่าพื้นที่บริเวณนี้มีลักษณะภูมิประเทศที่ดี ตั้งอยู่บนเนินมีลําธารไหลผ่าน (ปัจจุบันลําธารได้ตื้นเขินไปหมดแล้ว) เหมาะแก่การปักหลักสร้างหมู่บ้าน ภายหลังสร้างหมู่บ้านแรกเริ่มตั้งชื่อว่า บ้านเขาล้อม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถูกล้อมรอบด้วยภูเขาทั้งสี่ด้าน คือ เขาตาว เขาช่องดิน เขาขาว และเขาคลองยิง แล้วจึงมาเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเขาตาวในภายหลังตามชื่อของภูเขาที่ล้อมรอบหมู่บ้าน ช่วงแรกบ้านเขาตาวขึ้นกับตำบลนาโพธิ์ ต่อมาเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงแยกตัวออกมาเป็นตำบลเขาขาว

เมื่อปี พ.ศ. 2499 ได้มีพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสหกรณ์นิคมกสิกรรมในรูปของสหกรณ์นิคมเขาขาวขึ้น โดยการจัดสรรที่ดินที่เป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จํานวน 10,000 ไร่ ให้แก่สมาชิกครัวเรือน ครัวเรือนละ 30 ไร่ ซึ่งบางส่วนของพื้นที่จะอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 7 สมาชิกที่สหกรณ์ที่ถูกคัดเลือกเข้ามาต้องเป็นผู้ที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ทํากินเป็นของตนเอง มีความประพฤติเรียบร้อย ผู้ที่อพยพเข้ามาในระยะนี้ส่วนมากมีภูมิลําเนาเดิมในเขตอําเภอหัวไทร อําเภอเชียรใหญ่ อําเภอชะอวด และอําเภอปากพนัง ช่วงนี้บ้านเขาตาวเริ่มมีการปะปนระหว่างคนท้องถิ่นเดิมกับผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปทั้งสองกลุ่มก็ผสมกลมกลืนกันจนไม่สามารถแยกได้ว่าผู้ใดคือคนท้องถิ่นเดิม หรือผู้ใดอพยพเข้ามาใหม่ 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อําเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านทับนายเหลียง หมู่ที่ 5 ตําบลเขาขาว อําเภอทุ่งสง จังหวัด นครศรีธรรมราช และบ้านทรายขาว หมู่ที่ 1 ตำบลเขาขาว อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 3 ตําบลเขาขาว อําเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อําเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของบ้านเขาตาว มีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลาด ในอดีตเป็นป่าไม้อุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อเริ่มมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ชาวบ้านได้มาบุกเบิกถางป่าจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม จนทางรัฐบาลต้องเข้ามาจัดสรรและดูแลจัดตั้งพื้นที่บางส่วนเป็นสหกรณ์นิคม ด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีภูเขาชื่อ “เขาขาว” (เขาตาว) บริเวณเชิงเขายังคงสภาพของป่าที่อุดมสมบูรณ์อยู่ส่วนหนึ่ง เนื่องจากชาวบ้านได้อนุรักษ์ไว้เป็นสวนป่าสาธารณะ มีแหล่งน้ำในหมู่บ้าน คือ คลองมิน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำตาปี ห้วยทองเรือง ห้วยหอมแห้ว และห้วยพรายน้ำในฤดูแล้งน้ำจะแห้ง ในฤดูฝันจะมีน้ำท่วมขัง ชาวบ้านจึงต้องขุดบ่อน้ำส่วนตัวทุกครัวเรือนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง

สภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศของบ้านเขาตาวจะมีเพียง 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่ม ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม-เดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูมรสุม หลังสิ้นสุดฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้วอากาศจะเริ่มร้อนและร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ส่วนฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย ทําให้ฝนตกทั่วไป และตกชุกเป็นพิเศษช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

การคมนาคม

การเดินทางระหว่างหมู่บ้านกับอําเภอทุ่งสง มีถนนลาดยางสายทุ่งสง-ทุ่งใหญ่ เป็นเส้นทางสายหลักในการสัญจร การเดินทางจากบ้านเขาตาว ถึงตลาดอําเภอทุ่งสงใช้เวลาประมาณ 30 นาที ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกหมู่บ้านได้สะดวกทุกฤดูกาล สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ โรงเรียนบ้านเขาตาว 

ประชากร

บ้านเขาตาวมีประชากร 1,115 คน โดยชาวบ้านทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ

ความสัมพันธ์เครือญาติ

ความสัมพันธ์เครือญาติของชาวบ้านเขาตาวมีลักษณะความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดสนิทสนม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ลักษณะครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว ยกเว้นครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่จึงจะเป็นครอบครัวขยาย เมื่อลูกแต่งงาน พ่อแม่มักจะแบ่งที่ดินให้ลูกในการสร้างบ้านเรือนเป็นของตนเอง แต่จะเป็นที่ดินในบริเวณใกล้เคียงหรืออยู่ในที่ดินผืนเดียวกับบ้านพ่อแม่ โดยทั่วไปจะเป็นที่ดินของพ่อแม่ภรรยา 

ประชากรบ้านเขาตาวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีการทําสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก ปลูกผัก ทําสวน และค้าขายเป็นอาชีพเสริม ในเวลาว่างจะทำอาชีพรับจ้างทั่วไป ช่างไม้ และช่างจัดสวน เป็นต้น

สวนยางพารา : ครอบครัวชาวบ้านเขาตาวเกือบทุกครอบครัวมีสวนยางพาราเป็นของตนเอง การทำสวนยางพาราเป็นอาชีพที่ชาวบ้านได้รับเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมายาวนานหลายสิบปี ปัจจุบันชาวบ้านมีการรวมตัวกันก่อตั้ง กลุ่มยางแผ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองราคายางพารากับพ่อค้าคนกลางกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องราคายาง สำหรับการขายยางพารา ชาวบ้านจะแยกขายยางพาราเป็น 2 ประเภท คือ ยางแผนดิบ และน้ำยางสด

สำหรับยางแผ่นดิบจะมีตลาดรองรับ 4 ประเภท ซึ่งชาวบ้านสามารถเลือกสรรได้ตามความพอใจว่าจะจำหน่ายยางในตลาดประเภทใด ประเภทแรก คือ พ่อค้าย่อย ซึ่งจะมารับซื้อถึงบ้านในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด แต่สะดวกสําหรับผู้ไม่มีพาหนะเป็นของตนเอง ประเภทที่สอง ตลาดนัดสหกรณ์นิคม จะมีทุกวันอังคาร ราคาซื้อขายไม่แน่นอน เหมาะสําหรับผู้ที่มีผลผลิตยางไม่มากนัก ประเภทที่สาม คือ ตลาดในอําเภอทุ่งสง เป็นตลาดของเกษตรกรชาวสวนยางพารารายใหญ่ที่มีจํานวนผลผลิตมาก และประเภทที่สี่ คือ กองทุนสงเคราะห์การทําสวนยางอําเภอทุ่งสง เป็นตลาดที่ให้ราคาตรงตามมาตรฐานที่สุด เพราะเป็นตลาดของรัฐบาลที่ได้จัดสรรเงินทุนมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ทําสวนยางโดยตรง

น้ำยางสด จะมีตลาดรับซื้อ 2 ประเภท ได้แก่ โรงงานผลิตยางแผ่นตากแห้ง ยางแผ่นรมควัน ในความรับผิดชอบของกองทุนสงเคราะห์การทําสวนยาง ซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนบ้านเขาตาว จัดตั้งในรูปของสหกรณ์มีคณะกรรมการซึ่งเป็นสมาชิกในชุมชน เรียกว่าสหกรณ์รวบรวมยางพาราบ้านเขาขาว และพ่อค้าในหมู่บ้าน ที่จะมารับซื้อน้ำยางดิบถึงบ้านแล้วไปจําหน่ายังโรงงานต่อ

การปลูกผัก : การปลูกผักเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนอาชีพหนึ่ง โดยผักที่ชาวบ้านปลูกมีทั้งถั่วฝักยาว แตงกวา และมะเขือ ในอดีตเป็นการปลูกเพื่อบริโภคในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ เหลือจากการบริโภคจะแจกจ่ายกันในระหว่างญาติพี่น้อง จากนั้นจึงจะนำออกไปจำหน่าย แต่ปัจจุบันวิถีการผลิตของชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำหน่าย ชาวบ้านได้นําปุ๋ยเคมี สารปราบศัตรูพืช เครื่องพ่นยา หรือเครื่องสูบน้ำ อีกทั้งยังมีการนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้เสริมกรรมวิธีในขั้นตอนการผลิต ทําให้ผลิตผลในปริมาณมาก และมีคุณภาพดี โดยเฉพาะถั่วฝักยาวของบ้านเขาตาว ซึ่งมีชื่อเสียงมากในด้านความสด สวย ฝักใหญ่ยาว ในช่วงของฤดูกาลเก็บเกี่ยว บ้านเขาตาวจะมีปริมาณส่งออกผักถึงวันละประมาณ 3 ตัน ตลาดรับซื้อแหล่งใหญ่ คือ ตลาดหัวอิฐในตัวเมืองนครศรีธรรมราช 

ศาสนา

ชาวบ้านเขาตาวทั้งหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจําหมู่บ้าน 1 วัด คือ วัดเขาตาว ตั้งอยู่ริมเชิงเขาตาว ชาวบ้านเขาตาวเป็นผู้ที่ยึดมั่นในพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดเหมือนกับสังคมชาวไทยทั่วไป ประเพณีที่ สําคัญที่ชาวบ้านยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ จะเป็นประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ประเพณีที่สําคัญ ได้แก่ ประเพณีทําบุญสารทเดือนสิบ ประเพณีอุปสมบท ประเพณีรดน้ำดําหัวผู้สูงอายุในวันสงกรานต์ ประเพณีทอดกฐิน และทอดผ้าป่า เป็นต้น

วัฒนธรรมการบริโภคอาหาร

ในอดีตชุมชนบ้านเขาตาวเป็นหมู่บ้านชนบทอยู่ห่างไกลตัวเมือง เส้นทางการคมนาคมยังทุรกันดาร การจะเดินทางไปตลาดเพื่อเลือกซื้อสินค้าบริโภคจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก จึงมีการคิดหาวิธีการถนอมอาหาร เพื่อให้สามารถเก็บอาหารไว้บริโภคได้ในระยะเวลานาน อาทิ การตากแห้ง มีปลาแห้ง ปลาย่าง ปลาทูเค็ม หมากแห้ง กล้วยตาก ส้มแขก ปลาจิ้งจัง

วิธีการถนอมอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การหมักดอง เช่น ปลาเปรี้ยว ปลาแป้งแดง หนางหมู หนางวัว ปูเปรี้ยว (ปูเค็ม) กุ้งส้ม สะตอดอง ลูกเนียงดอง รวมถึงการแปรรูปผลไม้สดที่มีปริมาณมากเกินความจำเป็นเพื่อเพิ่มระยะเวลาในการบริโภค เช่น ทุเรียนกวน กล้วยตาก กล้วยกวน เม็ดมะม่วงหิมพานต์ฉาบ ฯลฯ

วัฒนธรรมการแต่งกาย

ในอดีตชาวบ้านเคยทอผ้าใช้เอง วัตถุดิบจําพวกเส้นด้ายจะซื้อจากตลาดทุ่งสง ปัจจุบันอาชีทอผ้าสูญหายไปหมด ชาวบ้านเปลี่ยนมาซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสําเร็จรูป เพื่อให้ทันสมัยนิยมตามแบบฉบับสังคมเมือง ในช่วงเทศกาลหรือประเพณีสําคัญ ชาวบ้านทุกช่วงวัยจะไปหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ ๆ ตามสมัยนิยมในตลาดทุ่งสงหรือตัวเมืองนครศรีธรรมราชสําหรับสวมใส่เพื่อประกวดประชันกัน เช่น งานปีใหม่ งานสงกรานต์ และงานเดือนสิบ เป็นต้น

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทุนทางเศรษฐกิจ

ในช่วงแรกบ้านเขาตาวได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหกรณ์นิคมเขาขาวจํากัด ต่อมาเมื่อการทำสวนยางพาราเริ่มเข้ามาในหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะไปขอกู้เงินจากกองทุนสงเคราะห์การทําสวนยาง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งยังได้ก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินทุนเบื้องต้นขึ้นในชุมชนด้วย

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : อักษรไทย


ปัจจุบันเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายกับชุมชนบ้านเขาตาว วัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามามีอิทธิพลและบทบาทกับคนในชุมชน แต่ทั้งนี้ชาวบ้านก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ชาวบ้านสามารถเลือกวัฒนธรรมใหม่บางอย่างมาปรับประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมเดิม และเลือกที่จะไม่รับเอาบางวัฒนธรรมที่ขัดต่อระบบวิถีดั้งเดิมของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีและระบบความเชื่อ การรับเอาวัฒนธรรมของสังคมเมืองมาประพฤติปฏิบัติ ทําให้ความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติที่เคยมีอยู่ในอดีตค่อย ๆ เลือนหายไป นอกจากนี้ การที่หนุ่มสาวเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชนมีโอกาสออกไปพบเจอโลกทัศน์ใหม่ มีมุมมองการมองโลก หรือมองปัญหาแบบใหม่ ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการแสดงความคิดเห็นและทัศนคติต่อการดำเนินการ หรือการสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้านมากขึ้น 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

กรมแผนที่ทหาร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. ค้นคืนเมื่อ 23 เมษายน 2566, จาก : https://gnss-portal.rtsd.mi.th

โรงเรียนบ้านเขาตาว. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]ค้นคืนเมื่อ 23 เมษายน 2566, จาก : https://map.longdo.com

อัชญา อาจอ่ำ. (ม.ป.ป.). การพัฒนาบ้านเขาตาว ตําบลเขาขาว อำเภอ ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ.

วิสาหกิจชุมชนโทร. 0-7547-9149, อบต.เขาขาว โทร. 0-7575-7568